แค่งานแนะนำแบรนด์ "นกแอร์" ของสกายเอเชีย ซึ่งเป็น low cost airline ล่าสุดของไทยที่จะเริ่มบินวันที่
1 มิถุนายน 2547 นี้ ก็เป็นที่ฮือฮากับลูกเล่นของพาที สารสิน ซีอีโอหนุ่มที่ทำตัวง่ายๆ
เข้ากับคอนเซ็ปต์งาน ที่สร้างเซอร์ไพรส์เป็นระยะๆ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าสยามสมาคมสู่
mystery island จนถึงการเปิดตัวแบรนด์ "Nok Air" และผู้บริหารที่ซ่อนตัวหลังเปลือกไข่
จนถึงการปิดท้ายงานด้วยเพลง "นกแอร์" ที่ขับร้องโดยซีอีโอ พาที คลอกับเสียงกีตาร์จากแชมป์
สำเนียงไทยปนอังกฤษที่ พาที หรือ ดุ๋ง กล่าวด้วยเสียงแหบแห้งในวัน Launch
Brand "นกแอร์" เป็นสำเนียงนักเรียนนอก ผู้เป็นบุตรของอาสา สารสิน กับ ท่านผู้หญิงสุจิตคุณ
สารสิน ที่ได้รับการศึกษาระดับมัธยมจาก King School ประเทศอังกฤษและจบปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจและคอมพิวเตอร์จาก
Clark University แมสซาซูเซตต์ และปริญญาโทสาขาภาพยนตร์และวิดีโอจาก American
University วอชิงตัน ดี.ซี.
พาทีเริ่มงานครั้งแรกกับบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ Lintas ในปี 2526-2529 ในฐานะ
Researcher Manager ก่อนจะบินไปเรียนต่อโทและทำงานในส่วนผลิตรายการอีกสองปีที่
NBC สถานีเครือข่ายยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ
เมื่อกลับมาเมืองไทยในปี 2532 ด้วยบุคลิกที่คล่องแคล่วและรู้จักเข้าหาผู้ใหญ่เก่ง
ทำให้พาทีก้าวหน้ากับอาชีพในบริษัทโฆษณา SPA Advertising ในฐานะ Creative
Director และเพียงสองปีต่อมา เขาได้เป็น General Manager ของบริษัท Multi
Media Orbit ซึ่งเป็นโปรดักชั่นเฮาส์ของ SPA
ต่อมาในปี 2535 บริษัท Bates Worldwide ได้เทกโอเวอร์ SPA แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท
Bates Advertising Thailand และตั้งพาทีเป็นกรรมการผู้จัดการ และซีอีโอในเวลาต่อมา
หลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2542 เอเยนซี่โฆษณา Bates โตเร็วที่สุด มีลูกค้าในมือถึง
141 ราย เช่น BMW, ปูนซิเมนต์ไทย, AVON, HSBC, Fujisu, Unilever, Sony, ธนาคารไทยพาณิชย์
ผลงานเด่นของพาทีคือการสร้างสรรค์งานให้กับ DTAC ซึ่งเป็นชื่อที่เขาคิด
และประสบความสำเร็จในการเปิดตัวสู่ตลาด
ในต้นปี 2547 พาทีได้รับแต่งตั้งเป็นประธานของ Bates ประเทศไทย ควบคู่กับงานใหม่ในฐานะซีอีโอของ
นกแอร์ สายการบินที่พาทีเรียกว่า "No frills airline" แทนคำว่า low cost
airlines เพราะ no frill คือตัดสิ่งไม่จำเป็นทิ้งไป เนื่องจากไม่ได้บินไกล
แค่ 1-3 ชั่วโมงเท่านั้น
"ชื่อนกแอร์เกิดขึ้นเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว เราคิดกันนานเรื่องใช้ชื่อแบรนด์ที่คนไทยสามารถเข้าใจได้ง่าย
อย่าลืม! เรากำลังพูดถึงตลาดของผู้โดยสารหลายคนที่ยังไม่เคยบินมาก่อน เพราะฉะนั้นคำว่า
"นก" จึงตอบโจทย์ เพราะนกเป็นสัตว์ที่คนชอบ น่ารัก บินได้ และที่สำคัญที่สุด
ผมอยากถามว่าในนี้มีใครบ้างชื่อเล่นว่า นก? ผมจะบอกว่าคนไทยมากกว่า 2-3 ล้านคนมีชื่อเล่นว่า
'นก' เพราะฉะนั้น การที่เราเอาชื่อนี้เป็นแบรนด์ออกมา สำหรับคนชื่อนกจะมีความเป็นเจ้าของทันที
ผมถามว่า ถ้าจะให้บินกับคู่แข่งหรือบินกับนกแอร์ไลน์ ผมคิดว่าเขาคงอยากจะลองบินกับนกแอร์ไลน์มากกว่า"
พาทีเชื่อเช่นนั้นจริงๆ
ในฐานะนักการตลาด โจทย์ใหญ่ที่เขาต้องทำงานให้แตกต่างจากสายการบินคู่แข่งอย่างแอร์เอเชียที่ล่วงหน้าไปก่อน
6 เดือน โดยมีกลุ่มลูกค้าระดับ B เป็น primary target consumer
"ผมจะทำให้คนจองตั๋วนกแอร์รู้สึกง่ายๆ เหมือน เดินไปซื้อโค้ก Coca Cola
not Pepsi" พาทีย้ำ
ความแปลกใหม่ในช่องทางจำหน่ายตั๋วบินนกแอร์ที่จะให้คนซื้อตั๋วได้ง่ายๆ
ที่ร้าน 7-eleven ซึ่งมีมากกว่า 2,500 แห่ง, เว็บไซต์ และ call center ถือเป็น
กุญแจดอกสำคัญไขพฤติกรรมลูกค้าให้เปลี่ยนไปสู่ตลาดมวลชน
"เราศึกษาทุกรูปแบบ distribution ที่ลูกค้าของเราได้สัมผัส ผมบอกได้เลยว่า
เราไม่ได้บังคับคอนซูเมอร์ แต่เราต้องบังคับตัวเองให้เข้าไปอยู่ใน behavior
ของลูกค้า ผมคาดว่าอนาคตของการซื้อขายตั๋วกับคน 17 ล้านคน ที่มีโทรศัพท์มือถือหรือมีบัตรเอทีเอ็ม
คือในที่สุดผมอยากให้แม่ค้าที่อยากจะบินก็บินได้"
นอกจากนี้ทุกพื้นที่ขายของนกแอร์จะสามารถสร้างรายได้ เช่น โฆษณาบน boarding
pass ซึ่งในฐานะนักโฆษณามืออาชีพ พาทีกล่าวว่าเขาจะนำประสบการณ์นี้ไปใช้กับการทำกลยุทธ์ของนกแอร์ด้วย
โดยขณะนี้ มีทีมบริหารระดับหัวหน้า 8 คนที่มาจากสายการตลาด เช่น ยูนิลีเวอร์
ปัจจุบัน บริษัทสกายเอเชีย มีทุนจดทะเบียนชำระ แล้ว 200 ล้านบาท โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่
39% คือบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ให้ภาพลักษณ์น่าเชื่อถือเรื่องความปลอดภัย
โดยเครื่องบินโบอิ้ง 737-400s สองลำ ที่บินไปยังจุดหมายปลายทาง 6 เมืองใหญ่
เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี พิษณุโลก ภูเก็ต และหาดใหญ่