Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2540
ถึงคิวแฟคตอริ่ง เปิดกลยุทธ์รับมือข้าศึกใหม่             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน)
โฮมเพจ บริษัท นครหลวงแฟคตอริ่ง จำกัด

   
search resources

วอลล์สตรีท, บง
สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง, บมจ.
Financing
นครหลวงแฟคตอริ่ง, บมจ.




แฟคตอริ่งเป็นธุรกิจที่มีมาช้านานพร้อมๆ กับระบบการค้าแบบเงินเชื่อแต่มักทำในรูปธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ ในย่านสำเพ็ง โบ๊เบ๊ พาหุรัด เป็นต้น ธุรกิจที่ทำกันมากคืออุตสาหกรรมสิ่งทอ และพืชผลทางการเกษตร โดยผู้ขายสินค้าแบบให้เครดิตการค้า เมื่อเกิดภาวะเงินสดขาดมือก็จะนำเช็คหรือบิลส่งของไปขายกับแฟคเตอร์ โดยยินยอมจ่ายส่วนลดหรือดอกเบี้ยในอัตราหนึ่งเป็นการตอบแทน

การทำแฟคตอริ่งในรูปแบบบริษัทที่มีระบบงานชัดเจน เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเข้ามาของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งทำให้ระบบการค้าขายของไทยมีความเป็นสากลมากขึ้น โดยมีการออกใบกำกับสินค้า (Invoice) มากขึ้นแทนการออกเช็คล่วงหน้า

อย่างไรก็ตามในระยะเริ่มต้น การทำแฟคตอริ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับของพ่อค้ารุ่นเก่าๆ มากนัก เนื่องจากมักมองกันว่าอาจจะทำให้ลูกค้าของตนเกิดความไม่เชื่อถือและคิดว่าตนไม่มีเงินจนถึงขั้นต้องเอาใบกำกับสินค้าไปขาย นอกจากนี้ตัวลูกหนี้การค้าเองก็อาจจะไม่มั่นใจในบริษัทแฟคตอริ่งเพราะมิใช่คู่ค้าโดยตรง ทำให้เกิดปัญหาไม่ค่อยยอมจ่าย

แต่ในปัจจุบันพ่อค้าเข้าใจระบบแฟคตอริ่งมากขึ้น จึงหันมาใช้กันมากในยามที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นยิ่งในโลกการค้าปัจจุบันการทำธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นระบบเงินเชื่อ และการกู้ยืมมาลงทุนจะทำให้ขยายตัวได้เร็วขึ้น เครื่องมือการเงินประเภทนี้จึงมีโอกาสขยายตัวตามไปด้วย จากมูลค่าตลาดรวมเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาทเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ณ วันนี้มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาทโดยมีบริษัทแฟคตอริ่งทั้งสิ้นประมาณ 15 แห่ง และบริษัทลิสซิ่ง หรือบริษัทเงินทุนที่ทำธุรกิจด้านนี้เป็นบริการเสริมอีกร่วม 10 แห่ง

รายใหม่ขอเอี่ยวเป็นทิวแถว

ในช่วง 1 ถึง 2 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทแฟคตอริ่งทั้งใหญ่และเล็กเกิดขึ้นใหม่เกือบ 10 แห่ง และสำหรับศักราชใหม่นี้ มีการคาดการณ์กันว่าจะมีผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจนี้ไม่ว่าจะเปิดเป็นบริษัทแฟคตอริ่งโดยตรงหรือเป็นบริการเสริมในบริษัทของตนอีกนับ 10 แห่ง โดยบริษัทประเภทค้าปลีก และค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น โรบินสัน เซ็นทรัลและซีพี ขณะนี้มีการเจรจาร่วมทุนกับสถาบันการเงินหลายแห่งเพื่อทำธุรกิจดังกล่าว โดยมีฐานลูกค้าคือซัปพลายเออร์นั่นเอง

เหตุผลที่ในระยะหลังๆ มีผู้สนใจเข้ามาทำธุรกิจนี้กันมากมูลเหตุสำคัญคงมาจากส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงตลาดยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก และการแข่งขันยังไม่รุนแรงเหมือนสถาบันการเงินอื่นๆ

ทั้งนี้ ยงยุทธ แก้วมณี ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสินเชื่อแฟคตอริ่งและลิสซิ่งบมจ.เงินทุนหลักทรัพย์ วอลล์สตรีทกล่าวยอมรับว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยของธุรกิจแฟคตอริ่งสูงกว่าบริษัทเงินทุนทั่วไปจริง โดยในส่วนของตนนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ MOR+1.5-3%

"อัตราดอกเบี้ยของเราจะอิงกับ MOR ของธนาคารกรุงเทพ แล้วจะบวกเท่าไหร่ก็ดูที่ลูกค้าและลูกหนี้การค้า แล้ววิเคราะห์ภาพรวมออกมา เฉลี่ยก็ประมาณ MOR+1.5-3% ฉะนั้นถ้า MOR ลดลูกค้าก็จะได้ประโยชน์ เพราะเมื่อนำบิลใหม่มาวางทุกครั้งเราจะคิดตามอัตราใหม่ แต่จะคงที่สำหรับแต่ละบิลที่ขายมาแล้วในระยะเวลาหนึ่ง" ยงยุทธขยายความ

นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมในการบริการบริการและจัดเก็บหนี้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งโดยปกติจะทำเป็น 2 วิธี คือคิดเป็นอัตราตายตัวและคิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าของใบกำกับสินค้าที่นำมาขาย

เรื่องกิตติ์ แก้วฟ้านภาดล กรรมการผู้จัดการ บมจ.สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง (SGF) ระบุว่า บริษัทมีส่วนต่างดอกเบี้ยประมาณ 4-4.5% โดยจะคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าในอัตรา 14.5-17% ขณะที่บริษัทมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 11-12% นอกจากนี้ก็มีค่าธรรมเนียมในการบริการและจัดเก็บด้วย

สำหรับ บมจ.นครหลวงแฟคตอริ่ง ผไทบดี คูรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อและการตลาด เปิดเผยว่า อัตราดอกเบี้ยของ SCIF จะอยู่ประมาณ MOR+1-2.5% ทั้งนี้จะคิดตามจำนวนวันที่ลูกค้าเบิกเงินไปใช้ต่อปี นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมในการบริการและจัดเก็บโดยคิดเป็นสัดส่วน 0.5% ต่อมูลค่าของใบกำกับสินค้าที่นำมาขาย

การที่ธุรกิจแฟคตอริ่งมีกำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง ก็เป็นไปตามกฏทางการเงินที่ว่า High Risk High Return หรือยิ่งเสี่ยงมากผลตอบแทนก็ยิ่งมาก เพราะแฟคตอริ่งเป็นธุรกิจที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน ขอเพียงแค่มีใบกำกับภาษีเท่านั้นเป็นใช้ได้ แม้บริษัทส่วนใหญ่จะทำเป็นแบบโอนสิทธิบอกไล่เบี้ยซึ่งทำให้สามารถตามเก็บหนี้ได้ทั้งจากลูกหนีการค้า และตัวลูกค้าเองก็ตาม แต่หากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย บริษัทก็ไม่สามารถยึดหลักประกันอะไรได้ นอกจากการเจรจาหรือฟ้องร้องให้ชำระหนี้ผ่านกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น

แต่เท่าที่ดำเนินธุรกิจมาทั้งเรืองกิตติ์ ยงยุทธ และผไทบดี กล่าวตรงกันว่ายังไม่เคยพบปัญหาหนี้สูญเลย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะการพิจารณาสินเชื่ออย่างรอบคอบมาตั้งแต่แรก ยิ่งมีความเสี่ยงสูงก็ยิ่งต้องรอบคอบมาก

การแข่งขันที่ยังไม่สูงนักเป็นเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง เมื่อดีมานด์ยังคงสูงกว่าซัปพลาย บริษัทแฟคตอริ่งจึงยังสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในสัดส่วนที่สูง และคัดเลือกใบกำกับสินค้าได้มากต่อเมื่อการแข่งขันรุนแรงขึ้น ส่วนต่างจากดอกเบี้ยเหล่านี้จะค่อยๆ ลดลงไป ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านี้มีการพัฒนาตัวเองมากขึ้น และพยายามลดต้นทุนลงมาเพื่อชดเชยกับส่วนต่างดอกเบี้ยที่น้อยลง

อย่างไรก็ตามการจะเข้ามาแข่งขันในธุรกิจนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แม้การจัดตั้งบริษัทยังไม่มีระเบียบหรือกฎหมายพิเศษอะไรมากำหนด เพียงจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์เท่านั้นก็สามารถดำเนินงานได้แล้ว

ยงยุทธ และผไทบดี ให้ความเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องมีระบบซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพ และทีมงานที่ชำนาญการจึงจะทำได้ประสบผลสำเร็จ

"เนื่องจากแฟคตอริ่งจะมีเอกสารจำนวนมาก มีความละเอียดซับซ้อน จึงต้องอาศัยซอฟต์แวร์เข้าช่วยมาก ขณะที่ทีมงานตลาดและวิเคราะห์สินเชื่อก็ต้องมีความรอบครอบ และระมัดระวังในการพิจารณามาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการเก็บหนี้ไม่ได้ และอาจจะมีปัญหาลูกค้านำบิลปลอมมาขายเมื่อเงินขาดมือจริงๆ" ยงยุทธ ขยายความ

โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา บริษัทห้างร้านต่างๆ ขาดเงินทุนหมุนเวียน การพิจารณาให้สินเชื่อก็จำเป็นต้องทวีความระมัดระวังขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เรือกิตติ์ ตั้งเป้าอัตราการขยายตัวของยอดการปล่อยกู้ในปีนี้เพียง 15% เท่านั้น เนื่องจากต้องดูทิศทางของธุรกิจก่อน

เขาคาดการณ์ว่า ปีนี้ความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนยังคงจะเพิ่มขึ้นอีกซึ่งจะเป็นโอกาสของธุรกิจแฟคตอริ่ง แต่ก็จำเป็นต้องคัดเลือกอย่างระมัดระวังพิจารณาลูกค้า ลูกหนี้การค้าอย่างรอบคอบมากขึ้น

"ทุกวันนี้คนอยากกู้ยังมาก แต่คนไม่กล้าให้กู้ เพราะกลัวเก็บเงินไม่ได้ ช่วงนี้เราพิจารณาละเอียดมาก การเก็บหนี้ในช่วงหลังๆ มานี้ก็ได้ช้าลง เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ คงต้องรอดูว่ารัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินการตามแผนได้เร็วและเป็นผลมากน้อยแค่ไหน" เรืองกิตติ์กล่าวเสริม

ทั้งนี้ SGF มียอดการปล่อยกู้ในปี 2539 ประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 40% นับว่าเป็นอันดับหนึ่งในตลาด

สำหรับนครหลวงแฟคตอริ่ง ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 24% ของมูลค่าตลาดรวม จัดเป็นอันดับ 2 ผไทบดี มองว่าคงขยายตัวประมาณ 20% ในปีนี้ โดยยอดการปล่อยกู้ปีที่ผ่านมามีอยู่ประมาณ 8,000 ล้านบาท

"ปีนี้เราคงจะขยายตัวแค่ประมาณ 20% เพราะต้องระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น เราชะลอตัวมาตั้งแต่ปีก่อนแล้วเพื่อรอดูทิศทางธุรกิจ" ผไทบดีกล่าว

วอลล์สตรีทก็คงไม่แตกต่างกัน ยงยุทธตั้งเป้าเติบโตจากปี 2539 มียอดปล่อยกู้ 3,900 ล้านบาท เป็น 4,500 ล้านบาทในปีนี้ หรือคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 15%

เขามองว่าการที่บริษัทต่างๆ ตั้งเป้าเติบโตในสัดส่วนที่ไม่สูงนักเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องของการแข่งขัน ที่จะมีบริษัทหลายแห่งเตรียมการเข้ามาทำธุรกิจแฟคตอริ่งเพิ่มขึ้นในปีนี้

"การแข่งขันในธุรกิจนี้ขนาดที่ทุกคนเข้าไปนั้นยังไม่ใหญ่ คิดว่าต่างคนต่างก็มีลูกค้าของตัวเอง จะมีเจอกันบ้างแต่ก็คงไม่มาก ไม่เหมือนธุรกิจเงินทุนซึ่งแต่ละที่มีขนาดใหญ่คนก็แย่งแชร์กัน ส่วนแฟคตอริ่งแต่ละบริษัทยังเล็ก ผมว่ายังมีที่ให้ลงมาได้อีกค่อนข้างมาก" ยงยุทธกล่าว

อย่างไรก็ตามการที่มีคนลงมาแข่งขันมากๆ ก็จะมีผลดีในแง่ของการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักธุรกิจนี้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาพรวมมีการขยายตัวที่รวดเร็วขึ้นด้วย

ทั้งนี้บริษัทแฟคตอริ่งทั้งหลายต่างให้ความสำคัญในการเผยแพร่ความรู้มากโดยมีแนวคิดร่วมกันว่าจะมีการจัดตั้งสมาคมแฟคตอริ่งขึ้นมา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน และมีการถ่ายทอดไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการช่วยกันผลักดันหน่วยงานราชการให้เข้ามาดูแลส่งเสริมธุรกิจแฟคตอริ่งให้มากขึ้น

เรืองกิตติ์ อธิบายว่า "เราอยากให้คลังเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการโอนสิทธิเรียกร้อง เพราะคลังจะเป็นผู้ที่ให้งบประมาณต่างๆ ออกมาตามที่ขอและใช้ ตอนนี้หน่วยงานราชการทั่วไปจะไม่ยอมรับแจ้งโอนสิทธิ เช่น กสท. ทศท. โดยอ้างว่าที่ผ่านมาจะแจ้งโอนสิทธิเฉพาะธนาคารและบริษัทเงินทุนซึ่งความจริงคลังมีหนังสือเวียนว่าการโอนสิทธิเรียกร้องสามารถทำได้ แต่หน่วยงานที่จะชำระเงินสามารถหักกลบลบหนี้ได้มีมานานแล้ว ช่วงหลังพอแจ้งโอนสิทธิเราจะถ่ายสำเนาหนังสือเวียนนี้แนบไปด้วยเลยเขาจะได้เข้าใจ"

อย่างไรก็ตาม บางหน่วยงานกลับระบุไว้ในสัญญาเลยว่าห้ามโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งเรืองกิตติ์ มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนักในสังคมเสรีอย่างเช่นนี้

ทั้งนี้คาดว่าสมาคมดังกล่าวจะสามารถจัดตั้งได้ภายในปีนี้ โดยสมาชิกเริ่มแรกจะเป็นบริษัทแฟคตอริ่งประมาณ 12-15 แห่งที่อยู่ในปัจจุบัน

เปิดกลยุทธ์รับการแข่งขัน

สำหรับแผนงานของบริษัทแฟคตอริ่งในปีนี้ นอกจากการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น พร้อมทั้งชะลอการขยายตัวลงเพื่อดูทิศทางแล้ว ส่วนใหญ่จะเน้นการลดต้นทุนต่างๆ ลงไปด้วย เพื่อรักษาส่วนต่างของดอกเบี้ย

สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง ปีนี้มุ่งเน้นที่การพัฒนาทีมงาน และลดขั้นตอนการทำงานเป็นสำคัญ "ตอนนี้ทุกคนจะถูกนำมาติวเข้มอีกครั้ง และความยืดเยื้อในขั้นตอนต่างๆ จะลดลงไป เราจะหันมาทำงานแบบห้องบังคับการ คือทุกคนมานั่งในห้องทั้งหมดตั้งแต่กรรมการผู้จัดการทำงานแล้วจบออกมาทีเดียวเลย จะได้ไม่เสียเวลา ปีนี้จะไม่มีการขยายสาขา แต่จะเพิ่มขีดความสามารถของสาขาให้เป็นศูนย์บริการ มีรัศมีทำการมากขึ้นเป็น 100-200 กิโลเมตร โดยเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย" เรืองกิตติ์อธิบาย

ปัจจุบัน SGF มีทีมงานการตลาดประมาณ 60 คน โดยแบ่งเป็นประจำสำนักงานใหญ่ 12 คน และประจำสาขา สาขาละ 4 คน รวม 12 สาขา

ทุกคนทำทางด้านการตลาดและวิเคราะห์สินเชื่อด้วย โดยแบ่งออกเป็นหลายอุตสาหกรรม สำหรับปีนี้ เรืองกิตติ์มองว่า อุตสาหกรรมอะไหล่รถยนต์จะเข้ามามีบทบาทมาก ซึ่งทาง SGF ก็เตรียมเข้าไปทำตลาดมากขึ้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมเคมีก็ยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่

ในส่วนของพอร์ตการปล่อยสินเชื่อจะมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้ารายใหญ่มากขึ้นซึ่งขณะนี้ลูกค้าระดับกลางถึงใหญ่มีสัดส่วนพอร์ตถึง 55% แต่ปีนี้เรืองกิตติ์คาดว่าจะเพิ่มเป็น 80% โดยมองในเรื่องของการประหยัดต้นทุนค่าเอกสาร และกำลังคนเป็นหลัก

นอกจากนี้เขาได้วางแผนจัดตั้งทีมการตลาดอิสระขึ้นมาชุดหนึ่ง ประมาณ 5 คน ทีมนี้จะทำหน้าที่ด้านการตลาดอย่างเดียวและไม่จำเป็นต้องเข้ามาในบริษัท แต่ทางบริษัทจะตั้งเป้าหมายเพื่อให้ทีมงานเหล่านี้ไปติดต่อ และจะให้ผลตอบแทนตามชิ้นงาน เมื่อลูกค้าเข้ามาขอใช้วงเงินกับบริษัท

"ที่เราเริ่มแค่ 5 คน เพราะต้องการอบรมดูแลกันอย่างใกล้ชิด โดยอาจจะแบ่งเป็นอุตสาหกรรมให้เขาไป ทีมงานนี้จะเหมือนการทำไดเร็กต์เซลล์เลย ปีนี้จะเป็นการเริ่มต้นดูก่อน และถ้าหากเป็นจริงตามที่คาด เราอาจจะมียอดการปล่อยสินเชื่อที่มหัศจรรย์ทีเดียว" เรืองกิตติ์กล่าว

การทำอย่างนี้จะช่วยให้ SGF ไม่จำเป็นต้องเพิ่มพนักงานประจำขึ้นอีก ทั้งนี้บริษัทเองไม่ได้รับพนักงานเพิ่มขึ้นเลยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีพนักงานลาออกไปก็ไม่มีการรับเพิ่ม ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทลดลงไป

จากงบการเงินงวด 9 เดือนปี 2539 พบว่า SGF มีกำไรสุทธิรวม 88.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2538 ถึง 132%

คาดว่าปี 2539 นี้บริษัทจะมีการขยายตัวของกำไรเพิ่มขึ้นจาก 50.45 ล้านบาทในปี 2538 มาเป็น 110 ล้านบาทในปี 2539 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100% ซึ่งทำให้ไม่เกิด Dilution Effect จากการเพิ่มทุนจดทะเบียนในเดือนมีนาคม 2539 เลย

เรืองกิตติ์ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะ SGF ไม่เผชิญกับภาวะความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในปีก่อน เพราะบริษัทได้มีการเพิ่มทุนในเดือนมีนาคมได้เงินมาประมาณ 500-600 ล้านบาท ประกอบกับการกู้เงินจากต่างประเทศมาอีก 800 ล้านบาททำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยของบริษัทในปีก่อนค่อนข้างคงที่

สำหรับแหล่งเงินในปีนี้เขากล่าวว่า "ด้านแหล่งเงินกู้นั้นเรากลัวว่าค่าเงินเหรียญสหรัฐจะแข็งขึ้น เราต้องซื้อลดความเสี่ยง หรือกู้แบบบาสเก็ต (กู้หลายสกุล) แต่คงกู้อีกไม่มากและอาจจะกู้ในไตรมาสสองเพราะไตรมาสแรกคงต้องดูทิศทางก่อน ถ้าเอามาแล้วไม่ได้ปล่อยก็จะเป็นภาระดอกเบี้ยของเราอีก"

เรืองกิตต์ มองว่าปีนี้ดอกเบี้ยอาจจะอ่อนตัวลง เนื่องจากโครงการใหม่ๆ ใหญ่ๆ ของภาคเอกชนคงจะเกิดขึ้นไม่มากอาจจะมีก็จากภาครัฐ ฉะนั้นเงินระยะสั้นอาจจะเหลือ ทำให้ดอกเบี้ยระยะสั้นลดลง 1-1.5% ดังนั้นปีนี้ SGF อาจจะกู้ภายในประเทศก็เป็นได้

ในส่วนของนครหลวงแฟคตอริ่งนั้น ผไทบดีเปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีสาขาอยู่ 3 แห่ง คือที่ ศรีนครินทร์ สุขสวัสดิ์และหนองแขม คาดว่าปีนี้จะเปิดเพิ่มขึ้นอีก 1-2 แห่ง โดยเดือนนี้จะเปิดสาขาใหม่ที่นนทบุรี บริษัทมีทีมการตลาดในสำนักงานใหญ่ประมาณ 15 คน และประจำสาขาอีกสาขาละ 2 คน

ทั้งนี้นโยบายยังคงเน้นเรื่องคุณภาพสินเชื่อและการให้บริการ ซึ่งผไทบดีมองว่าเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่ง พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า การเก็บหนี้จะมีการแจ้งให้ลูกค้าทราบทุกระยะ เมื่อถึงกำหนดจัดเก็บแล้วเก็บเงินได้หรือไม่ บริษัทจะแจ้งลูกค้าอย่างช้าในวันรุ่งขึ้น ซึ่งลูกค้าสามารถโทรฯ เช็กได้ จะไม่มีที่ว่าไปเก็บบริษัทไปเก็บช้ากว่ากำหนดแล้วลูกค้าก็ต้องรับภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และจะพยายามเก็บหนี้ให้ใกล้เคียงกับที่ลูกค้าไปเก็บเองมากที่สุด

"เราจะคิดอัตราดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือนตามจำนวนวันที่ลูกค้านำเงินไปใช้ ที่ไม่ใช้วิธีส่วนลด (Discoun) เนื่องจากทุกสิ้นเดือนถ้าบิลเก็บไม่ได้ตามที่หักส่วนลดไว้ก็ต้องมาคิดกันอีกในภายหลัง ซึ่งจะไม่เหมาะสมนักกับธุรกิจแฟคตอริ่ง" ผไทบดีขยายความ

พอร์ตสินเชื่อของบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าขนาดกลางถึงเล็ก ซึ่งจะยังคงเน้นต่อไป เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่มักจะมีแหล่งเงินทุนมากกว่า ขณะที่รายเล็กๆ มีแหล่งทุนที่จำกัด ซึ่งจะเหมาะสมกับนครหลวงฯ นอกจากนี้ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงอีกด้วย ซึ่งไม่เฉพาะแต่จุดนี้นครหลวงฯ มีการกระจายความเสี่ยงไปในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งโตจนเกินไป สำหรับปีนี้อุตสาหกรรมที่ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากที่สุดคือสิ่งทอ และเหล็ก

นอกจากนี้ SCIF ยังได้เข้าเป็นสมาชิกของ Factors Chains International (FCI) เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ซึ่งทำให้บริษัทสามารถขยายบริการออกไปในต่างประเทศ มีการทำแฟคตอริ่งส่งออกและนำเข้าด้วย โดย FCI Chains นับเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ คือมีบริษัทสมาชิก 122 แห่ง ใน 46 ประเทศทั่วโลก

ในส่วนของแหล่งเงินทุนนั้น ส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันทั้งในและต่างประเทศ และในปีนี้บริษัทมีแผนงานจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย โดยทำการจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และผ่านการอนุมัติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วเมื่อปลายปี 2539 ขณะนี้กำลังรอดูจังหวะกระจายหุ้นเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปีนี้ โดยจะเพิ่มทุนจาก 180 ล้านบาท เป็น 250 ล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์การแข่งขันของ บงล.วอลล์สตรีท ปีนี้ ยงยุทธ เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการปรับปรุงซอฟต์แวร์ใหม่ โดยพัฒนาร่วมกับบริษัทซิลเวอร์เลค ซึ่งมีฐานอยู่ในมาเลเซีย ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบและปรับปรุงแก้ไข คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาสสอง

ปกติการคิดอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจแฟคตอริ่งจะแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ การให้ส่วนลด การชำระดอกเบี้ย ณ สิ้นเดือน และการจ่ายแบบบอลรูม (Ballroom Payment) ซึ่งเอกสารประเภทบิลวอลล์สตรีทจะคิดแบบบอลรูม และถ้าเป็นบิลประกอบเช็คจะคิดแบบให้ส่วนลด

"เมื่อซอฟต์แวร์เสร็จ เราจะเป็นแห่งเดียวที่ขายสินค้าได้ทุกประเภท ลูกค้าจะเลือกได้ว่าอะไรที่เหมาะสมกับเขา ถ้าเป็นบิลจะคิดได้ทั้ง 3 แบบ แต่ถ้าบิลประกอบเช็คจะคิดแบบให้ส่วนลดอย่างเดียว ซึ่งจะยืดหยุ่นมาก ในส่วนค่าธรรมเนียมเราก็จะคิดได้ทั้ง 2 วิธี คือคิดตามมูลค่าของเอกสารนั้น เช่น 0.5% หรือ 0.25% หรือจะคิดแบบคงที่เป็น 200, 300 หรือ 500 บาทก็ได้" ยงยุทธกล่าว

ซอฟต์แวร์ที่สมบูรณ์แบบจะช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่ และช่วยให้ขั้นตอนการทำงานของพนักงานน้อยลง ทุกวันนี้วอลล์สตรีทมีพนักงาน การตลาดและวิเคราะห์สินเชื่อแฟคตอริ่งประจำสำนักงานใหญ่เพียง 4 คน และฝ่าย ประสานงานอีก 4 คน ในส่วนที่ประจำสาขาจะเป็นพนักงานรวมของบริษัททำหน้าที่ด้านนี้ด้วยยังไม่มีการแยกอย่างชัดเจน

วอลล์สตรีทมีสำนักอำนวยสินเชื่อทั้งสิ้น 5 แห่ง ซึ่งในปีนี้จะเปิดเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง เมื่อรวมกับที่เยาวราชแล้วจะมีสำนักอำนวยสินเชื่อรวมภายในปีนี้ 11 แห่งแต่ละแห่งมีพนักงานประจำ 7 คน

ยงยุทธ เล่าว่า "พนักงาน 7 คน ต้องทำได้ทุกอย่าง ขายได้หมด ไม่ใช่ว่าเพิ่มคนสำหรับทำแฟคตอริ่งโดยเฉพาะ ขณะนี้เปิดดำเนินการเรื่องแฟคตอริ่งใน 2 สาขา คือที่ตรังและเชียงใหม่เท่านั้น แต่หลังจากซอฟต์แวร์ใหม่เสร็จ เราจะบุกทั่วประเทศ"

การทำแฟคตอริ่งเป็นแผนกหนึ่งในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จะมีความได้เปรียบในเรื่องที่สามารถขายสินเชื่อแฟคตอริ่งแบบเป็นแพ็กเกจ หรือเป็นโปรเพจไฟแนนซ์ได้ ซึ่งยงยุทธก็ใช้แนวทางนี้ในการขยายตลาดเช่นกัน โดยมีฐานลูกค้าจากวอลล์สตรีท เขามองว่าแฟคตอริ่งเป็นสินเชื่อชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้วอลล์สตรีทมีบริการสินเชื่อที่ครบวงจรมากขึ้น

"ปีนี้เราเน้นงานราชการ และวิสาหกิจเป็นหลัก สิ่งที่เราแข่งได้คือเราจัดแพ็กเกจให้เรามีหนังสือรับประกันงานให้ เรามีเงินหมุนเวียนประเภทอื่น เช่น จัดตั๋วสัญญาใช้เงินให้ส่วนหนึ่งเมื่อเริ่มทำงาน เมื่องานเสร็จก็มาขายงวดงานกับเรา เราจะจัดกับลูกค้าเลยว่าเขาควรจะบริหารเงินอย่างไรโดยทำเป็นวงจรซึ่งจะเป็นจุดขายของเราในปีนี้" ยงยุทธยกตัวอย่าง

อย่างไรก็ตามภาพของแฟคตอริ่งในลักษณะนี้อาจจะไม่ชัดเจนเท่าการจัดตั้งออกมาเป็นบริษัทแฟคตอริ่งโดยตรง ซึ่งจะดูเป็นมืออาชีพมากกว่า

การที่วอลล์สตรีทหันมาเน้นงานราชการ เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงในเรื่องการไม่ได้รับชำระเงิน แต่อาจจะเสี่ยงในการได้รับชำระเงินช้า ซึ่งบริษัทก็สามารถเรียกค่าปรับกับลูกค้าได้

นอกจากนี้หากพิจารณากันดีๆ แล้วจะพบว่าไฟแนนซ์มีความได้เปรียบในตลาดงานราชการเนื่องจากเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว ขณะที่บริษัทแฟคตอริ่งโดยตรงอาจจะมีปัญหาที่หน่วยงานราชการบางแห่งไม่ยอมรับเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง เนื่องจากไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับแฟคตอริ่งอย่างชัดเจนออกมา

ในส่วนของลูกค้าเอกชน วอลล์สตรีทเน้นที่ลูกค้าขนาดกลาง ซึ่งมีวงเงินประมาณ 10-20 ล้านบาทเป็นหลัก โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากส่วนต่างของดอกเบี้ยค่อนข้างดี ขณะที่รายใหญ่วอลุ่มสูงแต่ส่วนต่างน้อย รายเล็กก็มีความเสี่ยงสูงปัจจุบันพอร์ตลูกค้าแฟคตอริ่งของวอลล์สตรีทเป็นลูกค้าขนาดกลางกว่า 50%

แม้ในปีนี้จะมีบริษัทต่างๆ ทั้งแฟคตอริ่งโดยตรง และที่เปิดแฟคตอริ่งเป็นบริการเสริมเข้ามาเล่นในตลาดนี้มากขึ้นแต่กว่าที่บริษัทเปิดใหม่เหล่านี้จะแข่งขันได้อย่างเต็มที่ยังไม่สามารถทำได้ภายในเวลา 1-2 ปี นอกจากนี้มูลค่าตลาดรวมของแฟคตอริ่งก็เติบโตขึ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงประมาณ 30-40% มาโดยตลอดบรรดาผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงมองว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้ยังคงไม่รุนแรงนักเมื่อเทียบกับธุรกิจการเงินอื่นๆ และยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก อย่างไรก็ดีการพยายามพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้มีความพร้อมในการแข่งขันคือปรัชญาของความไม่ประมาท

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us