ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อบริษัทจากชินวัตรมาเป็นชินคอร์ปเมื่อหลายปีก่อน พร้อมๆ
กับการวางมือการบริหารของผู้ก่อตั้ง ทักษิณ ชินวัตร แท้ที่จริงความเป็นชิน
เพิ่งเริ่มต้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมานี่เอง
ชินคอร์ป ภายใต้การบริหารของมืออาชีพ ที่นำโดยบุญคลี ปลั่งศิริ เป็นเวลาประมาณ
5 ปีที่ผ่านมานั้น แท้ที่จริงเป็นเพียงบทบาทของการพัฒนาธุรกิจ ที่สร้างขึ้นโดยผู้ก่อตั้ง
ตามแนวทางธุรกิจสมัยใหม่ที่ต้องฟังเสียง Investor มากเป็นพิเศษ การจัดโครงสร้างธุรกิจ
การพัฒนาระบบงาน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร ล้วนดำเนินไปตามแนวทางของธุรกิจในโลกตะวันตก
ส่วนการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ตามแนวคิดของพวกเขาเอง มีการทดลองบางสิ่งบางอย่างบ้างในช่วงนั้น
ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเล็กๆ และหลายธุรกิจก็พิสูจน์แล้วว่ามีปัญหาเหมือนกัน
ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งที่สำคัญ และเป็นแรงกดดันของผู้นำชินยุคนี้มากก็คือ
ธุรกิจที่สร้างรากฐานโดยผู้ก่อตั้งนั้นเป็นธุรกิจที่อาจเรียกว่าเป็น "Breakthrough"ของสังคมธุรกิจไทยเลยทีเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผสมผสานระหว่างความคิดใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ว่าด้วยโอกาสใหม่ของธุรกิจยุคใหม่ เข้ากับระบบสัมปทานแบบเดิม ทำให้ธุรกิจหลักของชินวัตร
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสื่อสารไร้สายหรือดาวเทียม ได้กลายเป็นธุรกิจที่เข้มแข็งและเป็นสัญลักษณ์ของสังคมสมัยใหม่ของไทยได้อย่างรวดเร็ว
ชินคอร์ป ซึ่งมีเงินสดในมือมากพอจะลงทุนใหม่ๆ ในธุรกิจที่ดี ใช้เวลาเกือบๆ
5 ปีกว่าจะตัดสินใจใช้เงินก้อนนี้กับธุรกิจใหม่ที่พวกเขาคิดว่าดี ไม่ว่าจะเป็นสายการบินตั๋วราคาถูก
และ Consumer Finance ก็นับว่าเป็นกระบวนการตัดสินใจที่ค่อนข้างช้าพอสมควร
ยิ่งไปกว่านั้น การตัดสินใจตามแนวทางของมืออาชีพ ที่พยายามตอบสนอง Investor
โดยมุ่งไปมูลค่าหุ้นที่พวกเขาคิดนั้น มีความขัดแย้งกับบทบาท Investor คนสำคัญที่สุดไปบ้าง
อย่างช่วยไม่ได้
ความจริงที่ชินไม่อาจปฏิเสธหรือสลัดให้พ้นได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อบริษัทแล้วก็คือ
ผู้ถือหุ้นใหญ่จริงๆ ปัจจุบันมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้ก่อตั้ง ซึ่งที่แท้ก็คือ
Investor หลักของชินไม่ใช่สถาบันหรือ Investor ในโลกตะวันตกอย่างเดียวอย่างที่เข้าใจ
การพิเคราะห์ผลตอบแทนทางการลงทุนของผู้ถือหุ้นหรือ Investor ที่ใหญ่ที่สุด
ณ วันนี้มีระบบคิดและมาตรฐานที่แตกต่างจาก Investor ทั่วไปอย่างแน่นอน
แม้ว่าการทำงานของมืออาชีพของชินวันนี้จะตอบสนองทางบวกในเรื่องตอบแทนทางธุรกิจ
ทางบัญชี ซึ่งเป็นที่พอใจของ Investor ทั้งสองกลุ่มเหมือนกัน แต่ผู้ก่อตั้งในฐานะนักการเมืองจะเข้าใจหรือไม่ก็ตาม
จะต้องพิจารณาผลตอบแทนการลงทุนในมิติอื่นด้วย
โดยเฉพาะผลตอบแทนที่สะท้อนท่าทีสาธารณชนที่มองต่อผู้ก่อตั้ง ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
ยิ่งไปกว่านั้นภาพสะท้อนนี้ยังเชื่อมไประดับภูมิภาคด้วยฐานะผู้นำประเทศไทย
ที่มีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคนี้
ท่าทีทางบวกเป็นผลตอบแทนการลงทุนที่มีค่ายิ่ง
การเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์ของชินคอร์ปวันนี้ ยังเกาะกับภาพเก่าของผู้ก่อตั้ง
สร้างธุรกิจที่กำลังกลายเป็นธุรกิจ ที่พัฒนาเต็มรูปแบบมากขึ้น แข่งขันมากขึ้น
เกิดความโน้มเอียงว่าเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมการบริโภคเทคโนโลยีอย่างฟุ่มเฟือย
เกิดขึ้นในสังคม ที่สำคัญการบริโภคนั้นใช้เงินตราต่างประเทศ เกินความจำเป็นด้วย
นอกจากจะเป็นย้ำการสร้างเครือข่ายธุรกิจที่เกาะกันใหญ่เกินความเป็นในสังคมไทย
ภาพสะท้อนที่ว่านี้ มิได้สะท้อนความคิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องภาพของผู้ก่อตั้งในฐานะผู้นำระดับภูมิภาค
ที่มีความคิดใหม่ๆ ที่พยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสังคมไทยมากขึ้นในระดับภูมิภาคหรือโลก
ผู้บริหารมืออาชีพของชินคอร์ปวันนี้ คิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว