Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2540
บาร์ตัน บิ๊กส์ ต้นตำรับการลงทุนแบบทวนกระแส             
 


   
search resources

บาร์ตัน เอ็ม.บิกส์
Investment




บาร์ตัน บิ๊กส์ (Barton Biggs) Director ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนระดับโลก (Global Stategy) และประธานบริษัท Morgan Stanley Asset Management (MSAM) บริษัทบริหารกองทุนชั้นนำของอเมริกา ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1975 ปัจจุบันมีเงินทุนอยู่ภายใต้การบริหารประมาณ 57 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.42 ล้านล้านบาท และเมื่อปีที่ผ่านมานี้เองเขาก็ได้รับการยกย่องให้เป็น Top Global Strategist จากโพลล์ของนิตยสาร Institutional Investor

"สำหรับกลยุทธ์ระดับโลกของเรา เมื่อเรามองไปยังตลาดโลก สไตล์ของเราจะมุ่งไปที่ตลาดขาลงมากกว่าตลาดขาขึ้น และเราก็จะพิจารณาขายและลด Position ในตลาดขาขึ้นลงด้วย นั่นคือธรรมชาติแนวทางการลงทุนของเรา" บิ๊กส์เกริ่นนำด้วยกลยุทธ์การลงทุนที่กลายมาเป็นสไตล์เฉพาะตัวของเขา เมื่อครั้งได้รับเชิญจากบล.เอกธำรง มาแสดงวิสัยทัศน์กลยุทธ์การลงทุนแก่นักลงทุนไทย

ด้วยวิธีคิดดังกล่าว ตลาดเอเชีย โดยเฉพาะไทย เกาหลี และดินเดีย ยกเว้น ฮ่องกง และอินโดนีเซีย จึงเป็นที่ต้องตาเขาเป็นอย่างมาก โดยเขาให้เหตุผลว่า นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 1993 ที่ตลาดขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่ก็ได้มีการปรับฐานลงมา ยกเว้นฮ่องกงและอินโดนีเซียที่สวนทางกับตลาดอื่นๆ ในเอเซีย ซึ่งเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดัชนี SET ของไทยได้ร่วงลงทำสถิติใหม่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยดิ่งลงไปอยู่ที่ระดับประมาณ 780 จุด และเมื่อดู Performance ตลอดปี 1996 ปรากฏว่าดัชนีปรับตัวลดลงมากกว่า 30% ทีเดียว

"นี่เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับนักลงทุนที่ชอบทวนกระแส (Contrarian Investor) แม้ว่ายังมีผู้จัดการกองทุนต่างประเทศจำนวนมากถอนตัวไม่ขึ้นจากภาวะตลาดหมีนี้ก็ตาม เพราะไม่ว่าข่าวร้ายทั้งหลายจะถูกขานรับหรือไม่ หรือจะมีอะไรที่เลวร้ายไปกว่านี้หรือไม่สถานการณ์น่าจะดีขึ้น และเราจะไม่รอให้ข่าวดีเข้ามา"

แม้บิ๊กส์จะชอบลงทุนตลาดหมี แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้ทำให้เขาเริ่มลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น จะเห็นได้ว่าในปีนี้พอร์ตการลงทุนของ MSAM ได้เน้นเงินสดมากเป็นพิเศษขณะที่ลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นทั่วโลกลงอย่างมโหฬารถึง 18% จาก 74% เหลือเพียง 56% และเพิ่มการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นเพียงเล็กน้อยประมาณ 3% เป็น 18% เท่านั้น

"การลด Exposure เป็นการสะท้อนความจริงว่า เรากำลังเพิ่มความระมัดระวังตลาดหมีทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ซึ่งทำเราผิดหวังมากเพราะเงินทุนที่ทะลักเข้าไปในสหรัฐฯ ได้สร้างวิกฤติสภาพคล่องในตลาดทั่วโลก"

จากการประมาณผลตอบแทนรวมที่จะได้รับในช่วงปี 1996-98 บิ๊กส์ ประเมินว่าสินทรัพย์แต่ละประเภทยังคงมีความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนและไร้สภาพคล่อง (volatility and illiquidity) ซึ่งหากยิ่งลงทุนมากเท่าไหร่ความเสี่ยงก็จะมากขึ้นไปเท่านั้นทั้งนี้เป็นผลมาจากกระแสเงินที่ไหลบ่าเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ จนทำให้ตลาดอื่นๆ ในโลกเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตลอดศตวรรษนี้ บิ๊กส์วิเคราะห์ว่าภาวะกระทิงได้เกิดขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ถึง 3 ช่วงด้วยกัน เริ่มต้นจากช่วงปี 1920 ต่อมาในช่วงปี 1950-60 และในปี 1982 และจากการวิเคราะห์ดัชนี้ S&P 500 ในช่วง 1991-95 พบว่าตลาดให้ผลตอบแทนที่แท้จริงหลังปรับเงินเฟ้อแล้วตกปีละ 14% ซึ่งหมายความว่า ทุกๆ 5 ปี กำลังการซื้อที่แท้จริงของพอร์ตลงทุนหุ้นจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า และ 10 เท่าในทุก 3 ปี

นอกจากนี้จะเห็นว่าอัตราส่วนการขายหุ้นเมื่อเทียบระหว่างราคากับมูลค่าตามบัญชี (Price to Book Value) สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับผลตอบแทนต่อกำไรต่อหุ้น (ROE) ก็สูงที่สุดเช่นกัน

"กำไรของดัชนี S&P ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมามากกว่า 20% ต่อปี เมื่อเทียบกับจีดีพี ของสหรัฐฯ ที่ไม่ใช่ตัวเลขแท้จริง 5% ซึ่งเป็นการพัฒนาไปเร็วกว่าระบบเศรษฐกิจถึง 4 เท่าตัว หากมองในแง่ของ yield แล้วจะเห็นว่ามีการเทขายกันต่ำกว่า yield มากที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน คือมีการขายที่ P/E สูงที่สุด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีมูลค่าที่สูงมากๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีข่าวดีเข้ามาหนุนเพื่อให้ตลาดไปต่ออย่างต่อเนื่อง และที่ร้ายไปกว่านั้นจะเห็นว่าอัตราการซื้อหุ้นของครัวเรือนได้เพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่ดีมากและปัจจัยนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะกระทิงเมื่อปี 1996 อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ตลาดหุ้นจะมีการปรับฐานอย่างน้อยที่สุดก็ 10%"

การทะลักเข้าของเงินทุนสู่ตลาดสหรัฐฯ มีประเด็นสำคัญที่บิ๊กส์พยายามชี้ให้เห็นเกี่ยวกับความต้องการของกองทุนญี่ปุ่นหดหายไปอย่างมาก จากที่เคยสูงสุดในปี 1989 ได้เริ่มลดลงมาเรื่อยจนถึงเมื่อ 30 มิถุนายน 1996 ลดลงคิดเป็นประมาณ 91% ของจำนวนเงินทั้งหมดที่มีอยู่ในกองทุนรวมญี่ปุ่น และนั่นเป็นต้นเหตุที่สำคัญของภาวะหมีของตลาดญี่ปุ่นที่ยาวนานต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

"นี่เป็น reverse sign ที่จะบ่งบอกว่าญี่ปุ่นเป็นตลาดขาขึ้นและสหรัฐฯ เป็นตลาดขาลง ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นผู้จัดการกองทุนรวมสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า 80% ของนักลงทุนส่วนใหญ่เห็นว่าอีก 5 ปีข้างหน้ายังเป็นปีที่ดีสำหรับตลาดหุ้น และ 75% เชื่อว่าอีก 5 ปีข้างหน้าตลาดจะไม่พักฐานลงไปมากกว่า 10% ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของเราที่พิสูจน์ว่าตลาดจะมีการพักฐานอย่างน้อยที่สุด 20% ในทุก 3 ปี ในปี 1997 นี้ตามความคาดการณ์ของผมตลาดจะปรับตัวลง ถ้าโชคดีก็จะลงมาเพียง 10% เท่านั้น หากโชคร้ายก็จะลงถึง 20-30% ผมไม่คิดว่าตลาดจะวิ่งขึ้นไปเหมือนในช่วงต้นปี 1980 อีก"

บิ๊กส์มีความเห็นว่าการพักฐานของตลาดสหรัฐฯ จะไม่กระทบต่อตลาดหุ้นในเอเชีย รวมถึงตลาดไทยเท่ากับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แต่หากมีการพักตัวลงวันละ 3-4% จะมีผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดโลกอย่างรุนแรง เพราะจะมีกระแสเงินทะลักออกมาเป็นจำนวนมาก ในสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้กองทุนสหรัฐฯ มากกว่าเพราะในแต่ละสัปดาห์มีเม็ดเงินไหลเข้าไปสู่กองทุนรวมสหรัฐฯ มากประมาณ 3-5 พันล้านเหรียญ และขณะนี้ก็เริ่มมีการเทขายออกบ้างแล้ว

"ดังนั้นกลยุทธ์ของเราก็คือลด ppsition ในตลาดสหรัฐฯ เพราะตลาดกำลังจะเริ่มสู่ขาลง และกระแสเงินของกองทุนรวมของโลกสะพัดช้าลง มีการเทขาย และมีการเคลื่อนย้ายเงินระหว่างกองทุนด้วยกันเอง โดยนักลงทุนสหรัฐฯ ที่กล้าได้กล้าเสียจะย้ายออกไปยังตลาดที่เข้าสู่ขาขึ้น และตลาดบอนด์ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่เอเชีย ซึ่งก็จะคล้ายกับปี 1992-3 ที่ตลาดโตขึ้น 15% และผมคาดว่าในปี 1997 นี้ตลาดเกาหลี อินเดีย และไทยจะโตขึ้น 30-35%" อดีต Managing Partner แห่ง Fairfield Partners บริษัทบริหาร Hedge Fund ก่อนที่จะย้ายเข้ามาร่วมงานกับมอร์แกน สแตนเลย์ในฐานะ General Partner และ M.D. ให้ทัศนะ

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีปัญหาที่คล้ายกับญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หนี้เสียของสถาบันการเงิน ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อจนถึงขณะนี้ แต่บิ๊กส์ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแรงพอที่จะเติบโตต่อไปได้เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งเศรษฐกิจได้เริ่มต้นถดถอยมาตั้งแต่ปี 1991

ปัญหาหนี้เสียเมื่อดูสัดส่วนที่มีอยู่ในระบบของไทยยังถือว่าน้อยมาก ประมาณ 8% ของหนี้ทั้งระบบ ขณะที่ญี่ปุ่นสูงถึงประมาณ 25% และจากการวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนเลย์ เศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแรงพอที่จะเติบโตต่อไปได้ นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังมีปัญหาเรื่อง การขาดดุลของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 8% ของจีดีพี สวนทางกับไทยที่มีการเกินดุล ในเวลาเดียวกันญี่ปุ่นยังมีปัญหาในเรื่องอัตราการเพิ่มของประชากร และสกุลเงินที่มูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งไทยไม่มีปัญหา ณ จุดนี้

"จะเห็นว่าญี่ปุ่นอยู่ในภาวะตลาดหมีมานานถึง 6 ปี จนกระทั่งทุกวันนี้วิกฤตการณ์นี้ก็ยังคงอยู่ แต่มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าไทยกำลังจะเดินไปในทิศทางเดียวกับญี่ปุ่น ไม่ว่าจะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคล้ายกับญี่ปุ่นที่ปัญหานี้เริ่มปะทุขึ้นเมื่อปี 1991 และลุกลามต่อมาจนถึงขึ้นล้มละลาย แต่เราไม่เชื่อว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยจะใกล้เคียงกับญี่ปุ่น เพรามีปัจจัยหลายอย่างที่แตกต่างกัน"

อย่างไรก็ตาม บิ๊กส์ได้ยอมรับว่าตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ยากต่อการเข้าใจพร้อมทั้งยังสร้างความผิดหวังให้เป็นอันมาก เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงแล้ว เนื่องจากภาวะที่อสังหาริมทรัพย์มีราคาลดลง (Deflation) และวิกฤติเรื่องที่ดินยังคงเป็นปัญหาที่เรื้อรัง ซึ่งผลกำไรของบริษัทญี่ปุ่นที่ลดลงอย่างฮวบฮาบเป็นเครื่องสะท้อนปัญหาได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับ ROE ที่ตกต่ำกว่า 2% จาก 10% เมื่อปลายปี 1989 ทว่ากลับสวนทางตลาดบอนด์ที่คึกคักที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพราะอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ได้ปรับตัวลดลงจากเมื่อ 7 ปีที่แล้วจาก 7.5% เหลือเพียง 2.38% เท่านั้น

ท้ายที่สุด บิ๊กส์ ได้กล่าวสรุปไว้ว่าตลาดเอเชียและตลาดเกิดใหม่อื่นๆ จะกลายเป็นผู้นำใหม่ในบริบทของภาวะกระทิงทั้งนี้เพราะภาวะหมีได้จบลงอย่างสมบูรณ์ และ ณ สถานการณ์ปัจจุบันถือได้ว่าเอเชียกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งความมหัศจรรย์แห่งเอเชีย นับจากนี้ไปจะมาจากการลงทุนเพื่อปรับปรุงการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ขณะที่ยุคแห่งความได้เปรียบในปัจจัยแรงงานที่สามารถดึงดูดเงินลงทุนโดยตรง ได้อย่างมหาศาลเหมือนเมื่อก่อนนั้นได้จบลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us