คาดดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 47 จะปรับตัวขึ้นยืน 880 จุด เหตุคาดเศรษฐกิจไทยปีวอกโต
8% ส่งผลกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะเพิ่มขึ้น และนักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้าลงทุน
ส่วนปีนี้ ชน 700 จุด ขณะที่ บจ. 9 เดือนแรกปีนี้ ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาลรวมกว่า
22,343 ล้านบาท เพิ่มถึง 165% จากงวดเดียวกันปีก่อน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมปันผลสูงสุด
ได้แก่ สื่อสาร วัสดุก่อสร้างและเครื่องตกแต่ง พลังงาน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และอาหารและเครื่องดื่ม
แนะ 9 กลุ่มหุ้นยังน่าสนลงทุน
นายวิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าววานนี้ (2
ธ.ค.) ว่าปี 2547 ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะเอื้ออำนวยต่อการลงทุน เมื่อพิจารณาผลประกอบการ
บจ.ที่เติบโตต่อเนื่อง และอัตราเติบโตเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกดี ขึ้น 1%
เศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้นเช่นกัน โดย ปีหน้า เศรษฐกิจไทยเท่าที่ประเมินจะขยาย 7.5-8%
ดังนั้น บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ต้องเติบโตดีขึ้นต่อเนื่องจากปีนี้
นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุน คือการที่บริษัทจัดอันดับเครดิต ปรับเพิ่มอันดับเครดิตให้ประเทศไทย
ส่งผลนักลงทุนต่างประเทศมีมุมมองดีขึ้นกับตลาดหุ้นไทยด้วย เขาเชื่อว่าปีหน้า ตลาดหุ้นไทยจะเติบโตดีขึ้นจากปีนี้
คาดชน 700 จุดปีนี้
"ดัชนีก่อนวิกฤตอยู่ที่ระดับ 1,700 จุด จากนั้นก็ปรับลดลง แต่ขณะนี้ พื้นฐานเศรษฐกิจ
ดีขึ้น มีปัจจัยสนับสนุนหลายเรื่อง ดังนั้นระดับ 700 จุดในปีนี้ ก็น่าจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปถึง
ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมองตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน มีค่าพีอีเรโชอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไป
สามารถเข้ามาลงทุนได้" นายวิจิตรกล่าว
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผู้สนใจการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มจาก
254,709 บัญชี ณ สิ้น พ.ค.เป็น 272,124 บัญชี ก.ย. จำนวนนี้ มีบัญชีเปิดซื้อขาย
ผ่านอินเทอร์เน็ต 28,489 บัญชี
ทางด้านนายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย)
ในเครือกลุ่มกิมเอ็งจากสิงคโปร์ กล่าวว่าการที่ตลาดหุ้นไทยเติบโตดีปีนี้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติประเภทกองทุนระยะสั้น
(เฮดจ์ ฟันด์) ลงทุนจำนวนมาก แต่เขาเชื่อว่าหลังจากนี้ กองทุนต่างชาติที่ลงทุนระยะยาว
กำลังจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากการที่ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
และผลประกอบการ บจ.ไทยที่เพิ่มขึ้น
ปี 47 คาดกระทิงชน 880 จุด
ขณะเดียวกัน นักลงทุนในประเทศเริ่มทยอยลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าระยะนี้นักลงทุน
ในประเทศเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเขาอยากเห็นนักลงทุนที่ลงทุนตลาดหุ้นไทย
ไม่ใช่เพียงหลักแสนคน ควรมี 1 ล้านคนขึ้นไป เมื่อเทียบอัตราส่วนคนไทยในประเทศ ทำให้เขาเชื่อว่า
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2547 จะอยู่ที่ 725-800 จุด
นายสมบัติ นราวุฒิชัย รองกรรมการ ผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา
กล่าวว่าปีนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวขึ้นยืนได้ที่ 667 จุด สัดส่วนราคาหุ้นต่อกำไร
(พีอี) 10 เท่า ปี 2547 พีอี 11 เท่าเมื่อเทียบความสามารถ อัตราเติบโตกำไร บจ.น่าจะอยู่ที่
20-22% ดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นยืน 801-881 จุด ปี 2548 อัตราเติบโตกำไรสุทธิ
บจ.จะอยู่ที่ 18% ดัชนีจะปรับตัวขึ้นยืน 1,013 จุดได้
"ที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย ในรอบ 28 ปี ช่วงปรับตัวขึ้นประมาณ
18 ปี และอยู่ในช่วงขาลง 10 ปี ดังนั้น คาดว่า ม.ค.นี้ตลาดหุ้นไทยน่าจะคึกคักได้
และระยะยาวดัชนี มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง" นายสมบัติกล่าว
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องพิจารณา ได้แก่ การก่อการร้าย แนวโน้มดอกเบี้ย ความวุ่นวายการปั่นหุ้นไทย
ผลกระทบการเรียกหลักประกัน ซื้อขายแบบหักกลบลบหนี้ในวันเดียว (Net Settlement)
รวมถึงมาตรการตัดความร้อนแรงเศรษฐกิจ ซึ่ง 5 ปัจจัยดังกล่าว ต้องจับตาในการลงทุนปี
2547
9 กลุ่มหุ้นน่าสน
กลุ่มที่แนะนำลงทุน ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ พร๊อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF)
แสนศิริ (SIRI) วัสดุก่อสร้าง ได้แก่ ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) รับเหมาก่อสร้าง คือ
ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง (STECON) อมตะ (AMTA) กลุ่มสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์
(SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เช่าซื้อรถยนต์ ได้แก่ สยาม พาณิชย์ ลีสซิ่ง (SPL)
อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เคซีอี อิเล็กทรอนิกส์ (KCE) กลุ่มปิโตรเคมี ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่งชาติ
(NPC) กลุ่มพลังงาน ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรี (RATCH) ปตท. (PTT) กลุ่มสื่อสาร ได้แก่
แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)
นางสาวสุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาติ กล่าวว่า หากอัตราเติบโตเศรษฐกิจไทยปีหน้า
8% ตลาดหุ้นไทยน่าจะมีค่าพีอี 2 เท่า ซึ่งปีนี้ อัตราเติบโตเศรษฐกิจไทย 5-7% ตลาดหุ้นไทยค่า
พีอี 10-11 เท่า ดังนั้น เป็นไปได้ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นได้อีก หากอัตราทำกำไร
บจ. 20% เชื่อว่าระดับดัชนี 800 จุด ได้ เห็นปีหน้าแน่นอน
บจ.ปันผลพุ่ง 165%
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ระดมทุนและตลาดหลักทรัพย์ใหม่
กล่าวว่าการประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล บจ.ในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
และตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ม.ค.-ก.ย. ดีขึ้น ทั้งจำนวน บริษัทที่จ่ายปันผล และมูลค่าเงินปันผลรวม
โดยบริษัทจ่ายปันผลทั้งสิ้น 59 บริษัท ขณะที่งวดเดียวกันปีที่แล้ว มี 45 บริษัท
มูลค่าเงิน ปันผลรวมที่ประกาศจ่าย สูงถึง 22,343.03 ล้านบาท เพิ่มถึง 165.28% จาก
8,422.53 ล้านบาท
"การเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนบริษัทที่จ่ายปันผล และมูลค่าที่สูงขึ้นของเงินปันผลรวมระหว่างกาลเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา
สอดคล้องผลดำเนินงาน บจ.ที่แนวโน้มดีขึ้น เมื่อคิดอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเทียบมูลค่าตลาดรวมเฉลี่ย
9 เดือน ตั้งแต่ ม.ค. ถึง ก.ย.บริษัทที่จ่ายเงินปันผลแล้ว 2 ใน 3 ของบริษัทที่จ่ายเงินปันผล
39 บริษัท จาก 59 บริษัท อัตราจ่ายปันผลระหว่าง 2-5% อีก 12 บริษัท จ่ายปันผลมากกว่า
5% เห็นได้ว่า อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลน่าสนใจ เมื่อเทียบการลงทุนประเภทอื่น
รวมถึงดอกเบี้ยเงินฝาก" นางสาวโสภาวดีกล่าว
บริษัทที่อัตราผลตอบแทนเงินปันผลระหว่างกาลสูงสุด 5 อันดับแรกช่วง ม.ค. -ก.ย.
คือ บมจ. ซีวีดี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (CVD) ปันผล 7.9% บมจ.สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม
(UPOIC) ปันผล 6.8% บมจ.ไทย อกริ ฟู้ดส์ (TAF) 6.1% บมจ.น้ำมันพืชไทย (TVO) 5.7%
และ บมจ.ไทคอน อินดัสเตรียล คอนเน็คชั่น (TICON) 5.7%
สื่อสารปันผลสูงสุด
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มูลค่าจ่ายปันผลระหว่างกาลช่วงม.ค.-ก.ย.สูงสุด 5 อันดับแรก
คือ หมวดสื่อสาร จ่ายปันผลรวม 8,109.5 ล้านบาท วัสดุก่อสร้างและเครื่องตกแต่ง จ่ายปันผลรวม
4,518.2 ล้านบาท พลังงาน จ่ายปันผลรวม 2,242.4 ล้านบาท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จ่ายปันผล
รวม 1,769.3 ล้านบาท และอาหารและเครื่องดื่ม จ่ายปันผลรวม 1,519 ล้านบาท