Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2547
ศุภลักษณ์ อัมพุช โหมโรง Siam Paragon             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 

   
related stories

เบื้องหลังงาน Touch & Famous

   
www resources

โฮมเพจ สยามพารากอน

   
search resources

สยามพารากอน ดิเวลลอปเม้นท์, บจก.
ดิ เอ็มโพเรี่ยม ชอปปิ้ง คอมเพล็กซ์
ชฎาทิพ จูตระกูล
ศุภลักษณ์ อัมพุช




ด้วยศักยภาพทางธุรกิจของ ศุภลักษณ์ อัมพุช เธอสามารถช่วงชิงการนำก่อนเซ็นทรัลกรุ๊ป ด้วยการปักธง World Class Brand Value ของกลุ่มเอ็มโพเรียม และ Siam Paragon ไปกับวาระแห่งชาติ ในโครงการ "Bangkok FASHION CITY" ได้อย่างมีกลยุทธ์ แบบ Win Win Marketing

...01.00 น. ณ ราตรีอันดึกสงัดบนถนนสุขุมวิท ภาพของสองสาวธุรกิจหมื่นล้าน ศุภลักษณ์ อัมพุช พร้อมกับชฎาทิพ จูตระกูล ต่างสนุกกับการซ้อมจับเวลาและลองซ้อมเดินบนรถเทรเลอร์ ที่แปลงเป็นแคตวอล์กเคลื่อนที่อย่างช้าๆ ไปตามวงล้อยักษ์ที่วิ่งเป็นระยะ 5.5 กิโลเมตร จากจุดสตาร์ตที่สยามดิสคัฟเวอรี่ เซ็นเตอร์ จนถึงสุดทางที่ ดิเอ็มโพเรียม ชอปปิ้ง คอมเพล็กซ์ ตามแผนที่วางไว้ก่อนงาน "Bangkok FASHION CITY EXTRAVAGANZA 2004" จะเริ่ม kick off จริงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของบุคลิกการทำงานสไตล์ติดดินของศุภลักษณ์ ที่นั่งเบนซ์เอสคลาสใส่เสื้อผ้า ซูเปอร์แบรนด์เนมระดับโลก แต่มุ่งมั่นทำงานนี้เพราะเธออยู่ในฐานะประธานอนุกรรมการจัดงานภาคเอกชนของโครงการ "กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น" (Bangkok FASHION CITY) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมวางแผนใช้งบไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท เพื่อวางตำแหน่งของประเทศไทยให้กลายเป็น hub ของวงการแฟชั่นในภูมิภาคเอเชีย ตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องหนัง และอัญมณี

"ครั้งแรกที่เราไปประชุมเวิร์กชอปกับนายกฯ 500 คน เราเห็นยุทธศาสตร์ของมัน และเห็นวิชั่นของท่านนายกฯ ที่เอาจริงให้งบมาเกือบ 2,000 ล้านบาท เมื่อเริ่มเราบอกเลยว่า ถ้าจะทำโครงการนี้ให้ดี ต้องโปรโมตทั้งถนน ไม่ได้ต้องการแค่ 500 คนหรือพันคน แต่เราต้องการคนระดับแสน ก็เลยเอาโครงการนี้ไปเสนอกับท่านพันธ์เลิศ ใบหยก ท่านก็ปิ๊งขึ้นมา

พอเราจับแล้วดัง ทุกคนก็เข้ามาช่วยกัน เหมือนงาน OTOP ท่านสมคิด ท่านเก่ง เรียกเราไปคุยบอกคุณศุภลักษณ์ช่วยหน่อยงานนี้ ทำให้มันดีเพราะเราอยู่ในวงการแฟชั่นมานาน เราก็บอกเลยว่า ขอเราทำงานวันที่ 15 ทีนี้ถ้าเราทำกันหลายหัวมันเคลื่อนที่ไปไม่ได้ เราก็ขอจับแค่พันธมิตร 2 คนเพราะถ้าจับกันหลายคน แค่คิดว่าจะเอาโลโกวางตรงไหนก็เวียนหัวแล้ว พองานมันดังและดี ทุกคนก็ลงมาสนับสนุนกันเอง" ศุภลักษณ์เล่าให้ฟังถึงที่มา

ด้วยเหตุนี้ ศุภลักษณ์จึงได้ฉวยโอกาสทองจากโครงการนี้ไว้ได้มั่นเหมาะ นี่คือโอกาสที่เป็นจริงที่มาเร็วกว่าที่เธอคิด เพราะหนึ่งในสี่เป้าหมายสำคัญในโครงการ Siam Paragon มูลค่าหมื่นล้านบาท ที่ประกาศเปิดตัวไปแล้วตั้งแต่พฤศจิกายน 2544 คือการขาย World Class Fashion นอกเหนือจากเรื่อง Culture, Nature และ Lifestyle

ศุภลักษณ์สามารถใช้วาระแห่งชาติในงานนี้ ปิดถนนให้คนนับแสนเดินและจับจ่ายซื้อของบนถนนแห่ง retail of shopping paradise ระหว่างสยามดิสคัฟเวอรี่ถึงเอ็มโพเรียม แบบที่สิงคโปร์มี Orchard Road หรือในญี่ปุ่นมีถนน Ginza งานนี้ศุภลักษณ์รับทั้งเกียรติและเงินไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทมาใช้จัดงานมหกรรม Bangkok FASHION CITY EXTRA-VAGANZA 2004 ซึ่งเปรียบประดุจการโหมโรง (Overture) ให้กับโครงการ Siam Paragon มูลค่าหมื่นล้านบาท ที่กำลังก่อสร้างและทำการตลาดคัดสรรร้านค้าซูเปอร์แบรนด์ เนมดังของโลกมา โดยกำหนดจะเปิดปลายปี 2548 นี้

"เราทำโครงการอย่าง Siam Paragon ขึ้นมา มันต้องเป็น World class destination เราคงไม่ทำขึ้นมาเพื่อแย่งแชร์ก้อนเดิมกันเอง มันต้องสร้างตลาดใหม่ขึ้นมา คือตลาดที่ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแฟชั่นระดับโลก และนักท่องเที่ยว 10 ล้านคนที่มาจะซื้อของใช้จ่ายเงินชอปปิ้งเพิ่มเป็น 50% ในเรื่องแฟชั่น ตัวเลขที่เราเคยทำได้ 1 แสนกว่าล้านบาทในด้านชอปปิ้ง อาจขึ้นเป็น 2-3 แสนล้านบาทก็ได้ มันดับเบิ้ล! ตัวเลขนี้ทางฮ่องกงและสิงคโปร์ เขา enjoy มาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว ถึงเวลาที่กรุงเทพฯ จะลุกขึ้นมา" ศุภลักษณ์ เล่าให้ฟังที่ราชนาวิกสภา หลังงานพิธีเปิด Launch brand "Bangkok FASHION CITY" ของรัฐบาลเมื่อค่ำวันที่ 12 กุมภาพันธ์

ด้วยกลยุทธ์แบบ Win Win Marketing ศุภลักษณ์สามารถช่วงชิงการนำปักธง World Class Brand Value ของกลุ่มเอ็มโพเรียมและ Siam Paragon ก่อนเซ็นทรัลกรุ๊ป ซึ่งล่าสุด สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ แห่งเซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่า จะมีการจัดงานบางกอกแฟชั่นวีคและเปิดตัวศูนย์ดีไซน์เซ็นเตอร์ที่ เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า ในเวลาต่อมา

"ถ้าเราพูดถึง world class อย่าง มิลาน, ปารีส, ลอนดอน, นิวยอร์ก, ฮ่องกง ถ้ามันมี world class brand name อย่างนี้มันต้องมี Bangkok ติดอยู่ในเอเชีย ไม่ใช่กัวลาลัมเปอร์ หรือฮานอย ฉะนั้นคำว่า Bangkok Fashion City จึงเป็น value ที่สำคัญมากที่จะเกิดขึ้น เพราะเรามี world class brand name มาเป็นตัว endorse ดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก ขณะเดียวกันมันควบคู่กับ local brand name"

เห็นได้ชัดจากคำพูดศุภลักษณ์มักย้ำเสมอว่า ตลาด world class ยังเป็นเค้กก้อนใหม่ที่เธอวาดหวังไว้มากกว่า local brand ทั้งนี้เพราะประสบการณ์การค้าที่ศูนย์การค้าดิเอ็มโพเรียม มีสถิติรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่อัตรา 30% ของทั้งหมด โดยมาจากการขายสินค้าแบรนด์เนม ระดับโลกได้ถึง 60% ขณะที่ขายแบรนด์ของคนไทยเพียง 40%

ตลอดเส้นทางระยะ 5.5 กิโลเมตร บนถนนพระราม 1-สุขุมวิท จะเห็นถึงศักยภาพทางธุรกิจของศุภลักษณ์ สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในทุกกิจกรรมบนถนนสายนี้ได้มาก โดยพิจารณาจากองค์ประกอบของงาน 3 ส่วนสำคัญ คือ

หนึ่ง-Fashion Parade ที่ยาวเหยียดกว่า 1.5 กิโล เมตร เพราะขบวนรถที่มีสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำ ทั้ง Local Brand และ Super Brand จากต่างประเทศกว่า 60 แบรนด์ ภายใต้การจัดงาน event marketing ของมืออาชีพอย่าง Index และ KUDO ที่ศุภลักษณ์เลือกใช้ทำงานใหญ่ระดับชาตินี้

ทั้งนี้แบรนด์ที่เป็นสปอนเซอร์หลักสำคัญที่จ่ายหนักหลักหลายล้านมีอยู่ 3 ราย ได้แก่ AIS, Nokia, ธนาคารไทยพาณิชย์ และอีก 5 รายที่รองลงมาคือ Coke, Heineken, Amway, ไทยประกันชีวิต และการบินไทย

นอกจากนี้จากการสำรวจของ "ผู้จัดการ" พบว่า มีแบรนด์เนมระดับโลกและแบรนด์ไทยมีถึง 144 แบรนด์เนม ที่ร่วมลดราคาสูงสุด 50% ในศูนย์การค้า 7 แห่ง บนถนนสายชอปปิ้งนี้ในช่วงเวลาสามชั่วโมงนั้น แต่ถ้าแบ่งแยกให้ดีจะพบว่าแบรนด์ไทยมีแค่ 32 แบรนด์เท่านั้น แถมความนิยมยังสู้แบรนด์นอกไม่ได้ จึงทำให้งานนี้คนไทยอุดหนุนแบรนด์นอกมากกว่า ฤานี่คือ hidden agenda

"งานนั้นใช้เงินลงทุนประมาณ 40 ล้านบาท แต่ก็มีสปอนเซอร์เหล่านี้มาช่วยกัน ต่างคนต่างควักกันไม่ต่ำกว่าหลายล้าน" ศุภลักษณ์กล่าวและเป็นไปได้หรือไม่ว่านี่คือการจัดการแบบควักกระเป๋าน้อยแต่ได้ผลเกินคาด

เป็นที่น่าสังเกตในงานมหกรรมนั้นว่า สปอนเซอร์ที่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้คุ้มกับเงินที่จ่ายไป โดยทำกิจกรรมประเภท Brand Experience ที่สามารถดึงดูดผู้ชมนับแสนให้ร่วมรับรู้ได้มากที่สุดคือ AIS และ Nokia เช่น AIS ทำเมนูโมบายไลฟ์ ให้ลูกค้าคลิกไปที่ AIS Fashion Channel สามารถใช้มือถือระบบ GPRS สามารถติดตามงานแฟชั่นพาเหรดได้ตลอดและยังมีภาพพจน์เป็นสปอนเซอร์ โครงการ U Fashion 2004 แสดงนิทรรศการการออกแบบแฟชั่นของนักศึกษาที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจได้ด้วย

นอกจากนี้ ตามจุด Outpost ซึ่งเป็นที่ตั้งของบูธสปอนเซอร์หลักที่ตั้งเรียงรายตามเส้นทางเป็นระยะๆ ถึง 12 จุด แต่ละจุดก็มีกิจกรรมสร้างสีสันตลอด เช่น ที่หน้าร้าน @home สุขุมวิท 31 AIS ไปเปิดบูธจัดแข่งขัน MMS Photo Contest ถ่ายภาพขบวนพาเหรดแฟชั่น

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์อาจจะได้ไม่คุ้ม เนื่อง จากรถแบรนด์ไม่มี impact และขาดกิจกรรมลูกโซ่ที่จะยึดโยงให้คนนับแสนมีประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์ และบริการของธนาคารได้เท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับ KTC ที่ดูทันสมัย

สอง-The Showcase of World Class Fashion and Jewelry ถือเป็นไฮไลต์ปิดท้ายงาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าธุรกิจเพชรอัญมณีเครื่องประดับของไทยมีศักยภาพทางธุรกิจมหาศาล ที่จะดึงดูดความมั่งคั่งมาสู่ไทยได้ งานนี้ถือ ว่าศุภลักษณ์จบท้ายงานยิ่งใหญ่ได้ด้วย Business Agenda ที่สามารถดึงร้านค้าที่เป็น Fashion Brandname ระดับโลกและสมาคมอัญมณีและเครื่องประดับมาได้

การค้าอัญมณีเครื่องประดับถือเป็นงานท้าทายที่ Touch & Famous ที่ศุภลักษณ์ตั้งใจจัดการให้ Siam Paragon เป็นศูนย์อัญมณีที่ยิ่งใหญ่ในเอเชีย ดึงดูดใจคนซื้อจากฮ่องกง ญี่ปุ่น และคนรวยจากประเทศเพื่อนบ้านมาได้

สาม-ชื่อเสียงและภาพพจน์ของกลุ่มเอ็มโพเรียมและ Siam Paragon ในฐานะผู้จัดงานใหญ่นี้ ได้ปรากฏเป็นข่าวเด่นในสื่อมวลชนทุกแขนง ไม่ว่าจะหน้าหนึ่งไทยรัฐแถมภาพข่าวเนื้อในอีกเต็มหน้า รวมถึงการถ่ายทอดในไอทีวี, โมเดิร์นไนน์, UBC Chic Channel และกลุ่มกันตนากรุ๊ป ที่ถ่ายทอดไปยังเวียดนามและอินโดนีเซีย รวมถึงสำนักข่าว CNN ยังเผยแพร่ทั่วโลกด้วย

"ตัวเองเป็นคนที่ให้ความสนใจกับแฟชั่น อย่างงานพิธีการที่ราชนาวิกสภา ก็มีความหวังเพราะเห็นคนของ Hermes และชาแนล เข้ามาดูและบอกว่า ของคนไทยเราต้องเน้นในรายละเอียด และใช้ความประณีตวิจิตรศิลป์ ที่เรียกว่า Exotic ที่จะทำให้งานเรามีความเป็น Uniqueness มันเหมือนจุดยืนและจุดแข็งในการทำของไทย ซึ่งมีความเป็น origi-nality ในเรื่องรายละเอียด" ศุภลักษณ์เล่าให้ฟัง

แต่ก้าวต่อไปของศุภลักษณ์คือการผลักดันให้รัฐบาล ลดภาษีการนำเข้า ที่จะมีผลลูกโซ่ต่อเนื่องถึงการอ้างสิทธิประโยชน์ในเรื่องการลดภาษีนำเข้าแบรนด์เนมระดับโลก เพื่อเป้าหมายการเป็น hub แฟชั่นภูมิภาคเอเชียนี้

"ต่อไปการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมนี้มันจะสูงมาก แต่การจะควักเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยว มันสามารถทำได้ ถ้ารัฐลดภาษีนำเข้าตรงนี้ไม่ถึงพันล้าน เราจะได้เงินมาเป็นแสนล้านสบายๆ โดยไม่ต้องเหนื่อย" นี่คือความคาดหวังของศุภลักษณ์ที่ยังต้องเหนื่อย และใช้เวลาอีกมากในการทำงานท้าทายเพื่อสร้างผลงานระดับโลกอย่าง Siam Paragon

ปัจจุบันรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยหนึ่งในสามหรือ 1 แสนล้านบาทมาจากการชอปปิ้งของนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน หรือตกคนละ 1,000 บาท

ศักยภาพทางธุรกิจของศุภลักษณ์ในการนำ Siam Paragon เข้าไปเชื่อมต่อกับแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว เอเชีย โดยผลักดันให้ไทยเป็น Regional Shopping Destination บนถนนสายสุขุมวิท ที่มีพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร ถือว่าบรรลุผลเบื้องต้น

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ศุภลักษณ์ยังคงเป็นนักการค้าที่เก่งกาจในการแสวงหาโอกาส เพื่อประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจของตนและหุ้นส่วนได้อย่างชาญฉลาด แบบขี่กระแสคลื่นแห่งกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นได้อีกนาน ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางธุรกิจเสียก่อน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us