หลังรอคอยมา 10 ปี ก็ถึงคราวที่แกรมมี่จะสร้างโอกาสใหม่ให้กับตัวเอง
ในการรุกเข้าสู่ตลาดเพลงในญี่ปุ่นที่มีมูลค่าเป็นอันดับ 2 ของโลก
โอกาสที่เป็นก้าวรุกของแกรมมี่ในครั้งนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อจีเอ็มเอ็ม
แกรมมี่ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการพิเศษ Music Festival ที่สถานีโทรทัศน์
NHK ของญี่ปุ่น
"ครั้งแรกที่เรานำวงไมโครไปร่วมแสดงในงานของ NHK จัดขึ้นที่ญี่ปุ่น จากนั้นเราก็ผูกสัมพันธ์กันมาตลอด
มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เกือบทุกปีจะมีการจัดงาน Asia Live เราส่งศิลปินไปร่วมแสดง ถ้ามาที่เมืองไทยเขาก็ส่งศิลปินมาร่วม ก็สนิทสนมกันเรื่อยมา" สันติสุข
จงมั่นคง กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็กซ์ทรอกาไนเซอร์ จำกัด ในเครือจีเอ็มเอ็ม
แกรมมี่ บอกความเป็นมากับ "ผู้จัดการ"
จากสายสัมพันธ์แปรเปลี่ยนเป็นความร่วมมือทางธุรกิจ เริ่มขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
เมื่อครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของบริษัทฮาคุโฮโด มาเมืองไทย และเกิดไปเตะตา ซีดีอัลบั้มเพลงของไบรโอนี่เข้า
จึงติดต่อต้นสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ คว้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับโทรศัพท์มือถือพานาโซนิค
ที่ต่อสัญญามาเป็นปีที่ 3
ความสัมพันธ์ที่มีมาต่อเนื่อง เริ่มเห็นผลมากยิ่งขึ้น เมื่อกระแสความเป็นไทย
แผ่ขยายออกไป ทั้งอาหาร ดนตรี ท่องเที่ยว ก่อให้เกิดการร่วมมือกับค่ายเพลงใหญ่โตชิบา-อีเอ็มไอ
ร่วมทุนทำอัลบั้มเพลงสากลให้กับไบรโอนี่ รอดโพธิ์ทอง ในชื่ออัลบั้ม Briohny
ขณะที่ในเมืองไทยการเปิดให้ดาวน์ โหลดเพลงยังเป็นเรื่องของอนาคต แต่โอกาสนี้กลับเปิดรับในตลาดญี่ปุ่น
เมื่อพวกเขาได้บริษัท DIGIPA เจ้าของธุรกิจค้า เพลงออนไลน์รายใหญ่ของญี่ปุ่นเข้าร่วมเปิดเว็บไซต์
www.t-pop.jp เป็นภาษาญี่ปุ่น
จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อยู่ในฐานะของ content provider นำข้อมูลเกี่ยวกับศิลปิน
และเพลงของแกรมมี่บรรจุลงในเว็บไซต์ ให้คนญี่ปุ่นหาข้อมูลและเลือกฟังเพลงจาก
เว็บไซต์ โดยผู้เข้าฟังจะต้องสมัครสมาชิกรายเดือน และสามารถดาวน์โหลดมาไว้ฟัง
ในเครื่องได้ แต่ไม่สามารถก๊อบปี้ใส่แผ่นไป ฟังที่อื่น
"ช่วงหลังกระแสเพลงไทยของเราเริ่มมีมากขึ้น เมื่อความต้องการของลูกค้ามี
ทาง DIGIPA เลยอยากให้มีเพลงไว้ให้บริการกับลูกค้า ก็เลยเกิดการเจรจากันขึ้น"
รายได้จะถูกแบ่งสรรกันตามความเหมาะสม สัดส่วนรายได้ค่าสมาชิก ทาง DIGIPA
จะได้รับส่วนแบ่งมากกว่า แต่เมื่อลูกค้าต้องการดาวน์โหลดเพลง แกรมมี่ก็จะได้ส่วนแบ่งรายได้มากกว่า
พันธมิตรอีกรายที่เข้ามาในเวลาเดียวกัน คือ โซนี่ มิวสิค ประเทศญี่ปุ่น
ที่เปิดให้แกรมมี่นำเทป ซีดี วีซีดี ดีวีดี เพลง ภาพยนตร์ ไปจำหน่ายในร้านค้าออนไลน์ของโซนี่มิวสิค
www.sonymusic shop.jp
ก้าวรุกที่มากขึ้นในญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากทีมงานในฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
เช่น โกวิทย์ ก่อเสียงสกุล เรียนจบจากญี่ปุ่น ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นที่เคยทำงานในบริษัทอีบริคโซนี่
บริษัทเพลงในญี่ปุ่นมา 17 ปี ต่อมา เข้ามาทำงานอยู่กับแกรมมี่
"พอเขามาทำงาน ก็พาแกรมมี่ไปรู้จักกับคนในแวดวงธุรกิจเพลงของญี่ปุ่น ประกอบกับเราเองได้วางรากฐานไว้แล้ว
ก็เลยเกิดความร่วมมือกันมากขึ้น"
แม้ว่าการคาดหมายในเรื่องรายได้จะยังไม่สามารถเริ่มได้ในเวลานี้ แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับก้าวต่อไป
ที่อาจไม่ใช่แค่อัลบั้มเพลงแล้ว ในอนาคตยังมองไปถึงศิลปิน ดารา นักร้อง ที่จะมีโอกาสไป
สร้างผลงานทำรายได้ในต่างประเทศ