Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2528
หนึ่งปีกับเก้าเดือนแห่งมรสุมและความตอแหลของแชร์ชม้อย             
 


   
search resources

ชม้อย ทิพย์โส
Financing




แชร์ชม้อยเริ่มปรากฏเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคมปี 2526

มิถุนายน 2528 วงแชร์ชม้อยถึงจุดจบ ชม้อย ทิพย์โส ถูกจับกุม

รวมระยะเวลาแล้วก็ 1 ปีกับอีก 9 เดือน

เป็น 1 กับ 9 เดือนแห่งมรสุมและความตอแหลชนิดที่ไม่อายฟ้าอายดินจริงๆ

ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2526 นั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ประชาชนทั่วไปเริ่มรู้จักแชร์ชม้อย จากข้อเขียนของคอลัมนิสต์หลายคนบนหน้าหนังสือพิมพ์รายวันแทบทุกฉบับ

แชร์ชม้อยถูกแนะนำภายใต้ชื่อ “แชร์รถน้ำมัน” ซึ่งผู้เล่นจะต้องลงเงินคิดเป็นจำนวนคันรถ แต่ละคันรถมีมูลค่า 160,000 บาท ได้ค่าตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุนเดือนละ 10,000 บาท หรือ 6.25% หากคิดกันเป็นปีก็เท่ากับจะได้ผลตอบแทนประมาณ75%

และประชาชนก็ได้รู้ด้วยว่า เจ้าของแชร์รถน้ำมันนี้ชื่อ ชม้อย ทิพย์โส พนักงานชั้นผู้น้อยคนหนึ่งของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

จากการที่แชร์ชม้อยเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงอย่างมากๆ เรียกว่าสูงอย่างผิดปกติจากการลงทุนหรือการทำธุรกิจโดยทั่วๆ ไป อีกทั้งเจ้าของวงแชร์ก็เป็นเพียงพนักงานชั้นผู้น้อยของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งเท่านั้น

เรื่องของแชร์ชม้อยก็เลยเป็นเรื่องที่มีการตั้งคำถาม

เป็นการระดมเงินไปทำธุรกิจน้ำมันจริงหรือไม่

เป็นไปได้ไหมที่อาจจะมีคนใหญ่คนโตอยู่เบื้องหลัง

หรือว่าเป็นขบวนการที่ทำธุรกิจลึกลับบางอย่าง

และมีคอลัมนิสต์หลายคนที่เชื่อว่าเป็นพฤติกรรมต้มตุ๋นประชาชน

เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ของการเขียนถึงแชร์ชม้อยในช่วงแรกๆ จึงเป็นข้อเขียนที่แสดงทัศนะชี้แนะให้รัฐบาลโดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบช่วยกันตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อขจัดความคลางแคลงสงสัยให้หมดไป

ก็ดูเหมือนว่าคอลัมนิสต์ทั้งหลายจะกระทุ้งกันได้ผล เพราะหลังจากนั้น อบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ก็เริ่มให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องแชร์น้ำมันเป็นเรื่องโกหก ไม่ได้มีการค้าน้ำมันแต่ประการใด (จากหน้า 4 ของไทยรัฐ)

และที่หน้า 4 ไทยรัฐอีกเหมือนกันที่ “ไต้ฝุ่น” บอกว่าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สั่งการให้รัฐมนตรีอบรายงานเรื่องแชร์รถน้ำมันโดยตรงเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นไป (ไทยรัฐฉบับวันที่ 10 พ.ย.2526)

เรื่องของแชร์ชม้อยก็กลายเป็นเรื่องระดับชาติไปตั้งแต่วันนั้น

เมื่อถูกกระทุ้งมากและเริ่มมีข่าวว่าคนในคณะรัฐบาลให้ความสนใจแม้กระทั่งตัวพลเอกเปรม นายกรัฐมนตรี

ชม้อย ทิพย์โส และนาวาอากาศโทพจน์ ทิพย์โส-สามี ก็เลยต้องออกมาให้สัมภาษณ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2526 บอกว่า นำเงินไปลงทุนค้าน้ำมันจริงๆ และทำธุรกิจนี้มานานแล้ว โดยทาง น.ท.พจน์เปิดเผยว่าทำมาตั้งแต่ปี 2510 แต่ชม้อยปฏิเสธว่าไม่ใช่ ส่วนจะเป็นปีไหนแน่ไม่ได้บอก คงยืนยันว่าเป็นเรื่องการค้าธรรมดาที่ตนนำเงินไปลงทุนกับปั๊มน้ำมันต่างๆ ทั่วประเทศในรูปการเอาเงินไปให้ปั๊มกู้ดำเนินธุรกิจ ไม่ได้เป็นธุรกิจลึกลับอย่างที่หนังสือพิมพ์เข้าใจกัน

การให้สัมภาษณ์ของชม้อย ทิพย์โส ปรากฏว่าถูกโต้กลับทันทีในวันรุ่งขึ้น

รายแรกที่โต้กลับก็คือเจ้าของปั๊มน้ำมันหลายแห่งซึ่งบอกว่าอ่านบทสัมภาษณ์ชม้อยแล้วขบขันมาก “เราจะไปโง่จ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 6.5% ทำไม ในเมื่อดอกเบี้ยธนาคารอย่างสูงสุดก็ 17% ต่อปี” เจ้าของปั๊มแห่งหนึ่งพูดกับไทยรัฐ

ส่วนอีกรายคือ เสรี ทรัพย์เจริญ เสรีกล่าวว่าเขาไม่เชื่อว่าแชร์ชม้อยจะเป็นของจริงเพราะเกินวิสัยที่จะทำได้และจะต้อง “แตกดังโพละ” สักวันหนึ่ง

นอกจากนี้ วิทย์ ตันตยกุล อธิบดีกรมสรรพากรก็เริ่มให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า กำลังติดตามดูพฤติการณ์ของชม้อย ทิพย์โส อยู่เพราะมีรายได้มหาศาลแต่ไม่ทราบว่าแจ้งการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่

แล้วยังมีนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการอีกหลายคนที่ออกมาพูดเกี่ยวกับแชร์รถน้ำมันของชม้อย ซึ่งส่วนใหญ่มองไปในทางลบทั้งสิ้น

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2526 หนังสือพิมพ์หลายฉบับบอกว่าลูกค้าแชร์แม่ชม้อยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นทหารอากาศ ทาง พล.อ.อ.ชากร ทัตตานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ จึงต้องให้สัมภาษณ์ว่า จะมีทหารอากาศเล่นแชร์กันมากหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน ไม่ใช่เรื่องของกองทัพอากาศ

พอวันที่ 17 พฤศจิกายน 2526 อบ วสุรัตน์ ก็ประกาศเปรี้ยงออกมาว่า จะตั้งกรรมการขึ้นสอบชม้อย ทิพย์โส และเจ้าหน้าที่การปิโตรเลียมทุกคนให้รู้ผลภายใน 7 วัน จะได้ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์กันให้ปวดหัวต่อไป

ด้านพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ก็บอกว่าที่มีข่าวซุบซิบกันว่าตนอยู่เบื้องหลังนั้น ตนขอปฏิเสธ เพราะไม่เคยยุ่งเกี่ยวและไม่เคยเล่นด้วย ส่วนเรื่องจะจัดการอย่างไร ตนไม่ทราบเพราะไม่ใช่ตำรวจ พลเอกอาทิตย์ย้ำว่า การแอบอ้างชื่อของตนนั้นขออย่าได้หลงเชื่อเด็ดขาด

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2526 ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ ผู้บังคับบัญชาของชม้อย ทิพย์โส เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ว่า กรณีชม้อย การปิโตรเลียมได้สอบกันมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่พบความผิด จึงไม่สามารถจะดำเนินการใดๆ ได้

อาจจะพูดได้ว่าก่อนหน้าการให้สัมภาษณ์ของชม้อย สถานการณ์เป็นลบอย่างไรหลังการให้สัมภาษณ์แล้วก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น หรือเลวร้ายกว่าเก่าด้วยซ้ำ

สำหรับชม้อย ทิพย์โส ก็มีความจำเป็นอย่างมากๆ ที่จะต้องเคลื่อนไหวอีกครั้งเป็นระลอกที่สอง

คราวนี้ชม้อยให้ชมพู อรรถจินดา ทนายดังออกมาแถลงแทน

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2526 ทนายชมพูช่วยแก้ต่างแทนชม้อยว่าธุรกิจของชม้อยเป็นธุรกิจ “จัดคิวเงิน” ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านการเงิน เหมือนๆ กับการจัดคิวรถ คือจัดการให้กับคนที่ต้องการกู้เงินชั่วคราวกับคนที่ต้องการให้กู้ ส่วนจะใช้เทคนิคการจัดคิวอย่างไรนั้น ตนไม่ทราบ

“สื่อมวลชนทั้งหลายขอได้โปรดให้ความเป็นธรรมแก่นางชม้อยด้วย” ทนายชมพูเรียกร้อง

หลังการออกมาแถลงของทนายชมพูจึงเปลี่ยนจาก “ปล่อยเงินกู้ให้ปั๊มน้ำมัน” มาเป็น “ธุรกิจจัดคิวเงิน” แล้ววันที่ 28 พฤศจิกายน 2526 สรรพากรก็ประกาศสวนออกมาว่า จะเรียกเก็บภาษีจากชม้อย ทิพย์โส เพราะตรวจสอบพบว่ามีเงินฝากนับพันล้านบาทใน 4 ธนาคาร ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีอบก็ให้สัมภาษณ์ว่า ชม้อย ทิพย์โส พยายามหลบเลี่ยงไม่ยอมให้ปากคำ การสอบสวนจึงไม่ค่อยคืบหน้ามาก

จนวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 ก็มีข่าวว่าชม้อย ทิพย์โส ยินยอมให้ปากคำกับคณะกรรมการสอบสวนของกระทรวงอุตสาหกรรม ชม้อยมาพร้อมกับทนายชมพู ทั้งนี้ อบ วสุรัตน์ ร่วมฟังการให้ปากคำอยู่ด้วย

วันที่ 1 ธันวาคม 2526 สรรพากรออกหมายเรียกชม้อยให้มาพบ เพื่อพิสูจน์ว่ามีเงินจำนวนมหาศาลได้อย่างไร นักข่าวของไทยรัฐพยายามจะถ่ายภาพหมายเรียกซึ่งติดไว้หน้าคฤหาสน์ของชม้อย แต่ถูกทหารอากาศกลุ่มหนึ่งเข้าขัดขวางและทุบรถตระเวนข่าวเสียหาย

วันที่ 2 ธันวาคม 2526 ธนาคารแห่งประเทศไทยสอบพบว่าชม้อยได้แตกเงินก้อนโตในธนาคารทุกแห่ง โดยนำไปกระจายฝากในนามผู้อื่นหลายบัญชี ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนเรื่อยมา ส่วนผู้บัญชาการทหารอากาศก็กล่าวว่า ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับแชร์ชม้อยและไม่เคยสั่งให้ทหารอากาศไปอารักขาชม้อย ทิพย์โส

หลังวันที่ 2 ธันวาคม 2526 แล้ว เรื่องแชร์ชม้อยก็หายเงียบไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ มาโผล่อีกครั้งก็ล่วงเข้าเดือนสิงหาคมปี 2527

วันที่ 28 สิงหาคม 2527 ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ยอมรับว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถควบคุมแชร์ได้ แต่ก็มีความเป็นห่วงเพราะแชร์ขยายตัวเร็วมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการตรวจสอบพฤติการณ์อยู่ตลอดเวลา และได้ออกมาตรการเตือนธนาคารต่างๆ ไม่ให้สนับสนุนโดยการเพิ่มโอดีสำหรับไปเล่นแชร์ อย่างไรก็ตาม การขจัดปัญหาการเล่นแชร์เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล

วันที่ 29 สิงหาคม 2527 กระทรวงการคลังเปิดประชุมด่วนพิจารณาปัญหาแชร์น้ำมันของชม้อย ซึ่งคณะรัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงความห่วงใยไม่ต้องการให้ขยายตัวมากกว่านี้ แต่ที่ประชุมยังหาข้อสรุปในเรื่องมาตรการแก้ไขไม่ได้

วันที่ 7 กันยายน 2527 กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีกับชม้อย ทิพย์โส และหนังสือพิมพ์หลายฉบับยืนยันว่าเป็นจำนวนเงิน 84 ล้านบาท

วันที่ 8 กันยายน 2527 มีข่าวการปรากฏตัวของชม้อย ทิพย์โส ในงานดุสิต-จิตรลดา โดยมาเป็นผู้เดินแบบและยังได้ประมูลพัดที่ขายในงานไปด้วยราคา 1 แสน 5 หมื่นบาท ด้านการปิโตรเลียมก็แถลง ชม้อย ทิพย์โส ลาออกจากงานไปแล้วตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2527

วันที่ 9 กันยายน 2527 คณะรัฐมนตรีเตรียมออกพระราชกำหนดเพื่อควบคุมการเล่นแชร์ สมหมาย ฮุนตระกูล บอกว่าจะเป็นพระราชกำหนดที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยและเจ้าหน้าที่ในการจัดการกับธุรกิจแชร์

ข่าวการออกพระราชกำหนดฯ นี้สะเทือนวงแชร์ชม้อยมาก มีรายงานข่าวระบุว่า ลูกแชร์เมื่อทราบข่าวก็มีความเห็นแตกแยกเป็น 2 ฝ่ายทันที ฝ่ายหนึ่งยังเหนียวแน่นอยู่เพราะเห็นชม้อยฝ่าคลื่นลมมาได้ตั้งนาน แม้จะมีหนังสือพิมพ์ตีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็คงจะฝ่าต่อไปได้ ส่วนอีกฝ่ายรีบถอนเงินคืนทันที

วันที่ 11 กันยายน 2527 มีข่าวถูกปล่อยออกมาว่า ชม้อย ทิพย์โส ได้ติดต่อขอเข้าพบสุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีช่วยคลัง และชม้อยบอกว่าจะเลิกวงแชร์ พร้อมกับยินดีจะเปิดเผยข้อเท็จจริงทุกประการเกี่ยวกับธุรกิจที่ทำอีก ทั้งจะนำทรัพย์สินของตนออกมาเฉลี่ยคืนเงินให้กับลูกแชร์ทุกรายด้วย

นับว่าเป็นข่าวที่มีผลกระเทือนมาก เพราะสำหรับลูกแชร์ที่กำลังลังเลแล้วก็คงต้องตัดสินใจถอนเงินที่ลงไปคืนในทันที ไม่ต้องลังเลอีกต่อไป

วันที่ 12 กันยายน 2527 ชม้อยก็เลยต้องออกมาแถลงอีกครั้งว่า ไม่เคยเข้าพบเจ้าหน้าที่ของรัฐแม้แต่คนเดียว และยืนยันว่าธุรกิจของตนจะไม่ล้ม เรื่องที่ชม้อยแถลงครั้งนี้มีการแพร่ภาพทางช่อง 5 และช่อง 7 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของกองทัพบกด้วย ส่วนช่อง 3 และช่อง 9 ของรัฐบาลไม่มีข่าวเรื่องนี้ออกเผยแพร่

ไตรรงค์ สุวรรณคีรี วิจารณ์การแพร่ภาพของช่อง 5 และช่อง 7 ว่าเป็นการกระทำที่ขัดนโยบายรัฐบาล

วันที่ 13 กันยายน 2527 พลเอกอาทิตย์ต้องออกโรงประกาศปกป้องช่อง 5 และช่อง 7 ว่าเป็นเพราะก่อนหน้านั้นช่อง 9 ออกข่าวที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก็เลยต้องให้ความเป็นธรรมกับนางชม้อย

“อันนี้ผมเป็นคนอนุมัติให้ทั้ง 2 ช่องเขาออกอากาศได้ ใครจะว่าอะไร ให้มาว่ากับผม” พลเอกอาทิตย์ตบท้ายด้วยลีลาทหารใหญ่

ปรากฏไม่มีใครกล้าว่าอะไร เรื่องจึงเงียบไป

วันที่ 24 กันยายน 2527 โฆษกรัฐบาล-ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี มามาดใหม่ไม่พูดถึงเรื่องเก่า แต่พูดว่ารัฐบาลจะต้องออกพระราชกำหนดกวาดล้างแชร์แน่นอน สำหรับชม้อย ทิพย์โส นั้น ดร.ไตรรงค์ เชื่อว่าไม่ได้ทำธุรกิจน้ำมันหรือค้าอาวุธส่งไปขายเลบานอนอย่างที่วิจารณ์กัน น่าจะเป็นธุรกิจเงินต่อเงินเสียมากกว่า “เพราะนางชม้อยนี่แหละที่รัฐบาลต้องออกกฎหมายเพื่อป้องกันความเดือดร้อนของประชาชน” ดร.ไตรรงค์ ยืนยัน

ล่วงเข้าเดือนตุลาคม 2527 หนังสือพิมพ์หลายฉบับประจำวันที่ 5 รายงานข่าวการให้สัมภาษณ์ของทนายชมพู อรรถจินดา โดยทนายชื่อดังคนนี้บอกว่า ธุรกิจของชม้อยเป็นธุรกิจปล่อยเงินกู้กินดอกเบี้ยร้อยละ 6.5 ต่อเดือน เท่ากับดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับเจ้าของเงิน ตัวนางชม้อยนั้นก็ได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยของเงินฝากที่ฝากธนาคาร

ฟังแล้วก็แปลกดี ไม่ทราบว่าทำได้อย่างไร

ทนายชมพูแสดงความเห็นว่า ปัญหาหนักที่ชม้อย ทิพย์โส กำลังเผชิญอยู่นั้นก็คือเรื่องการถูกเรียกเก็บภาษีและเรื่องพระราชกำหนดที่กำลังจะออกมา ซึ่งถ้าออกมาเมื่อไรแชร์ชม้อยก็คงจะเจ๊งแน่นอนเมื่อนั้น

วันที่ 8 ตุลาคม 2527 ชม้อย ทิพย์โส ยื่นอุทธรณ์วันสุดท้ายไม่ยอมเสียภาษีตามที่สรรพากรเรียกเก็บ คณะกรรมการอุทธรณ์ต้องพิจารณาใหม่ใช้เวลาอีก 30 วัน แต่สรรพากรยืนยันไม่ยอมแพ้เพราะมีหลักฐานมัดแน่น ข้างฝ่ายชม้อย ทิพย์โส ก็อ้างว่า ตนไม่มีทรัพย์สินอะไร บ้านที่อยู่ปัจจุบันก็เป็นบ้านของคนอื่น ไม่ใช่ของตนด้วยซ้ำไป

จากนั้นอีก 1 เดือนเต็มๆ พระราชกำหนดกวาดล้างแชร์ก็ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2527 ชม้อยให้สัมภาษณ์กับ บางกอกโพสต์ ยืนยันว่ากิจการยังดำเนินต่อไปตามปกติ แม้พระราชกำหนดจะออกมาแล้ว ชม้อยบอกว่าตนไม่ใช่คนโดดเดี่ยวและดีใจมากที่แม้แต่พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ก็ยังมีใจเป็นธรรมในเรื่องนี้

อีก 2 เดือนต่อมา มีข่าวว่าแชร์ชม้อยถูกลูกแชร์รุมถอนเงินจนงวดแล้ว ซ้ำร้ายเรื่องภาษีก็ตามจี้มาติดๆ ส่วนด้านกองปราบฯ ของพลตำรวจเอกบุญชู วังกานนท์ ก็มีการเปิดอบรมกฎหมายใหม่ ตลอดจนระเบียบวิธีปฏิบัติเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายไว้ให้พร้อม

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2528 ไทยรัฐออกข่าวว่าชม้อยหมดตัวแล้ว คงมีเงินเหลือในบัญชีเพียงล้านกว่าบาทเท่านั้น

วันที่ 11 ห่างกันเพียง 3 วันที่หน้าบ้านชม้อย ทิพย์โส ก็มีโปสเตอร์เขียนข้อความสนับสนุนให้กำลังใจพร้อมกับกระเช้าดอกไม้เต็มบ้านไปหมด เชื่อกันว่าเป็นแผนรณรงค์เรียกศรัทธาบรรดาลูกแชร์ทั้งหลาย

วันที่ 29 มีนาคม 2528 มีข่าวว่าชม้อยพยายามดิ้นสุดฤทธิ์โดยอ้างชื่อพลเอกอาทิตย์เป็นเกราะ และคิดว่าเดือนเมษายนไปแล้วสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะอาจจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลหรือยุบสภาเกิดขึ้น

วันที่ 4 เมษายน ชม้อยหายตัวไปอย่างเงียบๆ บ้างก็ว่าหนีไปอยู่ต่างประเทศ บ้างก็ว่าหลบไปอยู่บ้านผู้ใหญ่บางคน และมีข่าวว่าชม้อยโอนเงิน 200 ล้านบาทไปต่างประเทศ ส่วนบ้านก็โอนให้สามี ลูกแชร์พยายามมาหาที่บ้านก็พบว่าบ้านปิดเงียบ

วันที่ 12 เมษายน ทนายชมพูออกตัวว่าตนไม่ได้เป็นทนายของชม้อยอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่ชม้อยไม่ยอมจ่ายเงินให้ลูกแชร์

วันที่ 18 เมษายน ผู้บัญชาการทหารอากาศประกาศให้ชม้อยปรากฏตัวออกมา เพราะรัฐบาลก็ไม่ได้สั่งจับ

ครั้นแล้วในวันที่ 3 พฤาภาคม 2528 พระราชกำหนดกวาดล้างแชร์ของรัฐบาลก็ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ด้วยคะแนนเสียง 180 ต่อ 72 เสียง

วันที่ 8 พฤษภาคม 2528 ลูกแชร์ชม้อยจำนวนหนึ่ง รวมตัวตั้งเป็นศูนย์ที่ห้องอาหารออมแอมหน้าหมู่บ้านชินเขต มีนายปาน หาญสงคราม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ ติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องแชร์ชม้อยมารายงานสมาชิกพร้อมกับหาทางเรียกเงินคืน

วันที่ 10 พฤษภาคม 2528 พลเอกอาทิตย์พูดขอให้ชม้อยออกมาปรากฏตัว อย่าดำดินไปเงียบๆ ถ้าจ่ายเงินคืนได้ไม่ครบก็ให้จ่ายบ้าง เรื่องจะได้เรียบร้อยไปเสียที

วันที่ 11 พฤษภาคม 2528 วุฒิสมาชิกยกมือผ่านพระราชกำหนดแชร์โดยไม่ต้องมีอภิปราย จนกระทั่งวันที่ 8 มิถุนายน 2528 ชม้อย ทิพย์โส จึงปรากฏตัวอย่างเกรียงไกรภายใต้การให้ความอารักขาของกองทัพอากาศร่วมกับกองกำลังรักษาพระนคร

มีการจัดชุมนุมลูกแชร์ขึ้นภายในยิมเนเซียมของกองทัพอากาศเพื่อให้ชม้อยตกลงหาทางแก้ปัญหากับบรรดาลูกแชร์ ซึ่งชม้อยก็ประกาศหยุดกิจการแชร์และจะจ่ายเงินคืนทุกคน ทางด้านกองปราบก็ให้สัมภาษณ์ว่าการจะจับหรือยังไม่จับชม้อยนั้นจะต้องมีการ “ตีความ” ก่อน

การปรากฏตัวของชม้อยนี้ ลูกแชร์ดีใจกันมาก เพราะก็คิดว่าเงินคงจะได้คืนแน่แล้ว แต่เผอิญไม่ใช่อย่างที่หวังไว้

วันที่ 23 มิถุนายน 2528 บรรดาลูกแชร์เริ่มแน่ใจว่า ทุกรายจะได้คืนเงินกลับมาไม่ถึง 10% ของเงินต้นที่ลงไป ลูกแชร์หลายกลุ่มเริ่มรวนเรและมีการขู่จะจับชม้อย ทิพย์โส แขวนคอฐานที่หลอกลวงมาโดยตลอด

วันที่ 27 มิถุนายน อวสานของชม้อย ทิพย์โส มาถึง ด้วยการถูกพลตำรวจเอกบุญชู วังกานนท์ จับกุมตัวด้วยข้อหาฉ้อโกงประชาชน ซึ่งพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ก็พูดสนับสนุนการกระทำของกองปราบฯ ว่าสมควรแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us