ทศพงศ์ จารุทวี กรรมการผู้จัดการบริษัทแนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) เคยสร้างความฮือฮาให้เกิดขึ้นในวงการอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย
เมื่อเข้าไปเสนอซื้อหุ้นใหญ่ในโครงการทางรถไฟและทางด่วนยกระดับโฮปเวลล์การได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตลอด
2 ข้างทางรถไฟระยะทางยาวประมาณ 60.1 ก.ม. จำนวนประมาณ 600 ไร่ โดยที่หลายแปลงเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในย่านใจกลางเมืองนั้นคือจุดสำคัญในการตัดสินใจของเขา
ลึกๆ ลงไปยิ่งกว่านั้นทศพงศ์ก็มีแผนการอยู่ในใจแล้วว่า เมื่อระบบขนส่งมวลชนเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ในอนาคตข้างหน้าการใช้ประโยชน์ที่ดินปลายทางแถบดอนเมือง รังสิต และอยุธยา
ในรูปของการทำเมืองใหม่ไม่ยากเย็นนัก นักพัฒนาที่ดินสามารถรุกคืบไปยังธุรกิจขนส่งมวลชนเพื่อแก้ปัญหาราคาที่ดินใจกลางเมืองที่ถีบตัวสูงขึ้นทุกวันจนสร้างที่อยู่อาศัยได้ยาก
นี่คือมิติใหม่อีกเรื่องหนึ่งที่ทศพงศ์หวังให้เกิดขึ้นในวงการที่ดิน
หลังเป็นข่าว คำถามต่างๆ ได้เกิดขึ้นในใจของหลายๆ มากมาย เช่น แนเชอรัลพาร์คต้องใช้เงินจำนวนมากจะเอาเงินมาจากไหน?
เป็นหุ่นเชิดให้ใครหรือเปล่า? มีใครอยู่เบื้องหลัง? และทศพงศ์เป็นใคร?
ทศพงศ์ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของบรรดาสื่อมวลชนมากนัก เขาเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทมหาชนที่ค่อนข้างเก็บตัว
ในห้วงเวลาที่ข่าวของเขาขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์ธุรกิจนั้น หลายฉบับพยายามติดต่อสัมภาษณ์เขา
แต่เขายังปฏิเสธที่จะให้ข่าว พร้อมทั้งมีข่าวแว่วๆ ว่ายังสั่งให้ทีมงานปิดปากเงียบอีกด้วย
และยังเงียบอยู่จนถึงวันนี้
กลางเดือนธันวาคม 2539 ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกทางด้านการเงินโครงการโฮปเวลล์
เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ทางธนาคารยังจัดทำแผนโครงสร้างทางการเงินยังไม่แล้วเสร็จเพราะโครงการนี้มีความซับซ้อนมาก
ส่วนสัดส่วนผู้ถือหุ้นล่าสุดนั้นทางแนเชอรัลพาร์ค ก็อาจจะเป็นผู้ถือหุ้นเพียง
20% เท่านั้น แทนที่จะเป็น 49% อย่างที่หวังไว้ เพราะโฮปเวลล์คงไม่ยอมให้การบริหารตกไปอยู่กลุ่มอื่นเป็นแน่เช่นกัน
ในขณะเดียวกันสภาพของธุรกิจที่ดินก็ยังคงไม่มีวี่แววจะสดใสต้อนรับรัฐบาลชุดใหม่แต่อย่างใด
ที่ดินแปลงใหญ่ของรถไฟที่ทศพงศ์ต้องการมีเอี่ยวด้วย หรือการหวังที่จะทำโครงการเมืองใหม่ชานเมืองเป็นเรื่องที่อาจจะยังคงเลื่อนลอย
การลงทุนเพื่อซื้ออนาคตเหล่านั้นจะคุ้มกันหรือไม่ เป็นเรื่องที่วันนี้ทศพงศ์อาจจะต้องคิดหนัก
เมื่อมองย้อนกลับมาที่บริษัทแนเชอรัลพาร์คเองก็พบว่าจากที่เคยทำกำไรได้มาตลอด
ผลประกอบการเฉพาะไตรมาสที่ 3 นี้ (งบเดี่ยว) เริ่มประสบกับภาวะขาดทุน 31.32
ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.08 บาท เปรียบเทียบกับปีก่อนในไตรมาสเดียวกันที่มีกำไร
493.17 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 3.91 บาท
ในงวด 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทขาดทุน 14.62 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น
0.04 บาท ขณะที่ในงวดเดียวกันของปี 2538 มีกำไรสุทธิ 577.20 ล้านบาทกำไรต่อหุ้น
4.58 ล้านบาท
ทศพงศ์กำลังมีสินค้าร้อนๆ อยู่ในมือหลายโครงการ โดยเฉพาะสินค้าที่ได้มาจากการเทกโอเวอร์
ซึ่งเป็นสไตล์ในการทำธุรกิจที่ถนัดของเขา ในระยะหลังเป็นที่รู้กันว่าในวงการพัฒนาที่ดินบ้านเรา
ในช่วงเวลาที่ประสงค์ พานิชภักดี แห่งค่ายสมประสงค์กรุ๊ป ขายโครงการทุกอย่างที่ขายได้
ทศพงศ์ก็เคยรุกไล่ซื้อโครงการอย่างดุเดือดเช่นกัน
บริษัทแนเชอรัลพาร์ค จัดตั้งเป็นบริษัทเมื่อปี 2531 เข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี
2535
บทบาทการเทกโอเวอร์โครงการของทศพงศ์เริ่มจุดประกายขึ้นอย่างน่าสนใจตั้งแต่ปี
2537 ด้วยการซื้อสนามกอล์ฟพร้อมๆ กัน 3 สนาม คือ สนามกอล์ฟวินสัน สนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ท
และปัญหาฮิลล์ พร้อมๆ กับการเข้าไปเทกโอเวอร์กิจการบางส่วนของโครงการบางกอกการ์เด้นท์
ของตระกูลโสภณพนิช รวมทั้งการเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทน้อมอนันต์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินประมาณ
26 ไร่เศษ บนถนนราษฎร์บูรณะ
ทศพงศ์ซื้อหุ้นในบริษัทสันติสิน ซึ่งเป็นบริษัทของอุกฤษ มงคลนาวิน และสันติ
ภิรมย์ภักดี ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่บนถนนรามอินทรา และสายสัมพันธ์ในครั้งนั้นทำให้ต่อมาในต้นเดือนกุมภาพันธ์
2538 เขาได้เข้าไปซื้อสนามกอล์ฟวินสัน และทรัพย์สินอื่นๆ ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทวินสันกอล์ฟคลับ
เป็นมูลค่าถึง 2,619 ล้านบาท
สนามกอล์ฟวินสัน เป็นสนามกอล์ฟ 18 หลุมเนื้อที่ 1,338 ไร่ บนถนนรามอินทราใกล้
ๆ กับโครงการซาฟารีเวิลด์ ในคราวนั้น ดร.อุกฤษ และสันติ ประกาศขายสนามกอล์ฟทิ้งเพราะสภาพที่ซบเซา
และการบริหารขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปีปัจจุบันสนามนี้เปลี่ยนชื่อเป็น แนเชอรัลพาร์ค
รามอินทรากอล์ฟคลับ
ชื่อของทศพงศ์ เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเมื่อเขาเข้าซื้อหุ้น 99.94% ในบริษัทเอ็นแอนด์ซี
พร็อพเพอตี้ เซอร์วิส ของปัญญา ควรตระกูล ซึ่งเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ท
และสนามกอล์ฟปัญญา ฮิลล์ ในอำเภอบางพระ ชลบุรี รวมทั้งคอนโดมิเนียม 81 ยูนิต
บ้านพักรับรอง 5 หลัง ที่ดินรอบๆ สนามกอล์ฟ และที่ดินในส่วนสาธารณูปโภคทั้งหมด
ประมาณ 2,500 ไร่ และที่ดินอีกประมาณ 421 ไร่ ที่ตั้งอยู่ในตำบางชัน เขตมีนบุรี
รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดเป็นเงิน 5,279 ล้านบาท
ดีลธุรกิจที่น่าสนในครั้งนั้นของทศพงศ์ได้สร้างคำถามต่อเนื่องเกิดขึ้นมากมายเช่นกันว่า
ทำไมปัญญาถึงขายสนามกอล์ฟของตัวเองถึง 2 สนาม โดยเฉพาะสนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ทนั้นเป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกของปัญญาที่เขารักมากที่สุดและทำให้ภาพของปัญญา
ที่เคยเป็นเจ้าพ่อสนามกอล์ฟเปลี่ยนไปทันที
และทำไมทศพงศ์ถึงได้เข้ามาซื้อโครงการสนามกอล์ฟในช่วงที่ตลาดสนามกอล์ฟกำลังซบเซา
เพราะขณะนี้เท่ากับว่าเขาเป็นเจ้าของโครงการสนามกอล์ฟถึง 3 สนาม ไม่รวมสนามกอล์ฟในโครงการ
"ปัญญา-แนเชอรัลพาร์ค" ที่วาดแผนไว้ว่าจะเปิดในปลายปีนี้ด้วย (ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป)
ทศพงศ์เคยเปิดใจกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า การซื้อสนามกอล์ฟที่บางพระทำให้เขาได้ที่ดินรอบๆ
สนามกอล์ฟเพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงการมหาวิทยาลัยนานาชาติ ซึ่งเป็นโครงการที่ปัญญาเห็นชอบด้วยแต่ไม่มีความสามารที่จะทำ
ทศพงศ์เคยยืนยันกับ "ผู้จัดการรายเดือน" อีกว่า เป็นเพราะ "คุณปัญญามั่นใจว่าเป็นผมคงไม่ทำให้โครงการอันเป็นที่รักของท่านเสียหายแน่"
ส่วนในเรื่องตลาดสนามกอล์ฟ เขามีความเห็นว่าเป็นช่วงที่ซบเซาจริง แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราไปซื้อสนามไหน
มีทรัพย์สินอะไรที่จะนำมาพัฒนาได้บ้าง โดยเฉพาะสนามกอล์ฟในกรุงเทพฯ นั้นเขาบอกว่าน่าซื้อที่สุดเพราะโอกาสที่จะรวบรวมที่ดินแปลงใหญ่นั้นแทบจะไม่มีแล้ว
การซื้อขายในครั้งนั้น นอกจากได้ที่ดินมาพัฒนา ทศพงศ์ยังได้ปัญญามาเป็นพันธมิตรต่างวัยคนใหม่ที่จะร่วมมือกันพัฒนาที่ดินย่านรามอินทราต่อไป
ขณะที่ปฏิบัติการเชิงรุกของเขากำลังเป็นที่จับตามอง ทศพงศ์ได้สร้างข่าวใหญ่ให้กับวงการอีกครั้งเมื่อเข้าไปเทกโอเวอร์โครงการบางกอกการ์เด้นท์
เฉพาะบางส่วนของบริษัทซิตี้เรียลตี้ ซึ่งมีชาลี โสภณพนิชลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของชาตรีเป็นกรรมการผู้จัดการ
เป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท งานนี้เขาควงแขน บริษัทโอเชี่ยนกรุ๊ปของกลุ่มบริษัทไทยสมุทรเข้ามาเป็นเอี่ยวด้วย
ในนามบริษัทแนเชอรัลสแตนดาร์ด จำกัด
กลุ่มไทยสมุทรเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของทศพงศ์ บริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย
เคยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทแนเชอรัล พาร์ค และปัจจุบัน วีรวุฒิ อัสสกุล
รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย ลูกชายของกฤษณ์เป็นประธานกรรมการบริษัทแนเชอรัลพาร์ค
"บางกอกการ์เด้นท์" เป็นคอนโดมิเนียมพักอาศัยสูง 1218 ชั้นในพื้นที่
23 ไร่บนถนนสาธุประดิษฐ์ เดิมโครงการนี้เป็นของบริษัทสยามนำโชคของกลุ่มยูนิเวสแลนด์
ที่ขายต่อมาให้ชาลีมีทั้งหมดจำนวน 15 อาคาร ทศพงศ์ซื้อไปเพียง 7 อาคารจำนวน
700 ยูนิต บริษัทอิตาเลียนไทยกำลังก่อสร้าง อาคารส่วนที่เหลือยังเป็นทรัพย์สินของบริษัทซิตี้เรสซิเด้นท์
ซึ่งเป็นบริษัทลูกของซิตี้เรียลตี้
ชาลียอมขายโครงการนี้หกับทศพงศ์ก็เพราะว่าปัจจุบันชาลีมีโครงการพัฒนาที่ดินโครงการใหญ่ๆ
หลายโครงการในมือเช่นกัน เช่น โครงการสุขุมวิททาวเวอร์ โครงการรอยัลเลคอเวนิว
โครงการบางกอกซิตี้ทาวเวอร์ รวมทั้งงานพลิกฟื้นสถานการณ์ขอโครงการรอยัลซิตี้อเวนิว
ที่บูมเพราะกิจการผับมาช่วงหนึ่ง แล้วกลับฟุบลงไปอีกครั้งแล้ว
โครงการทั้งหมดนี้ชาลีต้องใช้เม็ดเงินในการพัฒนาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท การตัดขายโครงการบางกอกการ์เด้นท์ไปบางส่วน
เป็นหนทางที่ทำให้การทำงานและสถานะการเงินลื่นไหลขึ้น
ในปี 2538 แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้น
98.34% หรือคิดเป็นสินทรัพย์รวมมูลค่าทั้งสิ้น 20,998.2 ล้านบาทเมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมมูลค่า
10,587.2 ล้านบาท ในปี 2537 ซึ่งก็เท่ากับว่ามีการเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ปี 2539 แนเชอรัลพาร์ค จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยมียอดหนี้สินหมุนเวียนทั้งสิ้น
12,055.55 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 2538 มีเพียง 5,844.58 ล้านบาท
เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังการเทกโอเวอร์โครงการเหล่านั้น? คือสิ่งที่ทุกคนในวงการพากันจับตามอง
โดยเฉพาะโครงการทางด้านสนามกอล์ฟซึ่งใครๆ ก็รู้ว่า มันตายสนิทยิ่งกว่าธุรกิจที่อยู่อาศัยทั่วๆ
ไป
ตอนซื้อสนามกอล์ฟทศพงศ์เคยพูดไว้ชัดเจนว่า เขาซื้อด้วยวิญญาณของพ่อค้าที่มองว่ามันต้องทำกำไรได้ซึ่งมันค่อนข้างขัดแย้งกับคำพูด
ของ เกรียงไกร จารุทวี ผู้เป็นพี่ชาย ที่ดำรงตำแหน่งประธานบริหารบริษัทแนเชอรัล
พาร์ค กอล์ฟ คลับ พูดกับบรรดานักข่าวเมื่อประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า
สาเหตุสำคัญของการเทกโอเวอร์สนามกอล์ฟ เป็นเพราะบริษัทมุ่งมั่นพัฒนากีฬากอล์ฟโดยรง
"เมื่อก่อนนักลงทุนจะมุ่งในการทำสนามกอล์ฟ เมื่อภาวะที่ดินตกต่ำก็เลยต้องพลอยตกต่ำไปด้วย
แต่ของเราไม่ใช่ เราไม่ได้มุ่งเรื่อพัฒนาที่ดิน แต่ต้องการพัฒนากีฬากอล์ฟ"
เกรียงไกรอธิบายในขณะที่ผู้สื่อข่าวอาจจะสับสนเล็กน้อย เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า ถึงแม้เป็นเจ้าของสนามกอล์ฟถึง 3
สนามแต่ทศพงศ์ เล่นกอล์ฟไม่เป็น
ภายหลังจากการเทกโอเวอร์สนามกอล์ฟ 3 สนาม แนเชอรัล พาร์ค ก็ได้ตั้งบริษัท
แนเชอรัล พาร์ค กอล์ฟ คลับขึ้นมาดูแล บริหาร รวมทั้งการสร้างรายได้เข้าบริษัท
เกรียงไกร บอกว่า รายได้จากสนามกอล์ฟในปี 2539 มีมูลค่าประมาณ 130 ล้านบาท
โดยสนามกอล์ฟแนเชอรัล พาร์ค รามอินทรานั้นเป็นสนามที่ทำรายได้มากที่สุด 60
ล้านบาท สนามกอล์ฟแนเชอรัล พาร์ค รีสอร์ท กอล์ฟ คลับ มีรายได้ 40 ล้านบาท
และแนเชอรัล พาร์ค ฮิลล์ กอล์ฟ คลับมีรายได้ 30 ล้านบาท
สนามกอล์ฟที่รามอินทรานั้นเป็นตัวหนึ่งที่ทศพงศ์เคยหวังไว้ว่าจะเป็นตัวทำรายด้หลัก
เพราะเป็นโครงการสนามกอล์ฟที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีความสะดวกในการเดินทางและยิ่งโชคดีซ้ำสองเมื่อมีทางด่วนรามอินทรา
พระราม 9 มาลงหน้าโครงการถึงจะมีคู่แข่ง คือโครงการสนามกอล์ฟปัญญารามอินทราที่ดักอยู่ทางด้านหน้าเป็นคู่แข่งโดยตรงก็เถอะ
จำนวนของผู้เล่นที่นี่ก็ยังไม่เลยร้ายทีเดียว
ส่วนสนามกอล์ฟที่บางพระทั้ง 2 สนามนั้น แน่นอนว่ากำไรย่อมไม่ดีเท่าไหร่
เพราะเป็นสนามกอล์ฟที่มีสนามกอล์ฟแข่งเรียงรายกันไม่ต่ำกว่า 10 สนามในละแวกเดียวกัน
ในขณะที่สนามกอล์ฟที่แนเชอรัลพาร์ค ฮิลล์นั้น กำลังมีการทำถนน 4 เลนทำให้ยิ่งสร้างปัญหาในการเดินทางให้เกิดขึ้นกับนักกอล์ฟอีก
ดังนั้นรายได้จาก 2 สนามนี้ถึงจะมีรายได้จากการเข้ามาใช้ที่พักในคอนโดฯ
บ้านและรายได้จากการจัดสัมมนาเข้ามาเสริมก็ยังไม่กระเตื้องข้น
"คุณทศพงศ์คงต้องรอเวลา เพราะขณะนี้ธุรกิจของการเล่นกอล์ฟยังทรงๆ อยู่ไม่ดีขึ้นเลย
จุดดีของเขาอยู่ที่ว่าใกล้กรุงเทพฯ และปัจจุบันไม่มีสนามใหม่เกิดขึ้น ส่วนโครงการที่บางพระอาจจะมีปัญหาหน่อยตรงที่ว่ามีคู่แข่งเยอะมาก"
แหล่งข่าวจากบริษัทซื้อขายสิทธิสนามกอล์ฟรายหนึ่งให้ความเห็น
โครงการบางกอกการ์เด้นท์ บนถนนสาธุประดิษฐ์เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เป็นผลงานการเข้าไปซื้อโครงการของทศพงศ์ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายเมื่อปลายปี
2538 ราคาประมาณ 2,155 ล้านบาทโดยครั้งนั้นได้จ่ายค่ามัดจำเป็นเงิน 151 ล้านบาท
วันนี้ตัวโครงการกำลังก่อสร้าง 8 ตึก สูง 18 ชั้นจากทั้งโครงการที่มีจำนวนตึกรวม
15 หลังใน 8 ตึกนี้เป็นของแนเชอรัลพาร์ค 7 ตึก ที่เหลืออีก 1 ตึก เป็นของบริษัทซิตี้เรียลตี้
และเป็นตึกเดียวที่กำลังขายอยู่ในราคาตารางเมตรละประมาณ 2.7 หมื่นบาท
จากการพยายามสอบถามของ "ผู้จัดการรายเดือน" ไปยังบริษัทแนเชอรัลพาร์ค
และซิตี้ เรียลตี้ ทั้ง 2 บริษัทไม่ได้ให้รายละเอียดในเรื่องนี้มากนัก พนักงานขายของบริษัทซิตี้เรียลตี้บอกเพียงแต่ว่าขณะนี้กำลังเปิดขายเพียง
1 ตึก ที่เหลือต้องรอทางแนเชอรัลพาร์ค ในขณะที่ทางแนเชอรัลพาร์คบอกว่ายังไม่มีแผนการให้เปิดขายโครงการนี้
ทั้งๆ ที่การก่อสร้างคืบหน้าไปเกือบเสร็จแล้ว
ในขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงจากธนาคารกรุงเทพยืนยันว่า ทศพงศ์ถูกซิตี้เรียลตี้ยึดเงินมัดจำไปเรียบร้อยแล้ว!
อีกโครงการหนึ่งที่เลื่อนการเปิดตัวไปอีกแล้วก็คือโครงการบ้านจัดสรรโครงการที่
2 ของทศพงศ์คือโครงการที่ทำร่วมกับปัญญากรุ๊ป โครงการนี้ชื่อว่า "ปัญญา-แนเชอรัล
พาร์ค" ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ระหว่างสนามกอล์ฟปัญหา และสนามกอล์ฟแนเชอรัล
พาร์ค (สนามกอล์ฟวินสัน) ตอนแรกวางแผนไว้ว่าจะเปิดตัวภายในปี 2539 นี้ เป็นบ้านระดับมหาเศรษฐี
ราคาเริ่มต้นที่หลังละ 50 ล้านบาทขึ้นไปมูลค่าทั้งโครงการประมาณ 16,000 ล้านบาท
ล่าสุดหลังจากเปลี่ยนแบบโครงการไปแล้วหลายครั้ง แหล่งข่าวจากโครงการเปิดเผยว่าอาจจะเปิดตัวได้ประมาณกลางปี
2540 โดยที่ระดับราคาบ้านอาจจะลดลงบางส่วนจะเหลือเพียงราคาหลังละ 20 ล้านบาทซึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ทางการตลาดยังไม่ค่อยดี
การขายบ้านราคาสูงมากๆ อาจจะมีปัญหาว่าขายไม่ออกก็ได้
แน่นอนว่าแนเชอรัล พาร์ค จำเป็นต้องลดเพดานราคาบ้านระดับสูงลงมาเพราะไม่อยากจะเจอปัญหาทางการเงินที่มีอยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีกนั่นเอง
ส่วนโครงการที่กำลังแข่งกันขายในตลาดอย่างหนักตอนนี้ของทศพงศ์จะมีโครงการ
เดอะแนเชอรัล เพลสสวีท พหลโยธิน ซึ่งสร้างในพื้นที่ 23 ไร่ จำนวน 2 ตึกประมาณ
1,400 ยูนิต ราคาเริ่มต้นที่ 1.6 ล้านบาท
"เดอะแนเชอรัล เพลสสวีท" ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน เยื้องๆ กับศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาด
พร้าว ซึ่งบนถนนสายเดียวกันใกล้ๆ กันนั้นมีคู่แข่งโครงการที่อยู่อาศัยใหญ่ๆ
หลายโครงการ เช่น บากอกโดมของค่ายยูนิเวสแลนด์, ศุภาลัย ปาร์ค ของประทีป
ตั้งมติธรรม หรือแม้แต่ตึกช้างของดร.อรุณ ชัยเสรี ที่มีระดับราคาขายใกล้เคียงกัน
แต่อย่างไรก็ตามโครงการของทศพงศ์ก็มีทีท่าว่ายอดขายจะไปได้สวยงาม ในขณะที่การก่อสร้างคืบหน้าไปมากแล้ว
และจะเริ่มโอนให้ลูกค้าได้ประมาณกลางปี 2540
อีกโครงการหนึ่งที่กำลังก่อสร้างคือโครงการ "แนเชอรัลโฮม รังสิต"
ในเขตอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีพื้นที่ประมาณ 335 ไร่ ราคาเริ่มต้นที่
2.4 ล้านบาท-16 ล้านบาท โครงการนี้เป็นที่อยู่อาศัยในรูปแบบบ้านจัดสรรโครงการแรกของบริษัท
และเลื่อนการเปิดตัวมาหลายครั้งหลายคราตั้งแต่ปี 2537
เมื่อโครงการนี้เปิดตัว สนามการแข่งขันบนถนนสายนี้ก็ร้อนระอุขึ้นมาทันที
คู่แข่งรายสำคัญก็คือเจ้าถิ่นเก่า วังทองกรุ๊ปและยักษ์ใหญ่แลนด์แอนด์เฮ้าส์
ซึ่งทั้งวังทอง และแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ต่างมีโครงการที่อยู่อาศัยในระดับราคาเดียวกัน
เมื่อวังทองและแสนด์แอนด์เฮ้าส์ มองว่าแนเชอรัลโฮมเป็นคู่แข่ง แนเชอรัลฯ
เองก็ย่อมมองว่าทั้ง 2 บริษัทเป็นหอกข้างแคร่ที่สำคัญเช่นกัน
วันนี้การแข่งขันกันขายของ 3 โครงการนี้จึงมัดหยุด และแน่นอนมันทำให้ยอดขายของแนเชอรัลโฮมถึงเป้าหมายช้าลงเหมือนกัน
นอกจากภาระทางด้านเงินทุนที่ต้องเตรียมไว้พัฒนาโครงการต่างๆ ที่ไปซื้อมาและเข้าไปร่วมทุนแล้ว
งานขายโครงการใหญ่ๆ ที่กำลังก่อสร้าง รวมทั้งแผนฟื้นฟูสนามกอล์ฟ ล้วนแล้วแต่เป็นงานค่อนข้างหนักในภาวการณ์อย่างนี้
แล้วทำไมเขายังกล้าเข้าไปเสียบโครงการโฮปเวลล์ โครงการขนส่งมวลชนค้างสต็อกที่เกือบจะบูดเน่ามากว่า
6 ปีนั้น
ในเมื่อโครงการในมือของเขาตอนนี้มันก็ของร้อนทั้งนั้น!