บล.ไทยพาณิชย์ตั้งเป้าติด 1 ใน 5 โบรกเกอร์ชั้นนำของไทย ที่มีมาร์เกตแชร์หลักทรัพย์ทุก
ด้าน ภายใน 3 ปีข้างหน้า "ชโยทิต" มั่นใจปีนี้ บริษัทพร้อมลุยธุรกิจวาณิชธนกิจ
(Investment Banking-IB) เต็มสูบ หลังได้ดีลรัฐวิสาหกิจยักษ์อย่าง กฟผ.-เอกชนใหญ่อย่างเบียร์ช้าง
ที่มีมาร์เกตแคปรวมกันหลายแสนล้านบาท หลัง "ปัดกวาดบ้าน" ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เสริมทัพดีลเมกเกอร์
วาณิชธนกิจ-ทีมวิเคราะห์หลักทรัพย์แข็งแกร่งขึ้น พร้อมเตรียมดึงลูกค้าสถาบันต่างประเทศ
ขยายฐานลูกค้าอีกปีนี้ ยันพร้อมรบกับ บล.ใหญ่ทุกค่าย แล้ว ขณะที่ บลจ.ไทยพาณิชย์ตั้งเป้าท็อป
3 ปีนี้ ด้วยขนาดกองทุน 3 หมื่นล้านบาท
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร กรรม การผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ซึ่งถือหุ้น
100% โดยธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าบริษัทเขาใช้เวลากว่าปีที่ผ่านมา "ปัดกวาดบ้าน"
เพื่อเตรียมรับดีลธุรกิจวาณิชธนกิจที่บริษัทได้ดีลจากรัฐวิสาหกิจใหญ่ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) รวมถึงบริษัท เบียร์ไทย 1991 เจ้าของและผู้ผลิตเบียร์ช้าง ของเจ้าสัวเจริญ
สิริวัฒนภักดี ซึ่งดีลเหล่านี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (Market Capitalization)
หลายแสนล้านบาท
"เราคาดหวังอยู่แล้วว่าปีนี้จะเป็นปีที่ธุรกิจของเราจะ Busy (ยุ่ง) มาก
หลังจากที่เราได้ดีลช้าง ๆ หลายดีล ซึ่งเป็น mandate (สิ่งที่ต้องทำ) ที่เราได้รับจากแบงก์ไทยพาณิชย์
ต้องถือว่ากลุ่มไทยพาณิชย์ เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มีธุรกิจครบ ทั้ง 3 ขา คือธนาคารพาณิชย์
ที่เน้น ทำธุรกิจครบวงจร (Universal bank) บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน"
เขากล่าว
ขณะที่ปีที่แล้วส่วนแบ่งลูกค้าหลักทรัพย์ของบริษัท 3.5% ของนักลงทุนทั้งหมดในตลาดหุ้นไทย
เทียบกับเพียงประมาณ 2% ปี 2545 หลังจากปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นปีที่ประสบความสำเร็จของบริษัท
เหตุบริษัทเริ่มทำธุรกิจเชิงรุกจริงจังมากขึ้นๆได้เพียงปีเดียว รวมถึงการจัดองค์กรใหม่
ให้คล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น
ประกอบกับนักลงทุนแห่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย ด้วยดัชนีหุ้นไทยพุ่งทั้งปีถึงประมาณ
116% เป็นแรงจูงใจสำคัญทำให้นักลงทุนแห่ลงทุนหุ้นไทย รวมถึงผู้ฝากเงินที่ได้ดอกเบี้ยจาก
ธนาคารเฉลี่ยเพียงประมาณ 1% ต่อปี ทำให้สัดส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศของบริษัทเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 4-4.5%
เป้าท็อป 5 อีก 3 ปี
ส่งผลลำดับโบรกเกอร์ของบริษัทที่มีมูลค่าซื้อขายมาก พุ่งจากอันดับ 18 ก่อนหน้านี้
เป็นอันดับ 9 ปีที่แล้ว ทั้งที่บริษัทไม่มีการชดเชยค่าคอมมิชชั่นซื้อขายหลักทรัพย์ให้ลูกค้ารายใหญ่
เหมือนหลาย ๆ บริษัทหลักทรัพย์ที่ทำกันอยู่ โดย บริษัทตั้งเป้าเป็น 1 ใน 5 โบรกเกอร์ที่มูลค่าซื้อขายมากที่สุดภายใน
3 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ปีนี้บริษัทตั้งเป้าดึงลูกค้านักลง ทุนต่างประเทศ ทั้งจากเอเชีย สหรัฐอเมริกา
และยุโรป
ปี 2546 บล.ไทยพาณิชย์มีกำไรสุทธิจากผล ดำเนินงานประมาณ 700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ
220% จากปี 2545 ที่มีกำไร 218.80 ล้านบาท ปีนี้ บริษัทตั้งเป้าทำกำไร 1,000 ล้านบาท
"ปีนี้ เราพร้อมรบกับโบรกเกอร์ใหญ่ ๆ ทุกค่ายแล้ว" ม.ล.ชโยทิตกล่าว
ตั้งเป้าบริหารกองทุน 3 หมื่นล้านบาท
ม.ล.ชโยทิตกล่าวว่าปี 2546 กลุ่มบริษัทลูก ธนาคารไทยพาณิชย์จัดทัพ ปรับองค์กรใหม่
ส่งผลบล.ไทยพาณิชย์ดูแลบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์โดยตรง
ในอดีตบลจ.ไทยพาณิชย์มีกองทุนภายใต้การจัดการประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบัน
ขนาดกองทุนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2 หมื่นล้านบาทแล้ว ปีนี้ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มขนาดกองทุนเป็น
3 หมื่นล้านบาท และติด 3 อันดับแรก ในการบริหารจัดการกองทุน จากปัจจุบันอยู่อันดับ
5