อวสาน 4 ธนาคารลูกครึ่ง ชี้ความล้มเหลวของผู้คุมนโยบายทั้งธปท. และกระทรวงการคลัง
โดยเฉพาะรัฐบาลชุดก่อนที่เปิดโครงการมาตรการ 14 สิงหาฯ สร้าง "ดีบีเอสไทยทนุ-เอบีเอ็นแอมโร
เอเชีย-ยูโอบีรัตนสิน-สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน" สุดท้ายต้องล้างไพ่ใหม่
แฉแบงก์สิงคโปร์ขอถอนตัวตั้งแต่ปี 2546 จน "ทักษิณ-สุชาติ" ต้องเสนอเงื่อนไขใหม่
ขณะที่เอบีเอ็นฯเร่ขายเอเชียนานนับปี
สถานภาพของธนาคารพาณิชย์ไทยวันนี้ยังไม่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะธนาคารลูกครึ่งหรือธนาคารที่ต่างชาติถือหุ้นใหญ่ใน
วันนี้อยู่ในฐานะที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ช่วงนี้นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อธนาคารลูกครึ่ง
4 แห่ง ได้แก่ ดีบีเอสไทยทนุ เอบีเอ็นแอมโรเเอชีย ยูโอบีรัตนสินและสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน
อย่างแท้จริง
แหล่งข่าวธนาคารพาณิชย์วิเคราะห์สถานการณ์ ธนาคารลูกครึ่งว่า ในเบื้องต้นจะเหลือผู้ถือหุ้นใหญ่
3 ใน 4 ธนาคารจะไม่ถอนตัวคือ ดีบีเอส ยูโอบีและสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ส่วนเอบีเอ็นแอมโรขอถอนตัวโดยขายธนาคารเอเชียทิ้ง
โดยวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มยูโอบี คอมลิงค์ สยามเจนเนอรัลแฟคตอริ่ง และธนาคารไทยพาณิชย์
แสดงความจำนงยื่นเสนอซื้อธนาคารเอเชียคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน
"เอบีเอ็นแอมโรมีนโยบายจะถอนตัวจากธนาคารเอเชียมานานนับปี ติดอยู่ตรงที่ต้นปี
2546 สถานการณ์ไม่เอื้อ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ประกอบกับเอบีเอ็นเร่ขายในราคาสูง
ถึงตอนนี้เศรษฐกิจฟื้นและมีสนใจถึง 4 ราย โอกาสที่จะขายออกไปมีสูง และที่เป็นไปได้มากที่สุดคือยูโอบี
เพื่อนำไปควบรวมกับยูโอบีรัตนสิน"
แหล่งข่าวธนาคารดีบีเอสไทยทนุเปิดเผยว่า ไม่เพียงแต่เอบีเอ็นแอมโรเท่านั้นที่ขอถอนตัว
กลางปี 2546 ดีบีเอส สิงคโปร์ก็ต้องการถอนตัวจากไทยทนุ เนื่องจากการลงทุนไม่เป็นไปตามเป้า
โดยเฉพาะเป้าหมายการเป็นผู้นำตลาดลูกค้ารายย่อย ส่วนหนึ่งเกิด จากดีบีเอสเองตั้งสมมติฐานผิดพลาด
เพราะในความ เป็นจริงวัฒนธรรมและพฤติกรรมลูกค้าคนไทย โดยเฉพาะเรื่องสินเชื่อและหนี้เสียแตกต่างกับสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบและนำไปหารือกับพ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปรากฏว่านายกฯลงทุนบินไปเจรจากับผู้บริหารดีบีเอสที่สิงคโปร์
นำไปสู่แผนควบรวมดีบีเอสไทยทนุกับธนาคารทหารไทยในที่สุด นอกจากนี้ แผนการเป็นผู้นำลูกค้ารายย่อยถูกสานต่อด้วยบริษัทแคปปิตอลโอเคซึ่งดีบีเอสร่วมทุนกับชิน
คอร์ปอเรชั่นในสัดส่วน 40:60
"การที่นายกฯลงทุนเจรจาด้วยตัวเอง เพราะเกรงว่า การถอนตัวของดีบีเอสจะทำลายบรรยากาศการลงทุนของประเทศไทย
เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ กำลังได้รับการแก้และเริ่มฟื้นตัวชัดเจน"
เผยแผน 2 ยูโอบีควบ 2 แบงก์รัฐ
แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการลงทุนของธนาคารลูกครึ่ง 3 รายจากนี้ไป แบ่งเป็น
2 ประเภท คือ ควบรวมกับเพิ่มขนาด ธนาคารที่ควบรวมและชัดเจนแล้วคือ ดีบีเอสที่ลงนามบันทึกความ
เข้าใจ (MOU) ที่จะควบรวมกับทหารไทย ขณะที่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน ตกลงที่จะเพิ่มขนาดโดยการโอนสินทรัพย์ของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
ประเทศไทย จำนวน 52,000 ล้านบาท เข้าไว้กับสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน ทำให้สินทรัพย์ใหม่เพิ่มเป็น
113,677 ล้านบาท เหลือยูโอบีกับเอเชียที่กำลังเจรจา
อย่างไรก็ตาม การควบรวมกับยูโอบีรัตนสินจะทำให้สินทรัพย์ของยูโอบีรัตนสินอยู่ที่
226,009 ล้านบาท ยังถือเป็นธนาคารขนาดเล็ก ถ้าจะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ (Full bank)
ก็จะต้องเพิ่มทุน
"หากไม่เพิ่มทุนก็จะต้องควบรวมกับธนาคารที่กองทุนฟื้นฟูถือหุ้นใหญ่คือนครหลวงไทยและไทยธนาคาร
แม้ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯธปท. ยืนยันว่านครหลวงไทยกับไทยธนาคารยังไม่ควบรวมกับใครในปี
2547 แต่ในอนาคตยังมีโอกาส นอก จากนี้ ถ้ามีการเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯการควบรวมแบงก์ที่กองทุนฟื้นฟูถือหุ้นใหญ่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ก็ได้"
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังยอมรับว่า ท่าทีของม.ร.ว.ปรีดิยาธรเกี่ยวกับการควบรวมมีความแข็งแกร่งสวนทางกับแผนพัฒนาระบบการเงิน
(Financial masterplan) ที่ต้องการให้ธนาคารของรัฐเหลือเพียง 2-3 แห่ง
"ในส่วนของธนาคารไทยธนาคารนั้น หลังจากที่ยกเลิกการเจรจาควบรวมกับบรรษัทเงินทุนอุตสาห-กรรมแห่งประเทศไทย
(ไอเอฟซีที) แล้ว ได้ยืนยันว่าไม่ต้องการที่จะควบรวมกิจการกับใคร สำหรับธนาคารนครหลวงไทย
เห็นว่าดำเนินการได้อย่างดีอยู่แล้ว และมีความเข้มแข็งสามารถที่จะปล่อยให้ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่คิดควบรวมกิจการกับใคร
เช่นกัน ดังนั้น ภายในปี 2547 จึงยังไม่เห็นการเปลี่ยน แปลงในธนาคารรัฐที่กองทุนฟื้นฟูถือหุ้นใหญ่"
ม.ร.ว. ปรีดิยาธรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวว่า ทางออกใน เรื่องดังกล่าวคือการทำความเข้าใจกับม.ร.ว.ปรีดิยาธร
อีกครั้งเพื่อให้เปลี่ยนใจ หากไม่สำเร็จอาจจะต้องหยิบยกเรื่องการเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯธปท.
ไม่เช่นนั้นจะเป็นตัวถ่วงในการพัฒนาระบบการเงินและสร้างความ สับสนให้ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์
เพราะผู้คุมนโย-บายคือกระทรวงการคลังกับธปท.ขัดแย้งกันเอง
ทั้งนี้ เมื่อปี 2541-2542 ธนาคารลูกครึ่ง 4 รายข้างต้น มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นจากคนไทยเป็นต่าง
ชาติตามมาตรการ 14 สิงหาฯ สมัยรัฐบาลชวน มีนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่ต้องการเห็นความเป็นสากลของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย
"กว่า 5 ปีที่ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นและบริหาร 4 แบงก์ลูกครึ่ง ยังไม่เห็นความเป็นมาตรฐานตามที่รัฐบาลคาดหวัง
ปัจจัยแวดล้อมอาจมีส่วนแต่สาเหตุหลักอยู่ที่เงื่อนไขที่ให้ต่างชาติทำให้รัฐเสียเปรียบ
โดยเฉพาะในธนาคารยูโอบีรัตนสินและสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดที่มีการชดเชยอัตราผลตอบแทน
(Yield Maintenance) และการแบ่งปันกำไร/ขาดทุน (gain/Loss sharing)"
การให้เงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ยูโอบีกับสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไม่จำเป็นต้องขยายสินเชื่อ
หากขยาย กิจการแล้วขาดทุนก็มีการชดเชย ทำให้ความเสี่ยงใน การขยายกิจการต่ำ
ยกตัวอย่างบางส่วนของเงื่อนไขที่รัฐบาลโดยกองทุนฟื้นฟูทำกับสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
คือ กองทุนฟื้นฟูตกลงที่จะชดเชยผลตอบแทนและขาดทุนของกลุ่มสินทรัพย์ภายใต้สัญญาการจัดการเงินให้กู้ยืม
(CAP) รวม 3.5 หมื่นล้านบาท โดยจ่ายให้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 5 ปีนับจากปี 2542
และภายในระยะเวลา 5 ปี จะจ่ายชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปของ CAP ให้ธนาคารทุก 6 เดือน
คำนวณจากดอกเบี้ยเงินฝาก+1%
"มาตรการ 14 สิงหาฯไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อระบบธนาคารและเศรษฐกิจ แต่ข้อเสียที่เห็นได้ชัดคือการชดเชยผลตอบแทนและกำไรจากสัญญา
ยังไม่นับความเดือดร้อนของพนักงานที่ต้องตกงานกับการล่มสลายของผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แก่
ตระกูลตู้จินดาในไทยทนุ ตระกูลจันทร์ศรีชวาลาในรัตนสิน ตระกูลหวั่งหลีในนครธน ตระกูลภัทรประสิทธิ์และเอื้อชูเกียรติ
ในธนาคารเอเชีย"