Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2547
ปล้นฮอลลีวูด             
 

   
related stories

จากตลาดเสรีสู่ตลาดมืด
เชือดไก่ให้ลิงดู




แกะรอยเส้นทางสู่ตลาดมืดของหนังดังฮอลลีวูด และความปราชัยของฮอลลีวูด ในสงครามปราบหนังเถื่อน

ผู้บริหารสตูดิโอภาพยนตร์ใน Hollywood ต่างกำลังตกอยู่ในความหวาดกลัวถึงขั้นวิตกจริต ทุกครั้งที่หนังใหม่ของตนออกฉาย โดยเฉพาะถ้าเป็นหนังดังอย่าง The Last Samurai ที่มีซูเปอร์สตาร์อย่าง Tom Cruise

ในคืนที่ Samurai ออกฉายรอบพิเศษก่อนฉายจริง Warner Bros. สตูดิโอเจ้าของหนัง ต้องใช้มาตรการคุ้มกันอย่างแน่นหนายิ่งกว่ามาตรการป้องกันการก่อการร้าย เพื่อประกันว่าจะไม่มีใคร สามารถลักลอบก๊อบปี้หนังออกไปได้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมากกว่า 1,000 คน เป็นผู้นำฟิล์มหนังไปส่งมอบยังห้องฉายด้วยมือ และตรวจค้นห้องฉายและภายในโรงหนังกว่า 500 แห่ง เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีใครแอบนำกล้องถ่าย วิดีโอหรือเครื่องบันทึกอื่นใดเข้ามาได้ ผู้ชมทุกคนต้องผ่านเครื่องตรวจจับโลหะ มือถือติดกล้องทุกตัวถูกริบ และในระหว่างหนังฉาย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในชุดสีดำจะเดินท่อมๆ อยู่ตาม ทางเดินเป็นแถวๆ สอดส่ายสายตาที่สวม แว่นตาที่มองเห็นได้ในความมืด มองหาแสงไฟแม้เพียงจุดเล็กๆ ที่แสดงว่ามีกล้องถ่ายวิดีโอกำลังทำงานอยู่

ความจริงแล้ว มาตรการคุ้มกัน Samurai เริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนที่หนังจะถ่ายทำจบเสียอีก ฟิล์มหนังทุกม้วนจะถูกเข้ารหัสด้วยเครื่องหมายที่ซ่อนอยู่ ซึ่งจะทำให้สามารถแกะรอยสาวกลับมาถึงฟิล์มต้นตอได้ ในกรณีถูกละเมิดลิขสิทธิ์ แม้แต่บทภาพยนตร์ก็ยังมีรหัสลับประทับไว้ทุกหน้า โดยรหัสนี้จะทำให้สามารถระบุได้ว่าใครเป็นเจ้าของบทฉบับนั้นๆ

Warner Bros. ยังมีบริษัทที่ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์หนังของตนบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะคอยตรวจสอบการแลกเปลี่ยนไฟล์บนอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง และส่งจดหมายเตือนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตว่ามีผู้ใช้ที่กำลังทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่อาวุธสำคัญของบริษัทดังกล่าวคือ การส่งไฟล์ปลอมออกไปหลอกให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดไฟล์ที่คิดว่าเป็นหนังใหม่หนังดังที่กำลังอยากได้ จนเมื่อดาวน์โหลดเสร็จซึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง จึงจะพบว่าเป็นไฟล์เก๊ๆ ที่มีแต่ตัวเลข 1 กับ 0

กระนั้นก็ตาม เพียง 1 วันหลังจากการฉายรอบปฐมทัศน์ Samurai ฉบับละเมิดลิขสิทธิ์ฉบับแรกก็ขึ้นไปโชว์ตัวหราอยู่บนอินเทอร์เน็ต โดยเป็นการถ่ายจากกล้องวิดีโอขณะหนังฉาย Warner Bros. สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งแรกนี้เกิดขึ้นในโรงหนังใด ด้วยรหัสลับที่ซ่อนอยู่ในฟิล์มนั่นเอง

1 สัปดาห์หลังจากนั้น Samurai ก็มาวางขายปลีกอยู่ในเอเชีย พร้อมคำบรรยายที่มีให้เลือกทั้งไทย จีน และบาฮาซาอินโดนีเซีย ด้วยสนนราคาเพียง 1 ดอลลาร์สำหรับแผ่นดีวีดีที่หาซื้อได้ที่เซี่ยงไฮ้

จนถึงขณะนี้ Warner Bros. สามารถแกะรอยได้แล้วว่า ก๊อบปี้ผิดกฎหมายของหนัง Samurai ที่มีหลายพันก๊อบปี้บนอินเทอร์เน็ต และในรูปสื่อบันทึกอีก 25 เวอร์ชั่นจาก 12 ประเทศนั้น ทั้งหมดเป็นการทำซ้ำที่มีต้นตอมาจากม้วน screener เพียง 1 ม้วนและจากการแอบถ่ายด้วยกล้องวิดีโอขณะหนังฉายอีก 2 กล้อง เท่านั้น

เส้นทางจากตลาดเสรีไปสู่ตลาดมืดของ Samurai นี้ฟ้องว่า สตูดิโอฮอลลีวูดกำลังพ่ายแพ้ในสงครามปราบหนังเถื่อน สมาคมภาพยนตร์แห่งอเมริกา (Motion Picture Association of America: MPAA) ระบุว่า ปี 2003 มีหนังดังมากกว่า 50 เรื่องถูกละเมิดลิขสิทธิ์ และนำออกขายก่อนหน้าที่หนังจะลง โรงเสียอีก ส่วนในปี 2002 เจ้าหน้าที่ก็สามารถยึดหนังเถื่อนได้ถึง 41 ล้านแผ่นทั่วโลก

Smith Barney ประเมินว่าในปี 2003 อุตสาหกรรมหนังอเมริกันน่าจะทำรายได้ที่มากกว่า 52,000 ล้านดอลลาร์ไปอีก 3.5 พันล้านดอลลาร์ ถ้าหากไม่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ และยังชี้ว่า ในปีหน้าฮอลลีวูดยังจะสูญเสียมากขึ้นไปกว่านี้อีก โดยรายได้ในส่วนที่ควรจะได้แต่กลับไม่ได้นี้ จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.4 พันล้านดอลลาร์ และยิ่งหนังเถื่อนที่ออกมามีคุณภาพการบันทึกที่ดีมากเท่าใด และออกขายก่อนหนังฉายได้เร็วเท่าไร ฮอลลีวูดก็จะยิ่งสูญเสียมากเท่านั้น

เพราะทันทีที่หนังถูกละเมิดลิขสิทธิ์ โรงงานผลิตแผ่นวีซีดีหรือดีวีดี ก็พร้อมที่จะผลิตซ้ำได้อีกหลายพันหลายหมื่นแผ่น ทั้งนี้ เมื่อกว่า 2 ปีก่อน กว่าหนังเถื่อนแผ่นแรกจะออกวางขาย ปลีกได้ ก็ต้องหลังจากหนังออกฉายไปแล้วถึง 1 สัปดาห์ แต่ทุกวันนี้ใช้เวลาเพียงแค่ 48 ชั่วโมงหลังจากหนังออกฉายเท่านั้น หรือแม้แต่ก่อนที่หนังจะออกฉายด้วยซ้ำ ด้วยสนน ราคาเพียง 1 ดอลลาร์หรือ 1 ดอลลาร์เศษๆ

สิ่งหนึ่งที่บรรดาสตูดิโอฮอลลีวูดไม่ค่อยอยากจะยอมรับคือ รูโหว่ที่อยู่ในตาข่ายคุ้มกันความปลอดภัยของตนเอง ผลการศึกษาของ AT&T ในปี 2003 พบว่า 77% ของหนังเถื่อนบนอินเทอร์เน็ตมาจากการรั่วไหล ณ จุดใดจุดหนึ่งภาย ในอุตสาหกรรมหนังนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นจากสมาชิกสถาบันศาสตร์และศิลป์แห่งภาพยนตร์ (Acadamy of Motion Picture Arts and Sciences) ซึ่งเป็นผู้ตัดสินรางวัลออสการ์ นักวิจารณ์หนัง หรือผู้ที่ทำหน้าที่ฉายหนังในห้องฉาย

ดังกรณีของหนัง Something's Gotta Give ของ Sony รวมทั้ง Samurai และเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่เจ้าของ หนังสามารถแกะรอยจากหนังฉบับละเมิดลิขสิทธิ์ สาวกลับไปถึงม้วน screener ที่ส่งให้แก่ Carmine Caridi นักแสดงอาวุโสผู้เป็นสมาชิกของสถาบันที่ตัดสินรางวัลออสการ์ได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า นักแสดงอาวุโสคนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยหรือไม่

ทางสถาบันฯ ก็มิได้นิ่งนอนใจและได้ลงมืออุดรูรั่วที่เกิดจากตนแล้ว โดยได้ตั้งกฎใหม่ว่า สมาชิกคนใดที่ถูกพบว่าทำม้วน screener รั่วไหลไปถึงมือพวกค้าหนังเถื่อน จะต้องถูกไล่ออกจากสถาบัน ซึ่งสมาชิก 80% ได้ลงนามรับทราบกฎใหม่นี้แล้ว

บรรดานักนิยมดาวน์โหลดหนังจากอินเทอร์เน็ตและซื้อหนังเถื่อน ต่างพยายามยืนยันว่า การทำเช่นนั้นหาได้กระทบกับพฤติกรรมการซื้อหนังลิขสิทธิ์ หรือการออกจากบ้านไปดูหนังโรงของพวกเขาไม่ แต่ Jack Valenti แห่ง MPAA ค้านว่า ถ้าคุณสามารถดาวน์โหลดหนังที่มีคุณภาพการบันทึกดีเยี่ยมทั้งภาพและเสียงได้ ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที โดยไม่ต้องเสียอะไรสักอย่าง มีหรือที่คุณจะยังคงกลับไปควักเงินซื้อแผ่นดีวีดีของแท้อีก

ดังจะเห็นได้จากการที่อุตสาหกรรมเพลงอเมริกันได้เผชิญกับวิกฤติการณ์จนแทบล้มทั้งยืนมาแล้ว ด้วยยอดขายอัลบั้มเพลงใหม่ที่ตกลงถึง 16% นับตั้งแต่ปี 2000 เรื่อยมา ท่ามกลางการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงบนอินเทอร์เน็ตที่แพร่เร็วยิ่งกว่าไข้หวัดนก

ด้วยเหตุนี้ หลังจากเคยยืนกรานคัดค้านอุตสาหกรรมเพลง ที่ใช้ไม้แข็งกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์มานานหลายปี เมื่อถึงคราวผงเข้าตาตัวเองบ้าง บรรดาสตูดิโอฮอลลีวูดก็ตัดสินใจที่จะดำเนินคดีกับพวกละเมิดลิขสิทธิ์ โดย MPAA กำลังสอบสวนโรงหนัง 23 แห่งในสหรัฐฯ ที่มีการ แอบนำกล้องวิดีโอเข้าไปบันทึกหนังขณะฉาย และมีการฟ้องร้อง Johnny Ray Gasca ซึ่งกลายเป็นผู้ต้องหาที่แอบนำกล้องวิดีโอเข้าไปบันทึกหนังขณะฉายคนแรกของสหรัฐฯ ที่ถูกจับดำเนินคดี (แต่เขาก็หนีประกันไปเรียบร้อยแล้วเมื่อไม่กี่สัปดาห์ ก่อน)

แต่การใช้ไม้แข็งใช่จะช่วยพลิกสถานการณ์ของฮอลลีวูด ที่กำลังตกเป็นฝ่ายปราชัยได้ "ไม่มีใครเชื่อว่า ฮอลลีวูดจะสามารถเกลี้ยกล่อมชักจูงให้ประชาชนเลิกดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ตได้" Eric Garland แห่ง BigChampagne บริษัทติดตามการดาวน์โหลดสื่อบันเทิงยอดนิยมบนอินเทอร์เน็ตชี้

ดูเหมือนว่า สิ่งเดียวที่เหลืออยู่ที่ยังคงปกป้องอุตสาหกรรมหนังฮอลลีวูดไว้ได้ คือความก้าวหน้าอย่างเชื่องช้าของเทคโนโลยีดาวน์โหลดไฟล์จากอินเทอร์เน็ต โดยขณะนี้การดาวน์โหลดหนังเรื่องหนึ่งที่เร็วที่สุดผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังคงต้องใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

แต่ในอีก 18 เดือนนับจากนี้ เวลาในการดาวน์โหลดจะลดลงเหลือเพียง 2 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยีของกล้องถ่ายวิดีโอก็กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อาจจะถึงเวลาแล้ว ที่สตูดิโอจะต้องวางอาวุธและยอมจำนนในสงครามปราบหนังเถื่อน แล้วหันมาคิดโมเดลธุรกิจใหม่ สำหรับโลกใหม่ที่รูปแบบการบริโภคสื่อบันเทิงได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us