ถ้าถามว่า Key to Sucsess
ของ บลจ.อเบอร์ดีน คืออะไร
คำตอบก็คือ บทบาทของผู้จัดการกองทุนของที่นี่ ต้องทำงานหนักกว่า เพราะนอกจากจะบริหารพอร์ตแล้ว
ยังต้องทำหน้าที่วิเคราะห์หุ้นด้วยตัวเอง
"นโยบายการลงทุนและปัจจัยการลงทุนของ Aberdeen ที่แตกต่างจากคู่แข่ง คือจะต้องลงทุนในสิ่งที่มีปัจจัยพื้นฐานดี"
Alan Kam (อลัน แคม) CEO บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอเบอร์ดีน จำกัด บอกกับ
"ผู้จัดการ"
ซึ่ง "การลงทุนในสิ่งที่มีปัจจัยพื้นฐานดี" นั้น จำเป็นต้องอาศัยหลักการและผ่านกระบวนการหลายขั้นกว่า
จะสามารถจัดสรรพอร์ตการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน
กระบวนการคัดเลือกหุ้นที่ Aberdeen จะเข้าไปลงทุน เริ่มด้วยการศึกษาผลวิจัยหุ้นแต่ละบริษัทที่มีกว่า
400 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนที่จะทำการคัดเลือกเบื้องต้นให้เหลือประมาณ
100 บริษัท
หลังจากนั้น ผู้บริหารกองทุนจะทำการเยี่ยมชมกิจการเหล่านั้น เพื่อศึกษาธุรกิจโดยละเอียด เริ่มตั้งแต่ลักษณะของธุรกิจ ข้อได้เปรียบ ข้อเสียเปรียบ โอกาส
ปัญหา หรือแม้กระทั่งจรรยาบรรณของผู้บริหารเอง ก่อนที่จะกลับมาเขียนรายงาน
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ระหว่างการประชุม ที่จัดให้มีขึ้นทุกๆ
สัปดาห์
สิ่งหนึ่งที่ Aberdeen แตกต่างจากผู้อื่น คือการประชุม regional meeting
ที่มีขึ้นทุกเช้าวันจันทร์
เป็น teleconferrence ร่วมกันของทุกๆ office ในภูมิภาค ไล่ตั้งแต่ Sydney
office, Singapore office, Hong Kong office, Malaysia office และ office
ที่กรุงเทพฯ ผู้จัดการกองทุนจากแต่ละ office จะมาคุยกันเรื่องตลาดที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่
โดยจะมองตลาดทั้งในภาพกว้างซึ่งมีทีมเฝ้าดูอยู่ทุกตลาด และในภาค sector ซึ่งผู้จัดการกองทุนในแต่ละประเทศจะมีข้อมูลที่สามารถบอกได้ว่า
sector ไหนน่าเข้าไปลงทุน
ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของ Aberdeen ที่มีอยู่ในภูมิภาค
ผู้จัดการกองทุนของ Aberdeen จะต้องทำหน้าที่มากกว่าผู้จัดการกองทุนทั่วไป
เพราะจะต้องเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการ ทำบทวิเคราะห์ของแต่ละบริษัท นอกเหนือจากการบริหาร
port การลงทุน โดยอาศัยบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์อื่นเพียงอย่างเดียวซึ่งหุ้นที่
Aberdeen เข้าไปลงทุน ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในระยะ 1-3 ปี และการเข้าเยี่ยมแต่ละกิจการจะต้อง
ดำเนินไปอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าจรรยาบรรณของผู้บริหารยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ถึงแม้ Aberdeen จะเลือกลงทุนในสิ่งที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีการเพิ่มค่าอย่างช้าๆ แต่ยั่งยืนในระยะยาว แต่ก็ยังมีการกำหนด sell trigger ที่ใช้เป็นเกณฑ์เพื่อบอกว่าถึงเวลาที่ควรจะขาย
เช่น มีราคาเป้าหมาย ผู้จัดการกองทุนอาจจะตัดสินใจขายหุ้นออกไปเมื่อราคาหุ้นถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้
หรือเมื่อ P/E ขยับขึ้นสูงเกินไป หรือแม้กระทั่งหาก ปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนไปในทางลบ
นอกจากนี้ยังมีการกำหนด mechanical limit คือเมื่อมีหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมีมูลค่าการลงทุนเกิน
5% ของ port ก็จะเริ่มลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นตัวนั้นๆ
"หากเอ่ยถึงการลงทุนในระยะยาว 3-5 ปี หลายคนอาจคิดว่าจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีนัก
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีตลาด การเปลี่ยนแปลง NAV ของกองทุนเปิดอเบอร์ดีนโกรทฟันด์
(Aberdeen Growth Fund : ABG) ก็ยังชนะ Set Index มาตลอด" อลัน แคม บอกย้ำ
โดย ABG ให้ผลตอบแทนสูงถึง 85% ในปี 2003 และ 48% ในปี 2002 ในขณะที่ดัชนีตลาดสูงขึ้นเพียง
17%
ที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่า Aberdeen ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูง
(big cap) เพราะหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มักเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่ในปัจจุบัน
หุ้น big cap เริ่มที่จะมีกำไร หลังได้ปรับโครงสร้างหนี้และธุรกิจเริ่มมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
โดยในไตรมาส 2 ของปีนี้ Aberdeen จะออก Aberdeen Big Cap Fund เพื่อครอบคลุมประเภทของกองทุนให้ดียิ่งขึ้น
ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่ต้องการจะลงทุนในตลาดหุ้นผ่านกองทุน