Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2543








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2543
เมื่อฟิลิป คอตเลอร์ พูดถึง e-marketing             
โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ
 


   
search resources

Philip Kotler
E-Commerce




เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ฟิลิป คอตเลอร์ (Philip Kotler) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์ด้านการตลาดของโลกสมัยใหม่แวะมาเมืองไทยอีกครั้ง

แต่คราวนี้เป็นการมาที่แปลกพิสดารกว่าปกติ...

เพราะเป็นการมาผ่านระบบ ISDN ในการบรรยายสดข้ามทวีประหว่างนครชิคาโก กับกรุงเทพฯ ผู้จัดคือ บริษัท เอ.อาร์. บิซิเนส เพรส จำกัด (A.R. Business Press) อ้างว่าการบรรยายครั้งนี้นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ดิฉันก็เลยถือโอกาสไปเป็นสักขีพยานกับเขาด้วย

ลำพังตัวของคอตเลอร์ก็น่าสนใจพออยู่แล้ว ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับวิธีการนำเสนอและหัวข้อบรรยายเรื่อง Kotler on e-Marketing ยิ่งทำให้การบรรยายของคอตเลอร์คราวนี้น่าสนใจ ยิ่งขึ้นไปอีก

ต้องยอมรับว่าเวลานี้กระแสของ e- marketing กำลังเฟื่องไปทั่วโลกและไทยเราเองก็หลีกไม่พ้นกระแสดังกล่าว

แม้ว่าการบรรยายข้ามโลกแบบไฮเทคคราวนี้จะมีสะดุดอยู่บ้างด้วย "ปัญหาทางเทคนิค" คือ ภาพและเสียงจะหายไปทุกๆ 15 นาที แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้เสียอรรถรสเท่าใดนัก

ข้อใหญ่ใจความที่คอตเลอร์บรรยายครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำให้ผู้ฟังซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหาร และนักการตลาดของไทยและต่างชาติในไทย ได้ตระหนักถึงการแข่งขันในยุคเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economy ว่า ไม่อาจใช้กลยุทธ์ด้านการตลาดแบบเดิมพิชิตชัยชนะทางธุรกิจได้อีกต่อไปแล้ว

ประหนึ่งเป็นการบอกกล่าวว่า เมื่อสถาน การณ์เปลี่ยน กลยุทธ์ก็จำเป็นต้องเปลี่ยน!

ก่อนหน้าการบรรยายครั้งนี้ คอตเลอร์ได้เคยชี้ให้เห็นถึงแนวความคิดที่ว่า ปัจจุบันอินเทอร์ เน็ตคือ ตลาดของทุกคน - The Net Is Your Market ทั้งนี้ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเป็นทั้งช่องทางในการสื่อสาร (communication channel) ช่องทางในการค้นหาข้อมูล (search channel) ช่องทางในการขาย (selling channel) หรือ e-commerce และช่องทางในการจ่ายเงิน (pay-ment channel) อีกด้วย

ประเด็นสำหรับคอตเลอร์ก็คือ อินเทอร์เน็ตได้นำเราไปสู่ตลาดใหม่ในไซเบอร์สเปซหรือที่คอตเลอร์เรียกว่า "มาร์เกตสเปซ - market space" ซึ่งตรงกันข้ามกับตลาดแบบดั้งเดิม ซึ่งท้ายที่สุดเราจะสามารถซื้อทุกอย่างที่เราต้องการได้จาก "มาร์เกตสเปซ" นี้

คอตเลอร์ได้อ้างอิงถึง Forrester Re-search ว่า ภายในปี ค.ศ.2002 ปริมาณการซื้อขายผ่าน e-commerce จะสูงถึง 3 แสน 2 หมื่น 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเมินว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทกับบริษัท ซึ่งธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตจะเน้นไปที่การตลาดระหว่างธุรกิจกับธุรกิจมากกว่าการตลาดสำหรับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม อินเทอร์เน็ต ก็จะนำความสะดวกสบายมาให้มากขึ้น โดยเฉพาะ สำหรับผู้มีภารกิจยุ่งเหยิง ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็จะรู้จักใช้คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น

การบรรยายข้ามทวีปครั้งนี้ เสมือนกับว่าคอตเลอร์ได้มาตอกย้ำการเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างเติบกล้าของ New Economy หรือ Infor-mation Economy

คอตเลอร์ได้กล่าวในระหว่างการบรรยาย ตอนหนึ่ง ถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของการตลาดและการขายในยุค e-business หรือ e-commerce นี้ว่า การทำโฆษณาในลักษณะของ mass advertising จะลดลง จะมีการเจาะเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยที่คอตเลอร์ ชี้ว่า บริษัทโฆษณาจะเปลี่ยนไปมีลักษณะเป็น Communications Agency มากขึ้น เพื่อช่วยบริษัทต่างๆ ทางด้านธุรกิจขายตรงและอื่นๆ โดยที่พนักงานขายโฆษณาจะมีหน้าที่สร้าง "มูลค่าส่วนเกิน" ในลักษณะเป็น value added saleman

สิ่งเหล่านี้คือการปรับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องจากสถานการณ์ใหม่

คอตเลอร์เห็นว่าอินเทอร์เน็ตทำให้ธุรกิจไร้ขอบเขตจำกัดอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งก่อให้เกิดความโปร่งใสในเรื่องของราคา (price trans-parency) ตลอดจนสามารถหาแหล่งสินค้า (supply) ได้จากทุกหนแห่งทั่วโลกและด้วยความรวดเร็ว ไม่เพียงแต่เท่านั้น เจ้าของสินค้ากับลูกค้าสามารถติดต่อพูดจากันได้โดยตรงและตลอดเวลา ทั้งนี้ในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าแต่ก่อน

คอตเลอร์สรุปด้วยว่าในยุคอินเตอร์เน็ตนี้ ธุรกิจหลายประเภทเห็นทีจะต้อง "สั่งลา" ร้านค้า (Store) กันแล้ว - Kissin the Store Goodbye เพราะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เช่น การท่องเที่ยว ตัวแทนหรือนายหน้าซื้อขาย ธนาคารและการประกันภัย เพลง หนังสือ ของเล่น ตัวแทนซื้อขายรถยนต์ และซูเปอร์มาร์เก็ต

นอกจากนั้น คอตเลอร์ยังชี้ให้เห็นว่า อินเทอร์เน็ตและระบบออนไลน์ยังจะช่วยเกื้อกูลและพัฒนาธุรกิจในอีก หลายด้านด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิมอย่างมหา ศาล เช่น ช่วยเรื่องการ ซื้อการขายให้ดีขึ้น การต่อรอง การวิจัย การคัดเลือกบุคลากร และการฝึกอบรม

e-training หรือระบบการฝึกอบรมแบบออนไลน์ ซึ่งไม่เคยมีใครคิดถึงมาก่อน ได้กลายเป็นความจริงที่ปฏิเสธ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ภายในเวลาไม่ถึงสองชั่วโมงในการบรรยายของคอตเลอร์ครั้งนี้ โดยเฉพาะเมื่อหักเวลาที่ภาพและเสียงขาดหายไปเป็นช่วงๆ ดิฉันเองถึงแม้จะไม่ใช่นักการตลาด เป็นแต่เพียง "นักเรียนน้อย" ผู้สนใจการเปลี่ยนแปลงของโลก ก็ยังรู้สึกเพลิดเพลิน อีกทั้งยังได้ภาพที่ชัดเจน ของ e-marketing มากขึ้น พร้อมกันนั้น ก็ตระหนักแก่ใจว่า ธุรกิจใดหากไม่สามารถปรับตัวรับสถานการณ์ใหม่ของยุคเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economy นี้ได้ทัน เห็นทีจะต้องเผชิญกับ ความยากลำบากไม่น้อย

ถ้ายกประโยคเด็ดจากหนังสือขายดีเรื่อง Who Moved My Cheese? ของ Dr Spencer Johnson ก็ต้องบอกว่า If You Do Not Change, You Can Become Extinct.-- ถ้าคุณไม่เปลี่ยนแปลง คุณก็อาจจะสูญพันธุ์!!

ดิฉันเชื่อว่า ใครก็ตามที่ได้ฟังปรมาจารย์ด้านการตลาดของโลกบรรยายคราวนี้แล้ว ก็คงได้แนวความคิดที่จะรับมือกับยุคเศรษฐกิจใหม่ โดยที่ไม่ต้องบินไปเข้าคอร์ส Winning Strate-gies for e-Business ของ Kellogg ที่จะเปิดอบรมรุ่นแรกในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เฉพาะค่าอบรม 4 วัน ของคอร์สนี้สูงถึง 3,800 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1 แสน 5 หมื่นบาท ส่วนผู้จะเข้า อบรมในปี ค.ศ.2001 ค่าอบรมยิ่งจะสูงขึ้นไปอีกเป็น 4,500 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสน 8 หมื่นบาท

แต่ถ้าใครสามารถไปเข้าอบรมได้ ก็ไม่ว่ากันค่ะ

คอตเลอร์เอง เคยเขียนไว้เมื่อตอนที่แนะนำหนังสือเรื่อง Kotler on Marketing : How To Create, Win & Dominate ซึ่งตีพิมพ์ เมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้วว่า... ตัวเขา "ตกหลุมรัก" ด้านการตลาดมาเป็นเวลานานถึง 38 ปี และ จนทุกวันนี้ก็ยังหลงเสน่ห์ของการตลาดอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อใดที่คุณคิดว่าคุณเข้าใจการตลาดแล้ว เมื่อนั้นการตลาดก็จะเริ่มนำเสนอทำนองเต้นรำจังหวะใหม่ ซึ่งคุณต้องเต้นตามทำนองใหม่นั้นให้ดีที่สุด...

นี่คือเสน่ห์ที่รัดรึงคอตเลอร์เอาไว้กับโลกของการตลาด

*ศาสตราจารย์ฟิลิป คอตเลอร์ จบปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์จาก Chicago University เมื่อปี 1953 ก่อนจะไปจบปริญญาเอก ทางด้านเดียวกันที่ M.I.T ในอีก 3 ปีให้หลัง ปัจจุบัน คอตเลอร์ยังคงดำรงตำแหน่งเป็น S.C. Johnson & Son Distinguished Professor ทางด้านการ ตลาดระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ปี 1962 โดยสอนอยู่ที่ Kellogg Graduate School of Management, Northwestern University สหรัฐ อเมริกา นอกจากนั้น ยังเป็นที่ปรึกษาขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มากมายหลายแห่งอาทิ Apple General Electric AT&T IBM DuPont Shell Merck Merrill Lynch และอีกหลายต่อหลายแห่ง คอตเลอร์กล่าวว่างานที่ปรึกษาเหล่านี้มีส่วนทำให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจ

คอตเลอร์เขียนหนังสือทางด้านการตลาดไว้มากมายหลายเล่มด้วยกัน รวมทั้งบรรยายให้ความรู้ด้านการตลาดกับนักการตลาดและผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง ความสนใจด้านการตลาดของคอตเลอร์เรียกได้ว่ากว้างขวางและไม่หยุดนิ่ง อีกทั้งไม่ได้จำกัดเฉพาะองค์กรที่ทำกำไรเท่านั้น โครงการหนึ่งในหลายสิบโครงการที่เขาให้ความสนใจอยู่ในเวลานี้ก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับ high- tech marketing

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us