นายกรัฐมนตรียืนยันแผนการลดจำนวนธนาคารพาณิชย์ไทยโดยการควบรวมให้เหลือ 3-4 แห่ง
"สุชาติ" เผยมีทั้งควบรวมธนาคารเอกชนกับเอกชน และธนาคารรัฐกับเอกชน ด้านเลขาฯสมาคมธนาคารไทยแนะให้ดูแลลูกค้ารายย่อย หวั่นเกิดการผูกขาด
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าของแผนแม่บทพัฒนาระบบการเงิน
(Financial Master Plan) ว่า ยังไม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในวันนี้ (23
ธ.ค.) เนื่องจากการเสนอแผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงินจะต้องมีการชี้แจงต่อที่ประชุมค่อนข้างมากโดยเฉพาะจำนวนธนาคารในอนาคต
กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมและพิจารณารายละเอียดก่อน คาดว่าจะนำเข้าครม.
ในวันที่ 30 ธันวาคม 2546
"จากการหารือเรื่องแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของไทยร่วมกับพ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (22 ธ.ค.) นายกรัฐมนตรีเห็นว่าประเทศไทยไม่ควรมีธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก
ควรมี ธนาคารพาณิชย์เพียง 3-4 แห่งเท่านั้น หลักการ ก็คือธนาคารที่มีอยู่จะต้องแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ต่างชาติได้
แต่ก็ต้องให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง"
ร.อ.สุชาติกล่าวว่า แนวคิดของแผนแม่บท พัฒนาระบบการเงินฉบับใหม่ที่จะเข้าครม.จะช่วย
สร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบสถาบันการเงิน ซึ่งหลังจากแผนแม่บทฯมีผลบังคับใช้คงจะได้เห็นการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ขึ้น
โดยการควบรวมไม่จำกัดแค่เพียงธนาคารพาณิชย์ของเอกชนเท่านั้น รัฐบาลเองก็มีแนวคิดส่งเสริมให้มีการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารพาณิชย์ของรัฐและธนาคารพาณิชย์เอกชนด้วย
อย่างไรก็ตามรายละเอียดยังไม่สามารถที่จะตอบได้ในขณะนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยเรื่องสำคัญที่จะเสนอเข้าครม.วันนี้มี 2
เรื่อง คือ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และการขยายเวลามาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ออกไปอีก
1 ปี จากเดิมกำหนดที่จะสิ้นสุดในสิ้นเดือนธันวาคมปีนี้ เป็นเดือนธันวาคม 2547 เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ภาคเอกชนเร่งดำเนินการ
ปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2547
นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยทิศทางธนาคารพาณิชย์ไทยในอนาคตว่า
แนวโน้มจะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อสามารถแข่งขัน จึงมีแรงกดดันจากทางการให้มีการควบรวมกิจการเพื่อให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง
แต่ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปคือต้องระวังไม่ให้มีการผูกขาด เพราะลูกค้าอาจไม่มีทางเลือกโดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย
ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้ธนาคารเหลือจำนวนน้อยจึงต้องใช้เวลา คงไม่สามารถทำได้ในปีเดียว
"ต้นทุนลูกค้ารายย่อยสูงกว่ารายใหญ่ หากแบงก์มีขนาดใหญ่ขึ้นผมไม่แน่ใจว่าใครจะดูแลรายย่อย
ในต่างประเทศที่ระบบธนาคาร มีมาตรฐาน ทางการจะมีธนาคารเฉพาะด้าน สามารถให้บริการในชุมชน
เช่น ธนาคารเคหะหรือปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่เมืองไทยตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน"
นายธวัชชัยกล่าว
นายธวัชชัยกล่าวว่า จำนวนธนาคารในประเทศจะมีกี่แห่งเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของเศรษฐกิจหรือจีดีพี
เป็นการบ้านที่ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องต้องมาหารือเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำที่สุด
นายสุธา ชันแสง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวทางในการ
ควบรวมสถาบันการเงินนั้น ถือว่าเป็นช่องทางของการปรับตัว เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การแข่งขันในอนาคต
โดยในวันนี้เศรษฐกิจของประเทศเป็นช่วงขาขึ้น ดังนั้นประชาชนจะเข้าใจว่าการรวมกันไม่ได้เป็นการรวมกันเพราะหนีปัญหาแต่เพื่อเป็นการปรับตัวให้ทันกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
และเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต ซึ่งธนาคารขนาดเล็กจะต้องหาพันธมิตรทางการเงินมาร่วมทุน
"การร่วมเป็นพันธมิตรกัน ถือว่าเป็น การดีที่จะทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้
ซึ่งในเรื่องนี้น่าจะอยู่ในการเจรจาของธนาคารนั้นๆ มากกว่า ซึ่งหากจะควบ รวมกันจริงทางแบงก์จะรายงานเรื่องให้แบงก์ชาติ
หลังจากนั้นแบงก์ชาติจะรายงานกระทรวงการคลังได้รับทราบต่อไป" นายสุธา กล่าว
รายงานแจ้งเพิ่มเติมว่า วานนี้ (22 ธ.ค.) เวลาประมาณ 15.00 น. นายชูชาติ แมนเมธี
ประธานคณะกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารดีบีเอสไทยทนุ ได้เดินทางมายังกระทรวงการคลังเพื่อยื่นหนังสือถึง
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอทราบความคืบหน้าในการควบรวมกิจการของธนาคาร
ดีบีเอส ไทยทนุ โดยจะขอเข้าพบรัฐมนตรีคลังในวันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม เพื่อขอรับทราบความ
ชัดเจนในการควบรวม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความมั่นคงในการทำงาน และผลกระทบต่อการ
จ้างงานที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานในอนาคต