3 เจ้าสัวผู้ทรงอิทธิพลต่อธุรกิจเมืองไทยประสานเสียงมองเศรษฐกิจปีหน้ารุ่ง "เจริญ"
เผยปีหน้านักธุรกิจต่างชาติพาเหรดลงทุนในไทยขาน รับเศรษฐกิจ แนะไทยมุ่งเป้าส่งออก
พัฒนาศักยภาพ "บุณยสิทธิ์"มั่นใจเศรษฐกิจดีดตัวธุรกิจแข่งขันข้ามกลุ่ม
เผยไทยเปิด FTA ส่งผลให้ขยายตลาดส่งออกมากขึ้น ขณะที่ "ธนินท์" แนะไทยพลิกบทบาทเป็นผู้ค้ามากกว่า
ผู้ผลิต วอนภาครัฐบาลแก้ปัญหารับใต้โต๊ะ บ่นกระทบ การส่งออกและนำเข้า "ป๋าเปรม"
เตือนสติคนไทยอย่า หลงระเริงได้ใจ
วานนี้ (15 ธ.ค.2546) สภาหอ การค้าแห่งประเทศไทยและหอการ ค้าไทย ได้จัดสัมมนา
Thailand Business Forum เชิงอภิปรายใน หัวข้อ "มุมมองธุรกิจไทยปี 2547 ใน
สายตาผู้นำธุรกิจไทย" โดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธาน องคมนตรีและรัฐบุรุษ
ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาอาวุโสหอการ ค้าไทยเป็นประธานในการเปิดงานสัมมนา
และ มีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ นายธนินท์
เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท เครือเจริญ โภคภัณฑ์ จำกัด นายเจริญ สิริวัฒนภักดี
ประธานกรรมการบริหาร ที ซี ซี กรุ๊ป และดร.อาชว์ เตาลานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย
"บุณยสิทธิ์" ชี้สินค้าแข่งข้ามกลุ่ม นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์
ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคกล่าว ว่าในปี 2547 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
(จีดีพี)จะเติบโตได้ถึง 8-9% เนื่องจากมีปัจจัยบวกมาสนับสนุนจากการที่ภาครัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
และมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพมากว่า 2 ปีเต็ม อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยัง มีจุดด้อยที่จะต้องเร่งพัฒนา
ได้แก่ ภาครัฐบาลควรเร่งขยายการส่งออกด้วยการเปิดตลาดใหม่ๆ มากขึ้นเพื่อเป็นช่องทางกระจายสินค้าของไทย
และส่งเสริมสินค้าโอทอปต่อเนื่อง
ขณะที่ นักธุรกิจไทยเองจะต้องมีการปรับตัวและฝึกฝนรวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยี
ให้ทันสมัยเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นทั้งในและต่างประเทศ ส่วนในกรณีที่ภาครัฐบาลได้เปิด
FTA ในแต่ละประเทศนั้น ถือว่าเป็นเรื่อง ที่ดี เนื่องจาก FTA จะเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน
ให้ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนตัวไม่อยากให้หลายฝ่ายมองว่าการเปิด
FTA จะสร้างจุดดีหรือจุดเสีย
นายบุณยสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่เศรษฐกิจ ในปีหน้ามีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นนั้น
ย่อมส่งผลให้ การแข่งขันทางภาคธุรกิจมีรุนแรงมากขึ้น ทำตลาดบางตลาดอาจมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นและบางตลาดมีอัตราการเติบโตช้า
ยกตัวอย่างเช่น สินค้าอุปโภคบริโภคในปีหน้าอาจเป็นตลาด ที่มีอัตราการเติบโตน้อย
เนื่องจากปัจจุบันคนนำ กำลังซื้อไปซื้อสินค้าประเภทอื่นๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ
อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ ทั้งนี้เนื่องจากสภาพการแข่งขันเปลี่ยนไป เป็นแข่งขันในลักษณะข้ามกลุ่มสินค้า
จากเดิมแข่งขัน ในลักษณะสินค้าในกลุ่มเดียวกันแข่งขันกันเอง
ขณะที่ภาวะการแข่งขันทางธุรกิจ ก็ยังมีนักธุรกิจ ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย
ซึ่งเป้าหมายที่นักลง ทุนต่างประเทศวางไว้นั้น ต้องการสร้างฐานให้เร็ว ที่สุด ส่งผลให้ปีหน้าเกิดการแข่งขันรุนแรงซึ่งนักธุรกิจไทยจะต้องระวังหากอยู่ในเซกเมนต์ที่มีการแข่งขันสูงก็ย่อมที่จะเสี่ยงต่อการถูกกินแชร์จากธุรกิจอื่นๆ
เช่น มือถือ ดิจิตอลและไอที
"สินค้าภายในเครือสหพัฒน์ไม่ร้อนแรงเท่า กับสินค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น
ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนขนาดใหญ่ แต่กลุ่มวัยรุ่นกลับนิยมซื้อสินค้าประเภทอื่น
ส่งผลให้สินค้าประเภทอื่นๆอาทิ ไฮเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และเข้ามาบีบกำลังซื้อของคน
ทำให้ภาพรวมของธุรกิจอุปโภคบริโภคติดลบ" นายบุณยสิทธิ์ กล่าวและว่า
นายบุณยสิทธิ์ กล่าวต่อถึงนโยบายการทำตลาดของเครือสหพัฒน์ บริษัทจะเน้นกระจายสินค้าไปยังช่องทางใหม่ๆ
เช่น การเปิดร้าน108 ชอปขึ้นมา นอกจากนี้ในปี 2547 บริษัทยังวางราก ฐานในการลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจให้ผู้บริโภคนิยมชื่นชอบในระยะยาว
แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ดังนี้ ความสุข (Happy), ความสวยงาม (Beautiful) และสุขภาพดี
(Healthy) เนื่องจากสินค้า ประเภทอุปโภคบริโภคเป็นสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต
"ธนินท์" ยันต้องเร่งแก้สินบนใต้โต๊ะ
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุตสาหกรรมอาหาร
กล่าวแสดงทัศนะถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าว่าจะมีภาวะ ดีขึ้น โดยมั่นใจว่าจีดีพีโตถึง
8% จากปัจจัยทางด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ การเกษตร การท่องเที่ยวและการก่อ
สร้าง โครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ประกอบกับสังเกตว่าเงินทุน
สำรองของประเทศซึ่งขณะนี้มีอยู่ถึงกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าภาวะการอย่างนี้คงจะไม่เกิดฟองสบู่
เหมือนเมื่อปี 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างแน่นอน รวมทั้งทางภาครัฐบาลคงไม่ปล่อย
ให้เกิดฟองสบู่ขึ้นอีกจากการที่มีบทเรียนมาแล้ว
"รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถูกทางแล้ว เช่น ปลดหนี้ให้กับคนจนกว่า
90% ส่งผลให้กำลังซื้อสินค้าในประเทศมีมากขึ้น ขณะที่ประชาชนมีรายได้นำเงินมาจับจ่ายซื้อสินค้า
เพราะหากคนจนไม่มีเงินสินค้าที่ผลิตมาก็ไม่มีคนซื้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้
อาทิ ธุรกิจขายผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด สับปะรด และส้มโอ กำลังรอให้คนไทยไปซื้อขาย"
นายธนินท์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถขับเคลื่อนไปได้นั้น ในภาคธุรกิจจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยี
ทั้งนี้เพื่อ ลดต้นทุนในการผลิต การมีระบบขนส่งสินค้าที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง
ขณะที่จุดที่ภาครัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ไขนั้น คงเป็นเรื่องของการที่มีการรับเงินใต้โต๊ะของพนักงานภาครัฐบาล
ทำให้การส่งออกและการนำเข้ามีปัญหาค่อนข้างมาก
ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางไปยังประเทศอินเดีย โดยมีกระแสข่าวว่าการเดินทางดังกล่าวไปเพื่อเจรจาผลประโยชน์ส่วนตัวนั้น
ในส่วนตัวมองว่าการเดินทางของท่านนายกฯเพื่อต้องการไปมองหาตลาดใหม่ให้กับประเทศไทยมากกว่าจะเน้นการส่งออกไปยังตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ขณะที่อินเดียเป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีความต้องการสินค้าระดับเดียวกับไทยคือ
ต้องการของดีแต่ราคาถูก ทั้งนี้มองว่าอินเดียจะเป็นตลาด สำคัญของสินค้าโอทอปในอนาคต
อุตสาหกรรมอาหารยังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และลงทุน เนื่องจากปัจจัยที่ว่าปัจจุบันไทยมียอด
ส่งออกอาหารติดอันดับ 8 ของโลก แม้ว่าขณะนี้ภาครัฐบาลยังไม่ได้สนับสนุนอย่างเต็มที่
อย่าง ไรก็ตาม หากภาครัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร เชื่อว่าจะเติบโตได้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมองว่าธุรกิจในลักษณะซื้อมาขายไปนั้น จะเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ดี ยกตัวอย่างเช่น
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป มักใช้ธุรกิจดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ
โดย ปัจจุบันประเทศดังกล่าวมีเพียงศูนย์วิจัยพัฒนาสินค้าเท่านั้น ขณะเดียวกันก็จ้างประเทศอื่นๆในการผลิต
จากนั้นนำสินค้าไปตีตราและออกจำหน่ายสู่ตลาดโลก โดยเชื่อว่าในอนาคตประเทศ ที่มีเศรษฐกิจที่ดี
ไม่ใช่ได้เป็นผู้ผลิต แต่จะเป็นผู้ค้าแทน ซึ่งไทยจะต้องเปลี่ยนบทบาท
นายธนินท์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายการตลาดในปีหน้า ทางเครือซีพีจะเน้นตลาดส่งออก
เป็นหลัก โดยมองว่าจีนเป็นตลาดที่สำคัญ เพราะ มีจำนวนประชากรถึง 1,300 ล้านคน รวมถึงการ
ปั้นอาหารไทยสู่ครัวโลก ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังเตรียมศึกษาและสร้างทีมการตลาด นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะปรับสูตรอาหารให้สอดคล้องกับรสชาติให้ถูกปากชาวต่างประเทศ
เจ้าสัวน้ำเมาแนะอย่ามองสั้นต้องมองยาว
นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ บริหาร บริษัท ที ซี ซี กรุ๊ป เจ้าของธุรกิจหลากหลายทั้ง
สุรา เบียร์ โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และอีกมาก กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้า
ว่า จะมีภาวะที่ดีขึ้นส่งผลให้นักธุรกิจต่างประ-เทศหันมาเน้นการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม มองว่านักธุรกิจไทยจะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพ และประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
นอกจากนี้ยังได้แนะนักธุรกิจไทยด้วยว่า การลงทุนทำธุรกิจจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ควรวางแผนระยะยาวมากกว่าที่จะวางแผนแค่ในระยะสั้นและประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ยังมองว่าภาคธุรกิจไทยที่สามารถไปได้ดี
ยังคงเป็นตลาด สินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ เนื่องจากเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน (อนึ่งบริษัท
เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือของนายเจริญ
มีผลประกอบการในปีนี้เติบ โตมากที่สุดในรอบกว่า 100 ปีตั้งแต่ก่อตั้งมา )
พร้อมกันนี้ นายเจริญ ยังกล่าวต่อว่า สินค้า โอทอปมีศักยภาพที่เติบโตได้อีกมาก
หากภาครัฐบาลและเอกชนร่วมกันผลักดัน ยกตัวอย่าง ประเทศจีนที่ภาครัฐบาลพยายามส่งเสริมสินค้า
ในแต่ละมณฑลและผลักดันให้เป็นสินค้าในระดับประเทศ พร้อมกันนี้ไทยควรที่จะเน้นการส่งออกให้มากขึ้น
"เปรม"เตือนสติอย่าหลงระเริง
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษในฐานะประธานคณะกรรมการ ที่ปรึกษาอาวุโสหอการค้าไทย
กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า ขณะนี้แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะส่งสัญญาณกำลังเติบโตขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น การส่งออกมีสัดส่วนสูงเป็นประวัติการณ์ การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ
และการจัดเก็บรายได้ของ รัฐบาลสูงเกินเป้าหมาย รวมทั้งเงินคงคลังของประเทศอยู่ในฐานะแข็งแกร่งสามารถเป็นทุน
สำรองระหว่างประเทศได้สูงถึง 1.3 แสนล้านบาท
ขณะที่มูลค่าตลาดรวม(มาร์เกตแคป)ในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สูงถึง
3.9 ล้านล้านบาท มูลค่าการซื้อขายสูงมากถึง 4-6 หมื่นล้านบาท แต่สิ่งที่คนไทยอยากเห็นคือการบริหารเศรษฐกิจอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
รวมทั้งทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2547 เพื่อจะได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมได้อย่างทันสถานการณ์
และย้ำเตือนด้วย ว่า ขอให้คนไทยจดจำวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ที่ผ่านมาเป็นเครื่องเตือนสติตลอดไปเพราะถือเป็นบทเรียนที่มีคุณค่า
"ดร.อาชว์"มั่นใจจีดีพีโต8%
ดร.อาชว์ เตาลานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปี 2547 ผลิตภัณฑ์มวล
รวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะเติบโตตามเป้าที่รัฐบาลวางไว้คือ 8% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการ
ที่รัฐบาลใช้นโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถูกทางแล้ว รวมทั้งการขยายตัวของภาคการลงทุน
และการบริโภคตลอดจนดอกเบี้ยซึ่งอยู่ในระดับต่ำ และราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนกรณี การขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดฟองสบู่แตกอีกครั้ง
เชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีก เนื่องจากผลสำรวจระบุว่าประชาชนยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยจำนวนมาก
อีกทั้งรัฐบาลก็ออกมาตรการควบคุมอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้มีการขยายตัวที่เร็วจนเกินไป