ถึงเวลาต้องกล่าว "Merry Christmas and A Happy New Years" และขอส่งความปรารถนาดีแด่ชาว
"ผู้จัดการ" ทุกท่าน... วันปีช่างโบยบินไปอย่างรวดเร็ว หมุนไปหมุนมากับงานรอบตัว
เผลอนิดเดียวเวลาก็ผ่านไปอีกปีแล้ว จำได้ว่าตอนอยู่เมืองไทยเกือบทุกปีในช่วงเดือนธันวาคมต้องไปนั่งจิบเบียร์ที่ลานเบียร์เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์
(ตอนนี้กลายเป็นอาณาจักรของเครือเซ็นทรัลไปแล้ว) พอตกดึกก็ต้องขับรถตระเวนดูไฟคริสต์มาสที่ประดับประดาทั่วเมือง
โดยเฉพาะถนนสายราชดำริ จากหน้าโรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ โรงแรมรีเจนท์ ไปจนถึงถนนสีลม
โรงแรมดังในย่านนั้นส่วนใหญ่จะมีต้นสนสูงใหญ่ประดับประดาด้วยไฟสวยงาม กลายเป็นต้นคริสต์มาสยักษ์
สัญลักษณ์ของเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ของทุกปี
เคยคิดสงสัยว่า ต้นคริสต์มาสนี้มีความเป็นมาอย่างไรใครเป็นคนริเริ่มความคิดนี้ขึ้นมาเป็นคนแรก...
เมื่อข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงอเมริกา ครั้งแรกที่ได้ร่วมฉลองคริสต์มาสอีฟ
(วันที่ 24 ธันวาคม ก่อนวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม) กับครอบครัวสามีที่เคนตักกี้
ได้บรรยากาศแปลกใหม่และอบอุ่น เหมือนตอนที่เราดูหนังฝรั่ง หรือการ์ตูนที่มีฉากหิมะตกอยู่นอกบ้าน และในบ้านมีเตาผิงสร้างความอุ่นสบายและข้างๆ เตาผิงมีต้นคริสต์มาสใหญ่ประดับประดาด้วย
Ornaments และเทียนไฟอย่างสวยงาม กล่องของขวัญวางเรียงรายอยู่รอบต้นคริสต์มาส
ในคืนคริสต์มาสอีฟเรายังไม่สามารถเปิดของขวัญดูได้ ต้องรอให้ถึงรุ่งเช้าวันคริสต์มาส
พวกเราถึงจะเปิดดูได้เหมือนรอให้มิสเตอร์แซนต้าทำหน้าที่ก่อนคือ ลงมาทางปล่องไฟ
เอาของขวัญมาใส่ในกล่องในคืนคริสต์มาสอีฟ...เวลาที่เห็นบรรยากาศและภาพเหล่านี้คือช่วงเวลาที่พ่อแม่ลูก
ญาติพี่น้อง กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ทำให้นึกถึงเทศกาลปีใหม่ของไทย คือวันสงกรานต์ที่คนจากบ้านมาทำงานในเมืองมีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมคารวะ
รดน้ำดำหัวพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องเป็นการอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาปีละครั้ง...คิดถึง...
ย้อนกลับมาที่ตำนานของต้นคริสต์มาสกันดีกว่า ในอเมริกามีเรื่องเล่ากันต่อมาว่า
ในสมัยก่อนคริสต์กาล ในช่วงฤดูหนาวที่ทุกอย่างขาวโผลนไปด้วยหิมะ ต้นไม้ใบหญ้าแห้งตาย
ไปกับความหนาวยะเยือกของอุณหภูมิที่ติดลบ แต่ยังคงมีต้นไม้บางประเภทที่ยังคงความเขียวขจีดั่งสัญลักษณ์ของชีวิตที่ไม่มีวันดับสิ้น นั่นคือ ต้นสน Evergreen คือ ใบเขียวตลอดกาล ต้นไม้เหล่านี้จึงมีความหมายพิเศษมากต่อผู้คน
เหมือนเติมสีสันให้กับชีวิตในช่วงฤดูหนาว เมื่อฤดูหนาวมาเยือนผู้คนจึงนิยม
ที่จะประดับประดาประตูหน้าต่างด้วยกิ่งไม้ใบสนใบเฟอร์ (Fir) โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่จะมีความเชื่อว่า
กิ่งไม้ใบสนใบเฟอร์นี้จะช่วยขับไล่และป้องกันแม่มด ภูติผีปีศาจ วิญญาณร้ายและความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ให้เข้ามากล้ำกลายคนในบ้านได้
สำหรับประเทศต่างๆ ที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ในช่วงประมาณวันที่ 21-22
ธันวาคมของทุกปีจะเป็นวันที่เรียกว่า "The Winter Solstice" คือ ดวงอาทิตย์จะอยู่ไกลเส้นศูนย์สูตรมากที่สุด
ทำให้เวลากลางวันสั้นกว่าเวลากลางคืน คือท้องฟ้าจะมืดเร็วมาก และคนโบราณเชื่อว่า
พระอาทิตย์คือเทพเจ้า และการที่ฤดูหนาวและ "The Winter Solstice" มาเยือนนั้นเป็นการตัดกำลังและสร้างความอ่อน
แอให้กับเทพเจ้า ดังนั้นพวกเขาจึงทำการเฉลิมฉลองและบรวงสรวงเทพเจ้าด้วยกิ่งไม้ใบสนซึ่งยังคงความเขียวอยู่
เพื่อเป็นเครื่องหมายเตือนใจว่า เทพเจ้าจะกลับมาแข็งแกร่งและบรรดาพืชพันธุ์ต้นไม้ จะกลับมาสู่สภาพเขียวขจีและมีชีวิตชีวาอีกครั้ง และการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการผลิดอกออกผลก็จะมาถึงในอีกไม่นาน
แม้กระทั่ง ชาวอิยิปต์โบราณก็มีการบรวงสรวงเทพเจ้าที่เรียกว่า "Ra" ผู้มีศีรษะเป็นเหยี่ยวและสวมมงกุฎรูปพระอาทิตย์
เมื่อช่วงเวลาฤดูร้อน หรือ "The Summer Solstice" มาถึงเวลากลางวันจะเริ่มยาวขึ้น
เทพเจ้า "Ra" ก็จะเริ่มมีพลังแข็งแกร่งมากขึ้น ชาวอิยิปต์จะตกแต่งบ้านด้วย
"Green Palm" ซึ่งหมายถึงสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของชีวิตที่เหนือความตาย
ส่วนในยุคโรมันตอนต้นๆ ก็มีการเฉลิมฉลอง Solstice เรียกว่า "The Saturnalia
in honor of Saturn" ซึ่งนับถือเป็นเทพเจ้าแห่งการเกษตรกรรม ชาวโรมันมีความเชื่อว่า
เมื่อใดที่ช่วง Solstice มาเยือน นั่นหมายถึง ในไม่ช้าเรือกสวนไร่นาจะกลับมาเขียวขจีและเจริญงอกงามอีกครั้ง
เช่นเดียวกันกับที่อื่นๆ ชาวโรมันจะประดับประดาบ้านด้วยกิ่งไม้ใบสนเป็นเครื่องเตือนใจ...
มาถึงตำนานจากผู้คนที่อยู่ทางตอนเหนือของยุโรป ซึ่งมีความเชื่อตามความลึกลับของ
"Druids" บาทหลวงของชาว "Celts" หรือชาวสกอตโบราณ พวกเขาก็ประดับประดาบ้านและ
วัดด้วยต้นสน Evergreen ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของความยั่งยืนของชีวิต เช่นเดียวกับพวกไวกิ้งในสแกนดิเนเวียก็คิดว่าต้นสน
Evergreen เป็นต้น ไม้วิเศษของเทพเจ้า "Balder" หรือเทพเจ้า แห่งดวงอาทิตย์
สำหรับประวัติศาสตร์เยอรมัน ตำนานต้นคริสต์มาสเริ่มขึ้นในราวๆ ศตวรรษที่
16 เมื่อชาวคริสเตียนนำมาตกแต่งประดับประดาในบ้าน บางบ้านไม่สามารถหาต้นสนจริงมาประดับได้
ก็จะหาไม้มาสร้างเป็นรูปทรงพีรามิดคล้ายกับของจริง และประดับประดาด้วยกิ่งไม้ใบสนและเทียนไฟแทน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า Martin Luther บาทหลวงแห่งนิกายโปรเตสแตนท์แห่งศตวรรษที่
16 เป็นคนแรกที่ริเริ่มการประดับต้นคริสต์มาสด้วยเทียนไฟ เรื่องราวมีอยู่ว่า
คืนหนึ่งขณะที่บาทหลวง Martin Luther กำลังเดินกลับบ้าน ในสมองก็ค้นคิด ประพันธ์บทสวดมนต์
ทันใดนั้นก็มองเห็นดวงดาวนับหมื่นแสนดวงส่องระยิบระยับล้อมรอบต้นสน Evergreen
ช่างเป็นภาพที่วิจิตรงดงามกระไร เมื่อกลับถึงบ้าน ก็อยากให้คนในครอบครัวเห็นภาพมหัศจรรย์เช่นเดียวกัน
จึงนำต้นสน Evergreen กลับบ้านและประดับประดาด้วยเทียนทั่วทั้งต้น เป็นเรื่องแปลกประหลาด
สถานที่แรกที่ระบุว่าเป็นแห่งแรกที่มีต้นคริสต์มาสคือที่ Pennsylvania ในประมาณปี
ค.ศ.1830 โดยการนำเข้ามาของชาวเยอรมันที่เข้ามาตั้งรกรากในแผ่นดินอเมริกา
ต่อมาในช่วงปี ค.ศ.1840 ต้นคริสต์มาสถูกมองว่าเป็นพิธีกรรมของพวกนอกศาสนา
และไม่เป็นที่ยอมรับของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ถึงขนาดที่ผู้เคร่งศาสนาใน New
England ประกาศว่าวันคริสต์มาส เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนจะลบหลู่ไม่ได้
และการที่นำต้นสน Evergreen มาประดับประดานั้นถือเป็นการลบหลู่เทศกาลอันศักดิ์สิทธิ์
ต่อมาในปี ค.ศ.1846 พระราชินี Victoria และพระสวามี ชาวเยอรมัน เจ้าชาย
Albert และครอบครัวเป็นข่าวโด่งดังเมื่อ หนังสือพิมพ์ London News ได้ลงรูปราชนิกุลยืนล้อมรอบต้นคริสต์มาสที่ประดับประดาสวยตระการตา
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต้นคริสต์มาสก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคมอเมริกัน
โดยเฉพาะในแถบฝั่งตะวันออก เช่น นิวยอร์ก ซึ่งต้นคริสต์มาสเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของสังคมชั้นสูงในอเมริกาขณะนั้น
ตามปกติต้นคริสต์มาสที่ประดับประดาในยุโรปจะมีความสูงราวๆ 4 ฟุต แต่เมื่อกลายมาเป็นที่ยอมรับในอเมริกา
ทุกอย่างต้องใหญ่อลังการเข้าไว้ ต้นคริสต์มาสส่วนใหญ่ในอเมริกาจึงมีความสูงตั้งแต่พื้นจนจรดเพดาน
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 20 ชาวอเมริกันจะนิยมตกแต่งต้นคริสต์มาสด้วย Ornaments
ที่ทำจากงานฝีมือ ในขณะที่พวกยุโรปจะประดับด้วยของที่รับประทานได้ เช่น แอปเปิล
ถั่วประเภทต่างๆ คุกกี้ และรวมไปถึงข้าวโพดคั่วปั้นเป็นรูปกลมๆ ผสมกับถั่วและผลไม้แห้ง
และในช่วงศตวรรษนี้เอง ที่เริ่มมีการผลิตดวงไฟคริสต์มาสออกมาจำหน่าย และช่วงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการประดับประดาต้นคริสต์มาสตามสี่แยกสแควร์ ของเมืองต่างๆ ตามถนนและต้นคริสต์มาสก็กลายเป็นประเพณี ของชาวอเมริกัน
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา...