ฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ เป็นบริษัทข้ามชาติอีกแห่งที่เข้ามาลงทุน
ในไทย เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากธุรกิจวิทยุติดตามตัว ถึงแม้ว่า
บริษัทแม่ของฮัทชิสันจะมีธุรกิจหลากหลาย และได้ชื่อว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ
ของฮ่องกง
ยุทธศาสตร์การลงทุนในไทยของฮัทชิสัน ยังคงเส้นคงวาไม่หวือหวาเหมือนกับการเคลื่อนไหวของบริษัทแม่
มีเพียงธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ฮัทชิสันเพิ่งเข้าซื้อกิจการต่อจากตะวันโมบายเมื่อไม่นานมานี้
แม้กระทั่งการทบทวนการลงทุน (re-invest) ในธุรกิจวิทยุติดตามตัว ในการขยับขยายไปยัง
3 ธุรกิจ ซึ่งมีเป้าหมายที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของ new economy ที่มีความหลากหลายในเรื่องของธุรกิจอย่างมากก็ตาม
แต่ แนวคิดของฮัทชิสันยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก
ที่มาของการตัดสินใจเลือกลงทุนในธุรกิจใหม่ทั้ง 3 ประเภทของฮัทชิสัน เพื่อมาชดเชยรายได้ของธุรกิจเพจเจอร์มาจากแนวคิด
3 อย่าง
ข้อแรก - ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูล อินเทอร์เน็ตทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น
สิ่งที่ฮัทชิสันต้องทำ ก็คือ การใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ภายในองค์กร และในแง่ของการทำธุรกิจ ข้อสอง -
พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทำให้วงจรสินค้าสั้นลงมาก "เมื่อก่อนซอฟต์แวร์
1 ตัว อายุ 4-5 ปี แต่เวลานี้ไม่ถึงครึ่งปี" อาจกิจบอก "การลงทุนใน new economy
จึงต้องเลือกลงทุนในธุรกิจเฉพาะเจาะจง ในบางธุรกิจเท่านั้น
ข้อสาม - ต้องทำธุรกิจที่ตัวเองถนัดเท่านั้น ในลักษณะที่เป็นการลงทุนในแนวตั้ง
(vertical)
"การลงทุนขยายอาณาจักรธุรกิจเหมือนในอดีต 5-6 ปีที่แล้วไม่มีอีกต่อไปแล้ว"
ความหมายของอาจกิจ ไม่เพียงแต่ความจำเป็นที่ต้องมุ่งทำเฉพาะธุรกิจ ที่ตัวเองถนัดเท่านั้น
"อะไรที่ทำไม่ได้ ก็ไม่ควรทำ"
และนี่คือที่มาของ 3 ธุรกิจใหม่ ที่เกิดขึ้นจากรากฐานของแนวคิดเหล่านี้
ซึ่งแต่ละธุรกิจจะมีจุดเด่นและจุดด้อยต่างกัน ในขณะที่ธุรกิจ call center
ไม่สามารถทำรายได้มากนัก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็เติบโตไปเลย