Low Cost Airlines เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นมากกว่า 30 ปี แล้ว โดยผู้จับตลาดหลักคือ
Southwest Airlines แต่มาเข้มข้นขึ้นในสี่ปีหลัง เมื่อ Jet Blue Airlines
เข้าตลาด ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นผู้คนก็ยังมีโอกาสเลือกซื้อตั๋วเครื่องบินราคาถูกจากสายการบินทั่วไปได้
ตามวาระและโอกาส ซึ่งก็แทบทุกวาระ เพราะมีสายการบินในประเทศจำนวนมากกว่าห้าสิบสาย
ทำให้มีการลดราคาตั๋วโดยสารแบบเร่งด่วน หรือการโปรโมชั่นในบางช่วง เช่น เส้นทางลอสแองเจลิสไปลาสเวกัสนั้น สายการบินทั่วไปก็จำหน่ายตั๋วเที่ยวเดียวที่ 50-100 เหรียญเท่านั้น
เพราะอเมริกามีผู้คนเดินทางสัญจรภายในประเทศสูงที่สุดในโลก และเป็นประเทศขนาดใหญ่มาก
ค่าใช้จ่ายรถบัสข้ามประเทศถูกกว่ามากก็จริง แต่เป็นการเดินทางที่ยาวนานและยังไม่สะดวกสบาย
เพราะรถโดยสารจะไม่มีบริการที่นั่งปรับเอนนอนเหมือนรถทัวร์ของไทยได้ และเส้นทางเดินรถที่ต้องแวะตลอดทางเพื่อให้คุ้มทุนของผู้ประกอบการ
ทำให้รถบัสประจำทางใช้บริการโดยคนรายได้น้อย ยิ่งทำให้สภาพในรถและสถานีโดยสาร
ดูไม่ค่อยปลอดภัยสำหรับคนกลุ่มอื่น
รถไฟโดยสารข้ามประเทศนั้น ไม่ได้เร็วกว่ารถบัสประจำทางมากนัก และราคาถูกกว่าเครื่องบินไม่กี่สิบเหรียญ
ยกเว้นว่าจะมีการจองซื้อล่วงหน้าสองอาทิตย์ ซึ่งผู้โดยสารอาจไม่สะดวก ในทางกลับกัน
การจองตั๋วเครื่องบินแบบเร่งด่วน ผ่านทางเอเยนซี่จะสามารถหาซื้อตั๋วได้ราคาถูกประมาณ
30-70 เปอร์เซ็นต์ ของราคาเต็ม แต่ถ้าไปซื้อตั๋วที่สนามบินในวันเดินทาง จะได้ตั๋วราคาเต็ม
ซึ่งแพงมาก
ที่จริงแล้ว Low Cost Airlines เป็นคำที่ใช้สำหรับสายการบินที่ใช้กลยุทธ์ราคา
low price นั้น ส่วน cost ไม่สามารถลดลงได้มาก เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
และระบบบริการยังคงเป็นมาตรฐานเดิมเหมือนสายการบินทั่วไป หรือบางครั้งต้องดีกว่า
เครื่องใหม่กว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้โดยสาร
ผู้ประกอบการจึงต้องรับภาระลดผลกำไรคือได้รับ Low Profit จากเดิมที่ธุรกิจสายการบินเคยทำกำไรมหาศาล
ตัว cost เดียวที่ลดได้บ้าง เช่นที่ใช้ในอเมริกา คือ การไม่ขายตั๋วผ่านบริษัททัวร์ทำให้สายการบินไม่ต้องตัดเปอร์เซ็นต์ตัวนี้ให้เอเย่นต์
เช่น Jet Blue ซึ่งเป็นสายการบิน low price ที่ลงทุนด้านตัวเครื่องบินในระดับ
high cost ใช้เครื่องบินแอร์บัสใหม่ทุกลำ ติดตั้งเบาะหนังทุกที่หนัง และติดตั้งจอมอนิเตอร์ส่วนตัวให้ทุกที่นั่ง
เพื่อชดเชย cost ที่สูงในส่วนนี้ บริษัทใช้วิธีขายตั๋วผ่านเว็บไซต์ หรือสำนักงานใหญ่ของบริษัทเท่านั้น
ปรากฏว่ากรณีนี้ยังเป็นการคัดเลือกผู้โดยสารไปในตัว ทั้งที่เป็น Low Cost
Airlines เช่นกัน แต่ Jet Blue จะมีลูกค้าเป็นอเมริกันชั้นกลาง ขณะที่ Southwest
เจ้าตลาด low cost อีกเจ้า มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวละตินอเมริกัน ซึ่งมีการศึกษาน้อยกว่าและ
อาจยังไม่คุ้นเคยกับการซื้อตั๋วผ่านระบบออนไลน์ Jet Blue ยังเลือกบินสู่เมืองที่มีภาวะเศรษฐกิจดี
เช่น นิวยอร์ก ลอสแองเจลิส และซีแอตเติล ส่วน Southwest เป็นผู้ประกอบการหลักในเส้นทางฟลอริดา
ซึ่งชาวละตินอเมริกันจากคิวบาอาศัยอยู่จำนวนมาก
Southwest กับ Jet Blue เป็นสายการบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ประกาศเป็นสายการบิน
low cost แต่ต้น โดย Southwest ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1971 และยึดนโยบาย lowest
fare as possible ส่วน Jet Blue ก่อตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2000 นอกจากขายราคา
ต่ำไม่บวกหน้าตั๋วเพิ่มมาก ยังเน้นความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นจุดขายด้วย
การเข้ามาของ Jet Blue ยังไม่ส่งผลโดยตรงกับเซาต์เวสต์ เพราะเส้นทางการบินที่ไม่ค่อยทับเส้นทางกันมากนัก
แต่เมื่อสองสายการบินนี้สามารถขยายเส้นทางบินได้ทั่วอเมริกามากขึ้น สายการบินขนาดใหญ่ก็ต้องเริ่มประกาศเข้าสู่ตลาด
low cost อย่างเป็นทางการ เพื่อรักษาตลาดไว้
การแข่งขันในธุรกิจนี้กำลังสูงมาก ช่วงปลายปี 2003 ซึ่งเซาต์เวสต์ แอร์ไลน์
ประกาศว่า จะเริ่มให้บริการที่สนามบินฟิลาเดล เฟียภายในเดือนพฤษภาคมปีหน้า
ส่งผลกระเทือนโดยตรงถึงยักษ์ใหญ่ US Airways ซึ่งใช้สนามบินนี้เป็นจุดศูนย์กลางหลักของบริษัท
ในด้านอเมริกาฝั่งตะวันออก เพราะสามารถรองรับผู้โดยสารจากรัฐนิวเจอร์ซีย์
ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ให้หันมาใช้สนามบิน แทนสนามบิน Newark ได้ด้วย
Jet Blue เพิ่งขยายเส้นทางในแอตแลนตาในปีก่อน ยังต้องประกาศถอดถอนการบินออกจากสนามบินแอตแลนตาในช่วงเวลาเจ็ดเดือน
เพราะพ่ายแพ้ต่อ Delta Airlines ซึ่งบินรายวันบ่อยกว่า และยังปรับราคาต่ำลงมา
ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ Jet Blue มีจุดขายอีกอย่างที่ให้บริการบินข้ามประเทศโดยตรง
โดยไม่ต้องหยุดแวะพักตลอดห้าชั่วโมง แต่จุดอ่อนคือ การที่บริษัทต้องใช้สนามบินลองบีช
ทำให้พ่ายต่อคู่แข่ง ซึ่งบินลงสนามบิน LAX ที่ใกล้ลอสแองเจลิสกว่า ซึ่งรวมถึงแอร์ทรานส์ที่ได้บินตรงลอสแองเจลิส-แอตแลนต้า
Jet Blue บอกว่า การต้องรับภาระแข่งขันหนักแบบนี้ ทำให้สูญเสียทรัพยากรของบริษัทไปเปล่าปลี้
และกำไรก็น้อยลง จึงตัดสินใจหันไปหาเส้นทางใหม่ที่มีโอกาสมากกว่า คือเปิดเส้นทางบอสตัน
เดือนมกราคม 2547 และเพิ่มบริการในเส้นทางเก่าที่บริษัทมีชื่อเสียง เช่น
เส้นทางนิวยอร์ก ลอสแองเจลิส ปัจจุบันบินถึงวันละ 20 เที่ยว
ยักษ์เล็ก low cost หน้าใหม่ อย่างแอร์ทรานส์ก็กำลังประสบปัญหาเจอยักษ์ใหญ่เดลต้า
ลงมาไล่บี้คู่แข่งในสนามบินแอตแลนตาอย่างหนัก ถึงแม้โล่งใจที่ Jet Blue
ถอนตัวออกไป แต่ก็ตระหนักว่า บริษัทกับ Jet Blue อยู่ในสภาวะเดียวกัน คือ
เป็นผู้เล่นรายใหม่ในวงการแอร์ทรานส์ยังฮึดสู้และประกาศเพิ่มเส้นทางอีกหลายเส้นทาง
ในด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และที่สนามบินบัลติมอร์ วอชิงตัน อินเตอร์เนชั่นแนล
รวมถึงสนามบินฟอร์ธ เวิร์ธ ในดัลลัสที่มี Amrican Airlines ครอบครองอยู่กับคู่แแข่งรายเดิมคือ
Delta
อีกสองเจ้าที่เป็นยักษ์เล็กกลุ่ม low cost คือ Frontier Airlines วางแผนขยายเส้นทางอีก
60 เปอร์เซ็นต์ ในห้าปีหน้า และ Airtrans Airways วางแผนขยายปีละ 25 เปอร์เซ็นต์
ทั้งยังมีผู้ให้บริการเล็กๆ ในเส้นทางย่อยๆ ที่วางแผนเติบโตขึ้น ขณะที่รายใหญ่
ทุกรายก็ไม่มีใครยอมคงที่หรือถดถอย
ตลาดเคี่ยวอย่างนี้ ล่าสุด Delta, United และ Atlantic Coast Airlines
จึงประกาศว่า ทางสายการบินจะใช้นโยบายใหม่ เรียกว่า one-class service s
คือ เพิ่มเที่ยวบินที่มีชั้นบินประเภทเดียว ไม่มีชั้นหนึ่งหรือชั้นสอง ซึ่ง
Jet Blue Airways และ Frontier Airlines ทำมาตั้งแต่ต้น การเดินทางสายการบินชั้นโดยสารกลุ่มเดียวนี้
เป็นการลดต้นทุนวิธีหนึ่งด้วย ที่ไม่ต้องจัดเตรียมบริการผู้โดยสารกลุ่มชั้นราคาแพง
และติดตั้งอุปกรณ์หรูหราบนเครื่อง ต้นทุนการตกแต่งในเครื่องลดลง โดยส่วนใหญ่ใช้เครื่อง
Airbus A320 ซึ่งบรรจุ ได้ 156 ที่นั่ง
สำหรับนโยบายนี้ United Airlines ถึงกับตั้งชื่อสายการบินในเครือใหม่ เรียกว่า
Ted Airlines เริ่มให้บริการจากสนามบินเดนเวอร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ และกำหนดภายในปีหน้า
จะเปิดให้บริการด้วยเครื่องแอร์บัส 45 ลำ ตามเส้นทางฝั่งตะวันตกของประเทศ
คู่แข่งรายใหญ่ของบริษัทจะเป็น Frontier Airlines ซึ่งนำตลาดล่วงหน้าไปก่อน
แต่ Ted ได้เปรียบที่สามารถแบ่งปันผู้โดยสาร หรือใช้ codeshare กับ United
Airlines บริษัทแม่ได้
Atlantic Coast Airlines ประกาศว่าในกลางปี 2004 จะกลับเข้าสู่สนามการค้า
low cost ใหม่ ในนามของ Independence Air หลังจากที่ปัจจุบันบริษัทรับจ้างบินให้
Delta และ United ใน 50 เมือง รวมถึงเส้นทางการบินข้ามประเทศจากวอชิงตัน
และปัจจุบันมีเครื่องบินทั้งสิ้น 112 ลำ
ยังมีสายการบินน้องใหม่ที่ประกาศลงเล่นตลาด one class airlines คือ สายการบิน
Project Roam ซึ่งเป็นของนักธุรกิจเมืองพิตส์เบิร์ก และสายการบิน Virgin
Atlantic ผู้ประกอบการจากอังกฤษ ที่วางแผนเติบโตขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์
สายการบินขนาดใหญ่ที่สุดของอเมริกา คือ American Airlines ก็ประกาศว่าบริษัทจะขยายเส้นทาง
5 เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน แต่ยังไม่ได้ประกาศสู้ด้านราคาต่ำเต็มตัว, American
Eagle ประกาศ เพิ่มเที่ยวบินอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ตามเส้นทางสนามบินชิคาโก
โอ แฮร์ และสนามบินฟอร์ท เวิร์ท ที่ดัลลัส หลังจากที่มีการแข่งขันมาก จาก
ATA Airlines และ Southwest ในเส้นทางชิคาโก และการเข้ามาของ แอร์ทรานส์ในเส้นทางดัลลัส
ขณะที่การแข่งขันด้านตลาดผู้บริโภคทั่วไปหนักอย่างนี้ อีกตลาดหนึ่งของการเดินทางทางอากาศในอเมริกา
คือ การเดินทางเป็นกลุ่มคณะ หรือ cooperate travel ก็มีมูลค่าตลาดที่ลดลงและต้องใช้กลยุทธ์ low price ด้วย คือที่ผ่านมาสายการบินต้องทำสัญญาในราคาที่ต่ำลงทุกที
เพื่อรักษาตลาดที่ความต้องการน้อยลงเพราะปัญหาหลายอย่าง เช่น บริษัทสามารถจองตั๋วราคาถูกผ่านเว็บไซต์ได้
รวมถึงการตรวจค้นที่สนามบินมากขึ้น ทำให้หลายบริษัท หันมาซื้อเครื่องใช้เอง
หรือหารต้นทุนค่าเครื่องกับบริษัทอื่น หรือเช่าเครื่องเหมาลำในแต่ละรอบการเดินทาง
โดยมีการเปิดตัวของผู้ให้บริการเจ็ตเพื่อธุรกิจเจ้าใหม่ อย่าง Primaris Airlines
ในเมืองลาสเวกัส
การแข่งขันมีสภาวะอย่างหนักในทุกสนามบินทั่วประเทศ ทั้งหน้าใหม่ และหน้าเดิมจำนวนมาก
และทุกรายยังคาดหวังที่จะเพิ่มเส้นทางในปี 2004 เพราะตลาดเพิ่งกลับมาฟื้นเต็มที่หลัง
11 กันยา หนทางเดียวที่จะดำรงสถานภาพไว้ได้ เท่าที่ผู้ประกอบการทุกคนมองเห็นคือ
การลงมาเล่นตลาดราคาต่ำเท่านั้น