"พาณิชย์" เผยตัวเลขเงินเฟ้อไทยปีแพะขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ คาดสรุปสิ้นปี46
โตถึง 1.8% ส่วนปีนี้ (47) ตั้งเป้าขยายเป็น 2.0-2.5% เหตุเศรษฐกิจไทยขยายตัวค่อนข้างมาก
นายการุณ กิตติสถาพร ปลัด กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป
หรือเงินเฟ้อ ในเดือนธ.ค.2546 ซึ่งสำรวจจากราคาสินค้าและบริการ 326 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม
เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งการสื่อสาร
การบันเทิง การอ่านและการศึกษา เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2546 เพิ่มขึ้น 0.1% เทียบเดือน
ธ.ค.2545 เพิ่มขึ้น 1.8% และอัตราเฉลี่ยทั้งปี 2546 เทียบกับปี 2545 เพิ่มขึ้น
1.8%
ทั้งนี้ การที่เงินเฟ้อในเดือนธ.ค. เพิ่มจากเดือนพ.ย.ในอัตรา 0.1% นั้น เป็นผลมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่นๆ
ที่มิใช่อาหาร และเครื่องดื่ม 0.3% ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มลดลง 0.4%
โดยในเดือนธ.ค.46 สินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ผักสด
เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักชี ผลไม้ เช่น ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก แตงโม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
เช่น เบียร์ สุรา เนื่องจากการแข่งขันมีสูง ส่วนสินค้า ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่
ข้าวสารเจ้าหอมมะลิ เครื่องประกอบอาหาร ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเชื้อ เพลิง
ก๊าซหุงต้ม ค่าบริการส่วนบุคคล เช่น ค่าแต่งผมชาย
"ถ้าพูดโดยสรุป เงินเฟ้อในเดือนธ.ค.ที่สูงขึ้น เป็นผลมาจากการ ปรับราคาน้ำมันในเดือนธ.ค.46
ถึง 2 ครั้ง และการปรับราคาก๊าซหุงต้ม กก.ละ 1 บาท เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.46 ที่ผ่านมา"
นายการุณกล่าว
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ธ.ค.2546 ซึ่งคำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 235
รายการ โดย หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและกลุ่มพลังงานจำนวน 91 รายการ เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2546
ไม่เปลี่ยนแปลง เทียบกับเดือน ธ.ค. 2545 ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนอัตราเฉลี่ยทั้งปี
2546 เทียบกับปี 2545 เพิ่มขึ้น 0.2%
นายการุณกล่าวว่า ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี 2546 ที่เพิ่มสูงขึ้น 1.8% นั้น เป็น ไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปี
โดยคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 1.5-2% พอมาเดือนต.ค.ยังคาดว่าจะอยู่ในระดับ 1.5-2% เช่นเดิม
แต่พอมาเดือนพ.ย.คาดใหม่ว่าจะอยู่ในระดับ 1.8% พอสิ้นเดือนธ.ค.ก็ออกมาที่ 1.8%
พอดี ซึ่งการที่เงินเฟ้อทั้งปีเพิ่มขึ้น 1.8% เป็นผลมา จากการสูงขึ้นของดัชนีสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม
3.6% และดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่รวม อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.7%
โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาสูงขึ้น ในปี 2546 ได้แก่ ข้าวสารเจ้าหอมมะลิ ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ
ผักและผลไม้ และน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าตรวจโรค ค่าทำฟัน ค่าโดยสารสาธารณะ
และการบันเทิง ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ ค่าเช่าบ้าน เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ
เบียร์ และสุรา
อย่างไรก็ตาม ในปี 2547 นี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับ 2.0-2.5%
โดยอยู่บนพื้นฐานว่าอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 40 บาทต่อดอลลาร์ น้ำมันดิบเฉลี่ย 28-30
เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยลิตรละ 16 บาท แต่ทั้งนี้ ในปี 2547
ยังมีปัจจัยที่จะผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งที่เห็นได้ ชัดคือการที่รัฐบาลคาดว่าผลิตภัณฑ์
มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัว 8% ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเกิน
2% รวมทั้งราคา สินค้าเกษตรที่จะเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัย ที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง
เช่น การที่ไทยได้มีการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศ คู่ค้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายลดลง