"ถุงกระดาษ" เพียงใบเดียวในมือ ได้สะท้อนลึกไปถึงการใช้ชีวิต รสนิยม และตำแหน่งของผู้ถือได้เป็นอย่างดี แล้วยังทำให้คนคนนั้นกลายเป็นสื่อในการโฆษณาสินค้า
มีส่วนสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดมากยิ่งขึ้นด้วย
ใครจะรู้บ้างว่า ถุงกระดาษแสนสวยของสินค้าแบรนด์เนมชื่อดัง เช่น ARMANI
AIX GUESS คริสเตียน ดิออร์ หรือพิพิธภัณฑ์ที่ระลึกอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
และร้านจิวเวลรี่ในสแกนดิเนเวีย สั่งทำจากโรงงานเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตมีนบุรี
ที่มีวิวัฒน์ อรรถประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเอเซีย เปเปอร์ แบค จำกัด
เจ้าของถุง "โชคดี" เป็นเจ้าของ วิวัฒน์เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจถุงกระดาษรายแรกๆ
ของเมืองไทย เมื่อ 30 กว่าปีก่อน โดยไปเห็นธุรกิจนี้เติบโตได้ดีในต่างประเทศ
เครื่องจักรตัวแรกเขาซื้อมาจากประเทศญี่ปุ่น พิมพ์คำว่า "โชคดี" บนกระดาษ
อีกด้านหนึ่งเป็นตารางหมากฮอส หรือรูปอาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลคนแรกของเมืองไทย
ขายใบละ 19 สตางค์ โดยใช้กลยุทธ์แจกฟรี ตามท้องสนามหลวง และโฆษณาผ่านรายการต่างๆ
ให้คนรู้จัก หลังจากนั้นก็สั่งเครื่องจักรเข้ามาใหม่ คราวนี้สามารถพิมพ์เป็นรูปกระเช้าดอกไม้
มีคำว่า shopping bag ดูทันสมัยยิ่งขึ้น โดยส่งขายตามตลาดมหานาค ตลาดสำเพ็ง
งานดีไซน์ของถุงกระดาษเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 2-3 ปีมานี่เอง
พร้อมๆ กับการบุกตลาดต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับถุงกระดาษมากกว่าบ้านเรา
จากถุงโชคดีใบละ 19 สตางค์ กลายเป็นสินค้าส่งออก ขายใบละ 100 บาท ให้กับแบรนด์ดังๆ
ในต่างประเทศ กระดาษธรรมดาๆ ที่เคยใช้ทำ กลายเป็นกระดาษที่แข็งแกร่ง เหนียว
สวย มี texture สวยงาม สีคลาสสิก รวมทั้งเชือกหูหิ้วที่สั่งทำพิเศษ
ทุกใบต้องเนี้ยบ ผิดพลาดไม่ได้ เพราะแต่ละสาขาจะต้องได้เท่ากัน ถุง 100
ใบ หมายถึงว่า ใส่เสื้อผ้า 100 ชุด ดังนั้นลูกค้าแต่ละคนต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้น
วิวัฒน์เล่าว่า "แบรนด์ดังที่สั่งเรา มีอาร์มานี่ คริสเตียน ดิออร์ โดยร่วมกันดีไซน์
บางครั้งเขาจะให้ตัวอย่างมาให้เราทำให้ได้เหมือนที่อิตาลี ไม่อย่างนั้นไม่สั่งซื้อ
ทุกใบต้องเรียบ เนียน ทุกแบรนด์เมื่อสั่งทำที่เมืองไทยเสร็จแล้ว ถึงจะส่งไปยังบริษัทแม่ที่ประเทศอเมริกา
ในยุโรป ในรัสเซีย ก่อนจะส่งกลับมาที่สาขาในเมืองไทยอีกที"
งานดีไซน์หยุดนิ่งไม่ได้ ปีหน้าการแข่งขันในเรื่อง texture ของเนื้อกระดาษ
เลียนแบบหนังจริง เน้นความคล้ายคลึงธรรมชาติกำลังมาแรง รวมทั้งพยายามค้นคว้าหาวัสดุที่จะทดแทนกระดาษ
เช่น ใยสับปะรด เปลือกไม้
ญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา และอิตาลี จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในเรื่องดีไซน์
เพราะเป็นประเทศที่ทำถุงสวยที่สุดในโลก ในขณะที่จีน อินโดนีเซีย เม็กซิโก
อินโดนีเซีย สามารถทำถุงด้วยต้นทุนที่ถูกมากๆ อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้วเอเซียเปเปอร์
แบค สามารถทำยอดขาย ได้ถึง 80 กว่าล้านบาท โดยเป็นยอดส่งออก 80 เปอร์เซ็นต์