การบินไทยประชุมฝ่ายบริหาร"กนก"ฟุ้งขายหุ้นประสบความสำเร็จเผยนักลงทุนต่างชาติหวั่นปัญหา
ตั้ง Low Cost Airline ซื้อเครื่องบิน การเมืองแทรกแซง เผยหนี้สินต่อทรัพย์สิน
1.99 เท่า น่าพอใจ เผยแผน 5 ปี ลดค่าใช้จ่าย 10,000 ล้านบาท เน้นขนส่ง เฟดเตอร์เพิ่มรายได้คาร์โก้
วานนี้ (2 ธ.ค.) นายกนก อภิรดี กรรมการผุ้อำนวยการ ใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด
(มหาชน) ได้ประชุมร่วมกับฝ่ายบริหารบริษัท เพื่อแจ้งถึงความสำเร็จการขายหุ้นบริษัท
โดยนายกนกได้ชี้แจงผลการเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศเพื่อขายหุ้นของการบินไทยแก่นักลงทุนต่างประเทศว่า
ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากที่มียอดการจองซื้อหุ้นมาก กว่าความต้องการถึง
5 เท่า ซึ่งทำให้บริษัทมีเม็ดเงินเพิ่มเข้า มาประมาณ 5,700 ล้านบาทจากเป้าหมายที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ประเด็นที่ นักลงทุนต่างประเทศสนใจสอบถามมากที่สุด 5 อันดับแรก
ได้แก่ 1. เรื่องจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) ว่ามีผลกระทบมากน้อยเพียงใดกับบริษัท
ซึ่งได้ยอมรับว่า มีผลกระทบบ้าง แต่การแข่งขันด้านธุรกิจการบินที่รุนแรงขึ้นจะยิ่งทำให้ตลาดขยายตัวมากขึ้น
ซึ่งบริษัทจะสามารถจัดตั้งและเปิดให้บริการได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2547 ส่วนพันธมิตรร่วมทันจะต้องชำนาญ
ด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นผู้ที่เคยดำเนิน ธุรกิจด้านสายการบินต้นทุนต่ำมาก่อน
ประเด็นที่ 2 คือ เรื่องการบริหารความเสี่ยง 3. การจัดหาเครื่องบิน 4. นโยบายในการดำเนินงานของบริษัทที่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
และ 5. การปรับปรุงรายได้
นายกนกกล่าวว่า ขณะนี้ สัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ ของบริษัทอยู่ในอัตราที่น่าพอใจ
คือประมาณ 1.99 เท่า ซึ่งต่ำลงมากเมื่อเทียบจากช่วงวิกฤติปี 40 ที่อยู่ในระดับ
79 เท่า โดยภายในเวลา 5 ปีนี้ บริษัทจะใช้คืนหนี้สินประมาณ 90 ,000 ล้านบาท และจะมีการกู้อีก
60,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้สินลดลง อีกทั้งขณะนี้ การบินไทยมีการปรับปรุงการบริหารงาน
โดยมีการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ใน แผน
5 ปีลดลงแน่นอน และยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบจากการกู้เงิน เพราะดอกเบี้ยเงินกู้จะต่ำ
สำหรับแผน 5 ปี จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจัดซื้อเครื่องบิน
59% การลงทุนในโครงการต่างๆ ใน สนามบินสุวรรณภูมิ 11% ลงทุนในการจัดซื้ออะไหล่และอุปกรณ์ต่างๆ
ที่เกี่ยวกับเครื่องบิน 16% ลงทุนในด้านอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในเครื่องบิน
6% และลงทุนด้านจัดซื้อสินทรัพย์หลักประเภทคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สำนักงาน 8%
โดยตั้งเป้าหมายว่า จะต้องปรับลดค่าใช้จ่ายใน 5 ปี ให้ได้ 10,000 ล้านบาท ในส่วนการเพิ่มรายได้
จะเน้นที่ การขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ซึ่งขณะนี้ มีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 20,000
ล้านบาท หรือ 16% จากรายได้ทั้งหมด ซึ่งแนวโน้มในอนาคตจะมีการขยายตัวได้ โดยจะนำระบบเฟดเตอร์มาใช้มากขึ้น
อีกทั้งนโยบายรัฐเรื่อง การเปิดเสรี เขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อตกลง
FTA กับอินเดีย และจีน จะทำให้มีการขนส่งสินค้าเพิ่ม โดยคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น
20-25 % และระหว่างวันที่ 11-13 ธ.ค.46 จะมีการประชุมในส่วนของฝ่ายบริหารการบินไทยทั้งหมดด้วย