ไม่เพียงเติมความฝันส่วนตัวด้วยการขึ้นขับเครื่องบิน F16 มาวันนี้ ชินคอร์ปอเรชั่น
จำกัด (มหาชน)
ก็สานฝันในระดับนโยบายให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline)
ก่อนหน้าที่ชินคอร์ปจะแถลงข่าวร่วมลงทุนกับเอเซียแอร์ไลน์ (AirAsia) ของมาเลเซียทำสายการบินต้นทุนต่ำ
มีข่าวปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์รายวันมาเป็นระลอก เริ่มตั้งแต่ประกาศเป็นนโยบาย
ต้องการให้การบินไทยลงทุนทำสายการบินต้นทุนต่ำ เพื่อเป็นแนวทางฝ่าวิกฤติธุรกิจการบิน
และเป็นทางเลือกให้กับประชาชน
ถัดจากวันเกิดเพียงวันเดียว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จับเครื่องบินไปพบ ดร.มหาธีร์
โมฮัมหมัด ถึงเกาะลังกาวี ภายใต้บรรยากาศชื่นมื่นที่มีการร่วมมือระหว่างมาเลเซียและไทย
เพื่อลงทุนทำสายการบินต้นทุนต่ำติดมือกลับเมืองไทยมาด้วย
ด้วยเหตุนี้เองที่ Low Cost Airline เป็นธุรกิจใหม่ของกลุ่มชินคอร์ปที่ลุล่วงโดยเร็วแซงหน้า
Service Industry อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ ในหมวด Entertainment และธุรกิจสินเชื่อบุคคลที่ยังไม่คืบหน้า
งานแถลงข่าวการลงทุนในธุรกิจสายการบินของชินคอร์ป ถูกจัดขึ้นอย่างเป็นทางการที่ห้องประชุม Auditorium ชั้น 19 อาคารชินวัตร 1 ริมถนนพหลโยธิน ในวันพุธที่
12 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ SC Asset จำหน่ายหุ้นเป็นวันแรก
ท่ามกลางผู้สื่อข่าวจากไทยและต่างประเทศที่มารอฟังแถลงข่าวเกือบ 20 คน
บุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร และอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รองประธานกรรมการบริหาร
กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น ขึ้นนั่งโต๊ะแถลงข่าวคู่กับ Tony Fernandes Chief
Executive Officer ของแอร์เอเซีย ที่พกหมวกสีแดงสด ที่เป็นสีประจำแอร์เอเซีย
วางไว้บนโต๊ะแถลงข่าว
CEO ชาวมาเลเซีย วัย 30 กว่าของแอร์เอเซีย ไม่เคยมีประสบการณ์ในธุรกิจการบินมาก่อน
เคยทำงานอยู่กับค่ายเพลงวอร์เนอร์ มิวสิค ทำให้เขานำเอาประสบการณ์ประยุกต์เข้ากับธุรกิจ
Low Cost Airline ที่ต้องคิดนอกกรอบ ฉีกรูปแบบสายการบินรูปแบบเดิมด้วยสโลแกน
3 ประการ "สนุก คุ้มค่า ในราคาตื่นเต้น" ทำให้แอร์เอเซียแทรกตัวเข้าเป็นสายการบินสายที่
2 ของมาเลเซีย
เนื้อหาส่วนใหญ่ในการแถลงข่าวของ บุญคลี เป็นการชี้แจงเกี่ยวกับสาเหตุการลงทุนในบริษัทแอร์เอเซีย
เอวิชั่น (AAA) ร่วมกับแอร์เอเซีย ซึ่งเขาได้ศึกษามาตั้งแต่เดือนมิถุนายน
2546
เหตุผลหลักๆ มีตั้งแต่ความเหมือนระหว่างธุรกิจโทรคมนาคม และขนส่งมวลชน
ทั้งเทคโนโลยี และอัตราการเติบโตของธุรกิจ
"Transpotation อีก 20 ปีข้างหน้าจะเติบโตเหมือนกับที่สื่อสารเคยเติบโตเมื่อ
20 ปีที่แล้ว"
นอกจากนี้ธุรกิจของสายการบินก็ยังมีช่องว่างการตลาดอยู่มาก ประเมินจากคนเดินทาง
80 ล้านคนต่อปี แต่มีเพียงแค่ 10% ที่เดินทางด้วยเครื่องบิน นั่นหมายความว่า
"เรายังมีตลาดเหลืออีก 90% ที่จะเข้าไปแชร์"
หากเป็นธุรกิจสายการบินทั่วไป อาจไม่น่าสนใจเท่านี้ เพราะการลงทุนครั้งนี้ชินคอร์ปควักเงินเพียง
200 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท โดยชินคอร์ปถือหุ้น 50% แอร์เอเซีย
49%
ความน่าสนใจของธุรกิจนี้อยู่ที่การขายตั๋วราคาต่ำกว่าปกติ 40-50% โดยต้นทุน
การดำเนินธุรกิจจะต้องต่ำที่สุด รายละเอียดในส่วนนี้ตกเป็นหน้าที่ของ Tony
Fernandes ทำหน้าที่ชี้แจงกับผู้สื่อข่าว
ระบบจำหน่ายตั๋วไม่เหมือนสายการบินทั่วไป ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจองผ่านเว็บไซต์ call center และการส่งข้อความ SMS ชำระเงินผ่านบัตรเครดิต หรือผ่านธนาคารไม่มีการออกบัตรโดยสารเหมือนปกติ
ราคาตั๋วคล้ายกับการประมูล "ซื้อก่อนถูกกว่า" ผู้โดยสารที่จองตั๋วล่วงหน้าจะจ่ายค่าโดยสารถูกกว่าผู้ที่จองใกล้วันเดินทาง
ไม่มีการจองเลขที่นั่ง มาถึงก่อนเลือกที่นั่งก่อน
ทุกเที่ยวบินไม่มีการเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม แต่จะมีของว่างไว้จำหน่าย
ดังนั้นจะเหมาะกับการบินไม่เกิน 3 ชั่วโมง
เครื่องบินจะเป็นการเช่า และจะใช้เครื่องรุ่นเดียว คือ โบอิ้ง 737-300
เพื่อประหยัดต้นทุนด้านการจัดการ และซ่อมบำรุง
เครื่องบินเหล่านี้จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6-7 ปี แต่ละลำมีที่นั่งไม่เกิน
148 ที่นั่ง เพราะหากเกิน 148 ที่นั่ง ก็จะต้องเพิ่มแอร์โฮสเตสอีก 2 คน นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมา
การจัดลำดับชั้นผู้โดยสารจะไม่มีใน สายการบินประเภทนี้ ที่นั่งจะจัดให้อยู่ในระดับเดียวกันทั้งลำ
เก้าอี้บุด้วยหนัง เพื่อให้ง่ายในการทำความสะอาด
"เราให้บริการราคาถูก และขายตั๋วได้ในราคาถูกแต่ไม่ได้หมายความว่า คุณภาพ
การบริการ และความปลอดภัยลดลง" Fernandes บอก
จุดคุ้มทุนของสายการบินลักษณะนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้า "ถ้าเราขายตั๋วได้
50% ของที่นั่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว"
ความเคลื่อนไหวของชินคอร์ปอเรชั่น นับว่าสร้างความสั่นสะเทือนใหักับสายการบิน
ของไทยไปตามๆ กัน ถัดจากวันแถลงข่าวของชินคอร์ปวันเดียว การบินไทยออกมาประกาศลงทุนเตรียมทำ
Low Cost Airline เช่นเดียวกับสายการบินภายในประเทศอื่นๆ
แม้ว่ากรมการขนส่งทางอากาศ จะเปิดโอกาสให้กับกลุ่มทุนอื่นๆ ที่มีเงินทุนและมีคุณสมบัติตามเงื่อนไข
หากไม่ใช่ชินคอร์ปแล้ว โอกาสของ Low Cost Airline ในไทยก็คงเกิดได้ไม่ง่ายนัก