Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2540
สงครามบนหน้าปัดวิทยุ ถึงบทอวสาน คลื่นข่าว??             
 


   
www resources

INNNEWS Homepage
โฮมเพจ เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป
โฮมเพจ แมเนเจอร์มีเดีย กรุ๊ป

   
search resources

เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป, บมจ.
แมเนเจอร์มีเดีย กรุ๊ป, บมจ.
สำนักข่าวไอ เอ็น เอ็น
มีเดียพลัส, บจก.
สุทธิชัย หยุ่น
สนธิญาณ หนูแก้ว
Radio
รุ่งมณี เมฆโสภณ




มืออาชีพทางด้านข่าวจากสิ่งพิมพ์เกือบทุกค่ายตบเท้าเข้าสู่ "คลื่นวิทยุ" หลังจากพบว่าวิทยุก็เป็นอีกสื่อหนึ่งที่ตอบสนองความต้องการข่าวสารได้ไม่แพ้สื่ออื่นๆ และยังอาจเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกกว่าสื่อประเภทอื่น

เริ่มจากกลุ่มเนชั่นที่รายงานข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซีย การผลิตข่าวต้นชั่วโมงป้อนให้กับสถานีวิทยุในสังกัดกองทัพบก การกำเนิดของจส.100 ที่ยึดกลุ่มผู้ฟังที่เป็นผู้ใช้รถใช้ถนนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมทั้งคู่แข่งธุรกิจ กลุ่มวัฎจักร กลุ่มผู้จัดการ ที่หันมาจับจองคลื่นวิทยุกันคนละคลื่นสองคลื่น

ทางฟากของหน่วยงานรัฐเอง ไม่ว่าจะเป็นองค์การสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ก็กันคลื่น 100.5 ไว้สำหรับเป็นคลื่นข่าว และมีสำนักข่าวไทยทำหน้าที่ผลิตข่าวต้นชั่วโมงป้อนให้กับคลื่นวิทยุในสังกัดทั้ง 6 คลื่น รวมถึงกรมตำรวจที่มีการจัดตั้งศูนย์ผลิตรายการและข่าวของกรมตำรวจ (ศผข.) เพื่อผลิตรายการผ่านเครือข่าย 44 สถานีของกรมตำรวจทั่วประเทศ และการเกิดคลื่นสวพ.91 เพื่อรายงานสภาพการจราจร

เม็ดเงินก้อนโตหลั่งไหลสู่คลื่นข่าวจะเห็นได้ว่ายอดโฆษณาเริ่มเข้าสู่คลื่นข่าว (ดูตารางยอดโฆษณาสูงสุด) แทนที่จะเป็นคลื่นเพลงทั้งหมดเช่นในอดีต

แต่เส้นทางของ "คลื่นข่าว" ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เมื่อการแข่งขันเริ่มรุนแรงความเปราะบางของสัมปทาน และปัญหาต้นทุนผลิตเริ่มเป็น บทพิสูจน์ความลำบากของคลื่นข่าว

เกิดอะไรขึ้นกับสถานีข่าว?

ทางตันของไอเอ็นเอ็น

เส้นทางชีวิตอันโชกโชนของ "สนธิญาณ หนูแก้ว" ที่ผ่านมา คงไม่ต่างอะไรไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น (INDEPENDENCE NEWS NETWORKS) ที่เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งในเวลานี้เท่าใดนัก

ใครจะคิดว่าสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นหนึ่งในต้นตำรับของสถานีข่าวสาร 24 ชั่วโมงจะถูกเขี่ยออกจากคลื่นวิทยุ 102.5 เมกะเฮิรตย์ เมื่อยอดสปอตโฆษณาของไอเอ็นเอ็นถูกจองเต็มตลอดทั้งปี 2540 และลึกลงไปกว่านั้นไอเอ็นเอ็นยังเป็นเครือข่ายของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ภายใต้คำสั่งแบบฟ้าผ่าของกองทัพอากาศ เจ้าของคลื่น 102.5 ส่งผลให้ไอเอ็นเอ็นต้องสูญเสียที่มั่นทางธุรกิจทันที พนักงานร่วม 200 ชีวิตต้องถูกลอยแพ และค่าใช้จ่ายที่ต้องแบบรับอีกเดือนละ 4-5 ล้านบาท

ในเวลาเดียวกันเจเอสแอล ผู้ผลิตรายการบันเทิงบนหน้าจอทีวี ก็มี "สื่อวิทยุ" เป็นตัวต่อยอดที่ใช้เพื่อสร้างศักยภาพของธุรกิจบันเทิงในมือ ในการปูทางเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ไอเอ็นเอ็น ถือกำเนิดขึ้นมาจาก "ข่าวด่วนพล.1" เริ่มมาจากแนวคิดของพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการของพล.1ในขณะนั้น ต้องการปรับปรุงวิทยุเอเอ็มพล.1 ให้เป็นระบบสเตอริโอ จึงนำเรื่องมาเสนอกับจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลเปรมติณสูลานนท์ในสมัยนั้น

จิรายุนำเรื่องมาปรึกษากับสนธิญาณซึ่งในขณะนั้นทำงานอยู่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ก็มีความสนใจในเรื่องสื่อวิทยุมานาน เพราะมองเห็นว่าสื่อวิทยุจะมีบทบาทมากขึ้น แม้จะเป็นสื่อเสริมแต่ก็เป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้สะดวกและง่ายที่สุด และที่สำคัญมีราคาถูกคนทั่วไปหาซื้อเครื่องรับได้ในราคาไม่กี่สตางค์

สิ่งที่สนธิญาณมองเห็นมากไปกว่านั้น การนำเสนอในรูปแบบของ "ข่าวสาร" ที่ยังเป็นช่องว่างอยู่ในเวลานั้นเพราะคลื่นบนหน้าปัดในเวลานั้นถูกใช้เวลาไปกับ "เพลง" แทบทังสิ้น

"ข่าวด่วนพล.1" จึงเป็นก้าวแรกขอไอเอ็นเอ็นที่เริ่มต้นขึ้นมาในเดือนมกราคม 2532 แต่ต้องประสบกับภาวะขาดทุนมาตั้งแต่เริ่ม เพราะแนวคิดของสนธิญาณ คือ ต้องการทำเป็นศูนย์ข่าวเพื่อให้ได้ข่าวที่สมบูรณ์ และสดมากที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนในเรื่องกำลังคนเป็นจำนวนมากสวนทางกับรายได้ จึงต้องอาศัยบริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ มาเกื้อหนุนตลอดเวลา

"เราทำข่าวด่วนพล.1 เรามีต้นทุนสถานีละ 4 แสนบาทต่อเดือน ในขณะที่คนอื่นเขามีต้นทุน 150 บาทในการซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่าน แต่เราต้องใช้คน 30 คน กระจายไปตามแหล่งข่าว แต่ค่าโฆษณาในเวลานั้นสปอตละ 130 บาท ดีที่เรามีธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทปูนซีเมนต์ไทยมาช่วยประคับประคอง" สนธิญาณเล่า

แม้ต้องประสบภาวะลำบากในเชิงธุรกิจแต่สนธิญาณยังเดินหน้าต่อ เมื่อครั้งที่มีการประมูลคลื่นวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์เป็นครั้งแรกในสมัยของมีชัย วีระไวทยะ ไอเอ็นเอ็นได้กระโดดเข้าร่วมประมูล โดยเสนอทำ 2 คลื่น คือ คลื่นสร้างสรรค์และคลื่นข่าวแต่ในที่สุดก็ต้องพลาดหวัง ไอเอ็นเอ็นจึงเบนเข็มมาอยู่ที่คลื่น 102.5 ของกองทัพอากาศผลิตข่าวต้นชั่วโมงป้อน

การเริ่มต้นที่กองทัพอากาศ เป็นจุดเริ่มที่ทำให้สนธิญาณโคจรมาพบกับอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ เจ้าพ่อดีเจผู้ก่อตั้งมีเดียพลัสซึ่งกำลังหาพันธมิตรทางด้านข่าวอยู่พอดีและก็เป็นเวลาเดียวกับที่สนธิญาณกำลังต้องการหา "เวที" ใหม่ๆ ให้กับไอเอ็นเอ็น การร่วมมือของทั้งสองจึงเกิดขึ้น

หลังจากการจับมือกับมีเดียพลัสในครั้งนี้ ไอเอ็นเอ็นก็มีโอกาสขยายเข้าไปยังคลื่น 94.5 ของกองทัพบกที่ไปร่วมประมูลกันมาได้ และกลายเป็นสถานีวิทยุทางด้านข่าวแห่งแรกๆ ในช่วงเวลานั้น

นอกจากนี้ยังนำพาไปสู่การร่วมมือกับไทยสกายทีวี ของคีรี กาญจนพาสน์ในเวลาต่อมา เพราะความใฝ่ฝันของสนธิญาณคือ ต้องการให้ไอเอ็นเอ็นเป็นศูนย์ข่าวเพื่อป้อนให้กับสื่อวิทยุโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ดังเช่นสำนักข่าวในต่างประเทศที่สำคัญๆ

ข้อตกลงกันในครั้งนั้นถึงขั้นที่ว่าจะปรับปรุงให้ไทยสกายทีวีเป็นสถานีข่าวสารและหากเป็นไปตามที่วางไว้ไอเอ็นเอ็นจะมีโอกาสเข้าสู่สื่อโทรทัศน์อย่างเต็มตัว แต่ภายหลังจากคีรีขายหุ้นในไทยสกายทั้งหมดให้กับกลุ่มวัฏจักร นโยบายทั้งหมดถูกรื้อใหม่ฝันของไอเอ็นเอ็นก็สลาย

แม้จะถูก "เด้ง" ออกมาจากไทยสกายทีวี แต่บารมีของสำนักงานทรัพย์สินฯ ยังมีอยู่กลุ่มวัฏจักรจึงยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่ไอเอ็นเอ็นใช้ไปในช่วงเตรียมงานพร้อมกับยอมโอนคลื่น FM.102.5 ให้กับไอเอ็นเอ็น

คลื่น FM. 102.5 นั้นแต่เดิม โน๊ต โปรโมชั่น ซึ่งมีรายการเพลงไทย "อัลบั้มโน๊ต" ได้เช่าเวลาจากกองทัพอากาศ แต่ภายหลังถูกมีเดียพลัสเทกโอเวอร์ไปจนกระทั่งกลุ่มวัฏจักรได้เข้ามาซื้อหุ้นของมีเดียพลัสคลื่น 102.5 จึงตกมาอยู่ในมือของกลุ่มวัฏจักร ก่อนมาเป็นของไอเอ็นเอ็น

เมื่อได้คลื่น FM. 102.5 มาไอเอ็นเอ็นจึงปักธงกับธุรกิจวิทยุอีกครั้ง และในคราวนี้สนธิญาณได้ดึงเอาอิทธิวัฒน์พันธมิตรเก่าแก่เข้ามาร่วมด้วย

"ตอนนั้นกองทัพอากาศเห็นว่าเราผลิตข่าวป้อนให้อยู่แล้ว ก็เลยไม่ขัดข้องที่จะให้ไอเอ็นเอ็นเช่าเวลาต่อจากมีเดียพลัส" สนธิญาณเล่า

จนกระทั่งในปี 2536 สำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดให้มีการประมูลทีวีเสรีขึ้น ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมประมูลและสนธิญาณผลักดันไอเอ็นเอ็นเข้าเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ร่วมกับผู้ถือหุ้นอื่นๆ และสยามทีวีก็สามารถคว้าชัยชนะมาได้ ในครั้งนั้นสนธิญาณออกแรงเต็มที่ เพราะหมายมั่นปั้นมือจะให้ไอเอ็นเอ็นผลิตข่าวป้อนให้แต่หลังจากมีการจัดเตรียมทีมบริหารได้ไม่นานสนธิญาณก็ต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้ง

หลังจากไอเอ็นเอ็นถอนตัวออกจากทีวีเสรี สนธิญาณก็หันมาทุ่มเทให้กับไอเอ็นเอ็นอย่างเต็มตัวอีกครั้ง ดูแลทั้งในด้านของธุรกิจและด้านโฆษณาเอง มีการเพิ่มบุคลากรเป็นจำนวนมากและสถานการณ์ของไอเอ็นเอ็นก็เริ่มกระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ

ความโดดเด่นของไอเอ็นเอ็น อยู่ที่การวางฟอร์แมทรายการที่เน้นในเรื่องของ "ความเร็ว" ในการนำเสนอข่าว ด้วยรูปแบบรายการของฮอทไลน์นิวส์และข่าวด่วนไอเอ็นเอ็น ซึ่งจะมีการ "อัพเดท" ข่าวทุกครึ่งชั่วโมงเพื่อรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด

ยิ่งไปกว่า "ความแรง" และ "ความกล้า" ในการนำเสนอข่าวเป็นสิ่งที่ทำให้ไอเอ็เอ็นมีความโดดเด่นอย่างมากจุดนี้สนธิญาณได้พยายามใช้เป็นแต้มต่อเพื่อสร้างความเร้าใจ และความแปลกใหม่ข่าวที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพลที่ไอเอ็นเอ็นเป็นผู้เปิดประเด็นนำเสนออย่างต่อเนื่อง

จุดเด่นเหล่านี้ก็ทำให้ไอเอ็นเอ็นได้รับการต้อนรับจากผู้นิยมฟังข่าวสารบ้านเมืองจำนวนมาก

ดังนั้นแม้ว่าไอเอ็นเอ็นจะใช้เงินลงทุนสูงมากกับการสร้างสำนักข่าว โดยเฉพาะในเรื่องของทีมงานเพื่อผลิตข่วแต่ก็เริ่มมีรายได้เข้ามาพอเลี้ยงตัวเองได้ และหากไม่มีอะไรผิดพลาด ในปี 2540 จะเป็นปีที่ไอเอ็นเอ็นมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว

ปีที่แล้วไอเอ็นเอ็นมีรายได้จากคลื่น 102.5 เดือนละ 6-7 ล้านบาท เวลาของโฆษณาถูกจองเต็มมาตลอดจนถึงสิ้นปี 2540

"หากพูดถึงคลื่นข่าวแล้ว ต้องยอมรับว่าไอเอ็นเอ็นได้รับความนิยมจากผู้ฟังเพราะความแรงในการนำเสนอข่าว เจ้าของสินค้าบางรายเขาเจาะจงมาเลยว่าจะต้องลงที่คลื่น 102.5 " แหล่งข่าวจากบริษัทชูโอเซนโกะ เอเยนซีโฆษณาแห่งหนึ่งของเมืองไทยสะท้อน

ทว่า "ความเร็ว" และ "ความแรง" ในการนำเสนอข่าวกลับกลายเป็น "หนามทิ่มตำ" ให้กับไอเอ็นเอ็นในภายหลังเอง การนำเสนอกระทบกระทั่งบุคคลในรัฐบาลหรือในพรรคการเมือง หรือผู้มีอิทธิพล เช่นในกรณีการนำเสนอข่าวของพระยันตระ หรือการเปิดประเด็นกรณีของทนง ศิริปรีชาพงศ์ หรือฉายา ป.เป็ด ที่ค้ายาเสพย์ติดในสหรัฐอเมริกาที่ไอเอ็นเอ็นเป็นผู้เปิดประเด็นและนำเสนออย่างต่อเนื่อง ซึ่งในครั้งนั้นไอเอ็นเอ็นต้องถูกรัฐบาลเรียกไปพบจนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต

แม้ว่าปัจจุบันสื่อมวลชนจะมีอิสระเสรีในการนำเสนอข่าวสารมากก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าทั้งสื่อวิทยุและโทรทัศน์ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่ให้สัมปทานแก่เอกชนมาเช่าช่วงเวลา โอกาสในการถูกยกเลิกสัญญาหรือไม่ต่อสัญญาให้จึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับธุรกิจวิทยุของเมืองไทยได้ตลอดเวลา (อ่านล้อมกรอบ)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีนโยบายคุมเข้มในการนำเสนอข่าวของ "สื่อ" วิทยุและโทรทัศน์

หลังจากจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ได้ส่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในสังกัดพรรคความหวังใหม่เข้าไปดูแลหน่วยงานของรัฐที่ควบคุมสื่อ ไม่ว่าจะเป็นปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ที่เข้ามาดูแลกรมประชาสัมพันธ์และส่งชิงชัย มงคลธรรมดูแล อ.ส.ม.ท. ซึ่งทั้งสองแห่งล้วนแต่มีสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในครอบครองจำนวนมาก

รวมทั้งเหล่ากองทัพทั้งหลายที่มีคลื่นวิทยุอยู่ในมือด้วยกันทั้งสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องยากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่พล.อ.ชวลิตนั่งควบอยู่อีกตำแหน่งจะเข้าไปควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด

แม้ว่าในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาจะไม่สามารถทำอะไรไอเอ็นเอ็นได้ แต่ไม่ใช่กับรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ชวลิต ที่คุมสื่อทั้งหมดในมือ

ในช่วงที่ผ่านมาไอเอ็นเอ็นได้รับจดหมายเตือนจากกองทัพอากาศต้นสังกัดให้ลดดีกรีความร้อนแรงในการนำเสนอข่าวลงหลายครั้งหลายครา

จนกระทั่งในวันที่ 26 พฤศจิกายน หลังจากต้องได้รับข่าวร้ายจากโครงการเคเบิลทีวีผ่านดาวเทียม ที่ไอเอ็นเอ็นยื่นเสนอไปสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชาที่ถูกล้มเลิกไป สนธิญาณก็ได้รับแจ้งข่าวร้ายซ้ำสองจากกองทัพอากาศในการไม่ต่อสัญญาในวันที่ 26 พฤศจิกายน ก่อนหน้าหมดสัญญาเพียงเดือนเดียวเท่านั้น เรียกว่าเป็นคำสั่งแบบฟ้าผ่าก็ว่าได้

"ท่านผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ให้เหตุผลกับเราว่ากองทัพอากาศมีความยินดีที่ได้ไอเอ็นเอ็นมาร่วมงานเป็นผู้เสนอข่าวและสาระ แต่การนำเสนอข่าวของไอเอ็นเอ็นก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นกลาง ซึ่งไปกระทบกับกองทัพอากาศในฐานะของเจ้าของสถานี" สนธิญาณเล่า

ว่ากันว่า ข่าวชิ้นสำคัญที่ทำให้ไอเอ็นเอ็นต้องหลุดจากคลื่น 102.5 คือ การนำเสนอข่าวกรณีคุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ หรือคุณหญิงหลุยส์มีส่วนเกี่ยวพันในการค้าอาวุธได้กลายเป็นจุดแตกหัก ทำให้กองทัพอากาศตัดสินใจไม่ต่อสัญญาให้กับไอเอ็นเอ็นที่หมดลงในเดือนธันวาคม 2539 และดึงเอาเจ เอส แอล ผู้ผลิตรายการทีวีเข้ามารับช่วงต่อแทน

แน่นอนว่า สนธิญาณต้องวิ่งหาเวทีใหม่ให้กับไอเอ็นเอ็นอีกครั้ง

แต่ "โจทย์หิน" ของไอเอ็นเอ็นไม่เหมือนกับครั้งที่ผ่านๆ มา ที่เกิดจากเหตุผลทางธุรกิจ แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องของสัมปทานที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม เมื่อรัฐส่ายหัวประตู "โอกาส" ของไอเอ็นเอ็นต้องถูกปิดตาย เพราะคำสั่งเบื้องบนไม่ใช่แค่การไม่ต่อสัญญาแต่ยังรวมไปถึงการห้ามอนุมัติคลื่นวิทยุอื่นๆ ให้กับไอเอ็นเอ็น

แหล่งข่าวในไอเอ็นเอ็น เล่าว่า เป็นครั้งแรกที่ไอเอ็นเอ็นต้องหมดเงินไปถึง 10 ล้าน ในการวิ่งเต้นหาคลื่นวิทยุในสังกัดกองทัพสถานีหนึ่ง แต่คำตอบที่ได้ก็คือไม่มีที่ว่างให้กับไอเอ็นเอ็น

แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากอิทธิวัฒน์ พันธมิตรเก่าแก่ที่คว้าคลื่น 103.5 มาจากทูเดย์เรดิโอ ของอดีตส.ส.สาวพรรคพลังธรรม ศันศนีย์ นาคพงษ์ และยินดีจะให้ไอเอ็นเอ็นมาร่วมลงทุน แต่ก็ยังมีเงื่อนไขว่าจะต้องเจรจากับทางกองทัพให้ได้ก่อน

เหตุใดบริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ จึงถูกประตูปิดตายเช่นนี้ ความเป็นสำนักงานทรัพย์สินฯ ขาดมนต์ขลังไปแล้วหรือ?

หากมองลึกลงไปกว่านั้น เป็นไปได้ว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ เองก็วิตกกับการนำเสนอข่าวของไอเอ็นเอ็นที่เน้นความแรงและได้ส่งผลกระทบให้กับองค์กรโดยรวม จึงต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายรื้อโครงสร้างองค์กรใหม่อยู่แล้ว เพราะสำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่ต้องการเพิ่มปัญหาเพราะในช่วง 1-2 ปีมานี้ บริษัทหลายแห่งที่สำนักงานฯ ลงทุนไปมีปัญหาในเรื่องการลงทุน เช่น คริสเตียนี แอนด์ นีลเส็น และกลุ่มสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น

ปัญหาที่ไอเอ็นเอ็นต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้คือพนักงาน 200 คน กับภาระค่าใช้จ่ายเดือนละ 4-5 ล้านบาท

แม้ว่าไอเอ็นเอ็นยังมีคลื่น 96.5 เมกกะเฮิรตซ์ของอ.ส.ม.ท.เป็นคลื่นข่าวธุรกิจแต่ก็เป็นการร่วมทุนกับฟาติมาและหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (BUSINESS RADIO) ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ไอเอ็นเอ็นจะเข้าไปแทนที่ในคลื่นดังกล่าว เพราะเป็นการร่วมลงทุน 3 ฝ่าย และอ.ส.ม.ท.ก็มีคลื่น 105.5 เมกกะเฮิรตซ์ที่ทำเป็นคลื่นข่าวอยู่แล้ว

สิ่งที่ไอเอ็นเอ็นทำได้มากที่สุดในขณะนี้ก็คือนำรายการด้านธุรกิจที่เคยจัดอยู่ในคลื่น 102.5 มาลงในคลื่น 96.5 แต่ก็นำมาได้เพียงแค่ 3 รายการเท่านั้น ส่วนการผลิตข่าวต้นชั่วโมงนั้นอ.ส.ม.ท.มีข้อบังคับไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะต้องให้สำนักข่าวไทยของอ.ส.ม.ท.เป็นผู้ป้อนข่าวต้นชั่วโมงให้เท่านั้น

นอกจากนี้ไอเอ็นเอ็นยังมีการผลิตรายการข่าวต้นชั่วโมง และรายการข่าวสาร 5 ช่วง ป้อนให้กับศูนย์ผลิตรายการและข่าวของกรมตำรวจ (ศผข.) ผ่านเครือข่าย 44 สถานีของกรมตำรวจทั่วประเทศ รวมทั้งยังขายข้อมูลข่าวออนไลน์ทางคอมพิวเตอร์ป้อนให้กับบิสนิวส์ และพร็อพเพอตี้ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส

แต่ธุรกิจเหล่านี้เป็นส่วนที่ทำรายได้เสริมให้กับไอเอ็นเอ็นเท่านั้น ไม่ใช่รายได้หลักที่จะเลี้ยงตัวเองได้

สนธิญาณกล่าวว่า เงื่อนไขความอยู่รอดของไอเอ็นเอ็น คือจะต้องได้สถานีวิทยุใหม่ทั้งคลื่น จึงจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ซึ่งหากไอเอ็นเอ็นไม่ได้คลื่นเขาก็จำเป็นต้องลาออกเพื่อรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้น รวมทั้งพนักงานบางส่วนก็อาจต้องออกไปด้วย

"ผมเองไม่ได้โกรธกองทัพอากาศเลยเพราะเป็นสิทธิของเขาและการที่ให้เวลากับไอเอ็นเอ็นมาถึง 2 ปีกว่า ก็เป็นบุญคุณมากแล้วที่ให้โอกาส หากจะแก้ก็ควรแก้ที่โครงสร้างในการบริหารวิทยุ ควรให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลด้วย หากยังไม่แก้จุดนั้นก็คงต้องเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก" สนธิญาณเล่า

แม้จะไม่ใช่เงื่อนไขทางธุรกิจ แต่ความเปราะบางของสัมปทานก็ทำให้ไอเอ็นเอ็นต้องถูกปลดออกจากหน้าปัดได้ง่าย

น้ำตาของผู้สูญเสีย และรอยยิ้มของผู้ชนะ คงไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับไอเอ็นเอ็น และเจเอสแอลในเวลานี้

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเท่ากับเป็นการปิดฉากของคลื่นข่าว 24 ชั่วโมง และถูกแทนที่ด้วยคลื่นเพลงสากลซึ่งกำลังเป็นแนวรบด้านใหม่ที่มาแทนที่คลื่นข่าวในเวลานี้

วิทยุผู้จัดการตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

สำหรับโครงการวิทยุผู้จัดการที่ใช้เวลา 3 ปีเต็มกับการรังสรรค์คลื่น 97.5 เมกะเฮิรตซ์ของอ.ส.ม.ท.ให้เป็นคลื่นข่าวสารและสาระตลอด 24 ชั่วโมง

แต่ ณ วันนี้วิทยุผู้จัดการแปรสภาพจาก "สถานีข่าวและสาระ" มาเป็น "สถานีเพลงผสมข่าว" ภายใต้หลักการที่ว่า "จำต้องตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต"

วิทยุผู้จัดการ จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากทางธุรกิจในการทำ "สถานีข่าว" อีกแห่งหนึ่งบนหน้าปัดวิทยุในยุคนี้ เมื่อคุณภาพกับรายได้เดินสวนทางกัน

รุ่งมณี เมฆโสภณ ผู้อำนวยการโครงการวิทยุผู้จัดการ ยอมรับว่าโครงการวิทยุผู้จัดการไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ซึ่งมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก และการไม่สบความสำเร็จทางธุรกิจนี้เป็นสิ่งที่ประเมินไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว แต่รุ่งมณีก็ถือว่าโครงการวิทยุผู้จัดการประสบความสำเร็จตรงที่ได้ทำสิ่งที่ตั้งใจไว้

การเข้าสู่ธุรกิจวิทยุของกลุ่มผู้จัดการก็เป็นเช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์รายอื่นๆ ที่ต้องการมีช่องทางใหม่ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จาก "ข้อมูล" ที่มีอยู่ให้มากที่สุดและสื่อวิทยุก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถกระจายข่าวสารถึงผู้ฟังได้มากและสะดวกที่สุดทางหนึ่ง

กลุ่มผู้จัดการเข้าสู่สื่อวิทยุเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เริ่มต้นด้วยการเข้าไปร่วมมือกับบริษัทยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรีส์ จำกัด (ยูคอม) ที่ได้สัมปทานเช่าคลื่น 97.5 เมกะเฮิรตซ์มาจากอ.ส.ม.ท.และต้องการหาพันธมิตรทางด้านข่าวสาร แต่ต่อมากลุ่มยูคอมถอนตัวออกไป กลุ่มผู้จัดการจึงเข้ามาเป็นคู่สัญญากับอ.ส.ม.ท.แทน เพราะสัมปทานที่ได้รับเป็นปีต่อปี

กลุ่มผู้จัดการได้ดึงเอารุ่งมณี เมฆโสภณ ลูกหม้อเก่าแก่ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ที่บินไปหาประสบการณ์อยู่กับวิทยุบีบีซีที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กลับมาบุกเบิกธุรกิจวิทยุให้กับกลุ่มผู้จัดการ

จากประสบการณ์ในบีบีซีทำให้รุ่งมณีต้องการยกระดับให้วิทยุผู้จัดการเป็นสถานีข่าวและสาระที่ดีที่สุด แม้จะรู้ดีว่าสื่อวิทยุยังเป็นสัมปทานที่อยู่ภายใต้การควบคุม ของหน่วยงานรัฐ มีความไม่แน่นอนสูงจนทำให้วิทยุหลายแห่งไม่กล้าพอที่จะลงทุนในเรื่องเหล่านี้ แต่ไม่ใช่สำหรับรุ่งมณีเพราะเธอเชื่อว่าหากจะทำแล้วต้องทำให้ดีที่สุด

ฟอร์แมทรายการวิทยุผู้จัดการที่ถูกจัดวางไว้ ไม่แตกต่างไปจากวิทยุบีบีซีของกรุงลอนดอนเท่าใดนัก ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข่าวและรายการสาระแต่ละช่วงของวัน

แน่นอนว่า การเน้นมาตรฐานและคุณภาพ จำเป็นต้องทุ่มเททั้งในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือ โดยเฉพาะทีมงานเพื่อใช้ในการผลิตข่าวและรายการเป็นของตัวเอง

ดังนั้นนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในเรื่องสถานีที่มีมากกว่า 50% แล้ว วิทยุผู้จัดการต้องทุ่มเงินทุนไปกับการสร้างทีมงานเป็นจำนวนมาก

"ถ้าพูดถึงความบ้าแล้ว ค่ายผู้จัดการของเราบ้ากว่าเพื่อน ในแง่ของการลงทุนหากไปดูของคลื่นวิทยุอื่นๆ แล้ว เทียบกับของเราไม่ได้ ทำไมเราถึงต้องบุกเบิกทำวิทยุบนอินเตอร์เน็ต หรือให้ข้อมูลกับคนที่ขอมาฟรี หรือลงทุนเรื่องบรอดคาสติ้ง เพราะเราต้องให้ถึงกลุ่มคนฟังมากที่สุด และให้ประโยชน์มากที่สุด" รุ่งมณีกล่าว

นอกจากนี้ รุ่งมณีพยายามสร้างมิติใหม่ให้กับสถานีข่าวสาร ด้วยการเน้นความถูกต้องและเนื้อหาสาระของเนื้อหาสาระของเนื้อข่าวมากกว่าความโดดเด่นของผู้ดำเนินรายการ หรือความเร็ว และความแรงดังเช่นคู่แข่งขันในตลาดทำกัน

ความเป็นกลาง และความแม่นยำของข้อมูลนั้น แม้จะมีข้อดีในเรื่องของคุณภาพและความถูกต้อง แต่ในทางตรงกันข้ามก็ทำให้เกิดความล่าช้าและสีสันในการนำเสนอซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ตอบสนองความต้องการของผู้เสพย์ข่าวชาวไทย ที่มักนิยมบริโภคข่าวเร็วแรงและมีสีสัน

แต่ใช่ว่าวิทยุผู้จัดการจะไม่มีแฟนรายการ เพียงแต่การมีแฟนเพลงกับมีโฆษณานั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เอเยนซีโฆษณาแห่งหนึ่ง สะท้อนแนวคิดว่าแม้วิทยุผู้จัดการจะเป็นรายการดีมีคุณภาพ แต่การเลือกลงโฆษณาของเอเยนซีจะต้องพิจารณาจากจำนวนผู้ฟัง หรือเจ้าของสินค้า ซึ่งในแง่ของคลื่นข่าวแล้วคนฟังส่วนใหญ่มักจะนิยมคลื่นที่นำเสนอข่าวแรง หรือ ความโดดเด่นของผู้ดำเนินรายการที่คุ้นหูกันดีเป็นหลัก

ในเวลาเดียวกันหากจะเปรียบเทียบในเรื่องของคลื่นข่าวแล้ว คนส่วนใหญ่ยังคงต้องการคลื่นเพลง เพราะฟังได้ทั้งวันไม่ว่าจะทำงานหรือทำอะไร ในขณะที่คลื่นข่าวจะต้องตั้งใจฟัง ช่วงไพร์มไทม์ของข่าวจะอยู่ในช่วงเช้าและช่วงเย็น ซึ่งผู้ลงโฆษณาก็จะต้องเลือกรายการที่มีคนนิยมมากกว่าคุณภาพ

เมื่อคุณภาพของรายการเดินสวนทางกับความต้องการของตลาด ผลลัพธ์ในเชิงธุรกิจจึงออกมาเป็นศูนย์ เมื่อเงินลงทุนที่ลงไปไม่คุ้มกับรายได้

"กลไกตลาดของเรา ถูกกำหนดโดยรสนิยมของผู้บริโภคที่เสพย์ข่าวสารชั่วคราวเมื่อรสนิยมของผู้บริโภคที่เสพย์ข่าวสารของคนไทยยังเป็นแบบนี้ เอเยนซีเองก็ยังไม่ได้สนใจมาตรฐานหรือคุณภาพ เอาอย่างเดียวคือคนฟังมากถึงกลุ่มผู้ฟังมาก ตัวนี้เป็นตัวตัดสินอย่างเดียว จะเห็นว่าหนังสือพิมพ์คุณภาพหลายฉบับขายได้ เช่นเดียวกับวิทยุ หากทำให้หวือหวามีคนฟังก็ไม่มีปัญหาเรื่องรายได้ แต่จริงๆ แล้วคุณภาพของคนฟังก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บอกได้เลยว่าคนฟังของเรามีคุณภาพระดับหนึ่ง" รุ่งมณีเล่า

สามปีเต็มของวิทยุผู้จัดการ จึงเป็นบทเรียนอันมีค่าของรุ่งมณี เมื่อต้องเจอกับสัจธรรมที่ว่า หากอยากได้ "กล่อง" ย่อมไม่ได้ "เงิน"

ในแต่ละเดือนวิทยุผู้จัดการต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ที่เป็นค่าเช่าสถานีเดือนละ 3 ล้านบาทเศษ ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในเรื่องทีมงานที่เป็นพนักงานประจำมากกว่า 50 คนและลูกจ้างชั่วคราว (ฟรีแลนซ์) อีก 10 กว่าคนรวมแล้วต้นทุนตกเดือนละ 4-5 ล้านบาทในขณะที่รายได้จากโฆษณาเข้ามาเพียงเดือนละ 2 ล้านบาท

เมื่อธุรกิจเดินต่อไปไม่ไหว รุ่งมณีตัดสินใจหันมาทบทวนธุรกิจนี้อย่างจริงจัง และสิ่งที่รุ่งมณีเลือกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการลดเวลานำเสนอข่าวลงและหาพันธมิตรทางด้านเพลงเข้ามาร่วมดำเนินการ

รุ่งมณีมองว่า วิธีนี้จะทำให้วิทยุผู้จัดการยังคงมีเวทีที่สามารถ "ปักธง" ได้ต่อไปโดยไม่ต้องปลดทีมงานที่มีอยู่เกือบ 70 คนออก ยกเว้นแต่บรรดาฟรีแลนซ์ 10 กว่าคน และที่สำคัญจะสามารถลดค่าใช้จ่ายเพื่อล้างขาดทุนได้ทันที

วิทยุผู้จัดการยังเหลืออายุสัมปทานคลื่น 97.5 ที่ได้รับอนุมัติให้ต่ออายุจากอ.ส.ม.ท.เมื่อครั้งล่าสุดมีระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะหมดลงปลายปี 2541 ยังเหลือเวลาอีก 2 ปีเต็มและจึงไม่ใช่เรื่องยากในการหาพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่นวิทยุกำลังเป็นที่หมายปองจากทั้งรายเก่าและรายใหม่ในวงการ "ตัวเลือก" ในมือของรุ่งมณีจึงมีมากกว่า 3 ราย

"ส่วนใหญ่ที่เสนอตัวเข้ามาต้องการเวลาทั้งหมด แต่เราให้ไม่ได้เพราะยังมีทีมงานที่ต้องดูแล เราต้องเลือกเวลาไว้สำหรับข่าวด้วย" รุ่งมณีกล่าว

ข้อสรุปที่ได้จากการเปิดทางให้ทีมงานเก่าของสยามเรดิโอ เจ้าของคลื่นเพลงฝรั่ง LOVE FM 94.5 นำโดยไชยยงค์ นนทสุทธิ์ อดีตผู้บริหารของสยามเรดิโอ ซึ่งแตกคอกับอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ และออกมาร่วมงานกันตั้งบริษัทวิทยุสยามคอมมิวนิเคชั่น พร้อมกับทีมการตลาด และดีเจของสยามเรดิโอ คือ กุลพงศ์ บุนนาค, วาสนพงศ์ วิชัยยะ, โซเฟีย วงศ์สุรเดช

ว่ากันว่า การมาของวิทยุสยามคอมมิวนิเคชั่น นั้นมีบริษัท "ออนป้า" บริษัทผลิตเทป ที่เทกโอเวอร์บริษัทคีตาเอ็นเตอร์เทนเม้นท์มาได้ไม่นานเป็นนายทุนหนุนหลังให้เพราะเวลานี้ไชยยงค์ก็เข้าไปนั่งบริหารในคีตาแล้ว

การร่วมมือในครั้งนี้ ส่งผลให้วิทยุผู้จัดการเหลือเวลาออกอากาศ 4 ชั่วโมงครึ่งคือ ช่วงเช้า 6.00-09.00 น. และ 17.00-19.00 ส่วนเวลาที่เหลือเกือบ 20 ชั่วโมงจะเป็นเพลงฝรั่ง ซึ่งวิทยุสยามคอมมิวนิเคชั่นเป็นผู้ผลิตรายการในชื่อโมเดิร์นเลิฟ

รวมทั้งในเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง รุ่งมณีได้มอบหมายให้ทีมวิทยุสยามคอมมิวนิเคชั่นรับไปดำเนินการทั้งหมด เธอยอมรับว่าจุดอ่อนอย่างหนึ่งของวิทยุผู้จัดการคือเรื่องการตลาด ดังนั้นเมื่อทีมใหม่ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจวิทยุมาเป็นอย่างดี ก็น่าจะช่วยในเรื่องการทำตลาดให้กระเตื้องขึ้นได้

ที่สำคัญการแปรสภาพ คลื่น 97.5 จะแปรสภาพจาก "สถานีข่าว" ไปเป็น "สถานีเพลงและข่าวสาร" ทำให้วิทยุผู้จัดการลดตัวเลขขาดทุนลงทันที 3 ล้านกว่าบาท เพราะค่าสถานีจะตกเป็นหน้าที่ของวิทยุสยามฯ

"วิธีนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเราหากเปรียบเทียบกับไอเอ็นเอ็นแล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังนับว่าดีกว่าเพราะเรายังเลือกเวลาไพร์มไทม์เหลือที่ไว้ปักธง มีที่ให้ทีมงานของเราได้ทำงานกันต่อ แต่ทุกอย่างจะออกมาสวยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเจรจากันต่อไป"

รุ่งมณียอมรับว่า วิทยุผู้จัดการจะไม่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ แต่ในแง่ของคุณภาพแล้ววิทยุผู้จัดการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เพราะปัญหาที่แท้จริงคือการเป็นสื่อไม่เสรียังถูกควบคุมโดยรัฐบาล จนทำให้ค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าจะแบกรับได้ในยามนี้

"ต้นทุนครึ่งหนึ่งถูกใช้ไปกับค่าเช่าสถานีถ้าเราไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานี เราสามารถทำรายการวิทยุผู้จัดการแบบที่ทำมาได้เลย 2-3 สถานี" รุ่งมณีกล่าว

ตราบใดที่สื่อวิทยุยังเป็นสัมปทานการทำ "สถานีข่าว 24 ชั่วโมง" ในเชิงธุรกิจแล้วจะยากลำบากมาก ยกเว้นการทำในลักษณะเดียวกับมูลนิธิ โดยหน่วยงานรัฐจะต้องมาร่วมมือกับเอกชน

ด้วยเหตุนี้คลื่น 97.5 จึงต้องกลายเป็นคลื่นเพลงผสมข่าวแล้ว เมื่อไม่อาจทวนกระแสของธุรกิจสื่อวิทยุได้

ไม่เป็นเจ้าของคลื่นคาถาวิเศษของเนชั่น

สำหรับวิทยุเนชั่นแล้ว ถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในสถานีข่าวที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ยุคแรกๆ และประสบความสำเร็จที่สุดสถานีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นมาเพราะความบังเอิญของ สุทธิชัย หยุ่น รายงานข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซีย จนกระทั่ง "สื่อวิทยุ" ได้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจมัลติมีเดียของกลุ่มเนชั่นไปแล้ว

วิทยุเนชั่นมีรายการข่าวในคลื่นวิทยุถึง 5 สถานี รายการพูดจาภาษาข่าว และข่าวต้นชั่วโมงในคลื่น FM.89 เมกะเฮิรตซ์, คลื่นข่าวธุรกิจในคลื่น FM.90.0 เมกะเฮิรตซ์, ข่าวธุรกิจคลื่น FM.90.5 เมกะเฮิรตซ์, นิวส์แอนด์มิวสิคสเตชั่น FM.97.0 เมกะเฮิรตซ์และเจาะลึกทั่วไทยในคลื่น AM.1107 เมกะเฮิรตซ์

ความโดดเด่นของเนชั่นอยู่ที่ผู้ดำเนินรายการ และการผลิตข่าวในลักษณะของ "TALK SHOW" คือการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญๆ นับเป็นจุดขายที่ทำให้วิทยุเนชั่นได้รับความนิยมจากผู้ฟัง

นอกจากนี้ในแง่ของการผลิตข่าวนั้นเนื่องจากเนชั่นมีสื่อในมือแบบครบวงจร คือ สิ่งพิมพ์ วิทยุ และทีวี เนชั่นจึงใช้วิธีการสร้างเป็นศูนย์ข่าวเนชั่น เพื่อเชื่อมสื่อทั้งหมดในมือ คือ สิ่งพิมพ์ ทีวี และวิทยุเข้าด้วยกัน เพื่อผ่องถ่ายซอฟต์แวร์ข่าวสารร่วมกัน ดังนั้นหากใครพลาดรายการเนชั่นนิวส์ทอล์คที่จัดอยู่ที่ไอทีวี ก็จะสามารถฟังได้จากคลื่นวิทยุ ซึ่งวิธีนี้จะประหยัดต้นทุนในการผลิตข่าว เพราะต้นทุนในการผลิตข่าวนั้นสูงกว่าต้นทุนในเรื่องเพลงมากนัก

แม้จะประสบความสำเร็จทางธุรกิจ แต่ทุกวันนี้เนชั่นกลับไม่ได้มีสัมปทาน "สื่อวิทยุ" อยู่ในมือแม้แต่คลื่นเดียว แต่ดำรงตนเป็นเพียง "โปรดักชั่นเฮาส์" ผลิตรายการข่าวป้อนให้กับคลื่นต่างๆ เท่านั้น

"เราจะไม่เป็นคู่สัญญากับวิทยุของรัฐบาล เราเคยแล้วแต่เราไม่ได้ ที่สำคัญเราไม่มีประสบการณ์ในเรื่องประมูลไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีการประมูล อยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนคนเหมือนกับคลื่น 97.0 ที่อยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนเจ้าของสัมปทานใหม่" สุทธิชัย หยุ่น ชี้แจงเหตุผล ซึ่งหลายคนคงไม่เชื่อ

ลึกไปกว่านั้นที่สุทธิชัยไม่ได้ประมูลคลื่นในที่นี้ คือปัญหาในเรื่อง "ความเสี่ยง" ของการเป็นเจ้าของสัมปทานคลื่นวิทยุที่มีความเปราะบางมาก ซึ่งเนชั่นก็เคยประสบมาแล้วกับคลื่น 96.0 ที่เป็นคลื่นของกองทัพที่เนชั่นต้องถูกยกเลิกสัญญาแบบไม่ทันตั้งตัวจนกลายเป็นเรื่องราวมาแล้วพักหนึ่ง

จากบทเรียนในครั้งนั้นทำให้เนชั่นรู้ดีว่า ความเปราะบางของสัมปทานวิทยุนั้นสร้างความเสี่ยงทางธุรกิจให้กับวิทยุมาก เพราะไม่คุ้มกับการที่ต้องลงทุน แล้วไม่รู้ว่าจะถูกยึดพื้นที่ทำกินไปเมื่อใด สู้เป็นผู้ผลิตข่าวป้อนให้กับคลื่นวิทยุต่างๆ จะดีกว่า

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่ออายุสัมปทานคลื่น 97.0 ของกรมประชาสัมพันธ์ที่บริษัทสตูดิโอ 107 ของจันทรา ชัยนาม เป็นผู้รับสัมปทานหมดลงเมื่อ 31 ธันวาคม 2539 และดร.วีณา เชิดบุญชาติ เป็นผู้ได้รับสัมปทานต่อเป็นเวลา 6 ปี จะมีเนชั่นเป็นตัวประสานให้

เนชั่นนั้นเรียกได้ว่าเกิดมาจากคลื่น 97.0 ในการเข้าไปผลิตข่าวให้กับสตูดิโอ 107 ที่ได้สัมปทาน 97.0 มาแต่ต้องประสบปัญหาทางด้านธุรกิจ จึงขายเวลาให้กลุ่มเนชั่นมาผลิตข่าวจนสร้างชื่อขึ้นมาได้

ขณะเดียวกันเมื่อคลื่น 97.0 เปลี่ยนมาอยู่ในมือของดร.วีณา ภายใต้คอนเซปต์ "นิวส์ & มิวสิค สเตชั่น" เนชั่นก็ยังเป็นผู้ผลิตข่าวป้อนให้ แต่ทวีบทบาทมากขึ้นนอกเหนือจากได้เวลาเพิ่มขึ้นจาก 6 ชั่วโมงในการผลิตข่าวเช้า เย็น กลางคืน เพิ่มเป็น 10 ชั่วโมงในช่วงกลางวันติดต่อกัน ซึ่งทำให้เนชั่นคล่องตัวมากขึ้น และยังได้ทำการตลาดร่วมได้ด้วย เพราะตัวดร.วีณา นั้นยังถือว่าเป็นมือใหม่ในธุรกิจวิทยุ ยังต้องอาศัยชื่อเสียงจากลุ่มเนชั่นที่ทำไว้

แม้จะไม่มีสัมปทานคลื่นวิทยุในมือแต่ดำรงตนเป็นผู้ผลิตเพียงอย่างเดียวก็อาจเป็นวิถีทางที่ถูกต้องทางธุรกิจของสถานีข่าวดังเช่นที่เนชั่นทำอยู่ในเวลานี้

สุทธิชัยยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคลื่นข่าวสารในเวลานี้ไม่ได้เป็นเพราะความต้องการของผู้ฟังไม่มี แต่มาจากความไม่แน่นอนในตัวกติกาของรัฐบาลที่ควบคุมสื่อ ซึ่งทำให้คนทำธุรกิจวิทยุเกิดความลำบาก

เพราะไม่เพียงแต่ไอเอ็นเอ็นหรือเนชั่นเท่านั้น ก่อนหน้านี้ "คู่แข่งธุรกิจ" เองก็เคยถูกมีเดีย พลัสช่วงชิงคลื่น FM.101 มาแล้ว และจนบัดนี้ "คู่แข่งธุรกิจ" ไม่เคยดำรงตนเป็นเจ้าของสัมปทานคลื่นวิทยุใดอีกเพียงแต่ผลิตรายการข่าวป้อนให้วิทยุบางคลื่นเท่านั้น

สุทธิชัยยังเชื่อด้วยว่า สูตรผสมที่ลงตัวที่สุดของคลื่นวิทยุ คือ คลื่นเพลงผสมข่าว คลื่นข่าว 24 ชั่วโมงคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

มีเดียพลัสคลื่นข่าวทำได้แต่ต้องเงินถึง

สำหรับมีเดียพลัส หนึ่งในบิ๊กโฟร์ของวงการวิทยุที่มีคลื่นในมือมากที่สุดแห่งหนึ่ง และเป็นผู้หนึ่งที่จุดพลุให้กับธุรกิจวิทยุ จากรายย่อยไปสู่มืออาชีพ "คลื่นข่าว" เป็นอีกเซกเมนต์หนึ่งที่ทำรายได้หลักให้กับกลุ่ม

แม้จะเติบโตมาจาก "คลื่นเพลง" แต่มีเดียพลัสก็เล็งเห็นว่า คลื่นข่าวเป็นอีกเซกเมนต์หนึ่งที่มีการเติบโตไม่แพ้กัน ซึ่งปัจจุบันมีเดียพลัสก็เป็นบริษัทลูกของวัฏจักรมีฐานข้อมูลจากธุรกิจสิ่งพิมพ์และทีวีอยู่แล้วการขยายเข้าสู่คลื่นข่าวจึงไม่ใช่เรื่องยาก

ปัจจุบันมีเดียพลัส นำคลื่น FM.101 ที่ช่วงชิงมาจาก "คู่แข่ง" มาทำเป็นคลื่นข่าวและให้สำนักข่าวไทยสกายนิวส์เป็นผู้ผลิตข่าวป้อนให้ ซึ่งไทยสกายนิวส์เองก็ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข่าวป้อนให้กับสื่อต่างๆ อยู่แล้ว

ท่ามกลางการแข่งขันของคลื่นข่าว มีเดียพลัสสร้างจุดขายให้กับคลื่น 101 เมกะเฮิรตซ์ ด้วยการทำเป็นเน็ตเวิร์คถ่ายทอดสัญญาณไปยังสถานีเครือข่าย 40 กว่าสถานีทั่วประเทศ และเน้นการนำเสนอข่าวสารทางด้านการเงิน และตลาดหลักทรัพย์

มีเดียพลัสก็อาศัยจุดขายทางด้าน "เน็ตเวิร์ค" ขึ้นค่าโฆษณาจากสปอตละ 2,000 บาทเป็น 5,000 บาท กลายเป็นคลื่นข่าวที่มีราคาโฆษณาสูงที่สุดในขณะนี้

ขณะเดียวกันมีเดียพลัสก็มองเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ จส.100 คลื่นข่าวจราจร ของศูนย์ข่าวแปซิฟิก ที่สามารถยึดครองใจทั้งคนฟังและยอดโฆษณา เพราะความรู้สึกร่วมที่มีต่อปัญหาการจราจรมีเดียพลัสจึงปรับคลื่น FM.96.0 จากคลื่นเพลงฝรั่งสไตล์อัลเทอร์เนทีฟให้เป็นคลื่นข่าวเพื่อสังคม เพื่อหวังเพิ่มส่วนแบ่งตลาดทางด้านของคลื่นข่าว

"สิ่งที่เรามองเห็น คือ กลุ่มของคลื่นข่าวที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก มูลค่ารวมของคลื่นข่าวในเวลานี้มีถึง 800-900 ล้านบาทเราจึงเอาคลื่น FM.96.0 มาทำเป็นคลื่นสังคมสำหรับตอบสนองความต้องการคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนคลื่นนิวส์แอนด์ทอล์ก 101 จะรองรับกับคนในต่างจังหวัด" ยงยุทธชี้แจง

กระนั้นก็ตาม ยงยุทธ ฟูพงศ์ศิริพันธ์ กรรมการผู้จัดการ ยอมรับว่าการทำคลื่นข่าวนั้นยากลำบากกว่าคลื่นเพลงมาก ต้องมีฐานสนับสนุนที่ดีทั้งในเรื่องของกำลังคนและเงินทุน เพราะต้นทุนในการผลิตข่าวสูงมากไม่เหมือนคลื่นเพลง

"การทำคลื่นข่าวไม่ง่ายเหมือนคลื่นเพลง ที่ไม่ต้องลงทุนเรื่องซอฟแวร์ แต่คลื่นข่าวไม่ใช่ ต้องมีการผลิต ดังนั้นใครไม่มีฐานข้อมูล และเงินสนับสนุนคงลำบากโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนในเรื่องค่าเช่าสถานีที่ต้องจ่ายให้กับรัฐบาล"

"โดยปรกติแล้วการทำคลื่นวิทยุปีแรกจะขาดทุน เพราะถือว่าเป็นช่วงทดลองหรือปรับเปลี่ยนพอมาปีที่ 2 จะเริ่มเลี้ยงตัวเองได้ปีที่ 3 จะต้องกำไร หากไม่มีกำไรก็เลิกได้เลย" ยงยุทธสะท้อนแนวคิด

4 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งของแนวรบทางด้าน "คลื่นข่าว" ว่าจะสามารถอยู่รอดในสถานการณ์ที่ "คลื่น" มีราคาแพงขึ้นทุกวัน และความเปราะบางของสัมปทาน และเงินลงทุนที่ใช้ในการผลิตข่าว จะทำให้ "สถานีข่าว 24 ชั่วโมง" เริ่มหายไปจากหน้าปัดวิทยุ กลายเป็นคลื่นเพลงที่เข้ามาแทนที่

ก็ไม่แน่ว่า หลังจากไอเอ็นเอ็นต้องหลุดออกจากแผงหน้าปัด และการถอยหลังเพื่อตั้งต้นใหม่ของวิทยุผู้จัดการ จะมีคลื่นข่าวใดถอยตามมาบ้าง เพราะปีนี้อาจกลายเป็นปีทองของ "คลื่นเพลง" ไปแล้ว?!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us