ธปท.เผย รายได้ภาคเกษตรหนุนให้ตัวเลขเศรษฐกิจเดือน พ.ย. ขยายตัวต่อเนื่องเช่นเดิม
ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง แต่ยังไม่น่าห่วง ส่วนดุลบริการเกินดุลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่
530 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,085 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในช่วงปี
2546
นางอัจนา ไวความดี ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายการเงิน ฝ่ายเศรษฐกิจภายในประเทศ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจของเดือนพฤศจิกายน 2546 ว่ายังมีการขยายตัวต่อเนื่อง
โดยรายได้ภาคการส่งออกและการบริโภคของภาคเอกชนยังคง เป็นแรงขับเคลื่อนในการขยายตัวที่สำคัญ
ซึ่งการส่งออกในสิ้นเดือน พ.ย.ได้ขยายตัวถึง 16% คาดว่าปีหน้าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้
สำหรับการอุปโภคในปี 47 น่าจะขยายตัวในอัตรา 4.5% ซึ่งแม้ว่าจะชะลอลงกว่าปีนี้
แต่ถือว่าเป็นการขยายตัวในระดับที่สูงต่อเนื่อง และลดลงเพียงเล็กน้อย ขณะที่การใช้กำลังการผลิตภายในประเทศ
ชะลอตัวลง โดยขยายตัว 67% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ที่ขยายตัว 69.3% เนื่องจากในเดือน
ต.ค. มีการปิดซ่อมโรงงานในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เหล็ก และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็ก
อย่างไรก็ตาม ในปลายปีนี้จะมีการนำข้าของสินค้าทุนเพิ่มขึ้นมาก ทำให้คาดได้ว่าการลงทุนในปีหน้าจะเอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี
ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้การลงทุนปีหน้าขยายตัวต่อเนื่องมีทั้งหมด 7 ประการ คือ อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น
กำลังซื้อภาคเอกชนในระบบมีความแข็งแกร่ง ผลประกอบการของบริษัทเอกชนปรับตัวดีขึ้น
อัตราดอกเบี้ยในระบบอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง การปล่อย สินเชื่อของภาคธนาคารพาณิชย์ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น
ความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของนักลงทุนปรับตัวดีขึ้น
ประการสุดท้ายคือ การลงทุนที่ยังคงอยู่ในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤต
โดยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 16% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งยังมีช่องที่จะขยาย
ตัวได้ เพราะอัตราที่เหมาะสมในการเติบโตระยะยาวน่าจะอยู่ประมาณ 25% ของจีดีพี สำหรับธุรกิจภาคการท่องเที่ยวในเดือน
พ.ย. มีรายได้กลับมาอยู่ในภาวะปกติ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง
จึงส่งผลให้ดุลบริการเกินดุลสูงขึ้นมาก โดยในเดือน พ.ย.อยู่ที่ระดับ 530 ล้านเหรียญสหรัฐ
และหากรวมกับดุลการค้าที่เกินดุล 557 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการส่งออกที่ขยายตัวสูง
ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,085 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนับว่าเป็นอัตราที่สูงสุดในช่วงปี
2546
ทั้งนี้ ในเดือน พ.ย. มีนักท่องเที่ยวเข้ามาสู่ประเทศไทยประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งคาดว่าการท่องเที่ยวในเดือน
ธ.ค.และปีหน้าจะมีแนวโน้ม ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีปัจจัยทางด้านลบ เช่น ปัญหาโรคซาร์สเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือน
ที่ผ่านมา ทำให้ปีหน้าแนวโน้มของการไหลเข้าของเงินต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับการใช้จ่ายในประเทศ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4% เมื่อเทียบ
กับระยะเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. กิจกรรมการใช้จ่ายโดยรวมชะลอลงเพราะในเดือน
ต.ค.มีปัจจัยพิเศษที่กระตุ้นการใช้จ่ายได้แก่ การจัดประชุมผู้นำเอเปก
นางอัจนา กล่าวต่อว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เพิ่มขึ้น 1.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน
โดยราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 4.5% ตามราคาไก่สดที่ภาวะการส่งออกอยู่ในเกณฑ์ดี
และราคาเครื่องประกอบอาหารตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่วนราคาในหมวดอื่นๆ ที่มิใช่อาหารเพิ่มขึ้น
0.4% ตามราคาน้ำมัน
ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวดีขึ้นอีกครั้ง รวมทั้งปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งก็ขยายตัวอยู่ในระดับสูง
ส่วน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 0.1% หลังจากอยู่ที่
0.0% ติดต่อกันมา 3 เดือน ซึ่งเป็นผลจากราคาอาหารบริโภคนอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหารที่เพิ่มขึ้น
ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ในเดือน พ.ย. เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงที่แคบตลอดเดือน
พ.ย. ซึ่งค่าบาทโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 39.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากเดือน
ก่อนหน้านี้ เนื่องจากมาตรการที่ ธปท.ออกมาเพื่อป้องกันการเก็งกำไร ทำให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มความระวังในการบริหารสภาพคล่องบาทมากขึ้น
สำหรับค่าเงินบาทระหว่าง 1-25 ธ.ค. เฉลี่ยอยู่ที่ 39.74 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากเดือนพ.ย.
เพราะผู้ส่งออกเริ่มทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น รวมทั้งนักลงทุนมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นด้วย