อัพเดทเรื่องเล่าจากโตรอนโตวันนี้ เป็นเรื่องของนายพอล มาร์ติน (Paul Martin)
นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดาค่ะ ซึ่งเพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
เนื่องจากนายกฯ คนเก่าคือนายฌองเครเตียง ลาออกจากตำแหน่งก่อนกำหนด ซึ่งก็เป็นไปตามที่ให้สัญญาไว้กับสาธารณชน
หลังจากที่ถูกค่อนขอดว่าเป็นนายกฯ มานานร่วม 10 ปีแล้ว และอีกอย่างก็คือสมาชิกพรรคล้วนไม่ใคร่ชอบหน้านายเครเตียงมากขึ้นทุกวัน ในขณะที่ความนิยมต่อนายพอล มาร์ติน
จากสมาชิกในพรรคและประชาชนทั่วประเทศสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
เท่าที่เห็น ระยะหลังๆ นี้สื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์เขียนตำหนินายเครเตียงแทบทุกวัน
มีทุกเรื่อง ยิ่งรายการตลกทางทีวี เล่นล้อเลียนโจมตีนายเครเตียงแรงขึ้นทุกวัน
ดิฉันเองเคยสอบถามและพูดคุยกับคนที่นี่ก็ไม่มีใครชอบแกเลย มีแต่คนส่ายหน้าระอาใจ
พูดง่ายๆ คือนายเครเตียงเจอวิกฤติศรัทธาจากทั้งในพรรคและประชาชนทั่วประเทศ
ทั้งๆ ที่ตัวนายฌอง เครเตียง เป็นคนที่ฉลาดเฉลียว วาทศิลป์ยอดเยี่ยมและรุ่มรวยอารมณ์ขัน
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแคนาดามีวาระยาว 4 ปี ซึ่ง นายฌอง เครเตียง เริ่มรับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี
1993 (พ.ศ.2536) นั่งมากว่าสองสมัยจนกระทั่งเพิ่งลาออก ครึ่งทางของสมัยที่สาม
ความจริงนายเครเตียงแกลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)
ซึ่งเป็นพรรคที่ได้เป็นรัฐบาลและมีเสียงข้างมากในสภา ดังนั้นเมื่อออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค
(ซึ่งเข้าทางพอดี) และทางพรรคก็เลือกนายพอล มาร์ติน เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่
(ตามคาด) ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นคือ 93.8% และรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปตามธรรมเนียม
นายกฯ คนใหม่นี้จะมีเวลาทำงานอยู่ในตำแหน่งอีกราวสองปีเท่านั้นจนกว่าสภาหมดวาระครบเลือกตั้งใหม่
ซึ่งนับว่าเป็นเวลาที่สั้นมาก ดังนั้นภาพที่เห็นคือ นายพอล มาร์ติน นายกฯ
คนใหม่ขยันและกระตือรือร้นมาก รวมถึงคณะรัฐมนตรีที่ตั้งใหม่ (บางคนก็หน้าเก่า)
ถูกคาดหวังให้สร้างผลงานเต็มที่ จึงเรียกได้ว่าฟิตจัด ตั้งแต่นายกฯ และครม.ทุกคนเลยทีเดียว ทั้งนี้เพราะมีเวลาทำงานพิสูจน์แค่สองปีเท่านั้น การได้อยู่ในตำแหน่งในเทอมต่อไปต่างหากคือเป้าหมายที่แท้จริงของทุกคน
นายพอล มาร์ติน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของแคนาดา ปัจจุบันอายุ 65 ปีเศษ
เกิดที่เมืองวินเซอร์ (Windsor) ในจังหวัดออนตาริโอ (Ontario) นี่เอง วินเซอร์
เป็นเมืองท่าสำคัญเมืองหนึ่งอยู่ติดพรมแดน เราสามารถขับรถข้ามจากฝั่งแคนาดาไปได้
ซึ่งจะเข้าไปถึงดีทรอยต์ (Detroit) รัฐมิชิแกนในสหรัฐอเมริกา พออายุ 8 ขวบครอบครัวก็ย้ายไปอยู่ออตตาวา
เมืองหลวง แกจึงเติบโตที่นั่น
นายพอล มาร์ติน ไม่ใช่คนโนเนม บิดาคือ พอล มาร์ติน ซีเนียร์ เป็นนักการเมืองรุ่นเก่าคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคเสรีนิยมเมื่อหลายปีก่อน
เป็นคู่แข่งกับอดีตนายกฯ ปิแอร์ ทรูโด ผู้โด่งดังของแคนาดา แต่พอล ซีเนียร์
ไม่สามารถไต่ถึงจุดสูงสุดทางการเมืองได้ ด้านการศึกษานายพอล มาร์ติน เรียนจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต
หรือ University of Toronto ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของแคนาดา (นิยมเรียกกันสั้นๆ
ว่า U of T) สมัยเรียนเป็นคนหัวดี เรียนเก่ง เป็นนักกิจกรรมและนักกีฬารูปหล่อเป็นที่ป๊อปปูล่าในมหาวิทยาลัย
ประวัติทำงานด้านกฎหมายและเข้าสู่วงการธุรกิจโดยเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชนและเข้าสู่การเมือง
ในเวลาต่อมาในสังกัดพรรคเสรีนิยมพรรคเดียวกับบิดา เคยลงสมัครตำแหน่งหัวหน้าพรรคแข่งกับนายเครเตียงเมื่อสิบปีก่อนแต่แพ้
เมื่อนายเครเตียงได้เป็นนายกฯ จึงแต่งตั้งนายพอล มาร์ติน เป็นรัฐมนตรีคลัง
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1993 เรื่อยมาจนกระทั่งมิถุนายน 2002 (2545) ด้วยความที่ผลงานดีเด่น
ทำให้สถานะทางการเงินการคลังของประเทศ แข็งแกร่ง เศรษฐกิจดี และเน้นใช้เงินไปในด้านสาธารณสุข
เพื่อสวัสดิการประชาชน ตลอดจนลดภาษีหลายด้านเพื่อผ่อนคลายภาระประชาชน ทำให้นายพอล
มาร์ติน เป็นที่นิยมของประชาชนและมีแนวโน้มว่าจะได้เป็นทายาททาง การเมืองสืบต่อจากนายเครเตียง
ทำให้ต่อมานายเครเตียง เริ่มไม่ค่อยชอบใจเพราะเหมือนถูกวัดรอยเท้า นานเข้านาย
มาร์ตินก็เริ่มอึดอัดใจจึงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเมื่อเดือนมิถุนายน
2002 เพื่อออกมาอยู่วงนอกและหาเสียงสร้างคะแนนนิยมจากสาธารณะและพรรค เพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอันเป็นหนทางก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแคนาดา
สานความฝันของพอล มาร์ตินซีเนียร์ ผู้พ่อซึ่งเขาก็ทำได้สำเร็จในที่สุดในวัย
65 ปี
สองสิ่งแรกที่นายพอล มาร์ติน ประกาศเป็นงานเร่งด่วนก็คือ การฟื้นฟูสัมพันธไมตรีของแคนาดากับสหรัฐอเมริกา
และการให้ความช่วยเหลือร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่น (Provincial Government)
ทั้งนี้ในปัจจุบันชาวแคเนเดียนทุกคนรู้ดีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดากับอเมริกาไม่ใคร่อยู่ในสภาพดีนักทั้งที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน พรมแดนติดกันยาวหลายพันกิโลเมตร
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอเมริกาขอให้แคนาดาสนับสนุนเรื่องส่งทหารไปช่วยถล่มอิรัก
แต่แคนาดาก็ไม่ส่ง ให้เหตุผลว่าไม่ต้องการฝืนมติยูเอ็น (จริงๆ ก็คือไม่อยากเพาะศัตรู)
การตัดสินใจไม่ส่งทหารแคนาดาไปอิรักเป็นสิ่งเดียว ที่สื่อมวลชนแคนาดายกย่องว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของนายฌอง
เครเตียง และเรื่องทหารอเมริกันยิงเครื่องบินกองทัพอากาศแคนาดาในอัฟกานิสถานตก
ทำให้ทหารแคนาดาเสียชีวิต 3 นาย (กรณีนี้แคนาดาช่วยสนับสนุนส่ง ทหารเข้าไปรักษาสันติภาพในอัฟกานิสถาน
แต่กลับโดนอเมริกาสะเพร่ายิงเครื่องตก) เป็นเรื่องที่ทำให้แคนาดาเคืองอย่างมาก
อเมริกาเรียกกรณีนี้ว่า Friendly Fired หรือยิงอย่างฉันมิตร คือชี้แจงว่าไม่ได้มีเจตนา
แต่เป็นความบกพร่องประมาทของทหารตนเอง
นอกจากนี้ก็มีเรื่องวัวบ้าที่ระบาดข้ามแดน และผู้ก่อการร้ายชาวตะวันออกกลางที่ถือสัญชาติแคนาดา
ทำให้อเมริกาต้องมาเข้มงวดการผ่านเข้าออกอเมริกาของชาวแคเนเดียนทุกคน จากที่เคยได้ความสะดวกก็กลายเป็นถูกเข้มงวด
เลยทำให้เกิดความมึนตึงกันพอสมควร แต่ความจริงระดับสูงอย่างผู้นำประเทศก็ยังมีการต่อสายตรงคุยกันเป็นปกติ
อย่างวันที่นายเครเตียงลาออก ประธานาธิบดีบุชก็โทรคุยกับนายเครเตียงเป็นการอำลา
และเมื่อนายพอล มาร์ติน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีบุชก็โทรสายตรงจากทำเนียบขาวแสดงความยินดีกับนายพอล
มาร์ติน ทันทีเช่นกัน ส่วนเรื่องความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นก็อย่างที่กล่าวมาในฉบับก่อนๆ
แล้วว่าแคนาดามีรัฐบาลระดับท้องถิ่น คอยบริหารงานท้องถิ่นโดยอิสระ
แต่หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลกลาง (Federal Government) ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือท้องถิ่นเท่าที่ควร
ปล่อยให้ท้องถิ่นดูแลตัวเอง ทำให้การพัฒนาเป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะขาดการสนับสนุนและงบประมาณ
เกิดปัญหาหมักหมม มากมายในแต่ละจังหวัด เช่น การสาธารณสุข (โรงพยาบาลไม่พอ
หมอขาดแคลน เป็นต้น) ระบบการคมนาคม (ถนนหนทางและไฮเวย์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องมี
ต้องสร้างเพิ่มเพื่อรองรับการเจริญเติบโต) และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่นระบบไฟฟ้า
น้ำอุปโภคบริโภค ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ทั้งนี้ก็เป็นผลงานของอดีตนายกฯ ฌอง
เครเตียง (อีกเช่นกัน) ดังนั้นเมื่อนายพอล มาร์ติน ประกาศว่าจะเข้ามาช่วยดูแล
และสนับสนุนท้องถิ่นทำให้ได้รับการชื่นชมและยินดีกันทั้งประเทศ พูดไม่พูดเปล่านะคะ
แกยังเดินสายเยี่ยมเยียนลง พื้นที่แต่ละจังหวัดอีกด้วย
ดูๆ แล้วความหวังที่จะพลิกฟื้นแก้ปัญหาระดับประเทศและรากหญ้า ดูแจ่มใสขึ้นสำหรับนายกฯ
คนใหม่นี้ ก็คงต้องคอยดูกันต่อไป