ธนาคารไทยพาณิชย์ เตรียมศึกษาแผนการปรับโครงสร้างบริษัทในเครือใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบการเงินฉบับใหม่เผยเล็งควบรวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงินเข้ากับธนาคารแม่ พร้อมโละทิ้งบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักมูลค่าลงทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้าน ขณะที่บริษัทไฟแนนซ์ในเครืออีก 2 แห่ง คาดเสนอแผนให้แบงก์ชาติพิจารณาภายใน
6 เดือนนี้ "คุณหญิงชฎา" โปรยยาหอม จ่ายปันผลปีนี้อาจสูงกว่า 35-40%
ของกำไรสุทธิ
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้อง
กับแผนพัฒนาระบบการเงินฉบับใหม่ว่า ธนาคารกำลังศึกษาแผนควบรวมกิจการ รวมทั้งแผนอื่นๆ
ที่จะเสริมสร้างความแข็ง แกร่งก่อนจะนำเสนอให้เป็นทางเลือกกับคณะ กรรมการและผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้เรื่องทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการธนาคารที่จะพิจารณา ทางเลือกใดเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับ
ผู้ถือหุ้นมากที่สุด โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ธนาคารจะมีทั้งทางการและเอกชน
ทั้งนี้ แม้ว่าธนาคารไม่ต้องควบรวมกับสถาบันการเงินอื่น ธนาคารไทยพาณิชย์ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
โดยมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง เป็นอันดับต้นของระบบประมาณ 72,000 ล้านบาท เป็นเงินกองทุนขั้นที่
1 ประมาณ 10% เงินกองทุนขั้นที่ 2 ประมาณ 3-4% ส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจ 12%
ลูกค้าประมาณ 6 ล้าน ราย สินทรัพย์ 720,000 ล้านบาท สาขาประมาณ 500 สาขา และในปีนี้จะขยายสาขา
เพิ่มอีก 20-30 แห่ง
สำหรับบริษัทในเครือที่ธนาคารถือหุ้นอยู่นั้น จะมีการพิจารณาว่าบริษัทใดที่ดำเนินธุรกิจเหมือนกับธนาคารและสามารถ
ทำได้เองจะนำเข้ามาควบรวมกับธนาคาร ขณะที่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินโดยที่ทางการไม่อนุญาตให้ธนาคารทำได้ก็มีนโยบายที่จะถือหุ้นไว้สนับสนุนธุรกิจหลักต่อไป
เช่น บริษัทประกัน ที่ต้องใช้ใบอนุญาตแยกออกจากธุรกิจแบงก์
ส่วนบริษัทในเครือที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non Core) ธนาคารมีนโยบายที่จะขายออกไปอย่างต่อเนื่อง
โดยที่ผ่านมามีการขายบริษัทในเครือที่ไม่เกี่ยว ข้องกับธุรกิจไปแล้วหลายแห่ง ขณะที่ที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นการถือหุ้นเข้ามาใหม่จากการปรับโครงสร้างหนี้แปลงหนี้เป็นทุน
ซึ่งบริษัทที่ธนาคารเข้าไปถือหุ้นนั้นมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเกินสัดส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) กำหนดไว้ คือกำหนดให้ถือ หุ้นไม่เกิน 20% ของกองทุน ขณะนี้ธนาคารลงทุน ในบริษัทต่างประเทศ
26% ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่น่าที่จะมีปัญหา เนื่องจากธปท.ได้อนุญาตให้ถือหุ้นที่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ได้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
"ขณะนี้มูลค่าตลาดของบริษัทที่แบงก์ได้เข้าไปลงทุน เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เป็นผลจาก เศรษฐกิจเติบโตดี ภาวะตลาดหลักทรัพย์ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มูลค่าบริษัทที่จดทะเบียนใน
ตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย" คุณหญิงชฎา กล่าว
สำหรับบริษัทในเครือที่เป็นสถาบันการเงินจำนวน 2 แห่ง คือ บริษัทเงินทุน สินอุตสาหกรรม
ธนาคารถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนประมาณ 90% และบริษัทเงินทุนบุคคลัภย์ ถือหุ้นประมาณ
42% ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเพื่อหาทางออก โดยมี 3 ทางเลือกคือ ควบรวมกับธนาคาร
จัดตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย หรือควบรวมเพื่อยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์
ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสร็จทันภายใน 6 เดือนนี้แน่นอน ซึ่งจะเป็นทางออกที่เป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นมากที่สุด
ไทยพาณิชย์เตรียมจ่ายปันผลปีนี้
คุณหญิงชฎา กล่าวต่อว่า ในปี 2546 ที่ผ่าน มาธนาคารประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน
ทำให้มีกำไรสุทธิสูงถึง 12,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 199% ดังนั้น ธนาคารจึงมีแผนที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น
โดยจะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติภายในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นจะเสนอในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
เดือนเมษายนเพื่ออนุมัติต่อไป
"การจ่ายเงินปันผลครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรก ในรอบ 6 ปี ดังนั้นน่าจะมีการจ่ายในสัดส่วนที่สูง
จากเดิมที่เคยจ่ายเงินปันผลในระดับ 35-40% ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะพิจารณา
เพราะตามปกติของการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ จำเป็นที่จะต้องมีเงินกองทุนที่เข้มแข็ง
ควรที่จะนำกำไรเข้ามาเสริมเงินกองทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ ดังนั้น เชื่อว่าคณะกรรมการจะพิจารณาประเด็นนี้ด้วย"
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีกำไรสุทธิที่เพียงพอ ต่อการจ่ายเงินปันผล รวมทั้งเชื่อว่าความสามารถ
ในการสร้างกำไรของธนาคารน่าจะมีอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ เนื่องจากที่ผ่านมามีการปรับปรุงแก้ไของค์กร
รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ กับเงินกองทุนเพียงพอแล้ว และมีการตั้งเป้าที่จะเติบโตในทุกๆด้านไม่ต่ำกว่า
10% หรือใกล้เคียง กับอัตราการเติบโตของประเทศ