ตลอดการสัมภาษณ์พิเศษ 2 ครั้ง ระหว่าง "ผู้จัดการ" กับศุภชัย
เจียรวนนท์ จากการติดตามอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงกระบวนการทางความคิดและแรงผลักดันของการขับเคลื่อนองค์กร
ไปสู่มิติเป้าหมายใหม่ของธุรกิจที่ไม่ใช่แค่การขายคู่สายโทรศัพท์อีกต่อไป
นัดหมายในเดือนตุลาคม 2545 มีขึ้นที่ห้องสมุด บนชั้น 31 อาคารเทเลคอมทาวเวอร์
ที่มีไว้รองรับผู้บริหาร ย่อมไม่ใช่ "ผู้จัดการ" เท่านั้นแต่ผู้บริหารของทีเอและ
แขกรับเชิญ ก็ใช้ห้องนี้รับประทานอาหารในแบบ Exclusive lunch นี้มาบ้างแล้ว
นอกจากนิตยสารจากไทย และต่างประเทศ นับ 100 ฉบับ ที่อยู่บนแผงบริเวณมุมสุดของห้อง
บริเวณพื้นมุมห้องทั้ง 2 ด้านของฝั่งกระจกที่หันออกนอกตึก มีช้างหยกสีเขียวชูงวงขนาดจิ๋ววางประดับอยู่ ได้รับคำอธิบายจากศุภชัยว่า
"ช้างหยก ดูดซับพลังงานเข้ามาในตึก ในไทยช้างจัดเป็นสัตว์สิริมงคล ถ้าเป็นจีนอาจเป็นสิงโตหรือกิเลน
เป็นสัญลักษณ์ที่ดี การชูงวงก็เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ที่จะดูดเอาพลังงานที่ดีเข้ามา"
บทสนทนาในวันนั้นจึงเริ่มกันที่ศาสตร์แห่งฮวงจุ้ย เป็นอิทธิพลความเชื่อ
ในฝั่งของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะกับธนินท์ เจีวรวนนท์ ผู้เป็นบิดา ที่ศุภชัยได้นำมาใช้ในบริษัทที่ได้ชื่อว่าล้ำสมัยที่สุด
"ฮวงจุ้ยเป็นศาสตร์ของพลังงานที่ดึงมาใช้ได้ มีศาสตร์ที่ว่า เอาธาตุอะไรมาวางให้ระบบพลังงานสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น"
ที่มาของโลโกทีเอ ที่ใช้ทุกวันนี้ก็ถูกเปลี่ยนจากสีน้ำเงินและแดง มาใช้สีน้ำตาลและทอง
ตามคำแนะนำของ "ซินแส" เมื่อครั้งที่ต้องเจรจาการประนอมหนี้ 83,000 ล้านบาท
"เวลานั้นเราก็เอาหมดทั้ง technical และ spirit พอดีมีคนมาทักว่าโลโกเดิมที่ใช้มาตั้งแต่แรกไม่ดี
สีน้ำเงินเป็นน้ำ แดงเป็นไฟ กลายเป็นฟ้าน้ำไปดับไฟ ส่วนสีน้ำตาลเป็นตัวแทนของดิน
มีสีทองด้านบน ความหมายคือ ดินจะเกื้อกูลทอง"
การนำความเชื่อในแบบตะวันออกเชื่อมโยงเข้ากับระบบบริหารจัดการของฟากตะวันตก
ที่นอกจากสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน ยังเป็นความลงตัวระหว่างทีเอและออเร้นจ์ พันธมิตรจากฝั่งอังกฤษที่มีความเชื่อไม่แตกต่างกันนัก
หลังบทสนทนาเริ่มขึ้นได้ไม่นาน พนักงานบริกรของทีเอที่ถูกฝึกมาอย่างดี
นำจานผัดไทยที่สั่งมาจากร้านอาหารในอาคารฟอร์จูน ตรงกันข้ามกับตึกเทเลคอมเอเซีย
ซึ่งเป็นของเครือ ซี.พี. มาเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารให้กับผู้ร่วมสนทนาทุกคนเป็น
CEO Lunch ดำเนินไปพร้อมๆ กับบทสนทนาที่เข้าสู่เรื่องราวของธุรกิจ
ช่วงเวลานั้น ศุภชัยดำรงตำแหน่ง CEO ในทีเอ ออเร้นจ์ มาจนเกือบครบ 1 ปี
และกำลังจะเริ่มกลับมาให้น้ำหนักกับการทำงานในทีเอ เพราะได้อภิรักษ์ โกษะโยธิน
มาเป็น CEO คนใหม่ในทีเอ ออเร้นจ์
แม้ว่าระหว่างนั้นภาพของการสร้างแบรนด์ True จะยังไม่แจ่มชัดมากนักก็ตาม
แต่ประสบการณ์ที่ได้รับจากการสร้างแบรนด์ที่ทำอย่างเห็นผลจากออเร้นจ์มีอิทธิพลต่อความคิดในการสร้างแบรนด์ให้กับโทรศัพท์พื้นฐาน
อยู่ในห้วงคิดคำนึงของศุภชัยมาโดยตลอด และได้เริ่มลงมือกันไปแล้วภายในทีมงานเล็กๆ
"ต่อไปการสร้างแบรนด์จะเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะต่อไปคนไม่ได้เลือกใช้โทรศัพท์พื้นฐาน
ต่อไปคนจะใช้บริการเนื้อหา และบริการ การสร้างแบรนด์จะเป็นเรื่องที่จำเป็น"
19 กันยายน 2546 Exclusive interview ครั้งนี้มีขึ้นที่ห้องประชุมบนสำนักงานทีเอ
ออเร้นจ์ อาคารอื้อจือเหลียง ริมถนนพระราม 4 เป็นช่วงที่แนวคิดของเขาได้ถูกทำเป็นรูปธรรมไปมากแล้ว
เป็นช่วงเวลาของการนัดหมายก่อน หน้าที่ศุภชัยประกาศปรับโครงสร้างด้วยการกลับมานั่งเป็น Co-CEO คู่กับอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในทีเอ ออเร้นจ์ ไม่ถึงเดือน
(ประกาศโครงสร้างใหม่ 6 ตุลาคม 2546)
วันนั้นศุภชัยมาพร้อมกับอภิรักษ์
เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ประกาศนโยบายรวมศูนย์ซื้อสื่อโฆษณา
บทสนทนากับเขาในครั้งนั้นจึงเป็นเรื่องราวการขยายบทบาทเข้าไปดูแลโดยเริ่มจากกลุ่มทีเอ
และทีเอ ออเร้นจ์ ก่อนจะขยายผลใช้กับทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์
"แน่นอนว่า ถ้าท่านประธาน (ธนินท์) ไม่เห็นชอบด้วยแล้ว โอกาสคงเปิดยากมาก
ท่านเป็นคนที่มองทั้งภาพกว้างในเวลาเดียวกัน" เขาพูดถึงที่มา
บทสนทนาของเขาในวันนั้นยังได้สะท้อนภาพความร่วมมือระหว่างทีเอ และทีเอ
ออเร้นจ์ ที่เริ่มจากระดับปฏิบัติ เช่น call center ระบบ billing ที่เลือกใช้เทคโนโลยีเดียวกัน
เพื่อเกื้อกูลต่อการร่วมมือกันในอนาคต และภาพเหล่านี้แจ่มชัดมากขึ้นเรื่อยๆ
จากการกลับมานั่งเป็น Co-CEO ในทีเอ ออเร้นจ์
"ในด้านการขาย เราได้มีการทดลองไปแล้ว ต่อไปใน shop เราจะสามารถ co-brand
ร่วมกันได้ orange shop จะมีบริการของทีเอเข้าไปขาย ส่วน TA shop จะมีออเร้นจ์"
ผลจากการสร้างระบบเกื้อกูลระหว่างทีเอ และออเร้นจ์ ยังขยายผลไปยังเครือเจริญโภคภัณฑ์
เท่ากับเป็นการเพิ่มบทบาทของเขาที่มีต่อเครือเจริญโภคภัณฑ์กว้างขึ้น
"ผมว่าทั้งเครือ ซี.พี. เรามี Outlet มากที่สุดในไทยแล้ว ทั้ง 7-11 TA
Orange มันเป็นช่องทางที่ใหญ่มาก"
บุคลิกที่อ่อนน้อมถ่อมตนของศุภชัย ไม่แตกต่างไปจากผู้เป็นบิดา ซึ่งเข้าใจดีเกี่ยวกับอิทธิพลของสื่อมวลชน
หากแต่ประสบการณ์ในธุรกิจที่มี model ต่างกัน ทำให้มุมมองที่เห็นถึงความจำเป็นบางอย่างต่างไป
โดยเฉพาะบทบาทในการสร้างแบรนด์
ศุภชัยยอมรับบทบาทของผู้เป็นพ่อว่า เป็นเสมือนตัวแทนของแบรนด์ ซี.พี.ที่สามารถสร้างความเชื่อถือ
แต่ก็เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต หากแต่ Consumer Product ต้องคิดมากไปกว่านั้น
ไม่สามารถใช้ตัวแทนที่เป็นบุคคล แต่ต้องสร้างแบรนด์ของสินค้าหรือบริการด้วยตัวเอง
และนั่นก็คือ ภารกิจที่ศุภชัยต้องทำให้ทุกคนมองเห็นความจำเป็นเหล่านี้
และทำให้บทสนทนาในวันนั้น ไม่ได้ขยายความถึงที่มาที่ไป Brand True มากไปกว่า
การขอเวลาในการทำไปอีกระยะหนึ่ง