หากเปรียบเทียบระหว่างฟิทช์ เรทติ้งส์ กับไทยเรตติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส
หรือทริส ดูเหมือนว่าฝ่ายแรกจะดำเนินงานด้วยการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุกอย่างมาก
เห็นได้จากจำนวนนักวิเคราะห์มีทั้งสิ้น 4 คนเท่านั้น ซึ่งเพียงพอแล้วสำหรับการเข้าถึงตลาด
อรวรรณ การุณกรสกุล จบปริญญาตรีคณะบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอ็มบีเอด้านไฟแนนซ์
มหาวิทยาลัย Santa Clara เข้าทำงานกับสถาบันการเงินมอร์แกน เกรนเฟล ในปี
1993 ถัดมาอีกปีย้ายไปอยู่เมอริล ลินช์ เป็นเวลา 6 ปี เธอเข้ามาดูแลงานในฟิทช์
เรทติ้งส์ ด้านภาคอุตสาหกรรม
ภิมลภา สิมะโรจน์ ปริญญาตรีคณะสถิต จุฬาฯ และ เอ็มบีเอ ด้านไฟแนนซ์ที่มหาวิทยาลัย
Eastern Michigan ในปี 1995-1999 เธอทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ จากนั้นย้ายไปเชส
จาร์ดีน เฟลมมิ่ง และมาอยู่ที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ รับผิดชอบในภาคอุตสาหกรรม
วสันต์ ผลเจริญ จบการศึกษาด้านไฟแนนซ์ที่ธรรมศาสตร์ และเอ็มบีเอด้านไฟแนนซ์ที่ศศินทร์แห่งจุฬาฯ
เคยทำงานที่เมอริล ลินช์ ในปี 1996-1998 จากนั้นไปทำงานที่กสิกรไทยอีก 1
ปี และมาที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ดูแลงานวิเคราะห์ในภาคอุตสาหกรรม
ดุษฎี ศรีชีวะชาติ จบปริญญาตรีที่จุฬาฯ แล้วไปต่อปริญญาโท ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
และด้านไฟแนนซ์ในมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ กลับมาทำงานใน บง.โกลบอลไทย เมื่อปี
1998 ปีถัดมาไปทำงานที่บล.แอสเซท พลัส และเข้ามาในฟิทช์ เรทติ้งส์ รับผิดชอบงานด้านสถาบันการเงิน
วินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการฟิทช์ เรทติ้งส์ เล่าว่า ทีมงานชุดนี้มีความรู้อยู่แล้วไม่ต้องฝึกฝนอะไรมากมาย
นอกจากการให้เดินทางไปเรียนรู้การทำงานร่วมกับสำนักงานทั้งในฮ่องกงและลอนดอนเป็นระยะเวลาสั้นๆ
ก็เพียงพอแล้ว
"ผมดีใจที่ได้ร่วมงานกับทีมชุดนี้ เราเข้าขากันได้ดีมาก"
ก่อนที่มิลตันจะได้นักวิเคราะห์ทั้ง 4 คนนี้ เขาต้องหาผู้ที่ประสบการณ์ผ่าน
Agency จากนั้นทำการคัดเลือกและสัมภาษณ์นักวิเคราะห์ถึง 40 คน "คิดว่านิสัยเราใกล้เคียงกัน"
นอกจากนี้ ทั้งมิลตันและทีมงานถือได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ "นี่คือสิ่งที่เราต้องการ"
มิลตันชี้ "ซึ่งจะต้องเป็นคนกล้าแสดงความคิดเห็นและรู้ภาษาไทย"
ถึงแม้ว่าทีมงานของมิลตันเป็นคนไทยแต่ที่เขาต้องย้ำว่าภาษาไทยต้องแน่น
เนื่องจากภาระหน้าที่ของพวกเขา คือ การให้บริการและต้องใช้คำถามต่อลูกค้าให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาภายหลัง
"เราเข้มงวดมากในเรื่องนี้"
มิลตันบอกว่า นักวิเคราะห์จะต้องรู้จักคำว่า "subtle" เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการเขียนอย่างมาก
การที่จะทำงานประสบความสำเร็จไม่ได้วัดขนาดองค์กรหรือทีมงานเพียงอย่างเดียว
และไม่ใช่สูตรสำเร็จว่าบริษัทข้ามชาติจะชนะเสมอไป แต่ยังขึ้นอยู่กับว่าบริษัทผู้ออกตราสารมีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่ดีและ
มีระบบบัญชีที่มีคุณภาพหรือไม่
นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือให้กับบรรดานักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
เพราะนอกจากนักลงทุนต่างประเทศ ชอบที่จะลงทุนกับบริษัทที่ได้รับความเชื่อถือโดยเฉพาะได้รับการจัดอันดับ
จากสถาบันที่เชี่ยวชาญและมีความเป็นกลางแล้ว ในอนาคตการระดมทุนโดยตรงจากนักลงทุนในรูปของตราสารก็จะมีมากขึ้น
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจึงต้องเป็นที่ยอมรับของตลาดตราสาร นั่นหมายความว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
จะต้องควบคู่ไปกับการรักษาความเป็นกลาง ความตรงไปตรงมา และความละเอียดถี่ถ้วนในการปฏิบัติงานด้วย