"ประชัย" โวย "พละ สุขเวช" บิ๊กผู้บริหารแผน TPI เซ็นหนังสือแจ้งโรงกลั่นทีพีไอเดินเครื่องผลิตไม่เกิน
1.6 แสนบาร์เรลต่อวัน ทั้งๆที่ควร ผลิตได้ถึงวันละ 1.9-2 แสนบาร์เรล ชี้เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต
และมีวาระซ่อนเร้น เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลฯเพื่อคัดค้านแผนดังกล่าว
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
จำกัด (มหาชน) (TPI) เปิดเผยว่า ขณะนี้นายพละ สุขเวช ในฐานะผู้บริหารแผน ฟื้นฟูกิจการ
TPI ได้ลงนามในหนังสือกำหนดตัวเลขการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันทีพีไอในต้นปีนี้อยู่ที่
1.6 แสน บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่ากำลังการผลิตจริงที่สามารถเดินเครื่องได้ถึง
1.9-2 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งการ ปฏิบัติดังกล่าว ตนถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตใจ
เพราะในช่วงนี้ราคา น้ำมันได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นและขาดแคลน จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการเร่งเพิ่มกำลังการผลิต
เพราะโรงกลั่นทีพีไอมีค่า การกลั่นค่อนข้างสูง ดังนั้นบริษัทยิ่งผลิตมาก ก็จะมีกำไรเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งเป็นการช่วยเหลือในการตรึงราคาขายน้ำมันในประเทศด้วย
นายประชัย กล่าวต่อไปว่า ในฐานะเป็นผู้บริหารลูกหนี้ จึงเตรียมยื่นหนังสือคัดค้านการกระทำของผู้บริหาร
แผนฯทีพีไอครั้งนี้ต่อศาลล้มละลายกลางในเร็วๆนี้ เพื่อให้โรงกลั่นทีพีไอสามารถดำเนินการผลิตได้เต็มที่
ซึ่งจะสร้างผลกำไร ส่งผลดีต่อทั้งบริษัทฯและเจ้าหนี้ด้วย
"การกระทำของนายพละครั้งนี้ ถือว่ากระทำโดยไม่สุจริต มีวาระซ่อนเร้น เพราะถ้าทีพีไอกลั่นน้ำมันมาก
ก็จะได้กำไรมาก แต่การห้ามไม่ให้กลั่นเกิน 1.6 แสนบาร์เรล/วัน ถือเป็นการกระทำแบบทุจริต
เนื่องจากนายพละ เป็นกรรมการในปตท.และไทยออยล์ ซึ่ง ถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจทีพีไอ"
ส่วนกรณีที่ได้ยื่นหนังสือขอปรับแผนโครงสร้างทางการเงินทีพีไอต่อผู้บริหาร แผนฯนั้น
ขณะนี้ยังไม่ทราบคำตอบว่าผู้บริหารแผนฯจะยอมรับข้อเสนอนั้นหรือไม่ แต่สิ่งที่เสนอไปนั้น
ถือว่าเจ้าหนี้ ไม่เสียผลประโยชน์ เมื่อเทียบกับการลด พาร์เหลือหุ้นละ 10 สตางค์
และในฐานะ ผู้บริหารลูกหนี้ พร้อมที่จะซื้อหุ้นคืนบวก ดอกเบี้ย ตามข้อเสนอที่ได้ยื่นไปด้วย
หรือประมาณหุ้นละ 25 บาท จากที่เจ้าหนี้ แปลงหนี้เป็นทุนในราคาหุ้นละ 20 บาท
สำหรับข้อเสนอการปรับแผนโครงสร้างทางการเงินใหม่ฉบับนี้ มีประเด็นหลัก 6 ประเด็นคือ
ประเด็นแรก เสนอให้ลดหนี้ทีพีไอ จาก 2,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 500 ล้านดอล
ลาร์สหรัฐ โดยหนี้ที่ลดไป 2,140 ล้านดอลลาร์ จะนำไปรวมกับดอกเบี้ยระหว่างปี 2541-2543
จำนวน 752 ล้าน ดอลลาร์ รวมเป็นหนี้ทั้งสิ้น 2,892 ล้าน ดอลลาร์ ให้แปลงเป็นทุนในราคาหุ้นละ
20 บาท หรือเท่ากับ 5,845 ล้านหุ้น คิด เป็นสัดส่วน 75% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
ประเด็นที่ 2 เสนอจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้สกุลบาทในอัตรา 3.50% และอัตรา LIBOR+1
สำหรับเงินกู้สกุล ต่างประเทศ ประเด็นที่ 3 กำหนดชำระหนี้คืนภายใน 4 ปี ผ่อนชำระปีละ
125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า หากมีเงินเหลือมากขึ้น ซึ่งตามประมาณการอาจชำระคืนได้ภายใน
2 ปี
ประเด็นที่ 4 กำลังการผลิตน้ำมันโรงกลั่นเฉลี่ย 1.8 แสนบาร์เรลต่อ วัน หรืออาจเพิ่มได้อีก
3.5 หมื่นบาร์เรล ต่อวัน ประเด็นที่ 5 เสนอบังคับให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมทีพีไอซื้อหุ้นคืน
ภาย ในเวลา 4 ปี ในราคาหุ้นละ 20 บาท บวก ดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ ประเด็นที่ 6 ให้บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ
หรือไอเอฟซี หรือเจ้าหนี้รายอื่นสามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นหุ้นกู้แปลงสภาพ กำหนดเวลาชำระคืน
4 ปี อัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี หรือแปลงเป็นหุ้นสามัญในราคาหุ้นละ 50 บาท
ราคาหุ้น TPI (9 ม.ค.) ปิดตลาด 16.40 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท เปลี่ยน แปลง 10.07%
สาเหตุที่ราคาหุ้น TPIปรับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคาดว่าเจ้าหนี้จะยอมรับแผนการปรับโครงสร้างการเงินของนายประชัย
เลี่ยวไพรัตน์