ในธุรกิจบัตรเครดิต KTC ถือว่าประสบความสำเร็จ
มียอดผู้ถือบัตรขึ้นเป็นอันดับ 1 เป้าหมายต่อไป
จึงมองไปที่การรุกเข้าสู่ตลาด Consumer Finance เต็มตัว
หลังจากบริษัทบัตรกรุงไทย (KTC) ได้ขึ้นเป็นผู้นำในตลาดบัตรเครดิต ด้วยจำนวนผู้ถือบัตรถึง
750,000 ราย และชนิดของบัตรที่หลากหลาย ล่าสุด KTC ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ทางการเงินชิ้นใหม่
KTC I CASH สินเชื่อบุคคลที่เน้นความยืดหยุ่น ซึ่งจากผลิตภัณฑ์นี้ KTC ได้วางเป้าหมายไว้ถึง
ตำแหน่งผู้นำด้านสินเชื่อผู้บริโภคครบวงจร (Consumer Finance) ของประเทศไทย
ด้วยฐานลูกค้าที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ KTC ได้มีโอกาสสำรวจความต้องการของลูกค้าได้อย่างทั่วถึง
"อัตราดอกเบี้ยคือปัจจัยที่ลูกค้าให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ เราจึงให้ความสนใจกับเรื่องนี้
โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สมเหตุสมผล และสอดคล้องกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ส่วนเรื่องความยืดหยุ่น
ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ เราจึงออกแบบให้ KTC I CASH มีคุณสมบัติที่แตกต่างและยืดหยุ่น
เพื่อให้ประโยชน์กับลูกค้าอย่างแท้จริง" นิวัตต์ จิตตาลาน CEO ของ KTC กล่าว
KTC I CASH คิดอัตราดอกเบี้ยแบบ ลดต้นลดดอก ซึ่งจะคำนวณดอกเบี้ยจากยอดหนี้คงเหลือในแต่ละเดือนตลอดระยะเวลาการกู้
โดยใช้อัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย (Risk-Based Pricing)
โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25% ต่อเดือน บวกค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอีก
0.5-0.833% ต่อเดือน และค่าอนุมัติเงินกู้ ราว 800-1,500 บาท ขึ้นอยู่กับวงเงินที่ขอกู้
เนื่องจาก KTC I CASH คำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก และมีค่าดำเนินการอนุมัติเงินกู้
ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว การคำนวณอัตราดอกเบี้ยต่อปีจึงซับซ้อนและควรมอง
เป็นกรณีไป (ดูตัวอย่างการคำนวณอัตราดอกเบี้ยประกอบ)
ด้านความยืดหยุ่น ลูกค้า KTC I CASH สามารถเลือกผ่อนชำระตั้งแต่ 6-36 เดือน
สามารถเลือกวันชำระโดยให้ลูกค้าเป็นผู้กำหนดเอง และในบางเดือน ลูกค้ายังสามารถผ่อนชำระได้มากกว่าที่กำหนดในใบแจ้งหนี้
นับเป็นความยืดหยุ่น ที่แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นอย่างเห็นได้ชัด
ลูกค้าเป้าหมายของ KTC I CASH คือพนักงานบริษัท และข้าราชการที่มีรายได้
ประจำตั้งแต่เดือนละ 7,500 บาทขึ้นไป และผู้ประกอบกิจการที่มีอายุกิจการอย่างน้อย
1 ปีขึ้นไป โดยตั้งเป้าจำนวนลูกค้า 100,000 ราย ภายในปี 2547
หลังจากเปิดตัวบริการ KTC I CASH แล้ว เป้าหมายต่อไปของ KTC คือการเปิด
ตัวบริการสินเชื่อเงินผ่อน (Asset Financing) และบริการชำระค่าสาธารณูปโภค
(Pay-ment Product) ซึ่งทั้ง 3 บริการ ถือเป็น ขาหลักของธุรกิจ นอกเหนือจากบริการบัตรเครดิต