"กิตติรัตน์" เชื่อมั่นการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10% ทันภายใน 1 เมษายนนี้
ชี้ไม่ใช่มาตรการที่ระงับความร้อนแรงของตลาดหุ้น เตรียมนำเสนอบอร์ดตลาดพิจารณาในวันที่
25 กุมภาพันธ์นี้ เผยลูกค้าที่ไม่ต้องวางหลักประกันได้แก่บลจ., ลูกค้าต่างประเทศ,
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนต่างด้าว และบริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับบริษัทสมาชิกเกี่ยวกับการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน
10% ในทุกบัญชีเงินสดว่า ในที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันในรายละเอียดครบถ้วนแล้ว โดยเห็นตรงกันว่า
จะสามารถใช้ได้ทันภายในวันที่ 1 เมษายน 2547 ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) ซึ่งขั้นตอนต่อไป แต่ละโบรกเกอร์จะต้องกลับไปหารือกับผู้เขียนซอฟต์แวร์ของตนในเรื่องของการเขียนโปรแกรม
เพื่อรองรับ การวางหลักทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันสมาชิกบางรายก็มีโปรแกรมเมอร์ของตนเอง
บางรายก็ใช้ระบบของตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นจึงต้องมีการกลับไปหารือกับโปรแกรมเมอร์ก่อน
"เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2547 ซึ่งหากจะมีเหตุที่จะทำให้
ล่าช้าออกไป ก็เป็นเรื่องของการจัดทำระบบงานเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า เพราะในเบื้องต้นทุกคนเห็นร่วมกันว่าต้องการให้ทันตามกำหนด"
นายกิตติรัตน์กล่าวต่อว่า ขอยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวไม่ต้องการลดความร้อนแรงของภาวะตลาดหุ้น
แต่ทำเพื่อให้ทุกบัญชีเงินสด สามารถใช้วิธีชำระราคาแบบสุทธิได้
ทั้งนี้ สินทรัพย์ที่จะมาวางเป็นหลักประกัน ได้แก่ เงินสด หลักทรัพย์จดทะเบียน
ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน บัตรเงินฝาก รวมทั้งหนังสือที่ธนาคารพาณิชย์ออกไว้
ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้าตัวธนาคารพาณิชย์ยินยอมรับผิดชอบในฐานะลูกหนี้ชั้นต้น
ส่วนลูกค้าที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติ ตามข้อบังคับได้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม
(บลจ.) ลูกค้าสถาบันต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุน ต่างด้าว
และบริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์
สำหรับมาตรการในการเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10% เพื่อต้องการให้ทุกบัญชีที่ซื้อขายในลักษณะนี้มีการชำระแบบสุทธินั้นจะไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น
และจะเป็นผลดีในการลงทุนระยะยาวด้วย ซึ่งในต่างประเทศ ก็มีมาตรการสร้างความมั่นคง
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ต่อลูกค้าและโบรกเกอร์ "ปัจจุบัน นักลงทุนประมาณ 90% มีหลักทรัพย์อยู่ในบัญชีซื้อขายมูลค่าเกินกว่า
10% อยู่แล้ว ดังนั้น มาตรการดังกล่าวนี้จะไม่กระทบต่อนักลงทุนส่วนใหญ่" นายกิตติรัตน์กล่าว
แหล่งข่าวจากผู้บริหารโบรกเกอร์แห่งหนึ่งกล่าวว่า นอกจากประเด็นเรื่องการวางหลักทรัพย์
ค้ำประกัน 10% แล้ว นายกิตติรัตน์ยังได้กล่าวในที่ประชุมถึงการเลื่อนการใช้ค่าธรรมเนียมการ
ซื้อขายหลักทรัพย์แบบเสรี (คอมมิชชั่น) ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สำนักงานก.ล.ต.จะพิจารณา
เลื่อนออกไป แต่โบรกเกอร์ต้องพัฒนาคุณภาพงานวิจัยให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงปัญหาการแย่งตัวเจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้งหรือเจ้าหน้าที่การตลาดฯ
โดยแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าปัจจุบันปัญหาการแย่งชิงตัวลดลง แต่ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์
ต้องการให้มีข้อกำหนดที่ชัดเจน ในการเปลี่ยนงานโดยมีการเสนอให้มีการตกลงกับต้นสังกัดเดิมก่อนที่จะมีการย้ายไปสังกัดใหม่
สำหรับเรื่องการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10% จะมีการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการตลาด
ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เพื่อกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนต่อไป ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อวานนี้
(10 ก.พ.)ดัชนีตลาดหุ้นเปิดที่ระดับ 734.14 จุด เพิ่มขึ้น 2.09 จุด หลังจากนั้น
ก็มีแรงซื้อสลับกับแรงเทขายในระหว่างวัน แต่ดัชนีก็ไม่สามารถยืนเหนือแนวต้านที่
740 จุดได้จึงทำให้มีแรงเทขายออกมาและมาปิดที่ 739.64 จุดเพิ่มขึ้น 7.59 จุดหรือ
1.04% มูลค่าการซื้อขาย 29,742.94 ล้านบาท
การซื้อขายของนักลงทุนรายกลุ่มปรากฏว่า นักลงทุนทั่วไปขายสุทธิ 1,016.46 ล้านบาท
นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 240.91 ล้านบาท และนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ775.54
ล้านบาท นางสาวศุภมาศ พยัคฆพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป
(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาวะตลาดเริ่มฟื้นตัว ดัชนีมีการรีบาวนด์ต่อ
แต่มีการผันผวนในกรอบจำกัดมากขึ้น มูลค่าการซื้อขายอยู่ในเกณฑ์เบาบาง หากไม่มีปัจจัยบวกเข้ามากระตุ้นตลาดดัชนีจะปรับตัวในช่วง
725-740 จุด และอาจขึ้นทดสอบ 745 จุดในระหว่างวันได้ นักลงทุน ส่วนใหญ่ยังรอดูภาวะตลาดอยู่หากสามารถยืนเหนือ
740 บาทได้ นักลงทุนจะเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น ทั้งนี้ ในระยะยาวดัชนีมีสิทธิไปได้
ถึง 770 จุดได้
ด้านนายรักพงษ์ ไชยศุภรากุล นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยว่า ตลาดปรับตัวผันผวนระหว่างวันและยืนในแดนบวกได้ เป็นการรีบาวนด์ทางเทคนิค
และปัจจัยลบกรณีไข้หวัดนกเริ่มอ่อนตัว ทั้งนี้มีแรงซื้อในหุ้นมาร์เกตแคปใหญ่ กลุ่มสื่อสาร
และพลังงาน หุ้นขนาดกลาง-เล็กเริ่มอ่อนตัวลง ในระยะสั้นดัชนีตลาดจะแกว่งตัวในช่วงแคบ
และมูลค่าการซื้อขายยังคงต่ำเนื่องจากขณะนี้ยังไม่มี ปัจจัยบวกเข้ามากระตุ้นตลาด
คาดว่าดัชนีจะแกว่งตัวในช่วง 730-745 จุด แนวต้านทางจิตวิทยาที่ 745 จุด