อายิโนะโมะโต๊ะ ยอมยกธง ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง รายเก่าหวงตลาด รัฐจ้องจับผิด
เกรงอนาคตออกกฎเพิ่มเติม หวั่นสร้างแบรนด์ไม่ทันคู่แข่ง
นายพิเชียร คูสมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ เซลส์ (ประเทศไทย)
จำกัด เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า เดิมบริษัทให้ความ สนใจจะเข้ามาทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง
เพราะเห็นว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ ขยายตัวสูง และประเทศไทยถือเป็นต้นแบบผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังที่มีชื่อเสียงในตลาดโลก
จากการออกไปบุกเบิกตลาดโลกของแบรนด์เรดบูล ทำให้ทั่วโลก เชื่อมั่นว่าเครื่องดื่มชูกำลังที่ผลิตในประเทศไทยเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ
ประกอบกับตลาดดังกล่าวในประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นตัวเลข
2 หลัก ตลาดรวมอยู่ที่ 35 ล้านลัง มูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงที่คาราบาวแดงเข้ามาทำตลาดเมื่อปลายปี
2545 พบว่าตลาดนี้คึกคักอย่างมาก ทั้งจากตัวคาราบาวแดงเองที่โหมจัดกิจกรรมตลาด
และคู่แข่งที่ออกมาทำตลาดมากขึ้นเพื่อปกป้องส่วนแบ่งตลาดของตัวเอง จะเห็นได้จากงบโฆษณาผ่านสื่อของเครื่องดื่มชูกำลังปีนี้ประมาณ
2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้ตลาดเครื่อง ดื่มชูกำลังอยู่ในสภาพแข่งขันรุนแรงเพิ่มขึ้น
เรื่อยๆ
จากความเคลื่อนไหวของตลาดทำให้อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทยเริ่มลังเลที่จะเข้ามาทำตลาดนี้
แต่ปัจจัยสำคัญที่บริษัทคงยกเลิกแผนการทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในช่วงนี้แน่นอนแล้ว
คือการที่ภาครัฐออกประกาศมาควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่ม ชูกำลังให้เป็นลักษณะสร้างภาพลักษณ์
ให้แสดงตัวอักษรคำเตือน และการควบคุมสื่ออื่นๆ ถึงแม้ว่าการออกประกาศครั้งนี้จะมีเนื้อหาสาระไม่แตกต่างจากกฎระเบียบของคณะกรรมการอาหารและยา
(อ.ย.) ที่ใช้ ควบคุมอยู่เดิม แต่ก็แสดงให้เห็นว่าภาครัฐกำลังจับตามองสินค้าตัวนี้อย่างใกล้ชิด
"ในอนาคตรัฐอาจจะออกกฎระเบียบมา ควบคุมเครื่องดื่มชูกำลังในรูปแบบอื่นๆ
อีก โดยอาจถึงขั้นกำหนดเวลาโฆษณาในลักษณะเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ได้ หากเป็นเช่นนั้นจริงผู้ประกอบการรายใหม่จะเสียโอกาสทำตลาด
โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภค" นายพิเชียร กล่าว
ปัจจุบันอายิโนะโมะโต๊ะไม่มีสินค้าเครื่องดื่มชูกำลังทำตลาดในทุกประเทศ โดยแนวคิดการออกสินค้าตัวนี้
หากจะทำตลาดจริงก็จะพัฒนาขึ้นในประเทศไทย เพราะเป็นต้นตำรับของเครื่องดื่มชูกำลัง
แหล่งข่าวในธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง กล่าวว่า ถึงแม้ว่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทยจะขยายตัวสูง
แต่ภาครัฐก็จับตามองตลาดนี้อย่างใกล้ชิด เพราะยังมีทัศนคติว่าเป็นเครื่องดื่มไม่มีประโยชน์
ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม เครื่องดื่มและอาหารรายใหญ่ที่ให้ความสนใจตลาดนี้ชะลอแผนและยกเลิกการ
ทำตลาดไปในที่สุด
ส่วนผู้ประกอบการเครื่องดื่มชูกำลังรายเก่า ต้องยอมรับว่าทำตลาดได้ยากลำบากขึ้น
เพราะไม่ว่าจะขยับตัวไปทางใด ภาครัฐจะให้ความสนใจทันที ขณะที่การแข่งขันของตลาดดังกล่าวอยู่ในภาวะรุนแรง
ถึงแม้ว่าประกาศภาครัฐจะออกมาควบคุมโฆษณาใหม่ แต่ผู้ประกอบการก็ยังปรับตัวได้ทัน
จะเห็นได้ว่าทุกแบรนด์ผลิตหนังโฆษณาทีวีใหม่ได้เกือบครบทุกแบรนด์ในเวลาอันรวดเร็ว