"เจ้าสัวซีพี" ชี้ผู้นำเข้าจะให้ความสำคัญ "ฟูด เซฟตี้"
มากขึ้น หากผลิตสินค้าไม่ถูกสุขอนามัยโอกาสถูกกีดกันมีมาก "สมคิด" ตอกย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญอุตสาหกรรมอาหาร เผยการเกิดโรคระบาดในไก่เป็นวิกฤตที่จะแปรให้เป็นโอกาสที่จะสังคายนาการผลิตสินค้าอาหารทั้งระบบ
เตรียมเรียกผู้ว่าฯซีอีโอประเมินผลการแก้ไขปัญหาไก่อีกครั้ง 31 ม.ค.นี้ ด้าน "วัฒนา"
รับประกันไก่ที่ขายในห้าง-ตลาดสดปลอดภัย
วานนี้ (28 ม.ค.) สถาบันคีนันแห่งเอเชีย ได้จัดการสัมมนาเชิงวิชาการ โอเว่น คีนัน
ประจำปี 2547 ในหัวข้อเรื่อง "อุตสาหกรรมอาหารไทย : สิ่งท้าทายและโอกาสในตลาดโลก"
ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้สนใจเข้าฟังกว่า 500 คน
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง
"มุมมองของผู้นำในการส่งออกอาหารของไทย" ว่า แนวโน้มของโลกจากนี้ไป ประเทศที่นำเข้าจะให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีมาตรฐานและถูกสุขอนามัยมากขึ้น
และจะทำให้การนำมาตรการกีดกันมาใช้มีมากขึ้น เพราะเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า การตรวจสอบสารตกค้างทั้งในกุ้ง
ไก่ และปลาจะทำได้ดีขึ้น และหากสินค้าไม่ดีจริงก็จะรอดพ้นการตรวจสอบได้ยาก
ทั้งนี้ ยังคาดการณ์แนวโน้มได้อีกว่าจากนี้ไป ประเทศที่นำเข้าสินค้าอาหารจะมีการปกป้องสุขภาพของคนในประเทศมากขึ้น
และจะไม่นำเข้าสินค้าที่มีปัญหา ดังนั้น ผู้ผลิตควรจะให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้
เพื่อสร้างระบบความปลอดภัยให้กับสินค้าอาหารที่ผลิตได้ เพราะถ้าไม่ผลิตสินค้าอาหารที่ได้สุขอนามัยและได้มาตรฐาน
ผลกระทบจะเกิดขึ้นแน่
"อย่างของซีพี ได้สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยการเลี้ยงไก่ ซีพีเลี้ยงเป็นแสนตัว
ใช้เทคโนโลยีควบคุมหมด เพื่อที่จะรู้ว่าต้องให้น้ำเมื่อไร อาหารเมื่อไร และเลี้ยงในระบบปิด
อีกทั้งในรัศมี 5 กิโลเมตรจะห้ามเลี้ยงไก่ และยังจะส่งเสริมให้มีการปลูกผักและผลไม้รอบๆ
ด้วย ขณะที่คนเลี้ยง จะให้อยู่กับไก่ตั้งแต่ปล่อยสู่ฟาร์มจนถึงนำเข้า โรงเชือด
ไม่ให้ออกไปไหน แต่เมื่อเลี้ยงจบแล้ว ก็จะให้พัก ซึ่งมั่นใจว่าป้องกันโรคได้แน่นอน"
นายธนินท์กล่าว
นายธนินท์กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลต้อง การให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าอาหารปลอดภัย
รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดออกมาใช้ โดยจะต้องดูแลตั้งแต่วัตถุดิบ ซึ่งวัตถุดิบนี้สำคัญ
แต่ไม่จำเป็นต้องทำในไทย โดยไทยสามารถอาศัยประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานการผลิตให้ได้
โดยไทยนำพันธุ์ นำเทคโนโลยีไปให้ เพื่อทำให้มีคุณภาพ รวมทั้งควรจะส่งเสริมให้คนไทยมีการไปลงทุนในต่างประเทศ
โดยเฉพาะประเทศที่ต้องการซื้ออาหารไทย แต่ไม่มีเงิน ไทยก็ควรจะไปลงทุนผลิตแล้วขายเลย
หรือบางประเทศที่ขายเข้าไปได้ยากอย่างสหภาพยุโรป (อียู) ก็ควรจะเข้าไปลงทุน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ทำอยู่แล้ว
โดยสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน ซึ่งในส่วนของซีพีเองก็จะไปลงทุนในจีน
อินเดีย เวียดนาม และพม่า
นอกจากนี้ นายธนินท์เห็นว่านโยบายที่รัฐบาล กำลังจะจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศจะเป็นการ
ช่วยเหลือให้ผู้ผลิตสินค้าขนาดกลางและเล็ก (SMES) ของไทยสามารถขายสินค้าได้
"สมคิด"เร่งปรับวิกฤตเป็นโอกาส
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างมาก
และได้กำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนา เพราะอุตสาหกรรมอาหารมีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูง
อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมบริการได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร
และระบบการขนส่ง (ลอจิสติกส์) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้แข็งแรง
"จากนี้ไป ประเทศไทยจะไม่ผลิตอาหารเพื่อ นำไปบริโภคแค่ประทังชีวิต แต่จะมองอุปสงค์ของโลกว่าต้องการอะไร
ต้องการสินค้าที่ดี มีคุณภาพ มีมาตรฐาน เราจึงต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลกและต้องให้ความสำคัญ
เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าการผลิตภาคเกษตรมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศมาก"
นายสมคิดกล่าว
นอกจากนี้ ไทยไม่เพียงแต่จะผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาดโลก แต่ภายในประเทศเองก็จะมีการพัฒนาทั้งระบบ
เพราะในปีนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้เป็นปีความปลอดภัยด้านอาหาร (ฟูด เซฟตี้)
ที่จะพยายามผลักดันให้มีการรักษาสุขอนามัยตั้งแต่เกษตรขั้นพื้นฐาน ไปสู่ฟาร์ม สู่โรงงาน
และสู่ร้านอาหารและผู้บริโภค โดยนโยบาย ของรัฐบาลจะพัฒนาตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง
จากนี้ไปแนวคิดที่ว่าร้านอาหารยิ่งสกปรก ยิ่งอร่อย จะต้องหมดไป และจะเหลือแต่ร้านที่สะอาด
และอร่อย ซึ่งจะช่วยให้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศบริโภคอาหารที่มีมาตรฐานเดียวกัน
นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับปัญหาโรคระบาดในไก่ที่เกิดขึ้น ถือเป็นโชคที่ไม่ดี หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายฟูด
เซฟตี้ แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศที่จะสร้างความตื่นตัวให้คนไทยรู้จักสุขอนามัยว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ
เพราะเมื่อก่อนเคยมีปัญหาการใช้ยาในกุ้ง ยิ่งห้ามก็ยิ่งใช้ แต่วันนี้ไม่ได้ และรัฐบาลจะใช้โอกาสนี้
แปรวิกฤตให้เป็นโอกาส ทำให้อาหารไทยเป็นมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ อยากขอย้ำว่าการแก้ไขปัญหา รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างทันท่วงที มีการประชุมผู้ว่าฯซีอีโอ
เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา เพราะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำคนเดียวไม่ไหว โดยหลังจากให้ผู้ว่าซีอีโอไปทำงานแบบซีเรียส
โดยแบ่งออกเป็น 2 ทีม ทีมหนึ่งสำรวจและอีกทีมหนึ่งทำลายเพื่อคุมให้อยู่ โดยหากพบไก่ติดเชื้อ
ก็ให้ขีดวง 5 กิโลเมตร ห้ามเคลื่อนย้าย และหากพบใครป่วยให้รีบแจ้ง ซึ่งผลจากการให้ผู้ว่าฯซีอีโอไปทำล่าสุดเช้าวานนี้
(28 ม.ค.) พบว่ามีไก่ติดเชื้อ 25 จังหวัด ซึ่งได้สั่งให้ทำลายแล้ว มีผู้ป่วย 3
ราย เสียชีวิตแล้ว 2 ราย สงสัย
11 ราย และไม่มีรายงานการติดเชื้อเพิ่ม
"ยังพบไก่เป็นโรคเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ได้ขอให้มีการทำงานอย่างรวดเร็ว ขณะที่รัฐบาลจะออกแถลงการณ์
ทุกวันผ่านกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ และสำนักงานโฆษกรัฐบาล เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด
เพราะโรคไข้หวัดนกติดจากไก่สู่คนได้ ไม่ติดจากคนสู่คน และจะได้ไม่เกิดการเข้าใจผิดเหมือนกับที่มีข่าวติดจากไก่ไปสู่หมู"
นายสมคิดกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ จะเรียกประชุมผู้ว่าซีอีโออีกครั้ง เพื่อประเมินผลความ
คืบหน้าในการทำงานว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้วปรับระบบการเลี้ยงเป็นฟาร์มปิด
นายสมคิดกล่าวอีกว่า จากนี้ไปผู้ที่เลี้ยงไก่ ควรจะเปลี่ยนระบบการเลี้ยงเป็นระบบฟาร์มปิด
รวมไปถึงสัตว์อื่นๆ ด้วย เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับ และมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น
ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อให้มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น ส่วนไก่ที่เสียหาย
รัฐบาลก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
"เมื่อรัฐบาลช่วยแล้ว เอกชนก็ไม่ควรออก มาชี้ว่าคนโน้น คนนี้ทำไม่ดี กระทรวงเกษตรฯ
กระทรวงสาธารณสุขทำอย่างนั้นไม่ถูก ทำอย่างนี้ ไม่ถูก แต่จะต้องออกมาพูดว่าจะช่วยกันยังไงมากกว่า"
นายสมคิดกล่าว
นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อยากจะขอยืนยันกับผู้บริโภคอีกครั้งว่าไก่ที่ซื้อไปบริโภคจากห้างสรรพสินค้าและตลาดสด
เป็นไก่ที่ปลอดภัย และไม่ได้เป็นไก่ที่นำมาจากแหล่งที่เป็นโรค เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วม
กับกรมปศุสัตว์ในการออกตรวจสอบอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ส่วนการที่คนไม่บริโภคไก่ และทำให้ไก่ราคาตก
และหมูราคาขึ้นนั้น เป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นเรื่องของความต้องการ แต่ก็จะเข้าไปดูไม่ให้มีการขึ้นราคามากเกินไปจนกระทบกับประชาชน