Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2540
เมื่อหมอกแห่งภาษีสลาย BSDC จะไม่ใช่ตัวประกอบในตลาดทุน             
 


   
search resources

ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์กรุงเทพ
พิบูลย์ ลิมประภัทร
Stock Exchange




การเปิดตัวของศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์กรุงเทพ (BSDC) หรือเป็นที่รู้จักว่าตลาดโอทีซี เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 2538 ได้รับความสนใจจากคนในแวดวงตลาดเงินและตลาดทุนเป็นจำนวนมาก หลายคนมีความหวังว่าการเกิด BSDC เป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับตลาดทุนไทยและสร้างโอกาสให้บริษัทขนาดกลางและเล็กในการระดมทุน

เป้าหมายของ BSDC คือเพื่อเป็นตลาดรองในการสร้างสภาพคล่องและแหล่งระดมทุนให้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กบริษัทอื่นๆ ที่ไม่สามารถฝ่าด่านกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้

ทว่าเวลาผ่านไปกว่าหนึ่งปี การดำเนินงานของ BSDC ก็ยังไม่สะท้อนถึงเป้าหมายดังกล่าว "สิ่งที่เราพยายามทำยังไม่บรรลุเป้าหมายหลายอย่าง อย่างแรกคือเราทำให้ตลาดโอทีซีโตไม่ได้เท่าที่เราต้องการ อย่างที่สองคือเราเองไม่ได้ขยายศักยภาพของเราตามที่เราหวังไว้" ดร.พิบูลย์ ลิมประภัทร กรรมการผู้จัดการคนแรก และคนปัจจุบันของ BSDC ประเมินผลงานตัวเองและ BSDC ในช่วงกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา

สีหน้าและแววตาที่แสดงความล้าและเหนื่อยหน่ายในบางช่วงของกานสนทนาแทนความรู้สึกลึกๆ ในใจของเขาได้ดี เพราะเป้าหมายที่พลาดไปนั้นมิใช่แค่เพียงเล็กน้อย

ในหนึ่งปี BSDC หวังให้มีหลักทรัพย์จดทะเบียน 10 ตัว ทว่านับแต่วันแรกจนถึงขณะนี้ มีบริษัทจดทะเบียนอยู่ใน BSDC เพียง 2 บริษัท ซึ่งได้แก่ บมจ.สินทรัพย์นคร หรือ SSN และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น หรือ TAC กับอีก 1 กองทุนปิด คือกองทุนไทยพาณิชย์เพิ่มผลมั่นคง

สองหุ้นที่เข้ามาจดทะเบียน ล้วนเป็นหุ้นที่ไม่มีทางเลือกทั้งสิ้น โดย SSN ฝ่าด่านเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับประมาณการผลการดำเนินงานที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ไม่เชื่อถือ ส่วน TAC เข้าจดทะเบียนไม่ได้เพราะติดปัญหาประกอบธุรกิจเดียวกับบริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี (UCOM) ซึ่งเป็นบริษัทแม่

ส่วนบริษัทขนาดกลางและเล็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ BSDC ล้วนแต่ยังกันตัวเองอยู่วงนอก มีบ้างที่แสดงความจำนงจะเข้าจดทะเบียน แต่ก็ชะลอแผนออกไปด้วยยังไม่แน่ใจถึงศักยภาพของ BSDC ในการเป็นตลาดรอง

BSDC กลับกลายเป็นองค์กรที่หลายคนมองอย่างแปลกใจในความคงอยู่ หลายคนสงสัยว่าจัดตั้งขึ้นเพื่ออะไร ขณะที่อีกหลายคนจดจำไม่ได้ว่าตลาดทุนไทยมีองค์กรอย่าง BSDC

"ยังดำเนินการอยู่หรือ นึกว่าปิดไปแล้ว" คือประโยคที่คนใน BSDC ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง

สภาพของ BSDC ในช่วงที่ผ่านมา ย่ำแย่ขนาดที่มีสมาชิกหลายคนเปรยๆ ว่าจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก เพราะมูลค่าการซื้อขายวันละไม่กี่ล้านบาทของ BSDC ไม่คุ้มกับเงินค่าสมาชิกที่ต้องจ่าย

แน่นอนว่าภาวะตลาดทุนซึ่งซบเซาตลอดช่วงปี 2539 เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลทำให้ BSDC ไม่คึกคักเท่าที่ควร แต่ในความคิดของดร.พิบูลย์ ปัญหาความซบเซาของตลาดทุนไม่ใช่สาเหตุสำคัญเพราะเป็นปัญหาโดยรวม มีตัวแปรอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นก็จะกระทบทุกตลาด แม้กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่อยู่ในข่ายยกเว้น

แล้วอะไรเล่าเป็นเหตุที่ทำให้ BSDC ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น?

ภาษีคือปัญหาหลัก

สาเหตุทำให้เกิดความซบเซาใน BSDC มีหลายอย่างด้วยกัน ส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกัน นั่นคือการมีสินค้าให้เลือกน้อย เพราะมีหุ้นเพียง 2 ตัวกับกองทุนปิดอีก 1 กอง ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อมาก็คือสภาพคล่องน้อย นอกจากนี้ก็มีสาเหตุจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้นที่คิดระหว่าง 0.5-1% ของมูลค่าการซื้อขายซึ่งขึ้นอยู่กับเม็ดเงินที่ซื้อขาย แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วก็ถือว่าสูงกว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่คิดค่าธรรมเนียมอัตราเดียวคือ 0.5% ของมูลค่าการซื้อขายหรือไม่ต่ำกว่า 50 บาท รวมทั้งระบบการซื้อขายและการรายงานข้อมูลของ BSDC ก็ยังไม่กว้างขวางนัก จึงส่งผลให้ BSDC ไม่เป็นที่รู้จักของนักลงทุนอีกด้วย และที่สำคัญก็คือปัญหาการเรียกเก็บภาษีกำไรจากส่วนล้ำมูลค่าหุ้น (CAPITAL GAIN TAX) ซึ่งเก็บเฉพาะนักลงทุนรายย่อย

ในความคิดของ ดร.พิบูลย์แล้ว ภาษีคือที่มาของปัญหาส่วนใหญ่ เพราะการมีภาษีทำให้นักลงทุนได้ผลประโยชน์น้อยลงไป นักลงทุนไม่อยากลงทุน ดังนั้นตลาดจึงไม่คึกคัด สภาพคล่องน้อย BSDC จึงไม่อยากลงทุนเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลและภาพพจน์ของตลาดต่อนักลงทุนทั่วไป เพราะไม่คุ้มกับการลงทุน ผลที่ตามมาก็คือไม่มีบริษัทใดอยากนำหุ้นเข้าซื้อขายใน BSDC

"ภาษีมีผลต่อความซบเซาของ BSDC เกือบ 100%" ดร.พิบูลย์ระบุ

หากดูเผินๆ แล้ว การเสียภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นดังกล่าวไม่น่าจะสร้างผลกระทบให้กับ BSDC มากเช่นนั้น เพราะหากว่าการลงทุนใน BSDC สร้างผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินที่สูง การเสียภาษีเพียง 15% จากกำไรก็ไม่น่าจะทำให้นักลงทุนรายย่อยคำนึงถึงเรื่องนี้มากเท่าใดเพราะแม้แต่การฝากเงินธนาคาร ก็ยังต้องเสียภาษีจากดอกเบี้ยรับเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยนี้เป็นปัญหาเมื่อนักลงทุนเปรียบเทียบการลงทุนใน BSDC กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยหากลงทุนในตลาดหลัง นักลงทุนรายย่อยไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น ดังนั้นหากได้กำไรเบื้องต้นจากการลงทุนเป็นเม็ดเงินเท่ากันระหว่างสองตลาด นักลงทุนรายย่อยจะได้กำไรสุทธิจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากกว่าการลงทุนใน BSDC เท่ากับจำนวนเม็ดเงินที่ต้องเสียภาษีนั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงภาวะตลาดทุนคึกคักหรือซบเซาก็ตาม การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ย่อมมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเสมอ สิ่งนี้ทำให้นักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจกับการลงทุนใน BSDC น้อยกว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ความยุ่งยากในวิธีการคำนวณและชำระภาษีก็ถือเป็นตัวสนับสนุนให้นักลงทุนรายย่อยเมินการลงทุนใน BSDC มากยิ่งขึ้น เพราะภาษีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ดังนั้นในปลายปีเมื่อมีการคำนวณภาษีซับซ้อนขึ้นกว่าเดิมนักลงทุนรายย่อยหรือประชาชนทั่วไปก็ตามย่อมไม่ค่อยอยากเผชิญกับความยุ่งยากเหล่านี้

แต่การที่ไม่ยอมสะสางปัญหานี้ก่อนที่จะจัดตั้ง BSDC นั้น ดร.พิเศษ เสตเสถียร หนึ่งในคณะทำงานทางดานกฎหมายของ BSDC เปิดตัวว่า "เราต้องเปิดตลาดไปก่อนระหว่างที่รอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะไม่ได้เปิด BSDC เลยก็ได้"

ตลอดเวลาที่ BSDC ดำเนินการ ผู้บริหาร BSDC พยายามผลักดันเรื่องนี้ ทว่าก็ยังมองไม่เห็นทางว่าปัญหานี้คลี่คลายไปในแนวทางใด เพราะการแก้ไขข้อจำกัดเรื่องภาษีอยู่นอกเหนืออำนาจของคณะผู้บริหาร BSDC หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) แต่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังและรัฐบาล ตราบใดที่รัฐบาลไม่เปิดไฟเขียวให้ เรื่องนี้ก็ยังต้องเป็นปัญหาต่อไป

ช่วงที่ผ่านมา BSDC มีความพยายามในการเปิดประเด็นเรื่องนี้กับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ดูจะไร้ผล ไม่ว่าจะเป็นกรมสรรพากร เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการคลัง หรือแม้กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างก็แบ่งรับแบ่งสู้

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ปลัดกระทรวงการคลังคนปัจจุบันเคยกล่าวว่า ถ้าจะแก้ปัญหาภาษีให้ไปแบ่งจุดยืนระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ กับ BSDC ให้ชัดเจนก่อน ถ้าสองตลาดไม่มีความแตกต่าง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องก่อตั้ง BSDC ขณะที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ยังไม่มีทีท่าว่าจะเห็นพ้องกับแนวทางแก้ไขการจัดแบ่งบริษัทจดทะเบียน ด้วยเหตุผลว่าภาษียังไม่ได้รับการแก้ไข

"ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่ได้มีอะไรขัดข้อง เพียงแต่มองว่าถ้าแก้ไขอย่างชัดเจนไปแล้ว แต่ระบบภาษีไม่ได้แก้ไข ก็คงไม่เป็นธรรมกับบริษัทขนาดเล็กที่จดทะเบียนใน BSDC เพราะรายย่อยที่ลงทุนในบริษัทเหล่านี้ต้องเสียภาษี ดังนั้นต้องแก้ที่ระบบภาษีก่อน" แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุ

ปัญหานี้จึงค้างคามาตลอดสมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึง 3 ครั้งก็ตาม จนกระทั่งมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ความหวังของ BSDC จึงพรายผุดขึ้นอีกครั้งกับรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง

แผนพัฒนาตลาดทุนช่วยชุบชีวิต

ในวันที่ 17 ธันวาคม 2539 ดร.อำนวย วีรวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ประกาศแผนปฏิบัติการ (ACTION PLAN) ซึ่งมีแผนพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนที่เป็นรูปธรรมและมีกำหนดระยะเวลาชัดเจนหลายด้าน หนึ่งในนั้นก็คือแผนพัฒนาตลาดทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับ BSDC โดยตรง

ความหวังของ BSDC เรืองรองขึ้นทันทีเมื่อแผนงานพัฒนาตลาดทุนในข้อ 5 ระบุว่า "ส่งเสริมให้ตลาดหลักทรัพย์รับบริษัทขนาดใหญ่และศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์กรุงเทพรับบริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก อุตสาหกรรมพื้นฐานตลอดจนบริษัทภูมิภาค โดยมีมาตรการภาษีที่เหมาะสมและให้มีความทัดเทียมกันระหว่างตลาด"

ระยะเวลาในการดำเนินการก็คือภายในปี 2540

ข้อความดังกล่าวทำให้ความอึมครึมไม่รู้ชะตากรรมของ BSDC สว่างขึ้นทันที เพราะการสร้างระบบภาษีที่ทัดเทียมกันย่อมหมายถึงการขจัดความได้เปรียบและเสียเปรียบของระบบการจัดเก็บภาษีระหว่าง BSDC และตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้นย่อมทำให้นักลงทุนใน BSDC มากขึ้น ซึ่งผลพวงที่จะตามมาคือ BSDC มีสภาพคล่องมากขึ้นและทำให้บริษัทต่างๆ ให้ความสนใจที่จะระดมทุนผ่าน BSDC มากขึ้นเช่นกัน

การดำเนินทางด้านการแก้ไขภาษีนี้ก็มีความเคลื่อนไหวจากกรมสรรพากรแล้ว โดยเมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ประกาศยกเว้นการเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นใน BSDC แล้ว แต่มีเงื่อนไขว่า BSDC และตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องไปแบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนให้ชัดเจนเสียก่อน แล้วให้เสนอกลับมาที่กรมสรรพากรอีกครั้ง โดยคาดว่ามาตรการยกเลิกภาษีดังกล่าวจะเสร็จสิ้นได้ภายในครึ่งปีแรกนี้

ประเด็นการแยกจุดยืนของทั้งสองตลาดได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ตระเตรียมปรับเกณฑ์รับหลักทรัพย์ใหม่ เช่น เพิ่มจำนวนทุนจดทะเบียนบริษัทที่เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จากจำนวน 100 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (MARKET CAPTALIZATION) ขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัวเพื่อเน้นบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้นบริษัทที่มีขนาดกลางและเล็กก็ต้องผันตัวเองเข้าจดทะเบียนใน BSDC ในที่สุด

ดร.พิบูลย์ กล่าวว่าหากปัญหาภาษีคลี่คลาย ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ใน BSDC จะคึกคักขึ้น "ถ้าไม่มีการเก็บภาษีรายย่อย BSDC จะโตอย่างแน่นอน แม้ว่าไม่โตอย่างพรึบพรับแต่ภายใน 2-3 ปีนี้ก็ต้องมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนถึง 40-50 ตัว" ด้วยว่าตลาดทุนยังมีความสำคัญต่อประเทศที่กำลังพัฒนาไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่เช่นประเทศไทย ความซบเซาในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียงความซบเซาชั่วครั้งคราวเท่านั้น อีกทั้งการกู้ยืมและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินถูกเข้มงวดมากขึ้น จึงทำให้ทางเลือกในการหาแหล่งเงินทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมีน้อยลงไป

นอกจากนี้ ดร.พิบูลย์ ยังยกตัวอย่างศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดฯ หรือตลาดโอทีซีในต่าประเทศว่าล้วนแต่มีพัฒนาการที่ดีและมีบทบาทไม่น้อยกว่าตลาดหลัก เช่น ตลาด NASDAG ในสหรัฐอเมริกา การเติบโตของตลาดโอทีซีไทยก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน

ความหวังของ BSDC ไม่ได้อยู่เพียงแค่ระบบภาษีเท่านั้น ยังรวมไปถึงผลการจัดแบ่งจุดยืนที่ชัดเจนระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ กับ BSDC ตามแผนพัฒนาตลาดทุนดังกล่าวด้วย เพราะย่อมทำให้ BSDC มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและกลายเป็นทางที่ต้องเดินของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กไม่ใช่เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของบริษัทเหล่านั้นอีกต่อไป

นอกเหนือจากนี้ BSDC เองไม่เพียงแต่จะเน้นบริษัทขนาดกลางและเล็ก แต่ยังมุ่งหวังกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากบริษัทเหล่านั้นยังไม่มีผลการดำเนินงานที่มีกำไรติดต่อกัน 3 ปีตามเกณฑ์กำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่สามารถเข้าไประดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้

กลุ่มบริษัทเหล่านี้ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัยและประกันชีวิตที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ตามนโยบายเปิดเสรีทางการเงินและบริษัทใหม่ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ดำเนินงานแล้ว 3 แห่งและรัฐบาลยังมีแผนที่จะเปิดให้มีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์เพิ่มอีก ส่วนบริษัทประกันนั้น มีบริษัทที่ผ่านเกณฑ์จะจัดตั้งได้จำนวน 66 แห่ง และขณนี้กระทรวงพาณิชย์ก็กำลังพิจารณาให้มีการเปิดบริษัทเหล่านี้เพิ่มอีก

เมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนเช่นนี้ การเยียวยา BSDC ย่อมไม่ยากลำบากอีกต่อไป

หุ้น PP…อีกกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากโอกาสที่มีขึ้นตามแผนปฏิบัติการของรัฐบาลแล้ว BSDC ยังเพิ่มหนทางฟื้นตัวให้กับตัวเองด้วยการดึงหุ้น PP (PRIVATE PLACEMENT) หรือหุ้นที่ขายแบบเฉพาะเจาะจงเข้ามาซื้อขายใน BSDC เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณหลักทรัพย์และความคึกคักให้กับตลาด

ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) การทำ PP คือการระดมทุนไม่เกิน 20 ล้านบาทหรือนักลงทุนไม่เกิน 35 ราย หรือระดมทุนจากสถาบัน 17 ประเภทตามข้อบังคับของ ก.ล.ต.เช่นกองทุนรวม บริษัทประกันชีวิตบุคคลธรรมดาที่ลงทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป เป็นต้น

ช่วงที่ผ่านมาหุ้น PP ไม่มีตลาดรองอย่างเป็นทางการหากต้องการซื้อขายกันก็จะเจรจาตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยแต่ละฝ่ายต้องกำหนดราคาเอาเอง

แต่หากให้ BSDC เป็นตลาดรองของหุ้น PP วิธีการซื้อขายอาจจะไม่แตกต่างไปจากเดิมนัก นั่นคือใช้การเจรจาตกลงกันโดยให้ดีลเลอร์เป็นตัวกลางทว่าจะมีราคาที่ซื้อขายกันก่อนหน้านั้นเป็นราคาอ้างอิง ซึ่งจะปรากฏราคาขึ้นในกระดานซื้อขาย นักลงทุนทั่วไปย่อมทราบถึงความเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณการซื้อขายของหุ้น PP นั้นๆ อีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว BSDC จะมีข้อมูลของหุ้นที่ทำ PP เปิดเผยให้นักลงทุนได้ทราบ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนและเพิ่มข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้เป็นจุดขายที่ผู้บริหาร BSDC เตรียมไว้โน้มน้าวใจบริษัทที่ทำ PP

ดูเหมือนว่าหนทางดำเนินการดึงหุ้น PP เข้าซื้อขายใน BSDC จะปลอดโปร่งโล่งสบาย โดย ก.ล.ต.อนญาตให้ BSDC แก้ไขกฎเกณฑ์การรับหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียน ซึ่งเดิมระบุให้เพียงบริษัทมหาชนที่ผ่านการพิจารณาจาก ก.ล.ต.เท่านั้น มาเป็นบริษัทที่ทำ PP ด้วย

ยิ่งกว่านั้น ก.ล.ต.ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเปลี่ยนข้อกำหนดที่ BSDC ขอเพิ่มเติมอีก 2 ประการ นั่นคือให้นักลงทุนที่จะลงทุนในหุ้น PP ได้ต้องซื้อขาย 5 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมที่ระบุไว้ 10 ล้านบาท และขอให้ลดมูลค่าสินทรัพย์ตามบัญชีของบริษัทที่จะทำ PP จาก 500 ล้านบาทเหลือเพียง 300 ล้านบาท

ดร.พิบูลย์มั่นใจว่าการร้องขอดังกล่าวจะได้รับการตอบรับที่ดีจาก ก.ล.ต.เช่นเดียวกับคำร้องขอในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม BSDC ย่อมจะดำเนินการเรื่องหุ้น PP ไปก่อนแม้กฎเกณฑ์ที่ขอเพิ่มเติมจะยังไม่แล้วเสร็จ โดยแต่เดิมคาดว่าระบบการซื้อขายต่างๆ จะแล้วเสร็จและสามารถเริ่มการซื้อขายหุ้น PP ได้ประมาณปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม BSDC ย่อมจะดำเนินการเรื่องหุ้น PP ไปก่อแม้กฎเกณฑ์ที่ขอเพิ่มเติมจะยังไม่แล้วเสร็จ โดยแต่เดิมคาดว่าระบบการซื้อขายต่างๆ จะแล้วเสร็จและสามารถเริ่มการซื้อขายหุ้น PP ได้ประมาณปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีหุ้น PP มีความประสงค์จะเข้าซื้อขายใน BSDC อยู่ในมือถึง 3-4 ราย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมทางด้านวัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แลโรงพยาบาล

แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถซื้อขายได้ เนื่องจากระบบการซื้อขายยังไม่เรียบร้อย และผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้บริษัทที่หวังจะทำ PP ไม่ประสบผลสำเร็จ

"ทาง BSDC ได้ติดต่อกับบริษัทที่จะทำ PP หลายรายและนักลงทุนสถาบัน เช่นธนาคาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งเขาก็เห็นดีด้วยที่จะให้ PP เข้ามาซื้อขายใน BSDC เพียงแต่ตอนนี้ ภาวะตลาดทั่วไปไม่เอื้ออำนวย ทำให้นักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนออกไป หุ้น PP เลยยังไม่ได้ดำเนินการ" แหล่งข่าวในแวดวงการเงินรายหนึ่งให้รายละเอียด

กระนั้น ผู้บริหาร BSDC ก็ยังคงแสวงหาลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญคือผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและอุตสาหกรรมหนัก เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก

"ตอนนี้ BSDC ก็ติดต่อทั้งวาณิชธนากรและผู้ประกอบการต่างๆ ที่ต้องการระดมทุน หากบริษัทเหล่านั้นยังไม่อยากกระจายหุ้นให้กับรายย่อย (IPO) ก็จะแนะนำให้ทำ PP ก่อนซึ่งจะทำให้ BSDC มีลูกค้าเพิ่มขึ้น" แหล่งข่าวเล่าถึงความพยายามของคนใน BSDC

แม้วันนี้ ความพยายามดังกล่วยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมบริษัทที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ BSDC ยังรีรอที่เข้าสู่การเป็นหุ้นจดทะเบียน อีกทั้งปัญหาภาษีก็ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะคลี่คลายไปได้ก็ตาม แต่สถานการณ์ทุกอย่างก็เริ่มชี้ว่า BSDC กำลังมีทิศทางเดินในอนาคตที่สดใสขึ้น ภาพของการเป็นองค์กรที่ไม่มีความหมายในตลาดทุนกำลังจะเลือนหายไป ทว่า BSDC จะสามารถผลักดันตัวเองให้มีบทบาทมากน้อยเท่าใดก็ยังต้องรอการพิสูจน์

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us