แม้ว่าความพยายามของรัฐบาลสิงคโปร์ ในการพัฒนาขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ
ด้วยการดำเนินบทบาทเป็นนายทุนชาติเข้าซื้อกิจการในธุรกิจอุตสาหกรรมมากมาย
จะดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่1960 แต่คงไม่มียุคใดที่รัฐบาลสิงคโปร์ซึ่งมีฐานะไม่แตกต่างจากบรรษัทแห่งชาติจะดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกสู่
new Economy เช่นที่ปรากฏในช่วงปัจจุบันนี้อีกแล้ว
การลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์แต่เดิมนั้น อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังมาอย่างยาวนาน
กระทั่งในปี 1974 รัฐบาลสิงคโปร์ ได้จัดตั้ง Temasek Holdings (Private)
Limited ขึ้นมาเป็นองค์กรนำในการรับผิดชอบการบริหารจัดการ การลงทุนของรัฐบาลทั้งหมดแทน
พันธกิจของ Temasek ได้ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากขึ้นด้วยการนำบริษัทในเครือจำนวนมาก
เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Stock Exchange of Singapore :SES)
พร้อมกับการจัดกลุ่มธุรกิจที่มีกระจัดกระจายให้อยู่ในรูปของกลุ่มบริษัท (Group
of Company) และการแปรรูปวิสาหกิจหลายแห่งให้มีฐานะเป็นองค์ธุรกิจเอกชนซึ่งมีรัฐบาลโดย
Temasek Holdings เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ในระยะเริ่มต้น 10 ปีแรกของการก่อตั้ง Temasek จึงมีบทบาทสำคัญในการปรับทิศทางและจัดระบบภายในของบรรษัทในเครือของรัฐบาลหรือที่เรียกว่า
GLCs (government-linked companies) อย่างเป็นด้านหลัก
ยุทธศาสตร์เชิงรุกของ Temasek เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดในช่วงปี 1989 เมื่อกระแส
Globalization และRegionalization กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุนและประกอบการที่ได้รับการกล่าวถึงทั่วไป
ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่ Infomation Technology : IT หรือธุรกิจสาร
สนเทศ ได้ทวีความสำคัญและแสดงบทบาทในฐานะคลื่นลูกใหม่ในแวดวงธุรกิจ พร้อมกับการก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ
ของ New Economy ที่ทรงพลานุภาพในเวลาต่อมา
Temasek ซึ่งมีบทบาททั้งในด้านการกำหนดและจัดวางยุทธศาสตร์ให้กับGLCs ไม่ได้ปล่อยให้โอกาสเหล่านี้หลุดลอยไป
หากแต่ได้ตอบสนองต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างกระตือรือร้น โดยเริ่มจากการแปรรูป
Singapore Telecommunication และนำเข้าจดทะเบียนใน SES เมื่อปี 1993 พร้อมกับการจัดตั้ง
Singapore International Media ที่ต่อมาอยู่ภายใต้ชื่อ Media Corporation
of Singapore ในปี 1994
การแบ่งงานภายใต้กลุ่มบรรษัทที่หลากหลายของ Temasek ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
เพราะนอกจาก SingTel ซึ่งเป็นผู้ประกอบการหลักในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของสิงคโปร์แล้ว
ในปี 1994 Singapore Technologies (ST) บรรษัทในเครือของ Temasek อีกแห่ง
ซึ่งเดิมเน้นประกอบธุรกิจการผลิตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ได้เริ่มดำเนินการรุกเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมโดยผ่าน
ST Telemedia (STT) บริษัทในเครือ พร้อมกับการรวมกลุ่มกับ NTT จากญี่ปุ่น
และ BT จากอังกฤษ ภายใต้ชื่อ STARHUB ยื่นขอสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสิงคโปร์เป็นรายที่สอง
ในช่วงเวลาไล่เรียงกันนั้น Keppel Corporation ซึ่งเดิมมีฐานธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมต่อและเดินเรือทะเล
และการพัฒนาอสังริมทรัพย์ ได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ธุรกิจสื่อสารด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัท
Streamers Maritime Holdings บริษัทในเครือซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
มาสู่ Keppel Telecommunication & Transportation หรือ Keppel T&T
พร้อมกับการมุ่งหน้าสู่ธุรกิจสื่อสารในฐานะที่เป็น core business ใหม่ ก่อนที่ในปี
1996 KT&T จะได้รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ M1 ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดกว่า
35% ในปัจจุบัน
Temasek ได้บริหารจัดการห้วงเวลาที่พลิกผันรวดเร็วและต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา
ด้วยการกำหนดให้กลุ่มบรรษัทในเครือ ซึ่งแต่เดิมล้วนเน้นหนักในธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต
หรือ real sector ผันตัวเองเข้ามาลงทุนในกิจการด้านคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง
ซึ่งไม่จำกัดตัวเองอยู่เฉพาะการแสวงประโยชน์ภายในประเทศเท่านั้น หากแต่เป็นไปในมิติที่ครอบคลุมบริบทในระดับภูมิภาคเช่นกัน
กรณีดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อ SingTel ได้เริ่มบุกเบิกธุรกิจอินเตอร์เน็ตในสิงคโปร์เมื่อปี
1994 ด้วยการนำเสนอ SingNet ออกสู่สาธารณชนชาวสิงคโปร์ ในปีถัดมาหรือ 1995
Sembawang Group บรรษัทผู้ประกอบการในธุรกิจหลากหลายอีกแห่งในเครือ Temasek
ก็เริ่มดำเนินการรุกเข้าสู่โลก cyber โดยผ่านทาง SembCorp Ventures และ SembMedia
ซึ่งได้เข้าซื้อกิจการของ Technet จาก National University of Singapore
พร้อมกับการจัดตั้ง Pacific Internet Corporation ภายใต้ความมุ่งหมายที่จะเป็น
ISP ระดับภูมิภาค
ช่วงต้นปี 1999 Pacific Internet ได้มีส่วนร่วมสร้างปรากฏการณ์ dot com
fever ในเวทีระดับโลกเมื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด NASDAQ เพื่อแสวงหาแหล่งเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจในเวลาต่อมา
ด้วยการเข้าซื้อกิจการ ISP ในประเทศออสเตรเลียหลายรายตั้งแต่ในช่วงกลางปี
1999 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2000
พร้อมๆ กับการเติบโตขึ้นของ Pacific Internet ในฐานะ ISP รายใหญ่ในช่วงดังกล่าวนี้
STTบรรษัทในเครือของ Temasek อีกแห่ง ก็เริ่มดำเนินการ Internet data center
(IDC) ภายใต้ชื่อ i-STT ในปี 1999 ซึ่งได้ลงนามในบันทึกช่วยจำกับ SUN-Netscape
Alliance เพื่อประกอบการด้าน e-commerce solution และการรุกไปสู่ ฮ่องกง
ไต้หวัน เกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศไทย
ขณะเดียวกัน Keppel T&T ได้ผันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตเต็มรูปแบบด้วยการจัดตั้ง
Data 1 Asia เพื่อให้บริการ Internet data center (IDC) ด้วยเช่นกัน
การรุกเข้าสู่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตของบรรษัทจากสิงคโปร์ มิได้เกิดขึ้นภายใต้ผลประโยชน์ทางธุรกิจแต่เพียงลำพัง
หากแต่ได้สะท้อนยุทธศาสตร์การพัฒนา และมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์อย่างเป็นองค์รวม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากการเข้าร่วมทุนใน Lycos Asia ของ SingTel
ในปี 1999 แล้วจะพบว่า การแบ่งงานในเครือข่ายของ Temasek ดำเนินไปอย่างเด่นชัด
ด้วยการมอบหมายให้ SingTel มีบทบาทนำในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมและอินเตอร์เน็ตระดับโลก
ขณะที่ Keppel T&T และ STT รวมถึง SembCorp ดูแลเครือข่ายและยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาคที่ลดหลั่นลงไปเป็นลำดับชั้น
ภายใต้องค์กรนำหนึ่งเดียวของ Temasek
ปรากฏการณ์เช่นว่านี้มิได้อยู่บนข้อสรุปที่เลื่อนลอย หากแต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าคณะกรรมการบริหารของ
Temasek ล้วนประกอบขึ้นจากผู้นำในองค์กรที่เกี่ยวเนื่องเหล่านี้ ยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดจัดวางในแต่ละบรรษัทย่อมเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องในลักษณะ
แยกกันเดินรวมกันตี ที่แต่ละฝ่ายจะต้องสนองนโยบายหลักของรัฐบาลสิงคโปร์อย่างไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
เป้าหมายของรัฐบาลสิงคโปร์ในการรุกคืบหน้าในกิจการสื่อสารโทรคมนาคม มิได้สิ้นสุดลงเพียงเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศเล็กๆ
แห่งนี้เท่านั้น หากแต่เป็นเพียงภาพต่อเนื่องของการรุกเพื่อครอบครองภาวะการนำในฐานะศูนย์กลางใหม่
ของเอเชียแปซิฟิค จากเดิมที่เคยมี ฮ่องกง ดำรงสถานะดังกล่าวมาเนิ่นนาน
ธุรกิจอินเตอร์เน็ต มีนัยสำคัญและมีมิติทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงต่อ นิยามของคำว่า
เสรีและทุนนิยม อย่างที่อาจไม่มีธุรกิจใดจะเสมอเหมือนในห้วงเวลาปัจจุบัน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่หาได้ยากขึ้นในบริบทของฮ่องกง ซึ่งมีรัฐบาลจีนคอยกำกับดูแล
ยุทธศาสตร์ เหล่านี้มิใช่ภาพสะท้อนของวิสัยทัศน์ ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนจากการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลในคณะผู้นำรัฐบาล
และไม่อาจสร้างให้เกิดขึ้นจากทัศนะว่าด้วยการคิดใหม่ทำใหม่แต่เพียงลำพัง
หากแต่เป็นผลพวงที่สืบเนื่องยาวนานของระบบและกลไก ที่ใช้เวลาจัดวางและกำหนดไว้แล้วรวมกว่า
2 ทศวรรษบนเกาะเล็กๆ ที่เรียกว่า สิงคโปร์ แห่งนี้.