Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2547
ลี่เจียง แดนหิมะที่ใกล้ที่สุด             
โดย ธานี ลิ้ม
 





ในช่วงฤดูหนาวคนส่วนใหญ่มักจะไปแสวงหาอากาศบริสุทธิ์ ไปหาธรรมชาติ ชมทิวทัศน์ มองท้องฟ้าสดใส หากไม่ไปแถบภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย ก็ต้องบินไปแถวยุโรป ออสเตรเลีย หรือสหรัฐอเมริกา ขณะที่บางคนอาจจะไปปักกิ่งชมหิมะตก เดินบนกำแพงเมืองจีน

การบินไปสัมผัสหิมะแต่ละครั้งต้อง กินเวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่ยังมีอีกดินแดนที่คนไทยหลายคนไม่ทราบ นั่นคือ นครลี่เจียง (Lijiang) มณฑลยูนนาน (Yunnan)

ลี่เจียงนับว่าเป็นดินแดนภูเขาหิมะที่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ใครที่เคยไปจะต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะต้องกลับมาอีกครั้ง ความผสมผสานระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ทำให้ลี่เจียงมีเสน่ห์ จนหลายคนที่เคยไปต้องบอกว่านี่คือสวิสแห่งตะวันออก

เพียงคุณเสียเวลาแค่ 2-3 ชั่วโมงก็สามารถเล่นหิมะและดูประเพณีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของโลกได้ที่นี่

ลี่เจียงมีพื้นที่ 20,600 ตารางกิโลเมตรตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน มีเขตแนวติดเทือกเขาทิเบตและเทือกเขายูนกุย พื้นที่ 95% เป็นภูเขา มีประชากร 1.125 ล้านคน มีชนเผ่า 23 เผ่าอาศัย แต่มีเผ่าดั้งเดิมจำนวน 12 เผ่า ซึ่งชนเผ่าน่าซี (Naxi) ถือเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยในลี่เจียงมากที่สุด

เผ่าน่าซีมีประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่สุดเผ่าหนึ่งในจีน เคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มาก่อน แต่มาถูกจอมทัพกุ๊บไบข่านตีจนแตกพ่าย

สำหรับใครที่จะไปลี่เจียงโดยตรงน่าเสียดายที่การบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-ลี่เจียง ยังไม่มี ทำให้คุณต้องบินไปนครคุนหมิง เมืองหลวงมณฑลยูนนานเสียก่อน แล้วจึงบินต่อไปยังลี่เจียง ใช้เวลาบินจากกรุงเทพฯ-คุนหมิง 2 ชั่วโมง และจากคุนหมิง-ลี่เจียง 45 นาที

แต่ผู้เขียนเดินทางไปลี่เจียงด้วยการนั่งรถยนต์จากเมืองต้าลี่ (Dali) ได้ชมทิวเขาสวยงามระหว่างทาง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงก็ถึงลี่เจียง

ต้าลี่ก็เป็นอีกเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะต้องมาต้าลี่ และต่อไปยังลี่เจียง

ต้าลี่มีทะเลสาบที่กว้างใหญ่ เรียกว่าทะเลสาปเอ่อหู คือรูปร่างคล้ายใบหูคน กว้าง 250 ตารางกิโลเมตร ต้าลี่มีประชากร 3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวไป๋หรือตาลีฟู แห่งอาณาจักรน่านเจ้าเดิม

ทั้งสองฟากทางของทะเลสาบเอ่อหู มีประติมากรรมน่าสนใจ นั่นคือ สถาปัตย-กรรม เจ้าแม่กวนอิมหยกขาว สูงที่สุดในโลก สูง 17.56 เมตร ใช้หยก 269 ชิ้น มาประกอบกัน มีน้ำหนัก 400 ตัน สร้างเสร็จเมื่อปี 2542 และถูกบันทึกไว้ในกินเนสบุ๊คเรียบร้อยแล้ว

หากเปรียบเทียบระหว่างต้าลี่กับลี่เจียงก็ต้องบอกว่า สวยคนละแบบ ต้าลี่มีความเป็นธรรมชาติทั้งทะเลสาบกว้างใหญ่ และมีที่ราบดูเป็นทะเลภูเขาหินที่เรียงรายเต็มไปหมด

ลี่เจียงมีความผสมผสานระหว่างความเก่าแก่กับการสัมผัสธรรมชาติที่เป็นหิมะ ซึ่งดูบรรยากาศคล้ายตะวันตก

ความโดดเด่นของลี่เจียงก็คือมีมรดกโลกอยู่รวมกันถึง 3 อย่าง

อันดับแรกคือ เมืองโบราณ เมืองโบราณอยู่ในเขตเมืองลี่เจียง นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมชุมชนถิ่นที่อยู่เก่าแก่ของชนเผ่าน่าซี สถาปัตยกรรมจีนโบราณดูสวยงามกลมกลืน จุดเด่นสำคัญก็คือหน้าบ้านทุกหลังจะมีสายน้ำไหลเวียนผ่านตลอดเวลาไม่มีหยุดนับแต่ก่อตั้งกว่าพันปี

น้ำของเผ่าน่าซีถือเป็นเทพเจ้าที่คนในหมู่บ้านเคารพ จึงทำให้น้ำที่ไหลผ่านใสสะอาดอย่างน่าทึ่ง ไม่มีใครทิ้งขยะปฏิกูลลงไป ทุกคนใช้น้ำในการประกอบกิจซักล้างทุกอย่าง

ภายในเมืองโบราณจะเต็มไปด้วยร้านค้าต่างๆ เพื่อขายสินค้าทุกรูปแบบให้แก่นักท่องเที่ยว สินค้าพื้นเมืองที่เห็นเด่นชัดก็คือการนำไม้เนื้อเบามาแกะสลักเป็นภาพหมู่บ้านในเมืองโบราณและวิถีชีวิตของชุมชนดูสวยงามยิ่งนัก

อันดับสองที่ยูเนสโก้บันทึกเป็นมรดกโลก ก็คือ มีแม่น้ำ 3 สาย ซึ่งไหลขนานกัน ได้แก่ แม่น้ำจินซาเจียงไหลไปเซี่ยงไฮ้ แม่น้ำโขงไหลไปเขมร และแม่น้ำหลู่เจียงไหลไปพม่า

ความแปลกประหลาดที่ต้องถูกบันทึกก็คือ แม่น้ำทั้งสามสายไม่สามารถที่จะมาบรรจบกันได้เลย มีบริเวณใกล้ที่สุดระยะ 60 กิโลเมตร ตรงกลางของแม่น้ำมีภูเขาเหล่าจินกั้นกลางคอยกั้นแม่น้ำสามสาย

อันดับสามก็คือ มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งอยู่ข้างทะเลสาบหลูกู ซึ่งมีความแปลกประหลาดตรงที่เป็นเป็นหมู่บ้านหญิงล้วน ไม่มีผู้ชายแม้แต่คนเดียว เด็กๆ จึงไม่มีพ่อ ไม่มีปู่ มีแต่แม่กับยายเท่านั้น

มร.หยาง หยง เลขาธิการทั่วไปนครลี่เจียง เล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านนี้มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนาน เป็นเมืองลับแลของจีนซึ่งผู้หญิงไม่ต้องการให้ผู้ชายเข้ามาอาศัยในหมู่บ้าน หากหญิงใดมีคนที่ตนรักก็สามารถที่จะมีลูกกันได้ ถ้าเป็นลูกผู้หญิงก็จะรับเลี้ยงไว้ ถ้าเป็นผู้ชายก็ยกให้ฝ่ายชาย ซึ่งเป็นคนหมู่บ้านอื่น

"แต่ก็มิใช่ว่า ผู้หญิงในหมู่บ้านจะไปมั่วกับใคร ต้องมีความชอบพอกันด้วย เพียงแต่ไม่อาศัยอยู่ด้วยกันเท่านั้น"

นอกจากนี้ มร.หยาง หยง อดีตเป็นผู้อำนวยการท่องเที่ยวลี่เจียงบอกว่า ยังมีมรดกโลกที่เรียกว่าเป็นมรดกทางจิตใจ ที่ไม่ใช่วัตถุนั่นคือ ขนบประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่าน่าซี และที่สำคัญภาษาของน่าซีอันเก่าแก่กว่าพันปี ใช้ภาพวาดเป็นอักษรสัญลักษณ์เหมือนภาษาฮีโรกลิฟิกของอียิปต์ ยังอนุรักษ์ไว้จนบัดนี้

ใครที่ต้องการดูประเพณีดังกล่าวดูได้ในเมืองโบราณ เพราะมีการแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมทุกคืน

เดินชมเมืองและชอปปิ้งร้านค้าต่างๆ ทั้งภายในและนอกเมืองโบราณเรียบร้อยแล้ว รุ่งขึ้นก็เตรียมตัวไปเล่นหิมะ

จากตัวเมืองนั่งรถมุ่งตรงไปยังเทือกเขามังกร (จู่หลง) ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ก็ถึงภูเขามังกรสูง 4,500 เมตร มีหิมะปกคลุมตลอดปี

สำหรับเทือกเขามังกร มีพืชพรรณสมุนไพรมากมาย ที่โดดเด่นก็คือ ชาลี่เจียง เป็นชาที่ดื่มแล้วช่วยบำบัดโรคภัยในร่างกาย ไม่ว่าจะลดน้ำตาลในเลือด บำรุงไต เป็นต้น

ทำให้ชาจากลี่เจียงเป็นที่นิยมของชาวจีนและนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ชาลี่เจียงยังถูกซูสีไทเฮาเลือกให้นำไปถวายอีกด้วย

ปัจจุบันลี่เจียงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 3.1 ล้านคน เป็นชาวต่างประเทศ เพียง 1.4 คน นอกนั้นเป็นคนจีนด้วยกันจากมณฑลต่างๆ

แม้แต่คนปักกิ่งเองก็ยังใฝ่ฝันว่าจะต้องมาลี่เจียงสักครั้ง...

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us