23 กรกฎาคม 2528 เริ่มตั้งแต่บ่าย 3 โมง ตำรวจกองปราบกลุ่มหนึ่งรับคำสั่งจากพลตำรวจตรีบุญชู
วังกานนท์ ให้นำผู้ต้องหา 6 คนไปชี้ที่เกิดเหตุที่บ้านนางชม้อย ทิพย์โส ซึ่งผู้ต้องหาทั้ง
6 นี้ ประกอบด้วยนายปิยะชัย ชีรานนท์ นางสมบูรณ์ ประเสริฐศรี นางวัฒนา ทิพย์โส
นางนงเยาว์ เจริญงาม นายสมชาติ ไสยสุต และพันจ่าอากาศเอกศุภวัฒน์ ประเสริฐศรี
ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ต้องหาที่ร่วมกับนางชม้อยตั้งวงแชร์ทำการฉ้อโกงประชาชน
ตำรวจได้ให้ผู้ต้องหาแต่ละคนพาไปดูที่ทำงาน ว่าใครนั่งเก้าอี้ตัวไหน เพื่อใช้เป็นหลักฐานมัดตัวผู้ต้องหา
จากนั้นก็มีการนำไปชี้ตัวห้องนอนของนางชม้อย ก็ปรากฏว่าช่วงนั้น พ.ต.ต.ประเสริฐ
จันทราพิพัฒน์ และ จ.ส.อ.วันชัย สายหยุด ได้ถือไขควงเคาะฝาผนังห้องนอนไปรอบๆ
กระทั่งมาถึงบริเวณฝาผนังติดกับบันได เสียงเคาะผิดปกติคล้ายๆ กับข้างในกลวง
พยายามค้นหาที่เปิดปิดแล้วก็พบรูกุญแจติดกับฝาผนังซึ่งเป็นไม้ตีสลับแนว
รูกุญแจอำพรางไว้จากสายตาโดยเอาปฏิทินและเสื่อผืนเล็กๆ แขวนประดับไว้ ถ้าไม่สังเกตจะมองไม่ออกเด็ดขาดว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่ข้างหลัง
มีการเรียกผู้ต้องหาทุกคนมาถามว่าเป็นห้องอะไร ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ต้องหาคนใดทราบ
ตำรวจก็เลยให้ผู้ต้องหาทุกคนยืนตรงนั้นเป็นพยาน จากนั้นก็หาทางเข้าไปตรวจสอบในห้องลับนั้นดู
แล้วก็ได้พบกับกรุมหาสมบัติที่มีทองคำแท่งและทองรูปพรรณ ตลอดจนเพชรนิลจินดาระยิบระยับไปหมดทั้งห้อง
เมื่อพบกรุมหาสมบัติซึ่งมีทรัพย์สินมีค่ามหาศาลแล้ว ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.บุญฤทธิ์
รัตนพร ผู้กำกับการ 1 กองปราบ พร้อมกับตำรวจอีกชุดได้ตรวจค้นมาถึงห้องพระของนางชม้อยพบตู้ใส่เอกสาร
2 ชั้นวางอยู่ ปิดกุญแจเรียบร้อย สอบถามแล้วทราบว่าเป็นตู้ใส่เอกสารของนางชม้อย
ตำรวจจึงให้พันจ่าอากาศเอกศุภวัฒน์ น้องชายนางชม้อยเปิดให้ดู พันจ่าอากาศเอกสุขวัฒน์ไม่มีกุญแจจึงขอใช้ชะแลงงัด
ก็พบเงินสดๆ มัดเป็นปึกๆ นำออกมานับต่อหน้าผู้ต้องหา คือพันจ่าอากาศเอกศุภวัฒน์ เป็นเงินทั้งสิ้น
5 ล้านบาทเศษๆ
29 กรกฎาคม 2528 ผู้การฯ บุญชู วังกานนท์ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มใหญ่จากกองปราบได้นำตัวนายวิโรจน์ เสือมา สามีคนปัจจุบันของชม้อย ออกเดินทางไปตรวจค้นบ้านหลายหลัง ซึ่งส่วนมากเป็นบ้านญาติของนายวิโรจน์
ตำรวจเริ่มต้นด้วยการพานายวิโรจน์ไปยึดรถเบนซ์ของนางชม้อยที่นายวิโรจน์นำไปซ่อนไว้ที่ลพบุรีก่อน
ประมาณบ่าย 3 โมงครึ่ง เข้าตรวจค้นบ้านนางสมบูรณ์ ประเสริฐศรี พบกับนางบุญมา
กลิ่นผา แม่ของนางสมบูรณ์
นางบุญมายอมรับกับตำรวจว่านางชม้อยในช่วงหลบหนีก่อนจะถูกจับกุมได้นำกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่
2 ใบและกระเป๋าถือของผู้หญิงอีก 3 ใบมาฝากไว้
แต่นางบุญมานำของทั้งหมดไปฝากไว้กับนายธรรมศักดิ์ กลิ่นผา ซึ่งเป็นญาติกันอีกทอดหนึ่ง
ตำรวจได้ใช้ความพยายามที่จะตามหาตัวนายธรรมศักดิ์อยู่เกือบทั้งวัน จนในที่สุดก็พบและได้พามาหาผู้การฯ บุญชู
แรกๆ นายธรรมศักดิ์ปฏิเสธเสียงแข็ง แต่เมื่อตำรวจใช้ความอดทนซักถามไปเรื่อยๆ
ก็ยอมรับว่าได้นำกระเป๋าทั้งหมดไปฝากไว้กับนางสมพิศ บุญศรี ซึ่งเป็นเมียของเพื่อน โดยเพื่อนคนนี้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน สิงห์บุรี
ตำรวจจึงนำกำลังไปที่บ้านของนางสมพิศ และนางสมพิศก็ยอมรับว่าตนกับสามีได้ช่วยกันนำกระเป๋าไปฝังไว้ที่ใต้บันไดบ้านและปลูกแคร่ทับอำพรางไว้
เจ้าหน้าที่ก็เลยจัดการลงมือขุดและเมื่อขุดลงไปลึกศอกกว่าก็พบถุงพลาสติก
เปิดถุงพลาสติกดูพบกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ 3 ใบพร้อมกับกระเป๋าถือผู้หญิง
3 ใบอยู่ภายใน
เปิดกระเป๋าทุกใบออกดูพบเงินสดอัดแน่นอยู่ทุกใบ นับๆ แล้วก็เป็นเงิน
19 ล้าน 5 แสนบาท
16 สิงหาคม 2528
นางสุพิน วงศ์มณีพิทักษ์ อายุ 34 ปี เป็นคนเมืองสิงห์ อดีตเคยเป็นหัวหน้าสายวงแชร์ชม้อย
ทำงานอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสิงห์บุรี ได้โทรศัพท์ติดต่อกับผู้การฯ บุญชู
ขอคืนทรัพย์สมบัติของนางชม้อยที่นำมาฝากไว้นานแล้วกลับคืนไปแจกจ่ายให้กับลูกแชร์
นางสุพินบอกว่า ตนและลูกพี่ลูกน้องกันชื่อนายไพรัช หาญพานิช ไปหานางชม้อยที่บ้านเพื่อขอทวงเงินที่เล่นแชร์ไว้จำนวน
3 ล้านบาท นางชม้อยก็คืนเงินให้โดยดี พร้อมกับขอฝากกระเป๋าไว้หนึ่งใบเป็นกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่มากมีกุญแจปิดอยู่
2 ดอก นางชม้อยพูดกับตนว่ากระเป๋าใบนี้ใส่ชุดผ้าไหมที่นางชม้อยชอบมากไว้
เมื่อสิ้นเรื่องวุ่นวายแล้ว จะไปขอรับคืน
ต่อมาตนทราบว่านางชม้อยถูกจับ จึงเอะใจว่าข้างในอาจจะมีเงิน จึงได้ใช้มีดกรีดกระเป๋าก็พบชุดผ้าไหมจริงตามที่นางชม้อยพูดเพียงแต่ข้างใต้ชุดผ้าไหมยังมีเงินสดๆ
อีกจำนวน 10 ล้านบาท
ตนและนายไพรัชก็เลยนำเงินทั้ง 10 ล้านไปแยกฝากออมทรัพย์ไว้ตามธนาคารต่างๆ
ทั้งหมด 19 บัญชี
วันที่ 17 สิงหาคม ตำรวจกองปราบได้นำคนทั้งสองไปตระเวนถอนเงินจนได้มาครบทุกบาททุกสตางค์