การล้มละลายของ Parmalat ไม่เพียงแต่สั่นคลอนระบบเศรษฐกิจอิตาลีและสหภาพยุโรปเท่านั้น
หากยังสะท้อนให้เห็นจุดอ่อนของระบบทุนนิยมโลกอีกด้วย
Parmalat เติบใหญ่จากธุรกิจครอบครัวมาเป็นบรรษัทระหว่างประเทศ โดยใช้เวลาเพียง
30 ปีเศษ ธุรกิจดั้งเดิม คือการผลิต Parma Ham และมะเขือเทศกระป๋อง Parma
Ham เป็นแฮมที่มีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแฮมย่อมต้องรู้จัก Parma Ham
ว่าเป็นแฮมรสเลิศ ประชาชนชาวอิตาลีรู้จัก Parma Ham ดุจเดียวกับที่คนไทยรู้จักข้าวหอมมะลิ
ชื่อ Parma Ham และข้าวหอมมะลิกลายมาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical
Indications) ตามกติกาการค้าระหว่างประเทศ
Parmalat เติบใหญ่จากฝีมือการบริหารจัดการของคาลิสโต ทานซิ (Calisto Tanzi)
เมื่อเมลคิออร์เร ทานซิ (Melchiorre Tanzi) ผู้เป็นบิดาถึงแก่กรรมในปี 2504
คาลิสโต ทานซิ มีอายุเพียง 22 ปี และกำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย ทานซิต้องออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อมาดูแลธุรกิจของครอบครัว
หลังจากที่บริหารจัดการธุรกิจของครอบครัวได้ไม่นาน ทานซิก็ปรับทิศทางธุรกิจมุ่งสู่การผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมเป็นด้านหลัก
Calisto Tanzi & Sons-Salamis and Preserves เติบใหญ่จากธุรกิจนมและผลิตภัณฑ์นม ด้วยการตั้งโรงงานในเมืองคอลเล็กคิโอ (Collechio) ซึ่งอยู่ใกล้เมืองปาร์มา
ผลิตนมส่งตามบ้านในเมืองปาร์มา เยนัว ฟลอเรนส์ และโรม เงื่อนไขสำคัญที่เกื้อกูลการเติบโตของธุรกิจอยู่ที่การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ในการนี้ทานซิอาศัยการสร้างพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับ Tetra Pak บริษัทเทคโนโลยีสวีเดน
เริ่มต้นด้วยการซื้อกล่องบรรจุนมจาก Tetra Pak กล่องบรรจุนมนั้นมีข้อดีอย่างน้อย
2 ประการ ประการแรก เมื่อผู้บริโภคดื่มนมหมดแล้วสามารถทิ้งกล่องได้ทันที
อีกทั้งยังสามารถประทับเครื่องหมายการค้าบนกล่องนมได้ด้วย ประการที่สอง กล่องบรรจุนมช่วย
ยืดอายุนมให้อยู่ได้อย่างน้อย 3 วัน โดยไม่บูด ด้วยเหตุดังนี้ นมกล่องยี่ห้อ
Parmalat (แปลว่า The Milk of Parma) จึงปรากฏตัวในโลก ผู้บริโภค และขยายตัวตามการขยายตัวของ
Parmalatization
Parmalat ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งหนึ่งเมื่อซื้อเทคโนโลยี UHT (Ultra
High Temperature) จาก Tetra Pak ในปี 2509 Parmalat เป็นบริษัทนมบริษัทแรกๆ
ที่ผลิตนม UHT ซึ่งมีอายุยาวนานอย่างน้อย 6 เดือน
การผลิตนมที่มีลักษณะหลากหลาย (Product Differentiation) นับเป็นยุทธวิธีสำคัญในการเติบโตของ
Parmalat นอกจากการผลิตนมธรรมดาแล้ว ยังผลิตนมผสมวิตามินซี (Latte Vita
C) นมผสมวิตามิน 7 ชนิด และนมพร่องไขมัน
นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2520 Parmalat เริ่มกระจายการผลิตสู่เนย เนยแข็ง ซอส
และขนม ครั้นในทศวรรษ 2530 Parmalat รุกคืบไปผลิตน้ำผลไม้ ซอสผัก โยเกิร์ตและครีม
ซุป และคุกกี้
ในปัจจุบัน ผลผลิตของ Parmalat จำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม อันประกอบด้วย Milk,
Dairy, Beverage, Bakery และผลิตภัณฑ์อื่น
เพียงชั่วเวลาหนึ่งทศวรรษที่ทานซิยึดกุมการบริหารจัดการ Parmalat เริ่มขยายอาณาจักรออกนอกอิตาลี
เริ่มต้นด้วยบราซิลในปี 2517 ในปัจจุบัน Parmalat มีศูนย์การผลิตทั่วโลก
139 ศูนย์และมีสาขาในประเทศต่างๆ รวม 30 ประเทศ ประเทศสุดท้ายที่ Parmalat
เข้าไปลงทุน คือ ไทยในปี 2545 Parmalat มีพนักงานทั่วโลกรวม 36,356 คน อาณาจักรของ
Parmalat ปรากฏในทุกทวีป แต่น้ำหนักอยู่ที่ละตินอเมริกาและยุโรปตะวันออก
การขยายอาณาจักรและการขยายฐานธุรกิจอย่างรวดเร็วเกินกว่าความสามารถในการบริหารจัดการ
นับเป็นเหตุปัจจัยสำคัญ อันนำจุดจบมาสู่อาณาจักร Parmalat
Parmalat ไม่เพียงแต่จะขยายฐานธุรกิจจากการผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมเท่านั้น
หากยังเข้าไปครอบกิจการต่างๆ เป็นว่าเล่น ธุรกิจจำนวนมากที่ Parmalat ไล่ล่าซื้อมาห่างไกลจากธุรกิจแกนของ
Parmalat ดังเช่น การซื้อสถาบันการเงินในละตินอเมริกา เป็นต้น
ตัวทานซิมีความชื่นชอบกีฬาเป็นพิเศษ จึงมิใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่เมื่อลืมตาอ้าปากได้ ทานซิไล่ล่าซื้อสโมสรฟุตบอลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง A.C.Parma แต่ Parmalat
มิได้เป็น เจ้าของสโมสรฟุตบอลเพียงแห่งเดียว หากยังเข้าไปซื้อสโมสรฟุตบอลในบราซิล
อุรุกวัย เม็กซิโก และรัสเซียด้วย นอกจากสโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียงดุจดัง
A.C.Parma แล้ว Parmalat ยังเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล Palmeiras ในบราซิลอีกด้วย
นอกจากกีฬาฟุตบอลแล้ว ทานซิยังชอบรถแข่งและสกีเป็นชีวิตจิตใจ จึงมิใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่
Parmalat เป็นสปอนเซอร์นักแข่งรถชื่อดัง ดังเช่น นิกิ เลาดา (Niki Lauda)
อีกทั้งเป็นสปอนเซอร์นักสกีชื่อดัง ดังเช่น กุสตาโว โธนิ (Gustavo Thoeni)
บรรดานักกีฬาที่มี Parmalat เป็นสปอนเซอร์ จะติดเครื่องหมายการค้า Parmalat-Milk
of Champions
Parmalat ขยายฐานธุรกิจและขยายอาณาจักร ด้วยการระดมเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์
เมื่อ Parmalat มีฐานะการเงินอันมั่นคง หลักทรัพย์ที่ Parmalat นำออกจำหน่ายขายได้ไม่ยาก
แต่เป็นเพราะ Parmalat ขยายฐานธุรกิจและขยายอาณาจักรรวดเร็วเกินกว่าความสามารถในการบริหารจัดการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา โครงการลงทุน จำนวนมากไม่สมเหตุสมผล
อีกทั้งมีการใช้จ่ายเงินทุนอย่างฟุ่มเฟือย Parmalat จึงเริ่มมีปัญหาความง่อนแง่นทางการเงิน
แต่ความง่อนแง่นทางการเงินมิได้เกิดจากการบริหารธุรกิจอย่างผิดพลาดเท่านั้น
หากยังเป็นผลจากการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินของผู้บริหารอีกด้วย ความไม่ชอบมาพากลเริ่มเผยโฉมเมื่อ
Parmalat ตั้งฐานการเงินในหมู่เกาะที่เป็น Offshore Financial Centres ทั้ง
Cayman Islands และ Netherlands Antilles Parmalat จัดตั้งบริษัทเงินทุน
Epicurm และ Bonlat Finance Corporation ในหมู่เกาะเคย์แมน และจัดตั้งบริษัท
Curcustler และ Zilpa ใน Netherlands Antilles ด้วยการใช้ฐานการเงินที่ปราศจากความโปร่งใสเช่นนี้เอง
ผู้บริหาร Parmalat สามารถผันทรัพยากรทางการเงินของบริษัทไปใช้ส่วนตัว ทานซิยอมรับภายหลังจากถูกตำรวจอิตาลีจับว่า
ได้ผันเงินจำนวน 500 ล้านยูโรไปให้ลูกสาว นอกนั้นต้องไปถามฟาอุสโต ตอนนา
(Fausto Tonna) ผู้จัดการด้านการเงิน (CFO) ของ Parmalat ในขณะที่ตอนนายืนยันว่า
ทานซิรับรู้กระบวนการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินทั้งหมดตั้งแต่ต้น
นอกจากจะมีการบริหารการเงินที่ไม่ชอบมาพากลแล้ว กระบวนการตรวจสอบบัญชียังหย่อนยานอีกด้วย
Grant Thornton บรรษัทบัญชีระหว่างประเทศ (อเมริกัน) ขนาดกลางเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของ
Parmalat ตั้งแต่ปี 2533 จวบจนถึงปี 2542 จึงเปลี่ยนผู้ตรวจสอบบัญชีเป็น
Deloitte Touche Tohmatsu เพราะกฎหมายอิตาลีห้ามตรวจสอบบัญชีติดต่อกันเกินกว่า
8 ปี แม้ Deloitte จะเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี Parmalat โดยนิตินัย แต่ Deloitte
กลับมอบหมาย Grant Thornton เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีสาขา ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า ในปี 2542 สินทรัพย์ของสาขามีมูลค่าคิดเป็น 22% ของสินทรัพย์รวมของ Parmalat
ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 49% ในปี 2545 Grant Thornton จึงมีบทบาทในการตรวจสอบบัญชีไม่ยิ่งหย่อนกว่า
Deloitte
ความง่อนแง่นทางการเงินของ Parmalat ปรากฏอย่างชัดเจนต้นเดือนธันวาคม 2545
เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ (พันธบัตร) ที่ครบกำหนด ทั้งที่มีเงินฝาก จำนวน 3,950
ล้านยูโร Bank of America ซึ่งถือโดย Bonlat ในหมู่เกาะเคย์แมน แต่ต่อมา
Bank of America แจ้งว่า ยอดเงินฝากดังกล่าวไม่มีตัวตน คำประกาศของ Bank
of America นำ Parmalat ไปสู่ภาวะล้มละลาย
การล้มละลายของ Parmalat ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์ว่าด้วยบรรษัทภิบาลของบริษัทยักษ์ใหญ่ในยุโรป
เพราะก่อนหน้านี้มีบรรษัทยักษ์ใหญ่ในยุโรปที่ประสบความง่อนแง่นทางการเงิน
อันเกิดจากความไม่ชอบมาพากลในการบริหาร ไม่ว่าจะเป็น Skandia แห่งสวีเดน
Ahold แห่งเนเธอร์แลนด์ Vivendi แห่งฝรั่งเศส หรือแม้แต่ Fiat แห่งอิตาลี
ข้อสรุปก็คือ Enron มิได้มีเฉพาะในสหรัฐอเมริกา หากยังมีในยุโรปอีกด้วย
Parmalat จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งนครมิลานตั้งแต่ปี 2533 การล้มละลายนอกจากจะทำให้ผู้ถือพันธบัตร
(เจ้าหนี้) เสียประโยชน์แล้ว ยังทำให้ผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์อีกด้วย กรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้บ่งชี้ว่า
ระบบการเงินที่พึ่งพิงตลาด (Market-Based Financial System) มิได้มีประสิทธิภาพที่ดีไปกว่าระบบการเงินที่พึ่งพิงธนาคาร
(Bank-Based Financial System) เนื่องจากมีปัญหาความไม่สมบูรณ์ของสารสนเทศ
มิหนำซ้ำผู้ตรวจสอบบัญชียังมิได้ช่วยให้สารสนเทศสมบูรณ์ขึ้นอีกด้วย
จำเลยในคดี Parmalat มิได้มีแต่คาลิสโต ทานซิ CEO และฟาอุสโต ตอนนา CFO
เท่านั้น หากแต่ผู้ตรวจสอบบัญชี ทั้ง Grant Thornton และ Deloitte Touche
Tohmatsu รวมทั้งสถาบันการเงิน ดังเช่น Bank of America และอื่นๆ ต้อง ร่วมเป็นจำเลยด้วย