หากเมื่อก่อนหน้าไม่นานมานี้ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ถือเป็นหุ้นน้องใหม่ ที่สามารถเข้าไปสร้างสีสันให้กับกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในตลาด
แต่ในปีนี้
บทบาทดังกล่าวน่าจะเป็นของ
เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง
ชื่อ "เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง" อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยของผู้คนที่ต้องการมองหาที่อยู่อาศัย
เท่ากับชื่อของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่บริษัทนี้เป็นผู้สร้าง ซึ่งชื่อส่วนใหญ่ของทุกโครงการ
จะใช้คำว่า "บ้านฟ้า" นำหน้า
"คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคำว่า "บ้านฟ้า" เป็นแบรนด์ของเรา หลายคนจะรู้จักชื่อนี้
แต่หลังจากนี้ เมื่อเราต้องเตรียมตัวเข้าตลาดฯ เราคงต้องเปลี่ยนให้คนมารู้จัก
กับชื่อของ "เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง" มากขึ้น" สมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ
บริษัทเอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง บอกกับ "ผู้จัดการ"
ตามแผนการ เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง เตรียมยื่นไฟล์ลิ่งเพื่อขออนุมัติในการนำหุ้นออกมากระจายขายให้กับประชาชนทั่วไป
ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดว่าหุ้นของบริษัทจะสามารถเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้
ประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายน
เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 266 ล้านบาท ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย
ซึ่งมีทั้งบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ โดยทาวน์เฮาส์มีระดับราคาตั้งแต่ 9 แสนบาท
ถึง 1 ล้านบาท ส่วนบ้านเดี่ยว ระดับราคา ตั้งแต่ 2 ล้านบาท ไปจนถึง 4-5 ล้านบาท
"เราโฟกัสกลุ่มลูกค้าของเราอยู่ในระดับกลางขึ้นไป"
ซึ่งกลุ่มลูกค้าระดับดังกล่าว จัดอยู่ใน segment เดียวกับลลิล พร็อพเพอร์ตี้
ที่เพิ่งเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่นานนักก่อนหน้านี้
หากนับจากอายุการก่อตั้งบริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง อาจไม่ใช่บริษัทที่เก่าแก่เหมือนแลนด์
แอนด์ เฮ้าส์ หรือ ลลิลพร็อพเพอร์ตี้ แต่หากดูจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ในตระกูลตันฑเทอดธรรมแล้ว
อยู่ในกลุ่มของนักพัฒนาอสังหา ริมทรัพย์รายแรกๆ ของ เมืองไทย
นำชัย ตันฑเทอดธรรม บิดาของ สมเชาว์เป็นนักจัดสรรที่ดิน รุ่นเดียวกับสุนทร
เปรม ฤทัย, โชคชัย ปัญจทรัพย์ หรืออนันต์ สุขสันต์ ที่มีโครงการซึ่งโด่งดังมากเมื่อกว่า
30 ปีก่อน ที่สำคัญเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวังทองกรุ๊ป ก่อนที่จะแยกตัวออกมาตั้งบริษัทเอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง
ในปี 2537
"ชื่อ เอ็น.ซี.ก็มาจากชื่อย่อของคุณพ่อ"
ก่อนหน้าวิกฤติการเงินในปี 2540 เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง เปิดโครงการไปแล้ว
5 โครงการด้วยกัน ทั้งหมดอยู่ในย่านรังสิต ปทุมธานี เริ่มจากโครงการแรกคือบ้านฟ้ารังสิต
ที่คลอง 4 และบ้านฟ้าคลองหลวงในปี 2537 ตามด้วยบ้านฟ้าทอฝัน ที่รังสิต คลอง
7 และบ้านฟ้าชมพฤกษ์ ที่รังสิต คลอง 8 ในปีถัดมา ส่วนในปี 2539 เปิดโครงการเดียวคือ
บ้านฟ้าลากูน ที่รังสิต คลอง 1
ทั้ง 5 โครงการประสบความสำเร็จ ตามภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในขณะนั้น
หลังเกิดวิกฤติลดค่าเงินบาท เอ็น. ซี.เฮ้าส์ซิ่ง ต้องดิ้นรนอย่างหนัก เพื่อประคองตัวให้ผ่านพ้นสถานการณ์ในช่วงนั้นให้ได้
"ตอนนั้นปั่นป่วน แต่ของเราโชคดี เพราะโครงการที่เปิดไปแล้ว 5 โครงการ
โอนไปเกือบครึ่งแล้ว แต่ที่เหลือก็ยังไม่โอน พอมีปัญหา คนก็ทิ้งดาวน์ ไม่รับโอน
แม้บ้านจะสร้างเสร็จแล้ว นอกจากนี้ยังมีพวกที่ผ่อนอยู่ก็หยุดผ่อน แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่อยากได้บ้าน
คือมีกำลังและมีเงินส่ง ก็มาโอน" เขาเล่า
ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้เองที่เหมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตให้เอ็น.ซี.จนผ่านพ้นวิกฤติ
"ตอนมีปัญหาเราก็ประชุมกัน หาทางว่าจะทำอย่างไรดี ก็ตกลงกันว่า สำหรับ
คนที่อยากได้บ้าน ต้องรีบโอนให้เขา เพื่อที่จะปิด job บ้านที่จวนจะเสร็จ
เราก็รีบทำให้เสร็จ เพื่อโอนให้กับคนที่อยากได้บ้าน แต่บ้านที่ยังไม่ได้สร้าง
ก็หยุดไปเลย ไม่สร้าง เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งก็ทำให้เราไม่ต้องจ่ายออก อีกส่วนหนึ่งคือเรารีบรับเข้า
ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้"
กลยุทธ์สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งเอ็น.ซี.นำมาใช้ คือการเปิดบริษัทใหม่ เพื่อหารายได้มาหล่อเลี้ยงพนักงานที่มีอยู่
เพราะนโยบายของ เอ็น.ซี.ยืนยันที่จะไม่ปลดพนักงานออกแม้แต่คนเดียว
เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง ได้เปิดบริษัทลูกขึ้น 3 บริษัท คือ บริษัทเอ็น.ซี.พร็อพเพอร์ตี้
แมเนจเม้นท์ เพื่อรับประมูลงานก่อสร้างของ ราชการ ซึ่งบริษัทนี้จะรับหมดไม่ว่าเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่
บริษัทเอส.ซี.คอนสตรัคชั่น แอนด์ เดคคอร์เรชั่น รับสร้างบ้าน ให้กับลูกค้าที่มีที่ดินของตัวเองภายนอกโครงการ
และบริษัทควอลิตี้ ลีฟวิ่ง แมเนจ เม้นท์ รับบริหารโครงการให้กับลูกค้า คือหมู่บ้านที่สร้างเสร็จแล้ว
ซึ่งต้องมีคนบริหาร คล้ายนิติบุคคลของหมู่บ้าน
"ก็เอาพนักงานขายไปเป็นพนักงาน บริหารชุมชน เพื่อรักษาคนไว้"
แต่จุดที่ทำให้ เอ็น.ซี.สามารถกลับพลิกฟื้นฐานะขึ้นมาได้ มีอยู่ 2 จุดด้วยกัน
จุดแรก คือการปรับเปลี่ยนสัญญาซื้อขายกับลูกค้าให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น
เพื่อดึงดูดความมั่นใจในการเข้ามาซื้อบ้าน โดย สัญญาที่ เอ็น.ซี.นำออกมาใช้หลังจากเกิดวิกฤติ
คือการให้ลูกค้าจ่ายผ่อนเงินดาวน์บ้าน ตามความคืบหน้าของงวดงาน โดยก่อนจะจ่ายดาวน์แต่ละครั้งลูกค้าต้องเข้ามาตรวจรับงานก่อน
หากไม่เสร็จตามสัญญา ลูกค้าก็ไม่ต้องจ่ายเงินงวดนั้น
สมเชาว์ค่อนข้างภาคภูมิใจกับการตัดสินใจแก้ไขสัญญาตรงนี้ เพราะเขาเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายของเอ็น.ซี.ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤติ
"ในปี 2541 เรายังทำยอดขายได้ 200 กว่าล้านบาท ปี 2542 ทำได้ 600 กว่าล้านบาท
และปี 2543 ยังได้อีก 800 กว่าล้านบาท ซึ่งถือว่าดีมากในช่วงวิกฤติขนาด นั้น"
อีกจุดหนึ่งคือ การได้มีเวลาทบทวน จุดเด่นและจุดด้อยของตนเอง เพื่อปรับปรุง
ให้สามารถสร้างความมั่นคงให้กับบริษัท
จุดเด่นที่ เอ็น.ซี.สามารถสร้างสรรค์ ขึ้นมาได้ คือแบบบ้าน ซึ่งแบ่งออกเป็น
2 กลุ่มใหญ่ๆ คือแบบบ้านทรงไทยประยุกต์ และกรีนพาร์ค ซึ่งทั้ง 2 แบบต่างโดนใจลูกค้าที่เข้ามาชมบ้านตัวอย่าง
ส่วนจุดที่อาจจะสร้างความเสี่ยงให้กับบริษัทในอนาคต คือ แลนด์แบงก์ ส่วน
ใหญ่ที่บริษัทมีอยู่ในเขตปทุมธานี ดังนั้น เมื่อฐานะของบริษัทดีขึ้น จึงเริ่มสะสมแลนด์แบงก์ใหม่
เพื่อกระจายโครงการออก ไปในย่านปริมณฑลอื่นๆ ของกรุงเทพฯนอกเหนือจากปทุมธานี
เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง เริ่มกลับมาเปิดโครงการใหม่อีกครั้งในปี 2543 คือโครงการจันทิมาปาร์ค
ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 5 แต่โครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง คือโครงการบ้านฟ้าปิยรมย์ที่ถนนรังสิต-ลำลูกกา
คลอง 6 ซึ่งเปิดในปี 2544 โดยใช้จุดขายเป็นบ้านทรงไทยประยุกต์
"โครงการนี้เปิดครั้งแรก 371 ยูนิต ปรากฏว่า 3 เดือนขายหมด ก็ถือว่าประสบ
ความสำเร็จ เพราะปีนี้ตลาดบ้านยังไม่มีใครเชื่อว่าอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้นแล้ว"
ปัจจุบัน เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง มีโครงการ ที่เปิดไปแล้วมากกว่า 24 โครงการ
มูลค่าโครงการรวม 13,795 ล้านบาท และฐานะของบริษัทเริ่มกลับมามีกำไรต่อเนื่องตั้งแต่ปี
2543
ด้วยความพร้อมเช่นนี้สมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม จึงมีแนวคิดที่จะให้เอ็น.ซี.
เฮ้าส์ซิ่ง เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้น