Grenada เป็นประเทศเล็กๆ ในหมู่เกาะ West Indies ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่คั่นกลางระหว่างทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแอตแลนติก
จากสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะรูปหยดน้ำขนาดเล็ก และตั้งอยู่ห่างจากเกาะขนาดใหญ่ที่เป็นคู่แข่งด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวออกมามาก
ทำให้ Grenada ยังสามารถคงสภาพความเป็นตัวตนดั้งเดิมเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
อารยธรรมตะวันตกสมัยใหม่ยังไม่สามารถแผ้วพานได้ แต่... อีกไม่นานนัก... เมื่อนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่เน้นธุรกิจตะวันตกเดินเครื่องเต็มลูกสูบแล้ว
ภาพ "ความงามบริสุทธิ์" ของ Grenada วันนี้อาจไม่มีให้เห็นอีกต่อไป... นี่เป็นโอกาสสุดท้ายของนักท่องเที่ยวผู้ต้องการเก็บเกี่ยวความงามตามธรรมชาติดั้งเดิม
!!
Grenada วันนี้เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์โดยแท้จริง
ยุโรปยุคล่าอาณานิคมต้องใช้เวลาถึง 150 ปีจึงสามารถสยบ Carib Indians ชนพื้นเมืองเจ้าของประเทศลงได้
โดยฝรั่งเศสเข้ายึดเกาะรูปหยดน้ำเล็กๆ แห่งนี้เป็นอาณานิคมสำเร็จในช่วงทศวรรษ
1650 อีกศตวรรษต่อมา สนธิสัญญา Treaty of Versailles ปี 1783 ส่งผลให้การครอบครองเปลี่ยนมือจากฝรั่งเศสเป็นอังกฤษ
หลังจากนั้น Grenada อยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรเป็นเวลาเกือบ 200
ปี จึงได้รับเอกราชเมื่อปี 1974
เมื่อเข้าปกครอง Grenada แล้ว อังกฤษยังคงชื่อต่างๆ บนเกาะเป็นภาษาฝรั่งเศสตามเดิม
แต่ช่วงทศวรรษ 1780 ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชเศรษฐกิจของประเทศแบบถอนรากถอนโคน
จากอ้อยมาเป็นลูกจันทน์เทศ (nutmeg) และอีกกว่า 2 ศตวรรษ หลังจากนั้น Grenada
ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องเทศใหญ่อันดับสองของโลก รองจากอินโดนีเซียไม่เปลี่ยนแปลง
ลูกจันทน์เทศเข้าไปมีบทบาทในชีวิตของชาวเกาะและนักท่องเที่ยวจนแยกจากกันไม่ออก
เมื่อนักท่องเที่ยวไปเยือน Grand Etang National Park ก็จะเห็นฝักลูกจันทน์เทศร่วงจากต้นเกลื่อนกลาดทั่วทั้งป่าดงดิบ
นอกจากนี้ โรงแรมระดับห้าดาวและบ้านพักตากอากาศระดับตลาดบน ต่างภูมิใจที่จะเสิร์ฟเฉพาะเยลลี่ลูกจันทน์เทศบนโต๊ะอาหารเช้า
แม้แต่เศรษฐกิจของประเทศก็วูบวาบขึ้นลงตามราคาลูกจันทน์เทศด้วย
Grenada เกือบได้ฉายาว่า "เกาะเครื่องเทศ" อยู่รอมร่อ
แต่รัฐบาลเห็นความจำเป็นในการหาแหล่งรายได้เข้าประเทศ นอกเหนือจากการพึ่งพาพืชเศรษฐกิจคือลูกจันทน์เทศเพียงอย่างเดียว
กลยุทธ์หาใช่การละทิ้งเกษตรกรรม !!
Grenada เพียงแต่พูดถึงการเกษตรให้น้อยลง แล้วหันไปเน้นส่งเสริมธุรกิจทำเงินที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้มากขึ้น
เห็นได้จากช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลออกมาตรการยกเว้นภาษีธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมากมาย
เม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามาทำให้การพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัยรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว
Grenada มีทั้งสนามบินนานาชาติที่สามารถรองรับเครื่องบิน 747 จากลอนดอน มีท่าเรือน้ำลึกที่
Egmont ซึ่งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีวิลล่าหรูหรารองรับนักท่องเที่ยวผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
ทำให้ผู้ไปเยือนเห็นป้ายวิงวอนให้ชาว Grenada แตะเบรกและอย่าทิ้งการเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงปากท้องของคนทั้งประเทศอยู่ทั่วไป
Grenada กลายเป็นประเทศที่มีความมั่นคง เป็นแหล่งล่องเรือยอชต์ของผู้มีอันจะกินในภูมิภาคนี้
และเป็นที่พักผ่อนสุดสัปดาห์ของชาว Trinidad และ Barbados ที่ต้องการหนีความวุ่นวายมาหามุมสงบของที่นี่
เพราะแม้จะเน้นพัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นธุรกิจสมัยใหม่แบบตะวันตกมานับสิบปี แต่
Grenada ยังอยู่ในสภาพเกาะสวรรค์ที่มี "ความงามบริสุทธิ์" อย่างเหนียวแน่น
ไม่มีกิจการโรงแรมที่บริหารงานแบบ chain มีเที่ยวบินตรงเพียงไม่กี่เที่ยวบิน
ไม่มีร้านกาแฟ Starbucks หรือร้านแฮมเบอร์เกอร์ McDonald's แม้แต่ร้านเดียว
นอกจากรีสอร์ตหรือวิลล่ามากมายที่รองรับนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบไอแดดและลมทะเล
Grenada ยังมีวิถีท่องเที่ยวเชิงเกษตรไว้ให้บริการ เช่น Bel-Air Plantation
ซึ่งทำสวนมะม่วงและมะละกอบนเนื้อที่ 18 เอเคอร์ ขณะเดียวกันก็ปลูกกระท่อมไม้
pastel ไว้รองรับนักท่องเที่ยวพร้อมร้านอาหารสไตล์ Nouvelle Caribbean นอกจากนี้ยังมีการทำสวนแบบออร์แกนิก
จุดชมทะเล และสระว่ายน้ำไว้ให้เลือกใช้บริการ
เป็นที่น่าสังเกตว่าการทำไร่แบบ plantation ขนาดใหญ่นี้มีเจ้าของเป็นต่างชาติระดับมหาเศรษฐีทั้งสิ้น
แถมอภิมหาเศรษฐีชาวยุโรปยังเข้าไปกว้านซื้อและครอบครองเกาะเล็กเกาะน้อยอีกต่างหาก
ทำให้วงการคาดหมายกันว่า Grenada อาจต้องสูญเสีย "ความงามบริสุทธิ์" ไปในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน