นับจากนี้ผู้ใช้เครื่อง PCT จะไม่ถูกจำกัดการใช้เฉพาะในไทย
แต่พวกเขาสามารถพกพาเครื่องไปใช้ที่ญี่ปุ่น ขณะที่ชาวญี่ปุ่นพกพา PHS มาใช้ในไทย
บริษัทเอเซีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่น (AWC) ในเครือเทเลคอมเอเซีย ผู้ให้บริการ
โทรศัพท์บ้าน PCT บรรลุข้อตกลงเปิดให้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ (International
Roaming) กับระบบ PHS ของบริษัท DDI POCKET บริษัทในเครือของ KDDI ญี่ปุ่น
ผู้ให้บริการทั้งสองจะใช้ประโยชน์จากการมีสถานีลูกข่ายแบบเดียวกัน ให้บริการแก่ลูกค้าทั้งสองค่ายใช้บริการได้ทั้งใน
กรุงเทพฯ และญี่ปุ่น มีผลตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไป
PCT ถือกำเนิดขึ้นในไทยในปี 2542 เป็น 1 ในบริการเสริมของโทรศัพท์พื้นฐานของ
TA ที่ทำให้ผู้ใช้พกพาไปใช้นอกสถานที่ แต่แล้วความนิยมโทรศัพท์มือถือที่มีความสะดวกมากกว่า
ส่งผลกระทบต่อ PCT ลดน้อยถอยลง จน TA ต้องปรับยุทธศาสตร์วางตำแหน่งใหม่ให้กับ
PCT มุ่งเน้นบริการรับส่งข้อมูลความเร็วสูง
ความเคลื่อนไหวของ PCT ในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นความพยายามที่จะใช้ประโยชน์
จากพันธมิตรในแดนปลาดิบอย่าง DDI POCKET ซึ่งเป็นต้นตำรับเทคโนโลยี PHS มาช่วยให้
PCT ขยับขยายไปสู่การให้บริการ ข้อมูลความเร็วสูง โดยอาศัยฐานลูกค้าชาวญี่ปุ่นของ
DDI POCKET มาเป็นลูกค้าบุกเบิกตลาดเป็นกลุ่มแรก
ภายใต้ข้อตกลงที่ทำร่วมกัน ลูกค้าที่ใช้บริการ PCT สามารถนำเครื่องไปใช้ที่ญี่ปุ่น
เช่นเดียวกับลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่ใช้บริการ PHS ของ DDI POCKET เมื่อเดินทางมาไทย
สามารถใช้ PCT โทรเข้า-ออก
สิ่งพิเศษกว่านั้น เครือข่ายของ PCT และ DDI POCKET ที่การทำงานถึงกันและเครื่องลูกข่ายที่รองรับกับการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ส่งผลให้ผู้ใช้ DDI POCKET เมื่อนำเครื่องมาใช้ในไทยสามารถเข้าถึงข้อมูล
รับ-ส่งอีเมล เรียกดูข้อมูลเป็นภาษาญี่ปุ่น เช่นเดียวกับที่ใช้งานที่ญี่ปุ่น
มีข้อแม้ว่าจะต้องใช้กับเครื่องลูกข่ายรุ่นใหม่ที่รองรับความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล
เข้าไปอินเทอร์เน็ต เริ่มจากเครื่อง JRC รุ่น J3002V เครื่องรุ่นแรกที่สามารถใช้บริการได้
ทันที
งานนี้ AWC หวังการร่วมมือกับ DDI POCKET เท่ากับยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว
สามารถใช้ฐานผู้ใช้ของ DDI POCKET ซึ่งผ่านการเรียนรู้การใช้งานมาเป็นอย่างดีมาเป็นฐานลูกค้ากลุ่มแรกในการขยาย
เข้าสู่บริการรับ-ส่งข้อมูล
เมื่อสามารถเพิ่มลูกค้าในส่วนนี้ได้มากขึ้น ผลที่ตามมาย่อมหมายถึงรายได้ต่อเลขหมายที่มากขึ้น
จากเดิมที่เหลือ 290-300 บาทต่อเลขหมาย
ตัวเลขชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในไทย 2-3 แสนคน และบริษัทญี่ปุ่นที่จดทะเบียนในไทย
6,600 แห่ง คือฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่อติรุฒน์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัทเอเซีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เชื่อว่าน่าจะมาใช้ไม่ต่ำกว่า
1%
นอกจากญี่ปุ่นแล้ว จีนเป็นอีกตลาดซึ่งมีผู้ใช้ระบบ PAS (Personal Wireless
Access System) ซึ่งเป็นระบบเดียวกับ PHS และ PCT สูงถึง 30 ล้านเลขหมาย
จะเป็นตลาดเป้าหมายการร่วมเปิดให้บริการ International Roaming ในอนาคต
นี่ก็คือเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศของผู้ให้บริการโทรคมนาคมของไทย
ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นนับจากนี้