ธุรกิจมีขึ้นย่อมมีลง ดูเหมือนจะใช้ดีได้กับ TA Orange ในยามนี้
เมื่อพวกเขาต้องรอลุ้นว่า Orange อาจไม่ร่วมสร้างอนาคตสดใสของ Orange
ไม่ว่าการเจรจาประนอมหนี้จะลงเอยอย่างไร หุ้นส่วนคนสำคัญอย่าง Orange จะถอนตัวจากการเป็นหุ้นส่วนหรือไม่ก็ตาม
แต่สำหรับศุภชัย เจียรวนนท์แล้ว "ปีนี้เป็นปีที่สนุกที่สุดสำหรับผม" เป็นคำกล่าวที่ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับภาระอันหนักหน่วง
ที่เกิดขึ้นกับ TA Orange ในห้วงยามนี้
3 ปีที่แล้ว ศุภชัยนำทีเอเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ด้วยการเข้าซื้อกิจการต่อจากบริษัทไวร์เลส
คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส WCS ซึ่งมียูคอม SK Telecom และโกลด์แมนแซคส์ เป็นเจ้าของ
การเข้ามาเป็นรายที่ 3 ในตลาดโทรศัพท์มือถือที่มีคู่แข่งขันที่เข้มแข็งอยู่แล้วถึง
2 ราย โดยที่ยังขาดประสบการณ์ ทำให้ทีเอต้องหาพันธมิตรข้ามชาติเข้ามาซึ่งเป็นที่มาของการได้
Orange จากอังกฤษ เข้ามาเป็นหุ้นส่วน
ประจวบเหมาะกับ Orange มีนโยบายขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ตลาดกำลัง
เติบโต เนื่องจากตลาดในยุโรปเริ่มอิ่มตัว
การได้ซี.พี.กรุ๊ปเข้ามาเป็นพันธมิตรท้องถิ่น มีผลต่อการตัดสินใจของ Orange
ที่มองเห็นศักยภาพของพันธมิตรท้องถิ่นที่มีทั้งเครือร้าน 7-eleven 2,500
สาขา ใช้เป็นที่จัดจำหน่าย และยังมีเครือข่ายธุรกิจอาหารที่เกื้อกูลต่อธุรกิจโทรศัพท์
มือถือ
ปีแรกในการเริ่มต้นของ TA Orange ทำท่าว่าจะไปได้สวย เมื่อประสบการณ์ในแบรนด์
Orange ที่สร้างสีสัน และความแปลกใหม่เป็นที่ยอมรับในตลาดเมืองไทย ที่มีวัยรุ่นเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญ
บวกกับการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของซี.พี. ที่เข้ามาในระบบได้ไม่ต่ำกว่า
1 ล้านเลขหมาย
แต่พอเข้าปีที่ 2 สถานการณ์ของทีเอ ออเร้นจ์ติดปัญหาความไม่พร้อมของเครือข่าย
ทำให้ทีเอออเร้นจ์ต้องเงียบหายไปจากตลาด
การเริ่มต้นธุรกิจที่ว่ายากแล้วดูเหมือนว่าการรักษาธุรกิจให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง
นับว่ายากยิ่งกว่า ไม่ต่างไปจากสถานการณ์ของทีเอออเร้นจ์ในยามนี้นัก
นอกจากโครงสร้างองค์กรที่ยังไม่นิ่งแล้ว ยังมีเรื่องการ Synergy ธุรกิจระหว่าง
ทีเอและออเร้นจ์ที่ศุภชัยยังต้องดำเนินต่อไป และต้องเตรียมรับมือหากออเร้นจ์ถอนหุ้นออกไป
เนื่องจากนโยบายของบริษัทแม่ของออเร้นจ์คือ ฟรานซ์เทเลคอม ที่ประกาศจะลงทุนเฉพาะประเทศในยุโรปเท่านั้น
"เวลานี้ยังไม่มีการยืนยันจากออเร้นจ์ว่าจะไปหรือไม่อย่างเป็นทางการ แต่การที่ออเร้นจ์มีนโยบายออกมาว่า
ต้องการมุ่งเน้นการลงทุนในยุโรปเป็นหลัก ก็ย่อมคาดหมายได้ว่า เขาอาจยกเลิกลงทุนในเอเชีย ซึ่งความคาดหมายเหล่านี้มีมาพักหนึ่งแล้ว"
ศุภชัยบอกว่า เขามั่นใจเกิน 50% ว่า ออเร้นจ์จะไม่ถอนหุ้นคืน เพราะนอกจากอัตราการเติบโตของโทรศัพท์มือถือใน เมืองไทยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น
นอกจากนี้ออเร้นจ์ยังมีข้อตกลงที่ทำไว้กับผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ Loan
Agreement ด้วยมูลหนี้ 33,000 ล้านบาท ที่ทั้งทีเอ และออเร้นจ์จะต้องอยู่ร่วมในการเจรจากับเจ้าหนี้
เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปเป็นหนี้ระยะยาว ซึ่งหนี้ระยะสั้นกำลังจะครบกำหนดในเดือนมีนาคมนี้
ตามข้อตกลงของการทำ Bridge Finance ระหว่างทีเอออเร้นจ์และเจ้าหนี้ ระบุไว้ว่า
หนี้สินของทีเอออเร้นจ์จะถูกยืดออกไปเป็นเวลา 10 ปี โดย 3 ปีแรกจะได้พักชำระหนี้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย
และเริ่มจ่ายดอกเบี้ยในปีที่ 4
"หากออเร้นจ์ต้องการถอนหุ้นจริง ก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นฝั่งไทย
คือ เราและธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ นั่นหมายความว่า จะต้องเป็นรูปแบบที่ดีที่สร้างความพอใจของทั้ง
2 ฝ่าย"
ไม่น่าแปลกใจที่จะมีกระแสข่าวว่า ออเร้นจ์นำหุ้นออกไปเร่ขาย และหนึ่งในนั้นก็คือ
ชินคอร์ปอเรชั่น
"พอได้ยินข่าว ผมก็โทรไปหา CFO ของออเร้นจ์ทันที ซึ่งเขาก็ปฏิเสธว่าไม่มี"
อย่างไรก็ตาม ภายในองค์กรของทีเอออเร้นจ์ที่เคยคลาคล่ำไปด้วยผู้บริหารชาวต่างชาติ ที่ออเร้นจ์ส่งเข้ามาช่วยในช่วงเริ่มต้นดำเนินการ ในเวลานี้ก็เหลือผู้บริหารชาวต่างชาติอยู่เพียงแค่
2 คน
"เป็นเรื่องปกติของการร่วมทุน ไม่ต่างไปจากกรณีของทีเอ ซึ่งช่วงแรกไนเน็กซ์ส่งผู้บริหาร 70-80 คน เข้ามาร่วมติดตั้ง Network แต่พอหลังจากโครงข่ายเสร็จสมบูรณ์เหลืออยู่ไม่กี่คน"
ไม่ต่างไปจากทีเอออเร้นจ์ สัญญาว่าจ้างผู้บริหารจากออเร้นจ์ จะอยู่ในช่วงสั้นๆ
2 ปีแรก เนื่องจากต้นทุนสูง ซึ่งโควตาของออเร้นจ์ จะเหลือผู้บริหารอยู่เพียงแค่
2 ตำแหน่ง คือ Chief Operating Officer COO ดูแลการปฏิบัติงาน และChief Technology
Officer CTO ดูแลทางด้านเทคนิคเท่านั้น ที่เหลือเป็นคนจากฝั่งทีเอ
แม้ว่าออเร้นจ์ถอนหุ้นจริงแต่แบรนด์ออเร้นจ์จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากทีเอ
ออเร้นจ์ทำสัญญาจ่ายค่าไลเซนส์ใช้แบรนด์ ออเร้นจ์ ซึ่งเป็นสัญญาแยกต่างหากจากการร่วมลงทุน
ตามข้อตกลง ทีเอออเร้นจ์จ่ายค่าไลเซนส์แบรนด์ให้กับออเร้นจ์ ปีละ 200 ล้านบาท
ไปจนถึงปี 2549 จากนั้นจะขึ้นเป็นปีละ 400 ล้านบาท
สำหรับออเร้นจ์นั้นต้องควักกระเป๋า ลงทุนไปแล้ว 400-500 ล้านเหรียญ หรือประมาณ
20,000 ล้านบาท โดยที่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากทีเอออเร้นจ์กลับมามากนัก
ในขณะที่ถือหุ้นอยู่ในทีเอออเร้นจ์ 51% จากทุนจดทะเบียน 24,000 ล้านบาท
แต่ควักเงินสดจ่ายไปจริงๆ เพียงแค่ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากบางส่วนใช้วิธีการ
swap หุ้น
และปีนี้จะเป็นปีที่ทีเอออเร้นจ์ ยังต้องอัดฉีดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 6,000
ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการขยายเครือข่าย รองรับกับลูกค้าที่ตั้งเป้าไว้ 2.7
ล้านเลขหมาย จากที่มีอยู่ 1.9 ล้านเลขหมาย
แม้ว่าทีเอมีความพร้อมในการเพิ่มทุน แต่ก็ยังไม่แน่ว่า หุ้นส่วนอย่างออเร้นจ์
จะพร้อมด้วยหรือไม่
และการเพิ่มทุนครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย อย่างที่รู้กันดีว่า ธุรกิจโทรศัพท์มือถือต้องลงทุนมหาศาล
ยกเว้นทีเอออเร้นจ์มีหุ้นส่วนใหม่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็อาจทำให้คลี่คลายลงได้บ้าง