"หม่อมอุ๋ย" ยัน ปีนี้ไม่มีนโยบายควบรวมแบงก์รัฐ ระบุทุกแห่งเข้มแข็งสามารถดำเนินธุรกิจด้วยตัวเองได้
พร้อมเห็นด้วย ที่ "สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด" ยุบสาขาธนาคาร สแตนดาร์ด เข้ารวมกับสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
นครธน ด้าน "สมหมาย ภาษี" ปฏิเสธข่าวสัดส่วนแลกหุ้นทหารไทยกับดีบีเอส
3 ต่อ 1 ยันยังไม่สรุปต้องหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย คาดสิ้นเดือน นี้รู้ผล หลังควบรวมคลังถือหุ้นใหญ่กว่า
30% อันดับ 2 เป็นแบงก์ดีบีเอส
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นโยบายการ
ดูแลธนาคารของรัฐที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นใหญ่นั้น
จะไม่มีนโยบายที่จะควบรวมกิจการกับธนาคารอื่นๆ ในปีนี้ เนื่องจากธนาคารของรัฐสามารถดำเนินการ
ต่อไปได้ด้วยตนเองและมีฐานะที่ดี และสอดคล้อง กับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน)
ที่ต้องการให้สถาบันการเงินมีเพียงสถานะเดียว
สำหรับธนาคารไทยธนาคารนั้น ไม่มีความ จำเป็นที่จะต้องควบรวมกิจการกับธนาคารใด
หลังจากได้ยกเลิกการเจรจาควบรวมกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที)
แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากไทยธนาคารมีฐานะที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ
ส่วนธนาคารนครหลวงไทยนั้น ตนเห็นว่ามีความสามารถในการดำเนินการได้เป็นอย่างดี
รวมทั้งมีความเข้มแข็งพอที่จะปล่อยให้ดำเนินการ ต่อไปได้โดยไม่ต้องควบรวมกิจการกับใคร
ซึ่งใน ปีนี้จะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของธนาคารรัฐ
ผู้ว่าการธปท.กล่าวต่อถึงธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน ว่า ทราบมาว่าธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
มีนโยบายลงทุนในไทยต่อเนื่องด้วยการยุบธนาคารสแตนดาร์ด ซึ่งเป็น สาขา และโอนทรัพย์สินทั้งหมดจำนวน
52,000 ล้านบาท เข้ามายังธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน และคงสถานะการถือหุ้นใหญ่ในธนาคาร
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน เป็นสถานะเดียว ซึ่งสาขาของธนาคารสแตนดาร์ดที่ยุบไปจะแปรสภาพเป็นสำนักภายใต้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์นครธน
เนื่องจากตามเกณฑ์ที่ได้ทำไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯในช่วงที่เข้าซื้อหุ้นนั้น จะสามารถถือหุ้นใหญ่เกินกว่า
49-100% ได้เป็นเวลา 10 ปี และค่อยๆ ทยอยลดสัดส่วนหุ้นที่ถืออยู่จนกระทั่งมีสัดส่วน
49% โดยการลดสัดส่วนนั้นจะลดลงได้ต่อเมื่อมีการเพิ่มทุนครั้งใหม่ เพราะธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
ไม่มีสิทธิ์เพิ่มทุนครั้งใหม่ ทำให้ระยะเวลาที่ธนาคารจะถือหุ้นใหญ่มีเวลามากกว่า
10 ปี
"การที่ธนาคารต่างชาติเปลี่ยนสถานะเป็นธนาคารไทยเป็นเรื่องดี ส่วนธนาคารต่างชาติแห่ง
อื่นที่ถือหุ้นใหญ่ธนาคารไทย อย่างเช่นธนาคารเอบีเอ็น แอมโร และธนาคารยูโอบี สิงคโปร์ที่ถือหุ้นธนาคารยูโอบีรัตนสินนั้น
คาดว่าจะได้รับคำตอบในเร็วๆนี้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
แหล่งข่าวจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธนกล่าวว่า ธนาคารยังไม่มีนโยบายที่จะยุบหรือปิดสาขา
เนื่องจากสาขาที่มีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 41 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และอยู่ในต่างจังหวัดเพียง
8 สาขา ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีมีกำไรทุกๆสาขา นอกจากนี้การ ที่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดได้ลงทุนในธนาคารพาณิชย์ไทย
ต้องการที่จะมีเครือข่ายสาขาที่ให้บริการลูกค้าคนไทยใช้เชื่อมโยงกับสาขาของธนาคารแม่ในต่างประเทศ
การดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์นั้นสาขาถือว่าเป็นจุดแข็งของการดำเนินธุรกิจ ภายใต้การ
แข่งขันในขณะนี้ธนาคารแห่งใดที่มีสาขามากจะเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าและบริการให้กับลูกค้าได้ทั่วถึง
ธนาคารเองได้ใช้สาขาในการ ขายผลิตภัณฑ์ตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ส่วนใหญ่ จะเป็นสินเชื่อรายใหญ่และสินเชื่อบุคคล
เชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการมากที่สุด
"การยุบสาขาสาขาของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นั้น เป็นเรื่องของนโยบายที่ต้องการจะเสริมความ
แข็งแกร่งสามารถแข่งขันกับตลาดได้ ส่วนการเชื่อมโยงกับธนาคารแม่ในต่างประเทศก็สามารถทำได้อยู่แล้ว
เชื่อว่าจะช่วยเสริมให้แบงก์ดีขึ้นแน่นอน" แหล่งข่าวกล่าว
ด้านนายสมหมาย ภาษี รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกระแสข่าวสัดส่วนแลกหุ้นระหว่างธนาคารทหารไทย
และธนาคารดีบีเอสไทยทนุว่า ตัวเลขของการแลกหุ้นนั้นยังไม่เสร็จเรียบร้อย โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการหารือรายละเอียดอยู่
ซึ่งประเด็นที่มีสัดส่วนออกมา 3 ต่อ 1 นั้น ไม่เป็นความจริง การที่จะได้ข้อสรุปของสัดส่วนแลกหุ้นต้องมีการหารือกันทั้ง
3 ฝ่าย คือ ธนาคารทหารไทย ดีบีเอสไทยทนุ และไอเอฟซีที
สำหรับความคืบหน้าของการควบรวมกิจการก้าวหน้าไปมาก โดยเชื่อว่าภายในสิ้นเดือน
กุมภาพันธ์นี้จะมีตัวเลขรายละเอียดออกมาของทั้ง 3 ฝ่าย หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะมีการประกาศการเซ็นสัญญาเบื้องต้น(เอ็มโอยู)ภายในต้นเดือนมีนาคม
หลังจาการควบรวมแล้วนั้น กระทรวงการคลังยังคงมีสัดส่วนในการถือหุ้นใหญ่อยู่ คาดว่าจะมีสัดส่วนมากกว่า
30% เนื่องจากกระทรวงการ คลังได้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทย และไอเอฟซีที ส่วนอันดับที่
2 น่าจะเป็นของธนาคารดีบีเอส นอกนั้นจะลดสัดส่วนตามลำดับ