วันที่ 26 มิถุนายน 2528 วันที่ชม้อย ทิพย์โส ถูกควบคุมเป็นผู้ต้องหาที่กองปราบปราม
เป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ เพราะแทบทุกคนที่ติดตามข่าวแชร์วงนี้มีความเชื่อว่าคนอย่างเธอนั้นต้องมีผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในแผ่นดินคอยปกป้องหนุนหลังอยู่
ที่เชื่อก็เพราะเหตุการณ์ในอดีตหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่ามรสุมลูกใหญ่ลูกเล็กที่โหมกระหน่ำใส่
แชร์วงนี้ก็อยู่รอดปลอดภัยมาได้
แต่ชม้อย ทิพย์โส ก็ถูกจับจนได้ ถูกจับชนิดว่าแม้แต่เจ้าตัวยังไม่อยากเชื่อว่าเป็นความจริง
เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ดูแลชม้อยตลอดเวลาในช่วงที่ถูกควบคุมอยู่กองปราบคือ ส.ต.อ.หญิงวันเพ็ญ
แย้มฉาย และ ส.ต.ท.หญิงนันทยา ชาญนุวงศ์ แห่งหน่วยเฉพาะกิจคดีล่อลวงหญิงไปค้าประเวณีต่างประเทศ
ข้อความถัดจากนี้ไปคือคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ทั้งสองที่ “ผู้จัดการ” มีโอกาสได้สนทนาไต่ถามถึงความรู้สึกที่เธอมีต่อชม้อย ทิพย์โส ซึ่งจังหวะชีวิตได้ทำให้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกันอยู่ระยะหนึ่ง
ชม้อยนั้นดูเผินๆ ภายนอกแล้วเป็นคนที่มีอัธยาศัยดีมาก รวมทั้งเป็นคนที่มีจิตวิทยาในการพูดสูง
ตอนแรกที่อยู่ด้วยกันรู้สึกสงสาร แต่เมื่อเป็นเจ้าหน้าที่ก็ทำได้แค่เป็นผู้รับฟังทุกอย่างที่เธอเล่า
ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสิน
วันแรกที่โดนควบคุมตัวไม่เห็นอาการแสดงความวิตกกังวลออกมาเลย ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา
เป็นคนที่เก็บความรู้สึกได้ดีมาก เคยเห็นผู้ต้องหาหญิงมามากไม่มีใครเหมือนคนนี้
เวลาพูด พูดช้า เรียบร้อย มารยาทดี แต่คุยเก่ง ทำตัวให้เข้าสถานการณ์ได้ดีมาก ไม่ว่าใครจะมาเยี่ยม
คุยกับทุกคนได้อย่างน่าเชื่อถือ “ม้อยอย่างนั้น ม้อยอย่างนี้”
แต่เท่าที่สังเกตดูหรือมาทบทวนสิ่งที่เธอพูดออกไป แม้จะพูดด้วยคำหวานกับทุกคนที่มาเยี่ยม
รู้สึกว่าคำพูดของเธอแฝงไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม ไม่ใช่ความจริง
ชม้อยเล่าให้ฟังว่าไม่ได้มีความตั้งใจที่จะคดโกงประชาชนเลยแม้แต่นิดเดียว
ตัวเธอเองเป็นคนสิงห์บุรี จบมาจากโรงเรียนราชินีบน ทำงานแบบนี้มา 12 ปีแล้ว
หย่ากับสามีเก่าตั้งแต่ปี 2526 และยังบอกอีกว่าคนที่เธอทำให้ร่ำรวยมีอยู่มากมาย
สามารถเอาเงินที่ได้จากการเล่นแชร์ไปซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือบางคนก็เอาเงินที่ได้ส่งลูกไปเรียนเมืองนอกอย่างสบาย
ตอนที่หายไปพักหนึ่งก็เล่าให้ฟังว่า เธอต้องหนี เพราะตัวเองไม่ปลอดภัย จึงไปอาศัยอยู่กับเพื่อนที่ฝั่งธนฯ
ได้รับความลำบากมากมาย แพ้น้ำที่ใช้จนหน้าเป็นเม็ดผื่น เวลานอนจะนอนในบ้านก็นอนไม่ได้
ต้องขับรถออกไปนอนข้างถนน ญาติพี่น้องโดนข่มขู่ จึงคิดว่าออกมาแสดงตัวดีกว่าเพื่อจะได้ไม่ทำให้ญาติพี่น้องต้องเดือดร้อน
ตอนที่ชม้อยเล่าให้ฟังเรื่องที่หนีไป ถึงได้รู้ชัดเจนว่าโกหก เพราะรู้จากตำรวจด้วยกันอยู่แล้วว่าตอนที่ชม้อยหลบหน้าไปนั้นไปอยู่ที่สิงห์บุรี
วันต่อมา ในวันที่ 27 หลังจากเบิกตัวออกจากห้องควบคุม สุภาภรณ์ (ตุ๊ก)
ทิพย์โส ลูกสาวคนโปรด ก็เอาแกงส้มและหมูทอดกระเทียมพริกไทยอาหารที่รู้ว่าแม่ชอบมาให้
แล้ว 2 แม่ลูกก็กินด้วยกันอย่างมีความสุข แต่สำหรับชม้อยสังเกตว่ากินได้ไม่มากเท่าที่ควร
เรื่องที่ชม้อยจะพูดอยู่บ่อยก็คือความเป็นห่วงลูกของตน เพราะตอนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปควบคุมตัวที่บ้านนั้น
ไม่ทราบว่าลูกชายไปอยู่ที่ไหน จึงกลัวว่าจะเป็นอันตราย
ยิ่งลูกสาวแล้วชม้อยจะแสดงความรักและห่วงเป็นพิเศษเพราะอยู่ใกล้ชิดกันมาตลอดตั้งแต่เด็กจนโต
ภายหลังเกิดเรื่องก็ต้องให้ลูกสาวที่กำลังเรียนอยู่ที่วิทยาลัยหอการค้าปี
1 ลาออกกลางคัน เพราะเกรงจะมีคนปองร้าย
2 วันแรกที่ถูกควบคุมตัวชม้อยไม่ยอมอาบน้ำหรือเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเลย
แต่ก็พูดว่าอยู่ที่กองปราบอบอุ่นใจมากเพราะพนักงานสอบสวนทุกคนดีและเป็นกันเอง
ส่วนอนาคตของตนนั้นหากพ้นโทษออกไปได้ ก็คงจะเข้าวัดไม่ยุ่งกับทางโลกอีก
เมื่อถึงวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องนำตัวชม้อย ทิพย์โส ไปฝากขังที่ศาลอาญา
ดูเหมือนเธอจะรู้ชะตากรรมแล้วว่า ความหวังที่จะได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระ
ที่อาจจะได้รับจากผู้ใหญ่ที่เคยเป็นที่พึ่งของเธอมาก่อนนั้นคงไม่มีทางเป็นจริงไปได้
อาการวิตกกังวลที่เก็บกลั้นในหลายวันที่ผ่านมาเริ่มแสดงให้เห็น พูดกับเราสองคนว่า
“พี่คงต้องติดคุกแน่ๆ” ระหว่างที่พูดก็มีอาการเหม่อลอยเหมือนกับคนขาดสติ
และเป็นอย่างนั้นมาตั้งแต่ตอนเช้า
การเดินทางเพื่อนำชม้อยไปขึ้นศาล เจ้าหน้าที่มีการป้องกันเหตุร้ายที่ไม่คาดฝันอย่างแน่นหนา
เราทั้งสองคนก็นั่งไปกับเธอด้วย รวมทั้งนายตำรวจอีกหลายคน พอใกล้จะถึงชม้อยมีอาการเงียบขรึมไม่พูดไม่จา
ท่าทางเหมือนคนหมดอาลัยตายอยาก
เมื่อไปถึงเรามีหน้าที่เข้าไปประกบทั้งสองข้างของเธอเอาไว้ รู้สึกได้เลยว่ามือของเธอสั่นและเย็นเฉียบ
ใบหน้าที่แม้จะพอกไว้ด้วยเครื่องสำอางก็ยังเห็นได้ชัดว่าซีดเผือด แต่ก็พยายามฝืนยิ้มออกมา
ยิ่งตอนจะก้าวขึ้นบันไดศาลอาญาขั้นแรก ที่มีประชาชนและนักข่าวมุงดูแน่นไปหมด
เธอถึงกับเข่าอ่อน จนเราต้องดึงมือยกขึ้นเพื่อให้ขึ้นบันไดไปได้ และเมื่อเข้าไปห้องพิจารณาคดีแล้ว
เธอก็รับหมดทุกข้อหารวมทั้งเซ็นชื่อรับทราบ
เสร็จจากพิธีการทางกฎหมายที่ศาลอาญาก็ต้องนำตัวเธอไปส่งที่ทัณฑสถานหญิงลาดยาว
ตลอดทางชม้อยเอาแต่คุยเกี่ยวกับที่คุมขังแห่งใหม่ โดยบอกว่าจะดีเหมือนที่กองปราบหรือเปล่าก็ไม่รู้
ก่อนที่จะแยกจากกัน หลังจากที่มอบตัวให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แล้วเธอยังหันมาสั่งเราว่าให้ไปเยี่ยมเธอบ้าง
และฝากให้ช่วยเอาเสื้อผ้ามาให้ด้วยเพราะทิ้งไว้ที่กองปราบหมด
“ผู้จัดการ” คงไม่มีความเห็นอะไรต่อความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองที่เล่าให้ฟัง
เรื่องราวทั้งหมดมันดำเนินไปด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว
สำหรับ ส.ต.อ.หญิงวันเพ็ญ และ ส.ต.ท.นันทยา ชม้อย ทิพย์โส คงเป็นผู้ต้องหาพิเศษที่ลืมเลือนไปไม่ได้ง่ายๆ
และต่อไปภายหน้าหากมีลูกหลานถามถึงเรื่องนี้ เธอคงได้เล่าเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์นี้ด้วยความภูมิใจที่มีโอกาสเข้าไปสัมผัสอย่างใกล้ชิดแม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ