เปิดแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับรัฐบาลทักษิณ เหลือสถาบันการเงินเพียง 2 ประเภท คือ ธนาคารเต็มรูปแบบ กับธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ส่วนบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์จะสูญพันธุ์ ขณะที่สถาบันการเงินต่างชาติต้องครองสถานะเดียวระหว่างการเป็นธนาคารลูกครึ่ง ธนาคารที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศหรือจะเลือกเป็นสาขา เผยร่างใหม่รองรับนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลในอนาคต มองประชาชนเป็นศูนย์กลางแตกต่างจากแผนแม่บทรัฐบาลชุดก่อนที่ให้สถาบันการเงินเป็นศูนย์กลาง
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับใหม่ กำหนดให้
"สถาบันการเงินไทย" เหลือเพียง ธนาคารเต็มรูปแบบ (Full-service bank)
กับธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (Restricted bank) ส่วนบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิต
ฟองซิเอร์ รัฐบาลจะสนับสนุนให้ปรับฐานะเป็น ธนาคาร หากไม่ต้องการปรับเปลี่ยนฐานะหรือไม่ผ่านเกณฑ์
ต้องเสนอแผนเพื่อคืนใบอนุญาต
"สถาบันการเงินที่คุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ ได้รับใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ทั้ง
2 ประเภท หรือต้องคืนใบอนุญาต จะต้องปรับตัวเป็นเพียงบริษัทอำนวยสินเชื่อ (Credit
Company) ไม่สามารถรับเงินฝากแต่จะให้บริการ เฉพาะบางด้าน เช่น สินเชื่อ โดยไม่จำเป็นต้อง
รับใบอนุญาตและไม่ได้อยู่ในการกำกับของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)"
สำหรับ "สถาบันการเงินเฉพาะกิจ" เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
(ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน กระทรวงการคลังจะมอบหมายให้ขยายสาขาไปในท้องที่ที่ยังไม่มีสถาบันการเงินใดให้บริการ
โดยจะชดเชยส่วนต่างผลตอบแทนที่พึงได้รับตามกลไกตลาดปกติภายใต้กรอบการแยกบัญชีการดำเนินธุรกรรมตามนโยบายรัฐ
(Public Service Account : PSA)
ส่วน "ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ" รัฐบาลจะจำกัดให้เลือกระหว่างการเป็นธนาคารลูกครึ่ง
(Hybrid bank) ธนาคารที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary) หรือ เป็นสาขา
(Branch bank)
โดยรัฐบาลจะอนุญาตให้สาขาที่เปลี่ยน เป็นธนาคารที่เป็นบริษัทลูก เปิดสาขาเพิ่มขึ้น
ประมาณ 3-5 สาขา แต่เงินกองทุนขั้นต่ำจะสูงกว่าธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย เนื่องจาก
สามารถทำธุรกรรมได้มากกว่า ขณะเดียวกันยังคงกำหนดให้ปฏิบัติตามเกณฑ์ส่งเสริมสังคมและเศรษฐกิจเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ไทย
ส่วนสาขาที่ไม่ต้องการเปลี่ยนเป็นธนาคารที่เป็นบริษัทลูกยังคงรูปแบบเดิมได้เพียง
1 แห่ง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะขยายเพดานการถือหุ้นของต่างชาติในธนาคารพาณิชย์ไทยจาก 25%
เป็น 49% แต่กระทรวงการคลังจะอนุมัติเป็นรายกรณี ทั้งนี้ มีผลหลังพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน
พ.ศ....มีผลบังคับใช้เสียก่อน
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับใหม่ กระทรวงการคลังได้จัดทำเรียบร้อยแล้ว
อยู่ระหว่างการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื้อหาจะเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
ดังนั้น สถาบันการเงินที่ให้บริการในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมาก
ที่สำคัญเป็นไปตามกรอบนโยบายเศรษฐกิจของประเทศภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
จึงมีการกำหนดแผนดำเนินการชัดเจนและกระชับ (ดูตาราง "แผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทสถาบันการเงิน"
ประกอบ) เพื่อให้สถาบันการเงินในอนาคต มีส่วนในการผลักดันเศรษฐกิจชาติให้เร็วที่สุดแต่ยั่งยืน
เป็นไปตามที่พ.ต.ท.ทักษิณตั้งเป้าในการเป็นรัฐบาล 8- 20 ปี พ.ต.ท.ทักษิณเห็นความสำคัญของเงินทุนหรือบทบาทสถาบันการเงินในการเป็นกลไกในหลักที่ทำให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลประสบความสำเร็จ
"เป็นแผนพัฒนาฯที่กระทรวงการคลังปรับปรุงต้นฉบับ ธปท. ค่อนข้างมาก เนื่องจากธปท.
ยึดรูปแบบแผนแม่บททางการเงิน (Financial Master Plan) ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาซึ่งยึดสถาบันการเงินเป็นศูนย์กลาง
แต่รัฐบาลทักษิณต้องการให้ประชาชนหรือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากข้อมูลล่าสุดจากการสุ่มตัวอย่างของรัฐพบว่า
การเข้าถึงบริการการเงินของประชาชนด้านเงินกู้มีเพียง 42% มีอำเภอที่ไม่มีสถาบันการเงินเข้าไปให้บริการ
42 อำเภอทั่วประเทศ"
แหล่งข่าวธนาคารพาณิชย์กล่าวถึงแผนพัฒนา ระบบสถาบันการเงินว่า สาระสำคัญรัฐบาลมุ่งสร้างแหล่งเงินทุนให้กับชุมชน
เป็นประเด็นที่รัฐบาลมองเห็นถึงปัญหาของประชาชนที่อยู่ห่างไกลแหล่งเงินทุน ประกอบกับธปท.ได้ค้นพบว่าธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถเข้าถึงระดับรากหญ้าได้อย่างสมบูรณ์เท่าประชาชนในเขตเมืองหรือในเขตเศรษฐกิจ
"ธปท.เคยไปสัมภาษณ์สหกรณ์และชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการบริหารเงินภายใน
ปรากฏว่าชุมชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ธปท.เข้ามายุ่ง เพราะชาวบ้านมีหลักและรู้ว่าใครบริโภคอย่างไร
มีวิธีการตรวจสอบ ซึ่งรูปแบบนี้จะเป็นส่วนเติมเต็มให้กับคนในชุมชนจะเห็นได้ว่าสหกรณ์ไม่เคยล้มและทำอยู่ได้
เพราะบางองค์กรทางการเงินสามารถรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายจนมีเงินออมจากการให้บริการทางการเงินเกือบ
200 ล้านบาท อย่างเช่น กลุ่ม ของครูชบ ในเขตจังหวัดทางภาคใต้ แต่สิ่งที่ชุมชนเหล่านี้ต้องการคือ
การให้ธปท.เข้ามามีส่วนร่วมในการทำระบบบัญชี ระบบการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานขึ้น
ซึ่งอาจจะมีการตั้งศูนย์กลางเข้ามาดูแลเพื่อให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่เข้ามาควบคุมถ้าทำเช่นนั้นคงลำบาก"
แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวเห็นด้วยกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน การควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทยและจัดระเบียบสถาบันการเงินต่างชาติ
เพราะหากไม่ดำเนินการอะไรจะทำให้การสอดส่องธุรกรรมของสถาบันการเงินต่างชาติไม่ทั่วถึง
"ซึ่งทางเลือกที่อยู่ในแผน จะช่วยให้สถาบันการเงินต่างชาติสามารถตัดสินใจได้ว่าถึงเวลาหรือยังที่จะเข้ามาลงทุนอย่างจริงจัง
เหมือนกับการลงทุน ในธนาคารยูโอบีรัตนสิน (เดิมธนาคารรัตนสิน) หรือ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน(เดิมธนาคารนครธน)
เพราะทั้งสองธนาคารสถาบันการเงินต่างชาติได้ใส่ทุนเข้ามา ขณะที่สาขาของสถาบันการเงินต่างชาติที่ทำธุรกิจอยู่ในไทยขณะนี้
ส่วนของทุนแทบไม่มี แต่จะมีในส่วนของหนี้สินที่ธนาคารแม่เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้นั่นแสดงว่าสาขาเหล่านี้มีสถานะเป็นลูกหนี้"
แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตสาระสำคัญของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินว่า
จำเป็น ต้องแยกอำนาจธปท.ระหว่างการดำเนินนโยบายกับการกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน
ออกจากกัน และยังมีข้อบกพร่องที่รัฐบาลควรต้องทบทวนก่อนที่จะตัดสินใจนำมาใช้ โดยเฉพาะคำถามสำคัญได้แก่
1. ภาระที่รัฐบาลแบกรับจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่คาราคาซังนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี
2540 และสถาบัน
2. การควบรวมและส่งเสริมให้แยกจัดตั้งธนาคารเฉพาะจะทำให้รูปโฉมของสถาบันการเงินจะออกมาอย่างไรในอนาคต
พร้อมทั้งตลาดการเงินจะเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลอย่างไร
"แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินจะต้องตอบ คำถามเหล่านี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นเหมือนอดีต
มิเช่นนั้นแผนแม่บทอาจกลายเป็น "แผนชำเราระบบสถาบันการเงินแทน" แหล่งข่าวกล่าว
ขณะที่ภาพรวมของแผนฯ แหล่งข่าว สรุปว่า ยังเป็นลักษณะอนุรักษนิยมตามไม่ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วของตลาดการเงิน
เอื้อประโยชน์ ให้กับต่างชาติเข้ามาแข่งขันเสรีมากเกินไป รวมทั้ง การเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มเดิม