คริสเตียน โบ เกิดในฟาร์มเล็กๆ แห่งหนึ่ง แถบชานเมืองนอร์เวย์ ด้วยความที่ยากจน
เขาจึงต้องออกจากการเรียนมาทำงาน
เป็นเด็กส่งไปรษณีย์ตั้งแต่อายุ 16 ปี
ด้วยความสามารถที่ล้นเหลือในชีวิตผู้ชายคนนี้ บวกด้วยความเก่งกาจ เขาได้รับทุนให้ศึกษาต่อจากที่ที่เขาทำงานอยู่
จนจบถึงระดับดอกเตอร์จาก Norwegian Technical University, Norway แล้วเข้ามาทำงานระดับชาติใน
The Norwegian Telecommunication Administration (Telenor) จนเมื่อได้รับการติดต่อให้มาช่วยงาน
ทศท ที่เมืองไทยเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว มีความตั้งใจเดิมว่าจะมาเที่ยวแค่
4 เดือน
ปัจจุบันเขาลงรากปักฐานกับภรรยาสาววัย 27 ปี และขอใช้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตในประเทศไทย
เป็นที่สุดท้าย "Home is where the heart is" เขาบอกกับ "ผู้จัดการ"
ด้วยชีวิตการทำงานที่เข้มข้น เขาเคยเป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ในระยะที่เริ่มดำเนินการแรกๆ จวบจนเมื่อเกษียณ เขาจึงหันมาบุกเบิกงานให้กับเทเลคอมเอเซีย
ในฐานะ Vice President ดูแลฝ่ายเครือข่ายและวางแผน โดยมีฐานะเป็นลูกจ้าง
มีตัวเลขทะเบียนพนักงาน 001 อยู่ 10 ปี จนเลื่อนเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของเทเลคอมเอเซีย
แล้วเกษียณตัวเองอีกครั้งด้วยวัย 70 ปี เมื่อสิ้นสุดปีที่แล้ว
แต่เดิมเขาได้ใช้เวลาชีวิตการพักผ่อนไปกับการปั่นจักรยานที่เขาหลงรักตั้งแต่แรกๆ
ที่มาเมืองไทย เดินทางไปกับก๊วนเพื่อน 4-5 คน ด้วยเพราะความรักการผจญภัย
และชอบที่จะเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต ได้สัมผัสชีวิตผู้คนตามเส้นทางที่เดินทางไป
เขาเคยปั่นจักรยานข้ามประเทศมาแล้วถึง 6 ทริป แต่ในทริปที่ 7 นี้กับเลขอายุหลักเจ็ดสิบ
กลับเป็นทริปที่เดินทางไกลมากที่สุดด้วยระยะทางกว่า 18,000 กิโลเมตร โดยออกจากประเทศไทย
ผ่านหลายประเทศไปจนถึงสวีเดน อันเป็น "ภารกิจชีวิต" ที่ต้องการทำมานาน
เพราะเหตุผลที่ว่า "ตอนนี้ผมฟรีจากทุกอย่างแล้ว" เขาบอก
เขาว่าเขาจะเดินทางไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก จึงไม่กำหนดวันกลับที่แน่นอน
เมื่อถามว่าอะไรที่เขาชอบที่สุดในการเดินทาง "คือการที่ผมได้เห็นมิตรภาพและน้ำใจของคนในทุกที่ที่ได้เดินทางไป
โดยเฉพาะคนไทย ซึ่งผมคิดว่าไม่อาจจะหาไมตรีอย่างนี้ได้ที่ไหนในโลก คนไทยมีความเอื้อเฟื้อและแบ่งปัน
แม้ว่าไม่เคยรู้จักกันมาก่อน"
และกับคำถามที่ว่ามีที่ไหนที่น่าตื่นเต้นบ้าง "เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมอยากเข้าพม่ามาก
แต่เขาไม่อนุญาต ผมก็ลองขออยู่หลายครั้งจนเป็นปี ผมจึงต้องเปลี่ยนไปกัมพูชา
ปีต่อมาก็ปั่นจักรยานไปแม่สอด กะจะข้ามไปพม่าให้ได้ พอดีผมก็เข้าไป ได้ เข้าไปถึงมัณฑะเลย์
ขากลับ ผมมาถึงอีก 88 กิโลก็เป็นฝั่งไทย แต่ข้างหน้าเป็นพื้นที่ของพวกกองกำลังกะเหรี่ยง
เขาไม่ให้ผ่าน ผมไม่รู้ว่าพื้นที่นี้มันต้องห้าม ผมเลยหาทางติดต่อ หาคนมาช่วยเพื่อที่จะให้ข้ามไปได้
วันหนึ่งผมหลับอยู่ก็มีรถมารับราวตีห้า ผมนั่งแอบอยู่ที่เบาะหลังของรถกระบะ
ผมเห็นผู้ช่วยฝั่งเราคนหนึ่งเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ชายแดน และให้เงินเขาไป
จนผมสามารถผ่านกลับบ้านได้ ครั้งที่สองผมก็ไปอีก แต่ใกล้กับฝั่งไทยมากกว่าคราวที่แล้ว
คราวนี้ทหารพม่า เอาไฟส่องเข้ามาในรถจนเจอผม เขาเอาผมออกมาจากรถ ซักผมเยอะมาก
ถามว่ามาได้ไง แล้วจับตัวผมส่งกลับสถานีตำรวจ ที่พะอัน เอาพาสปอร์ตไป แล้วให้ไปเจอกับสารวัตร
เขาถามผมว่ามีใบอนุญาตอะไรหรือเปล่า"
"ผมบอกไปว่ามี ก็อยู่ที่พาสปอร์ตไง ผมเคยขออนุญาต ไปที่สถานทูตพม่าแล้วแต่เขาไม่ตอบผม
ก็แสดงว่าอนุญาตผมแล้วซิ ดังนั้นผมก็ไปที่ไหนก็ได้ซิ" เขาเล่าถึงประสบการณ์ชีวิต
ที่โชกโชน ผจญภัย กล้าเสี่ยงของเขาให้ฟังด้วยท่าทีกวนๆ
เมื่อภาระหน้าที่การงานที่ผ่านมาตลอดกับชีวิตของเขาหมดลง ทางข้างหน้าก็คือความท้าทายใหม่ในชีวิตผู้ชายคนนี้
กับการเดินทางครั้งใหม่ เส้นทางที่ไกลที่สุดในชีวิต ดร.โบ