อวสานของชายผู้พยายามซื้อโลก
Jean-Marie Messier เคยได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจของฝรั่งเศสที่ทะเยอทะยานที่สุด
เขาเป็นสัญลักษณ์ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ของฝรั่งเศส ที่ศรัทธาในแนวคิดการประกอบการในแบบทุนนิยมอเมริกัน
แทนที่จะยึดตามแบบทุนนิยมโดยรัฐของยุโรปเก่า ทำให้ภายในเวลาเพียง 6 ปีที่เขายึดกุมตำแหน่ง
CEO ของ Vivendi Universal เป็นเวลาที่ Messier ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสินทรัพย์ขนาดใหญ่อย่าง
MCA Records, Universal Studios, USA Networks ไปจนถึงสวนสนุก บริษัทวิดีโอเกม
และบริษัทอินเทอร์เน็ต
แต่พอถึงปี 2002 Messier ก็ได้ตกเป็นเหยื่อแห่งความทะเยอทะยานของตนเอง
เมื่อเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเขาได้ซื้อทรัพย์สินมามากเกินกว่าที่บริษัทของเขาจะจัดการได้
Jo Johnson และ Martine Orange ผู้แต่งซึ่งเป็นนักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน
ได้สำรวจความทะเยอทะยานและความผิดพลาดของ Messier และเจาะลึกถึงปัญหาที่นำไปสู่จุดจบของเขา
ซื้อสะท้านโลก
Vivendi เป็นเพียงบริษัทผลิตน้ำประปาเล็กๆ ของฝรั่งเศส ส่วน Jean-Marie
Messier เข้ามาบริหาร Vivendi ตั้งแต่ปี 1994 เพียง 6 ปีต่อมาเขาก็สามารถเขย่าโลกด้วยข่าวการซื้อบริษัท
Seagram ซึ่งเป็นเจ้าของ Universal Music บริษัทเพลงยักษ์ใหญ่ของโลก ด้วยเงินที่สูงถึง
4 หมื่น 6 พันล้านดอลลาร์ และกำลังจะเตรียมทุ่มเงินอีกกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์เพื่อสร้างบริษัทบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เป็นรองก็แต่เพียง
AOL Time Warner บริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯเท่านั้น ถ้าหากว่าเขาไม่ถูกดำเนินการสอบสวนในคดีอาชญากรรมเมื่อต้นปี
2003 เสียก่อน Messier ถูกสอบสวนทั้งจากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ และอัยการของฝรั่งเศส
นอกจากนี้ยังถูกสอบสวนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ทั้งของสหรัฐฯ
และฝรั่งเศส และแล้วอาณาจักรธุรกิจยิ่งใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นความภาคภูมิ
ใจของฝรั่งเศสก็กลับกลายเป็นบริษัทที่ขาดทุนอย่างย่อยยับและชื่อเสียงถูกทำลายอย่างป่นปี้
ความทะเยอทะยานที่กัดกินเจ้าของ
ผู้แต่งอธิบายบุคลิกภาพของ Messier ว่าเป็น "ส่วนผสมของความหยิ่งยโสอย่างเทคโนแครตชาวฝรั่งเศส
บวกกับความอยากเด่นดังแบบดาราฮอลลีวู้ด และมาดของวาณิชธนกิจ" ผู้ซึ่งตาบอดหูหนวกต่อคำทัดทานของหัวหน้าฝ่ายการเงินของตนเอง
และปฏิเสธที่จะรับฟังเหตุผลใดๆ ความเชื่อมั่นในตัว ผู้นำลดลงอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่ความคลางแคลงสงสัยในตัวผู้นำกลับกลายเป็นการดูถูกเหยียดหยามในช่วงวันสุดท้ายของ
Messier ซึ่งราคาหุ้นของ Vivendi ตกลงจนไม่เหลือค่าและ Messier ทะเลาะกับทุกคนรอบข้างไม่เว้นแม้แต่นักข่าวและหนังสือพิมพ์
แม้คณะกรรมการบริษัทจะขอร้องหลายครั้งให้เขาลาออกจากตำแหน่งสูงสุดของ Vivendi
แต่ Messier ก็ยังคงดื้อแพ่ง แต่สุดท้ายเมื่อผู้ที่ภักดีต่อเขาที่สุดยังหันหลังให้แก่เขา
Messier ก็จำต้องยอมรับชะตากรรมเมื่อถูกขอร้องจากคณะกรรมการเป็นครั้งสุดท้ายให้ลาออก
และทันทีที่เขาถูกขับออกจากตำแหน่ง อาณาจักรทางธุรกิจขนาดมหึมาที่เขาสร้างขึ้น
ก็ล่มสลายและสิ้นชื่อไปอย่างรวดเร็ว