เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา นิตยสารฟอร์จูนได้ทำการจัดอันดับชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด
400 คน เป็นปีที่ 21 ผลปรากฏว่า "วิลเลี่ยม เฮนรี่ เกตส์ (William Henry
Gates)" ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีในนาม บิล เกตส์ หรือมิสเตอร์ไมโครซอฟท์
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟท์ ผู้ผลิตระบบปฏิบัติการที่ครองโลกอยู่ในขณะนี้
มีชื่อติดอยู่ในอันดับหนึ่ง ติดต่อกันเป็นปีที่ 10
ฟอร์จูนรายงานว่า วิลเลี่ยม เกตส์ วัย 47 ปี มีสินทรัพย์ราว 46,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นิตยสารเอเชียมันนี่ (Asiamoney) ก็ได้ทำการจัดอันดับบุคคลที่ร่ำรวย
ที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ 100 คน (2003 Chinamoney 100 List)* ขึ้นมาเช่นเดียวกัน
ผลปรากฏว่าบุคคลที่มีชื่อติดอยู่ ณ อันดับที่หนึ่งนั้นเป็นชายหนุ่มวัย 32
ปี ที่มีชื่อ ว่า "วิลเลี่ยม ติง (William Ding)" ผู้ก่อตั้งบริษัทเว็บไซต์
พอร์ทัล Netease.com หนึ่งในสามเว็บไซต์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน*
เอเชียมันนี่รายงานว่า วิลเลี่ยม ติง มีสินทรัพย์ตีค่าเป็นเงินได้ราว
900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7,200 ล้านหยวน (ราว 36,000 ล้านบาท) จำนวนสินทรัพย์ดังกล่าว
แม้อาจจะเทียบกับวิลเลี่ยม เกตส์ ไม่ได้แม้สักน้อย แต่เงินจำนวนดังกล่าว
สำหรับชายหนุ่มวัย 30 ปีต้นๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ปกครองในระบอบการเมืองแบบคอมมิวนิสต์
กลับไม่ใช่เรื่องธรรมดา
วิลเลี่ยม ติง เป็นใคร? แล้วทำไมเขาจึงก้าวขึ้นมาเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ร่ำรวยที่สุดได้?
"วิลเลี่ยม ติง" หรือในชื่อจีน "ติง เหล่ย "เกิดเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1971
ณ เมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง ได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์
วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (เฉิงตู) โดยจบการศึกษาเมื่อปี 1993
หลังจากจบการศึกษา ติงก็เข้าทำงานกับ China Telecom สาขาหนิงโป ในตำแหน่งวิศวกรเทคนิค
สองปีถัดมาเขาก็ย้ายไปทำงานกับ Sybase (China) บริษัทลูกของ Sybase สหรัฐฯ
ที่ทำด้านซอฟต์แวร์และฐานข้อมูล ในตำแหน่งผู้จัดการโครงการระดับภาคที่กว่างโจว
กระทั่งเดือนพฤษภาคม 1997 ติงก็ลาออกจาก Sybase เพื่อมาตั้งบริษัทของเขาเองโดยใช้ชื่อว่า
Netease ขึ้นที่มณฑลกว่างโจวนั่นเอง
"นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมไล่ตัวเองออกจากงาน คนเราอาจมีโอกาสหลายครั้งในชีวิต
ด้วยจังหวะชีวิตในตอนนั้น การออกจากงานต้องใช้ความกล้าหาญ และต้องเสียสละมากทีเดียว
แต่การกระทำเช่นนี้ก็มักจะเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต" ติงให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกตอนที่ลาออกจากงาน
บริษัท Netease ตั้งขึ้นมารับงานหลักคือการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ร่วมกับอินเทอร์เน็ต
ด้วยเวลาไม่นานนัก ติงในฐานะผู้นำบริษัทก็นำไอเดียของ Hotmail (ที่ต่อมาไมโครซอฟท์เข้าซื้อกิจการ)
พัฒนาระบบอีเมลหรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้งานจากเว็บไซต์ขึ้นมาเป็นเจ้าแรกในจีน
เนื่องจากเป็นฟรีอีเมล ที่รองรับทั้งสองภาษา คือ ทั้งภาษาจีนและอังกฤษ
ทำให้ระบบฟรีอีเมลของ Netease ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ในช่วงปี
1997-1998 นั้น มีการประเมินว่าฟรีอีเมลกว่าร้อยละ 50 ของชาวจีน นั้นใช้ซอฟต์แวร์ของ
Netease ทั้งสิ้น
จากความสำเร็จในขั้นแรก ติงในช่วงกลางปี 1998 ติงได้เปลี่ยนแนวทางของบริษัทจากพัฒนาซอฟต์แวร์
ไปเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยเสริมบริการใหม่ๆ เข้าไป เช่น ออกแบบเว็บไซต์
ห้อง Chat เกมส์ และเว็บไซต์เพื่อความบันเทิง พร้อมกันนั้นก็ขยายกิจการของ
Netease ไปทางเหนือ ด้วยการเปิดสาขาที่เซี่ยงไฮ้ในปี 1999
ในเดือนกรกฎาคมปี 1999 นั้นเอง Netease ก็เปิดระบบการประมูลออนไลน์ขึ้นมาโดยถือเป็นเว็บไซต์แรกในจีน
และเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกันก็เปิดระบบการค้าแบบ Business-to-Consumer และ
Consumer-to-Consumer ขึ้นมา
ความนิยมของ Netease นั้นตีคู่ไปกับ <*http://www.sohu. com*>Sohu.com<#>
เว็บไซต์ทำนองเดียวกันที่มีฐานอยู่ทางเหนือ คือ เมืองหลวงปักกิ่ง จนทำให้มีผู้กล่าวว่า
"(สิงห์) เหนือ Sohu (เสือ) โต้ Netease"
ในเดือนมีนาคม 2001 แม้ในสหรัฐฯ กระแส Internet : The New Economy จะสร่างซา
และฟองสบู่อินเทอร์เน็ตจะแตกตัวไปแล้ว แต่ติงในฐานะ CEO ก็ผลักดัน Netease
เข้าระดมทุนในตลาดแนสแดค (Nasdaq) ของสหรัฐฯ จนสำเร็จ โดยหลังจาก Netease
เข้าตลาดแนสแดคสำเร็จ ติงก็ลาออกจากตำแหน่ง CEO และมาดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายเทคนิค
(CTO) แทน
อย่างไรก็ตาม การเข้าระดมทุนในตลาดใหญ่อย่างแนสแดค กลับเป็นจุดพลิกผันของติงอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อ Netease มีปัญหาความไม่ชอบมาพากลทางบัญชีขึ้นมา พร้อมกับความล้มเหลวในการควบรวมบริษัท
จนบริษัทของเขาเกือบถูกถอดออกจากตลาดแนสแดค
นอกจากปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสแล้ว หากพิจารณาทางด้านโครงสร้างธุรกิจก็จะพบว่า
ทำไมการเข้าระดมทุนของ Netease จึงล้มเหลว เพราะปัญหาที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตในจีนประสบนั้นไม่ได้แตกต่างไปจากปัญหาที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตในสหรัฐฯ
ประสบอยู่เช่นกัน ดังที่มีผู้เปรียบเปรยเอาไว้ว่า
"ผู้ใช้บริการบนอินเทอร์เน็ตส่วนมากนั้นเหมือนกับดาวหางที่มาแล้วก็ไป โดยไม่ได้จ่ายอะไรให้ผู้ให้บริการ
เลยแม้แต่นิดเดียว"
ด้วยข้อจำกัดและต้นทุนที่สูง ทำให้รายรับจากการโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่น้อยนิดนั้น
ไม่พอหล่อเลี้ยงบริษัทที่ประกอบธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตโดดๆ ได้ .... จนกระทั่งเทคโนโลยี
SMS และ MMS ของโทรศัพท์เคลื่อนที่กระโดดเข้ามาช่วยชีวิตบริษัทเหล่านี้ไว้
เนื่องจากระบบ SMS-MMS ทำให้เว็บไซต์พอร์ทัล ต่างๆ สามารถจับมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
รายงานข้อมูล-ข่าวสาร ที่บริษัทโทรศัพท์สามารถเก็บเงินจากผู้ใช้บริการได้
สำหรับ Netease ของติงนั้นถือไพ่เหนือกว่าคู่แข่งอยู่บ้างคือ Netease นั้นได้เปิดให้บริการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
นอกจากนั้นยังร่วมทำข้อตกลงเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัท Electronics Arts (EA)
บริษัทเกมยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เพื่อทำตลาดเกมออนไลน์ (Online Gaming) ในจีน
ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว (ขณะที่คู่แข่งของ Netease อย่าง Sohu.com นั้นเมื่อปลายเดือนตุลาคม
ก็จับมือกับค่ายดิสนีย์ เพื่อหารายได้จากโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต และรายได้จากการส่งรูปภาพการ์ตูน
ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ)
พระอาทิตย์ดูเหมือนจะสาดแสงมาที่ "ติง" อีกครั้ง ขณะที่เกมออนไลน์ในแต่ละเดือนทำเงินให้เขาไม่น้อย
ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นของ Netease ในตลาดหุ้นก็พุ่งขึ้นมาหลายสิบเท่าตัว
จาก 3 เหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2002 ขึ้นมาซื้อ-ขาย อยู่ที่ 72
เหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2003
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานะเศรษฐีที่ได้มาจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้น ติงก็ให้สัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า
"ความเปลี่ยนผันทางความร่ำรวยของเขาในตลาดหุ้นจะไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต
แบบแผนการทำงาน หรือวิธีคิดของเขาอีกต่อไป"
จากเด็กหนุ่มที่หาญกล้า ลาออกจากการเป็นพนักงานมาเปิดบริษัทของตัวเอง "วิลเลี่ยม
ติง" ใช้เวลาเพียง 6 ปีก้าวขึ้นเป็นเป็นคนจีน แผ่นดินใหญ่ที่ร่ำรวยที่สุด
แม้ในช่วงเวลา 6 ปีดังกล่าวเขาจะพบกับจุดเปลี่ยนของชีวิตหลายครั้งทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้
แต่ด้วยวัยเพียง 32 ปี เชื่อว่าเขายังต้องประสบกับชัยชนะและความพ่ายแพ้อีกหลายครั้ง
แต่ละปี ระบบการศึกษาของจีนสามารถผลิตบุคลากรระดับปริญญาบัณฑิตได้มากกว่า
2.5 ล้านคน (ในปี ค.ศ.2004 คาดหมายว่าจะมีบัณฑิตจบใหม่ 2.6 ล้านคน) ขณะที่อุปสงค์ต่อแรงงานของจีนที่เป็นอยู่ไม่อาจเติบโต
เพื่อรองรับอุปทานแรงงานที่เกิดใหม่ได้ทัน
ในยุคที่เศรษฐกิจจีนกำลังตกอยู่ในภาวะพิลึกพิลั่น คือ "เติบโตแต่ว่างงาน"
เช่นนี้ มหาเศรษฐีหนุ่มที่เกิดมาจากการก่อร่างสร้างตัวด้วยตนเองอย่าง วิลเลี่ยม
ติง คงเป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่รัฐบาลจีนคงอยากให้มีเกิดขึ้นอีกหลายๆ คน
Profile - Netease.com Inc - http://www.netease.com/
จาก Bloomberg - http://quote.bloomberg.com/apps/quote? ticker=NTES&x=0&y=0
จาก Yahoo - http://finance.yahoo.com/q/pr?s=NTES
อ่านเพิ่มเติม:
‘ รู้จักโคตรเว็บเมืองจีน (6 ก.ค.2546) จากคอลัมน์ก่อนตะวันจะตกดิน
ในเว็บไซต์ www.manager.co.th - http://www.manager.co.th/columnist/ViewNews.asp?NewsID=4625384652018