ศูนย์การศึกษาและวิจัยธุรกิจระหว่างประเทศ (Center for International Business
Education and Research : CIBER) ของ Michigan State University (MSU) ได้ศึกษาวิจัยศักยภาพของประเทศต่างๆ
ที่ได้รับการขนานนามในฐานะที่เป็น Emerging Markets โดยได้รวบรวมข้อมูลสำคัญจาก
23 ประเทศทั่วโลก เพื่อจัดทำเป็นดัชนีทางธุรกิจสำหรับผู้ลงทุน และจัดอันดับความน่าลงทุนในประเทศต่างๆ
ไว้ตามศักยภาพ ของตลาดแต่ละแห่งด้วย
การศึกษาและจัดทำดัชนี Market Potential Indicators for Emerging Markets
ในครั้งนี้ดำเนินไปท่ามกลางความเชื่อที่ว่า ระบบธุรกิจของโลกมีลักษณะที่เชื่อมประสานเข้าหากันมากขึ้น
และมีฐานะเป็นกิจกรรมระหว่างประเทศมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งการขยายตัวดังกล่าว
ส่งผลให้ช่องทางธุรกิจได้รับการเปิดกว้างและเต็มไปด้วยตัวเลือกมากมาย กระทั่งผู้ลงทุนและนักการตลาดจำนวนมากต้องเผชิญกับคำถามที่ว่าจะเลือกเข้าลงทุนในตลาดแห่งใด
และจะอาศัยแผนกลยุทธ์อย่างไรจึงจะเหมาะสมในการเจาะตลาดเหล่านี้
23 ประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ระบุว่าเป็น Emerging Markets กระจายอยู่ทั้งในภูมิภาค
เอเชีย-แปซิฟิก, ยุโรปตะวันออก, ละตินอเมริกา และแอฟริกา ซึ่งแม้ว่าไต้หวันจะเป็นตลาดหนึ่งในกลุ่มดังกล่าว
แต่การศึกษานี้ได้ละเว้นที่จะนำไต้หวันมาร่วมพิจารณาเพราะขาดข้อมูลที่เพียงพอ
ความน่าสนใจของการศึกษาครั้งนี้อยู่ที่การเผยให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศที่รวมเรียกว่า
Emerging Markets นั้นประกอบขึ้นด้วยประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ผลิตสินค้านานาชนิดในสัดส่วนมหาศาลให้แก่โลก
และยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อันหมายถึงศักยภาพของตลาดที่มีขนาดมหึมานี้ด้วย
ประเทศเหล่านี้ได้ดำเนินมาตรการเพื่อเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในระดับต่างๆ กัน
โดยส่วนใหญ่ได้เปิดโอกาสทางการค้าให้กับธุรกิจจากต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่ผูกพันอยู่กับสินค้าทุน,
เครื่องจักรกล, อุปกรณ์สายส่งไฟฟ้าและเครื่องยนต์ในการขนส่ง โดยมีสินค้าประเภท
high technology เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตอย่าง รวดเร็วและต่อเนื่อง
ดัชนีที่ MSU-CIBER ได้ศึกษาและจัดทำขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเปรียบเทียบประเทศต่างๆ
ในหลากหลายมิติ โดย MSU-CIBER เลือกปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณา 7 ประการและให้น้ำหนักของข้อมูลแต่ละส่วนไว้
ก่อนที่จะคิดเป็นดัชนีรวมซึ่งบ่งชี้ถึงศักยภาพทาง การตลาดและอันดับความน่าลงทุนของแต่ละประเทศ
ในที่สุด
สำหรับประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับให้ อยู่ในลำดับที่ 12 ของประเทศที่มีศักยภาพทางการ
ตลาดสูงที่ทำการศึกษาทั้งหมด 23 ประเทศ โดยมีสิงคโปร์, เกาหลีใต้ และฮ่องกง
ได้รับการจัดอัน ดับให้เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงสุดตามลำดับ
หัวข้อที่ประเทศไทยได้คะแนนมากอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ อัตราการเติบโตของตลาด
ซึ่ง ได้อันดับ 3 รองจากเกาหลีใต้และสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ
แต่หากพิจารณาในส่วนของระบบสาธารณูปการเพื่อการพาณิชย์แล้ว ประเทศไทยกลับอยู่ในอันดับ
ที่ 21 โดยมีอินโดนีเซียและอินเดียอยู่ในอันดับ ที่ 22 และ 23
ผลการศึกษาของ MSU-CIBER ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการชาวไทยมอง
ภาพรวมของการแข่งขันในระดับภูมิภาคและของโลกแล้ว ในด้านหนึ่งยังเป็นการเปิดให้เห็น
โอกาสการลงทุนในอนาคต ซึ่งไทยอาจไม่ใช่ดินแดนที่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศสนใจ
มากเท่าที่หลายฝ่ายคิดก็เป็นได้